การวิจัยอนาคต (Future research)


การวิจัยอนาคตการแนวโน้มการสอนภาษาไทย

มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย ให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต

                                                                              เฉลิมลาภ ทองอาจ

          สิ่งที่นักสอนภาษาไทยและครูภาษาไทยหลายคนมองข้าม ก็คือ "อนาคต" ของการสอนภาษาไทย คำว่าอนาคตของการสอนภาษาไทย ไม่ได้หมายถึงการสอนภาษาไทยไปเพื่ออะไร แต่หมายถึงว่า แนวโน้มหรือ trend ของหลักสูตรและการสอนภาษาไทยที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไรบ้าง  ตัวอย่างแนวโน้มที่เห็นได้ชัด ก็คือการการเข้ามามีบทบาทของสมรรถนะในการสื่อสาร และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นไปได้ไหมว่า ในอนาคตอีกไม่เกิน 5 ปี การสอนภาษาไทยในชั้นเรียนจะมาถึงภาวะ "ทางตัน" นักสอนภาษาไทย อาจจะต้องให้ความสำคัญกับการสอนผ่านระบบเครือข่าย การเขียนงานผ่านเว็บ  การพูดผ่านวีดิทัศน์ออนไลน์ของสังคมเครือข่ายบนระบบดิจิตอล  วรรณคดีไทยอาจมีบทบาทน้อยลงในชั้นเรียน แต่มุ่งเน้นวรรณกรรมที่ขยายขอบเขตของความคิดมากขึ้น การสอนจะกลายมาเป็นการวิพากษ์ ถามตอบอย่างลุ่มลึกหรือที่เรียกว่าการสนทนาแบบโซกราตีส  ในฐานะที่เรากำลังจะสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่เราคงจะต้องเริ่มการวิจัยอนาคต สำหรับการสอนทิศทาง ประเด็นหรือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น และสิ่งที่เราจะต้องทำในปัจจุบัน  ในเบื้องต้นนี้ กระผมจึงได้เขียนองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเชิงอนาคต เพื่อให้ครูภาษาไทยทุกคนรู้เท่าทัน  และเตรียมตัวรับอนาคตซึ่งเป็น "ความจริง"  ที่กำลังรุกไล่เราเข้ามาทุกขณะ 

          เดิมการศึกษาเกี่ยวกับ “อนาคต” ดูเสมือนหนึ่งว่าจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความ    เป็นศาสตร์ หรือการมีหลักวิชารองรับ แต่เมื่อมีการพิจารณาว่า  การดำเนินงานใดๆ ก็ตาม    ในปัจจุบัน  บุคคลย่อมดำเนินอยู่บนบริบทของความรู้และประสบการณ์ในอดีต และเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ในอนาคตทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้ อนาคตจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นสิ่งกำหนดปัจจุบัน  แนวคิดของการศึกษาอนาคตจึงได้แพร่หลาย เพราะจากการพิจารณาสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จะทำให้บุคคลได้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ณ ปัจจุบัน  และช่วยให้การวางแผนงาน กิจกรรม หรือโครงการต่างๆ สอดคล้องกับสภาพการณ์ในอนาคตมากยิ่งขึ้น

1.  ความเป็นมาของการศึกษาเกี่ยวกับอนาคต

            ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ที่แข่งขันกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ทำให้ประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์  ความขัดแย้งและการก่อการร้ายการพัฒนาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เริ่มได้รับความสนใจจากฝ่ายต่างๆ  เนื่องจากประเด็นเหล่านี้ถือได้ว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง ทั้งที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐ หน่วยงาน องค์กรธุรกิจและเอกชนทั่วโลก จำจะต้องสร้างความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อไตร่ตรอง หาและสร้างโอกาสที่จะที่จะอยู่รอดต่อไปในความเปลี่ยนแปลงนั้น  และที่สำคัญที่สุดก็คือ การจัดการกับปัจจุบัน อันได้แก่การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสในอนาคต หรือการป้องกันมิให้อนาคตที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น 

          เมื่อพิจารณาพัฒนาของอนาคตศาสตร์  (Futurology) พบว่า เริ่มมีการใช้คำว่าการศึกษาอนาคต (Futures studies) และอนาคตศาสตร์  (Futurology) มาตั้งแต่ในราวปี      ค.ศ. 1940  โดยการนิยามของ  Flechtheim ชาวเยอรมัน  โดยเขาได้ให้ความหมายของอนาคตศาสตร์ไว้ว่า “การศึกษาเกี่ยวกับอนาคต” และกำหนดให้เป็นสาขาวิชาใหม่ ซึ่งอาศัยความรู้จากศาสตร์ด้านความน่าจะเป็น  (science of probability)  ซึ่งการศึกษาดังกล่าวมักจะอยู่ในรูปของการวิจัย ซึ่งเรียกว่าการวิจัยอนาคต (future research)  อย่างไรก็ตาม การศึกษาและการวิจัยอนาคตเริ่มเกิดการเคลื่อนไหวหรือมีอิทธิพลขึ้นในยุโรปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีนักวิชาการผู้เรียกตนเองว่า  “นักอนาคต” (futurists) เกิดขึ้น  เริ่มตั้งแต่  De Jouvenel ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจและการปกครองเรื่อง  “The Art of Conjecture” ในปี ค.ศ. 1967 นอกจากนี้  ยังมีนักคิด อาทิ   Gabor  ผู้ได้รับรางวัลโนเบลและเขียนหนังสือเรื่อง  “Inventing the Future” ในปี ค.ศ. 1963 อีกด้วย ทำให้การวิจัยหรือการศึกษาเกี่ยวกับอนาคตกลายเป็นศาสตร์ที่ได้รับความสนใจยิ่งขึ้น  บทบาทและหน้าที่สำคัญที่สุดของการวิจัยอนาคตหรือการศึกษาอนาคตก็คือ การช่วยให้เราเข้าใจความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในปัจจุบันได้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะข้อมูลจากการศึกษาอนาคต จะช่วยให้เราจัดการกับความไม่แน่นอน (uncertainty)  ด้วยการสร้างความกระจ่างในสิ่งที่เรารู้แล้ว  และสิ่งที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นมากที่สุดในอนาคต  

          การวิจัยเชิงอนาคตมีขอบเขตของการวิจัยโดยแบ่งตามระยะเวลา ซึ่งแบ่งออกเป็น       6 ระยะ ประกอบด้วย  

                   1.  Near Term Future  อนาคตภายใน 1 ปีนับจากปัจจุบัน  

                   2.  Short Range Future  อนาคตระหว่าง 1-5 ปี นับจากปัจจุบัน

                   3.  Middle Range Future อนาคตระหว่าง 5-20 ปี นับจากปัจจุบัน

                   4.  Long Range Future  อนาคตระหว่าง 20-50 ปี นับจากปัจจุบัน

                   6.  Far Future  อนาคตตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป นับจากปัจจุบัน 

          จะเห็นได้ว่า การกำหนดระยะเวลาในการวิจัยแบ่งออกเป็นหลายระยะด้วยกัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจและเป้าหมายในการวิจัย

2.  ความหมายของการวิจัยเชิงอนาคต

          นักวิชาการได้ให้ความหมายของการวิจัยเชิงอนาคต โดยกล่าวว่า การวิจัยเชิงอนาคตเป็นวิธีการศึกษาแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปได้ ของปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งในด้านบวกและด้านลบ หรือในด้านที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์  ทั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อทำให้เกิดแนวโน้มที่   พึงประสงค์ และลดการเกิดแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์  หรืออาจจะหาวิธีการเผชิญแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ  ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยอนาคต จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดยุทธวิธี  (strategies)  วางแผน และตัดสินใจดำเนินการต่างๆ อย่างเหมาะสมต่อไป  (จุมพล  พูลภัทรชีวิน, 2532: 259)    อย่างไรก็ตาม การให้นิยามของการวิจัยหรือการศึกษาเกี่ยวกับอนาคต ณ ปัจจุบัน ยังค่อนข้างทำได้ยาก  ดังที่  Weingand (1995: online) ได้พยายามอธิบายความหมายของคำนี้สรุปได้ว่า การวิจัยอนาคต  หมายถึง การวิจัยที่ทำโดยนักวิจัยอนาคต  (research done by futures researchers) การให้ความหมายในลักษณะนี้ค่อนข้างคลุมเครืออยู่มาก เพราะโดยธรรมชาติของการวิจัยเชิงอนาคตมีคำถามที่สำคัญหลายประการ เช่น  อะไรคือคุณลักษณะที่ใช้เป็นเกณฑ์บอกว่า บุคคลที่ทำวิจัยเป็นนักวิจัยอนาคต และคำว่านักวิจัยอนาคตเป็นคำที่นักวิจัยผู้นั้นเรียกตนเองหรือผู้อื่นตั้งให้  นอกจากนี้  ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเขียน ทำนาย พยากรณ์ ด้วยวิธีการต่างๆ อาจจะมิได้เรียกตนเองว่านักวิจัยอนาคตก็ได้ และผลงานการศึกษานั้นจะเรียกว่าการวิจัยอนาคตหรือไม่ อย่างไร   

3.  ประเภทของนักวิจัยอนาคต

          ประเด็นเกี่ยวกับลักษณะของนักวิจัยอนาคตนั้น  Groff  และ Smoker (1996: online) กล่าวไว้สรุปได้ว่า  นักวิจัยอนาคตหรือนักอนาคต ย่อมหมายถึง ผู้ที่มองไปยังอนาคตและพยายามที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น  นักวิจัยอนาคตจึงมาได้จากกลุ่มประชากรที่หลากหลาย ทั้งในเรื่องความรู้  ความเชี่ยวชาญเฉพาะและความสนใจเกี่ยวกับอนาคต ซึ่งล้วนแต่มีความแตกต่างกัน  นักวิชาการทั้ง 2 จึงได้แบ่งลักษณะของนักวิจัยอนาคตไว้เป็นเบื้องต้น โดยอาศัยมุมองที่มีต่ออนาคตเป็นเกณฑ์ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

                   1.  นักอนาคตด้านลบ (doom and gloom futurists) เป็นนักอนาคตที่สนใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในปัจจุบันของสังคมหรือภูมิภาคต่างๆ  ซึ่งปัญหาดังกล่าวค่อนข้างยากที่จะแก้ไข  ตัวอย่างเช่น ประเด็นปัญหาการสะสมหรือการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์  การเพิ่มอัตราประชากรของโลก  การขาดแคลนพลังงานจากฟอสซิล  การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น  กรอบแนวคิดที่สำคัญของนักอนาคตกลุ่มนี้ก็คือ หากแนวโน้มปัญหาในปัจจุบันยังคงดำเนินไป อนาคตย่อมย่อมเกิดสิ่งเลวร้ายกว่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน

                   2.  นักอนาคตด้านบวก  หรือนักอนาคตเชิงปฏิรูป (positive, visionary, and evolutionary futurists)  เป็นนักอนาคตที่มุ่งในการสร้างภาพของอนาคตอันเป็นความมุ่งหวังหรือที่ต้องการให้เกิดขึ้น  โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นของเทคโนโลยี  สังคมและศักยภาพของประชากร  หน้าที่ของนักอนาคตกลุ่มนี้คือการสร้างพลังเชื่อมั่นให้แก่สังคมและสมาชิกของสังคมว่า  สังคมยังคงมีทางเลือกเสมอและเรามีพลังที่จะสร้างอนาคตที่พึงประสงค์  (desirable future) ด้วยการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนเองปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน

          แม้ว่านักวิจัยหรือนักอนาคตจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มข้างต้น แต่ทั้งสองกลุ่มย่อมมีมุมมองต่ออนาคตคล้ายกัน  ในลักษณะที่ว่า อนาคตกำหนดได้และอนาคตกำหนดปัจจุบัน ดังที่ Brodzinski  (1979) ได้กล่าวถึงมุมมองของนักวิจัยอนาคตว่า ตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญ          5 ประการ ดังนี้

                   1.  อนาคตว่าเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นจากปัจจัยต่างๆ  ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากการเลือกของมนุษย์ (human choice)  ดังนั้น สิ่งที่เราตัดสินใจในปัจจุบัน อาจจะมีนัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคต

                   2.  อนาคตมีรูปแบบที่หลากหลาย  (alternative futures) ทำให้การดำเนินการใดๆ ในปัจจุบันย่อมมีวิธีการตัดสินใจ  หรือทางเลือกในการวางแผนที่หลากหลายเช่นกัน  ดังนั้นบุคคลมีหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาเลือกทางเลือก หรือวิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุด

                   3.  การจัดการความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานของระบบที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันหลายระบบ  (interrelated system)  การตัดสิน การพัฒนาหรือการกระทำใดๆ ที่มีอิทธิพลต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบ ก็ย่อมที่จะส่งผลกระทบไปสู่ระบบโดยรวมด้วย  ดังนั้นในการระวังความเปลี่ยนแปลง นักวิจัยอนาคตจะมิได้คำนึงถึงแต่เฉพาะในขอบเขตที่ตนเองสนใจหรือมีความรู้เท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาระบบความสัมพันธ์ในภาพรวมอีกด้วย 

                   4.  ปัญหาในอนาคตย่อมพัฒนาขึ้นจากปัจจุบัน ปัญหาเล็กน้อยบางเรื่องที่มิได้รับความสนใจในวันนี้ อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็เป็นได้ ดังนั้นนักวิจัยอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง แม้การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นแต่เพียง    การเริ่มต้น หรืออาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่ได้รับความสนใจจากสังคมทั่วไป

                   5.  เราสามารถที่จะจัดการการเปลี่ยนแปลงได้ นักวิจัยอนาคตจะต้องรู้จักตรวจสอบกระแสแนวโน้มต่างๆ  (trends) ที่เกิดขึ้น  และไม่ลังเลที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์และวิทยาการเพื่อทำนายอนาคต

          สิ่งที่นักวิจัยอนาคตให้ความสนใจมักจะมิใช่ประเด็นหรือสถานการณ์ที่มีความเฉพาะ แต่มักจะเป็นประเด็นที่สามารถพิจารณาให้เห็นความเชื่อมโยงอันต่อเนื่อง และมีระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างยาว ด้วยเหตุนี้ ประเด็นหรือหัวข้อที่นักวิจัยเชิงอนาคตให้ความสนใจมีหลายกลุ่ม ได้แก่  1)  ประเด็นปัญหาที่เป็นวิกฤติการณ์ของโลก เช่น การเพิ่มของประชากรหรือพลเมืองโลก  การขาดแคลนอาหาร  การขาดแคลนพลังงานและประเด็นเรื่องพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทน  มลภาวะสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืน  การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมทั้งประเด็นภาวะโลกร้อน  2)  ปัญหาสันติภาพโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศและสงคราม  3) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน       4)  ประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจของโลก  5)  ประเด็นปัญหาด้านการเมืองการปกครอง         6)  ปัญหาหรือประเด็นด้านเทคโนโลยี เช่น  อินเทอร์เน็ต  การตัดแต่งพันธุกรรม                 นาโนเทคโนโลยี  7)  ประเด็นปัญหาด้านการศึกษาและการเรียนรู้    8)  ประเด็นปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม  9)  ประเด็นด้านศาสนาและความเชื่อ  เป็นต้น  โดยทั่วไป        นักอนาคตศึกษาหรือนักวิจัยอนาคต มักจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่างๆ อยู่เดิม แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากนักวิจัยอื่นๆ ก็คือ นักวิจัยเหล่านี้จะสนใจเกี่ยวกับบริบทปัญหาหรือสภาพการณ์ต่างๆ ที่กว้างออกไป มิได้จำกัดตนเองแต่เฉพาะศาสตร์หรือหัวข้อที่ตนเองสนใจเท่านั้น  เพราะเขาสนใจว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบริบท จะมีผลกระทบต่อศาสตร์หรือเรื่องที่เขาสนใจหรือไม่นั่นเอง 

4.  วิธีวิทยาการวิจัยอนาคต

          4.1  การวิเคราะห์แนวโน้ม (trend analysis) หรือการสำรวจแนวโน้ม (trend extrapolation)

          การวิเคราะห์แนวโน้มเป็นวิธีการที่นิยมนำมาใช้ในการวิจัยอนาคต วิธีการนี้ประกอบด้วยเทคนิคย่อยหลายเทคนิค ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องอาศัยข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์  (historical data)  เทคนิคหนึ่งที่มักจะมีการนำมาใช้คือการกำหนดจุดของแนวโน้ม (spotting trend) ในเรื่องต่างๆ และเริ่มสืบสอบข้อมูลย้อนกลับไปในอดีต ตัวอย่างเช่น  หากผู้วิจัยสังเกตพบว่า  คนในสังคมมักจะรอให้ตนเองมีอายุประมาณ 30 ปี จึงจะมีบุตร ผู้วิจัยก็จะกำหนดจุดสังเกตไว้ที่ประเด็นนี้ โดยกำหนดว่าประชากรกำลังจะเลื่อนเวลาการมีบุตรออกไปเรื่อยๆ เมื่อผู้วิจัยกำหนดจุดอันเป็นประเด็นศึกษาแล้ว  ผู้วิจัยก็จะรวบรวมข้อมูลโดยย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลในอดีต  ซึ่งได้แก่ ค่าเฉลี่ยอายุของหญิงที่มีบุตรคนแรกในปีต่างๆ ย้อนกลับไปเรื่อยๆ  การสำรวจข้อมูลด้วยการพิจารณาข้อมูลย้อนจะทำให้ผู้วิจัยมองเห็นแบบแผนของอายุ ซึ่งมีลักษณะเป็นแนวโน้มลักษณะใดลักษณะหนึ่ง  และจากแบบแผนแนวโน้มที่ได้  ผู้วิจัยก็จะสามารถใช้ทำนายแนวโน้มการมีบุตรของประชากรในอนาคตได้  อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์แนวโน้มจะมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น  นักวิจัยไม่เพียงแต่จะต้องสำรวจแบบแผนของแนวโน้มที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่จะต้องสามารถบอกได้ด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดแนวโน้มเช่นนั้นคืออะไร อะไรคือสิ่งที่มีผลกระทบต่อแนวโน้มนั้น  การวิเคราะห์สาเหตุจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์แนวโน้ม มากกว่าการใช้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้การวิเคราะห์แนวโน้มตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า  สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตย่อมเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต อดีตจึงเป็นเครื่องทำนายอนาคตที่มีประสิทธิภาพ

          4.2  การวิเคราะห์รูปแบบวัฎจักร  (cyclical pattern analysis)   

          การวิเคราะห์รูปแบบวัฏจักรมีความคล้ายคลึงกับการวิเคราะห์แนวโน้ม สมมติฐานของการวิเคราะห์ประเภทนี้คือ ปรากฏการณ์ต่างๆ มักจะเกิดขึ้นอย่างเป็นวงจรหรือวัฎจักร กล่าวคือ มีแนวโน้มที่จะเวียนกลับมาเกิดขึ้นอีก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น วัฎจักรของธุรกิจ (business cycle)  ที่การถดถอยจะเกิดขึ้นหลังจากที่ธุรกิจฟืนตัวมาได้สักระยะหนึ่ง               ซึ่งโดยทั่วไปของวัฏจักรธุรกิจ ก็จะมีลักษณะประกอบด้วยระยะการถดถอย  (recession) ระยะการตกต่ำ  (depression)  ระยะการฟื้นคือ  (revival) และระยะรุ่งเรือง (prosperity)  นักอนาคตศึกษากลุ่มวิเคราะห์วัฏจักร จะให้ความสำคัญกับการอุบัติซ้ำในลำดับต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวัฏจักรของชีวิต (life cycles)  วัฎจักรประวัติศาสตร์  (historical cycles)  และวัฏจักรของรุ่น (generational cycles)  เป็นต้น 

          4.3  การสำรวจสิ่งแวดล้อม  (environmental  scanning)

          การสำรวจสิ่งแวดล้อม หมายถึง การวิเคราะห์และการประเมินเงื่อนไขต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกขององค์กร ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อองค์กรนั้น การวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอกดังกล่าว มักมีการประเมินใน 4 ด้าน ประกอบด้วย การประเมินความจุดแข็งขององค์กร  (strengths)  การประเมินข้อควรปรับปรุงหรือสิ่งที่เป็นจุดอ่อนขององค์กร  (weaknesses)  การประเมินโอกาสขององค์กร  (opportunities)  และการประเมินสิ่งที่จะเป็นภัยหรือสร้างความเสียหายให้องค์กร (threats)  การวิเคราะห์ทั้ง 4 ด้านเรียกว่า  “SWOT analysis” ซึ่งผู้บริหารและผู้จัดการของหน่วยงานจะเป็นผู้พิจารณา เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาหรือการสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะล้มเหลว  สิ่งที่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับ “SWOT analysis” ก็คือ  การทำนายแนวโน้มทางธุรกิจที่เกิดขึ้น  การสำรวจหรือตรวจสอบปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร  การอธิบายภาระหรือความสามารถในการปฏิบัติงานในปัจจุบัน  การพิจารณาทรัพยากรและทุนเกื้อหนุน  การระบุสมรรถนะสำคัญ ซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับหน่วยงานหรือองค์กร เช่น  ความรู้ ทักษะ หรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์   โดยส่วนใหญ่การทำ “SWOT analysis” จะดำเนินการในรูปตาราง ดังที่แสดงในตารางที่ 1 ดังนี้

 ตารางที่ 1  ตารางการวิเคราะห์แบบ  SWOT

 

 

ทางบวก 

 

ทางลบ

 

 

ปัจจัยภายใน

จุดแข็ง

 

 

 

 

จุดอ่อน

 

 

ปัจจัยภายนอก

โอกาส

 

 

 

 

ภัยหรือสิ่งที่จะก่อให้เกิดผลร้าย


            เทคนิคที่จะช่วยให้การทำ SWOT analysis มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือ  การเขียนข้อมูลเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนจะต้องเป็นข้อเท็จจริง และทุกฝ่ายในองค์กรมีความเห็นตรงกันและยอมรับ ทั้งนี้จะต้องคำนึงเสมอในการเขียนว่า  ข้อมูลจะต้องเป็นข้อมูล ณ ปัจจุบันขององค์กรและข้อมูลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต  นอกจากนี้ ในการเขียนข้อมูลในหัวข้อต่างๆ จะต้องเขียนให้กระชับ  ตรงประเด็น มีความเฉพาะเจาะจง  ไม่ควรเขียนในลักษณะที่คลุมเครือ โดยเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ผู้บริหารองค์กรจะต้องนำมาให้สมาชิกในองค์กรช่วยกันพิจารณา โดยใช้ประเด็นคำถามต่อไปนี้ เพื่อให้เกิดการอภิปรายแสดงความคิดเห็น

                   1.   เราจะทำอย่างไรจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งขององค์กรให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

                   2.  เราจะสร้างประโยชน์จากโอกาสที่องค์กรหรือหน่วยงานของเรามีอย่างไร

                   3.  เราจะกำจัดจุดอ่อนต่างๆ ขององค์กรได้อย่างไร

                   4.  เราจะหลีกเลียงภัยหรือหาทางออกจากภัย  ที่เราคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร   

          การระดมความคิดเห็นเพื่ออภิปรายปัญหาดังกล่าวข้างต้น จะนำไปสู่การกำหนดแผนการปฏิบัติงานของหน่วยงานนั้นต่อไป             

          4.4  การใช้เทคนิคเดลฟาย

          เทคนิคเดลฟายเป็นเทคนิคหนึ่งที่นิยมในการนำมาใช้ทำนายอนาคต  ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ การเมือง  เศรษฐกิจและการศึกษา ตัวอย่างเช่น การวิจัยแนวโน้มของการพัฒนาและการผลิตครู  แนวโน้มของหลักสูตรและการสอน เป็นต้น  หลักการสำคัญของเทคนิคเดลฟายก็คือ การรวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ โดยมิให้มีการพบกัน  ทำให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเต็มที่    เป็นอิสระ นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลยังมีหลายรอบ ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนมีโอกาสที่จะไตร่ตรองความคิดเห็นของตนอง เทียบกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ  อันจะทำให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในด้านต่างๆ  ได้  ลักษณะสำคัญของเทคนิคเดลฟายสรุปได้ดังนี้ (ข้อมูลจากเว็บไซค์  radompon.com)

                   1.   เป็นเทคนิคที่มุ่งแสวงหาข้อมูลจากความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  คำตอบหรือข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจึงค่อนข้างมีความถูกต้องและ      ความตรงสูง  เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นที่ผู้ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ศึกษา

                   2. เป็นเทคนิคที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนที่ร่วมในการวิจัยจะไม่ทราบว่าผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เป็นใคร  ด้วยเหตุนี้ ในการแสดงความคิดเห็น  ผู้เชี่ยวชาญสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่  โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของผู้อื่น  ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าเป็นการขจัดอิทธิพลของกลุ่มที่อาจจะส่งผลต่อความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

                   3. ข้อมูลที่ได้จากเทคนิคเดลฟายจะมาจากการสอบถาม หรือการใช้           รูปแบบอื่นๆ  ที่ผู้เชี่ยวชาญไม่ต้องมาพบกัน โดยผู้เชี่ยวชาญจะต้องตอบแบบสอบถามครบทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ความเห็นที่ถูกต้อง เชื่อถือได้จึงต้องมีการใช้แบบสอบถามหลาย ๆ รอบ ซึ่งโดยทั่ว ไปแบบสอบถามในรอบที่ 1 มักเป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิดและในรอบต่อ ๆ ไป    จะเป็นแบบสอถามปลายปิด แบบมาตราส่วนประมาณค่า (rating scale)

                   4. การตอบคำถามของผู้เชี่ยวชาญจะต้องมีการกลั่นกรองหลายรอบ  ผู้วิจัยจะแสดงความคิดเห็นที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นสอดคล้องกันในคำตอบแต่ละข้อของแบบสอบถามครั้งก่อนโดยแสดงในรูปสถิติ คือ ค่ามัธยฐานและค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ แล้วส่งกลับให้ผู้เชี่ยวชาญ  แต่ละคนพิจารณาว่าจะคงคำตอบเดิมหรือเปลี่ยนแปลงใหม่

                   5. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากเทคนิคเดลฟายจะเป็นสถิติเบื้องต้น    คือ การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง ได้แก่ ฐานนิยม (mode) มัธยฐาน (median) ค่าเฉลี่ย (mean) และการวัดการกระจายของข้อมูล คือ ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์

          ขั้นตอนการดำเนินการวิจัยของเทคนิคเดลฟายสามารถสรุปได้ดังนี้ 

                   1. กำหนดปัญหาที่จะศึกษา ปัญหาที่จะวิจัยด้วยเทคนิคเดลฟายควรเป็นปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน  และสามารถวิจัยปัญหาได้จากการให้ผู้เชี่ยวชาญใน      สาขานั้น ๆ เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งประเด็นปัญหาควรจะนำไปสู่การวางแผนนโยบายหรือ              การคาดการณ์ในอนาคต

                   2. การเลือกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากลักษณะเฉพาะของการวิจัยแบบเทคนิคเดลฟาย คือ การอาศัยข้อคิดเห็นจากการตอบของผู้เชี่ยวชาญ  ผลการวิจัยจะน่าเชื่อถือหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เลือกมานั้น  สามารถให้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากเพียงใด ดังนั้นสิ่งที่ผู้วิจัยจะต้องคำนึงถึงในการเลือกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญ จำนวนผู้เชี่ยวชาญและวิธีการเลือกสรรผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

                   3. การทำแบบสอบถาม ในกระบวนการวิจัยโดยใช้เทคนิคเดลฟาย ผู้วิจัยจะส่งแบบสอบถามให้ผู้เชี่ยวชาญตอบแบบสอบถามจำนวน 4 รอบ ดังนี้

                             3.1 การสร้างแบบสอบถามรอบที่ 1 การทำแบบสอบถามฉบับแรก โดยทั่วไป แบบสอบถามฉบับแรกเป็นแบบสอบถามปลายเปิดและเป็นการถามแบบกว้าง ๆ    ให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาที่จะวิจัยนั้น เพื่อระดมความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ          การวิเคราะห์คำตอบแบบสอบถามรอบแรก ผู้วิจัยจะต้องรวบรวมความคิดเห็นและวิเคราะห์โดยละเอียดและนำมาสังเคราะห์เป็นประเด็น โดยตัดข้อมูลที่ซ้ำซ้อนออก เพื่อนำไปสร้างแบบสอบถามในรอบต่อไป

                             3.2 การสร้างแบบสอบถามรอบที่ 2   ผู้วิจัยจะนำคำตอบที่วิเคราะห์ได้จากรอบแรกมาสร้างเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (rating scale) เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละข้อ รวมทั้งเหตุผลที่เห็นด้วยหรือ          ไม่เห็นด้วยของแต่ละข้อลงในช่องว่างที่เว้นไว้ตอนท้ายประโยค หรือควรการแก้ไขสำนวนผู้เชี่ยวชาญสามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้ แล้วส่งแบบสอบถามคืนมายังผู้วิจัย            การวิเคราะห์คำตอบจากแบบสอบถามรอบที่ 2 โดยการนำคำตอบแต่ละข้อมาหาค่ามัธยฐาน (median) ฐานนิยาม (mode)และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์

                             3.3 การวิเคราะห์แบบสอบถามรอบที่ 3  ผู้วิจัยจะนำคำตอบแต่ละข้อจากการวิเคราะห์รอบที่ 2 โดยพิจารณาจากค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ กล่าวคือ ถ้าค่าพิสัยระหว่างควอไทล์แคบแสดงว่า คำตอบที่วิเคราะห์ได้นั้นมีความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่สอดคล้องกัน ซึ่งถ้าผู้วิจัยได้ข้อมูลเพียงพอก็อาจสรุปผลการวิจัยได้รอบนี้เลย แต่ถ้าถ้าค่าพิสัยระหว่างควอไทล์กว้างยังคงมีค่ากว้างมาก  แสดงว่า คำตอบที่วิเคราะห์ได้นั้นมีความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญไม่สอดคล้องกัน  ผู้วิจัยก็อาจสร้างแบบสอบถามใหม่เป็นแบบสอบถามรอบที่        3 โดยมีข้อความเดียวกันกับแบบสอบถามรอบที่ 2 แต่เพิ่มตำแหน่งของค่ามัธยมฐาน ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์และเครื่องหมายแสดงตำแหน่งที่ผู้เชี่ยวชาญท่านนั้น ๆ ได้ตอบในแบบสอบถามรอบที่ 2 ลงไป แล้วส่งกลับไปให้ผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นได้ยืนยันคำตอบเดิมหรือเปลี่ยนแปลงคำตอบใหม่

                    3.4 การวิเคราะห์แบบสอบถามรอบที่ 4  ทำตามขั้นตอนหรือวิธีการเดียวกันกับรอบที่ 3 ถ้าผลการวิเคราะห์ครั้งนี้ปรากฏคำตอบที่ได้มีความสอดคล้องกัน นั่นคือ          ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์แคบก็ยุติกระบวนการวิจัยได้ แต่ถ้าคำตอบทั้งหมดยังมีความต่างกันก็สร้างแบบสอบถามใหม่เป็นแบบสอบถามรอบที่ 4 โดยมีข้อความเดียวกันกับแบบสอบถามรอบที่ 3 ด้วยวิธีการเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการวิจัยเดลฟายส่วนใหญ่สามารถได้ข้อสรุปผลการวิจัยจากแบบสอบถามรอบที่ 3 และหากดำเนินการวิจัยรอบที่ 4 ก็จะได้ข้อสรุปใกล้เคียงกับรอบที่ 3

 

หมายเลขบันทึก: 422129เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2011 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท