เติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยรากฐานแบบพอเพียง


                (จากคอลัมน์ เลาะสูท ในนิตยสาร พอเพียง ฉบับ  เมษายน 2549  เขียนเรื่องโดย รัก อักษร)บทสัมภาษณ์ คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม

                พูดถึงคำว่า พอเพียง หลายคนนึกถึงภาพชีวิตหรือชุมชนในชนบทที่เรียบง่าย มีข้าว ผัก ปลา และอาหาร เลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งตนเอง แต่ความจริงแล้วการใช้ชีวิตแบบพอเพียงหาได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ชาวบ้านหรือคนที่แยกตัวออกจากเมืองไปเลือกเส้นทางชีวิตแบบเรียบง่ายในชนบท หรือท่ามกลางขุนเขาที่ห่างไกลความเจริญเท่านั้น ทว่าชีวิตแบบพอเพียงก็สามารถหาได้ในหมู่ปัญญาชน ผู้บริหาร แม้แต่นักธุรกิจหรือเศรษฐีพันล้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง ท่ามกลางกระแสทุนนิยม บริโภคนิยมอันเชี่ยวกรากแห่งนี้ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นหนึ่งในบุคคลตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน วิถีที่เลือกเดิน

                แม้จะเติบโตมาจากการเป็นเด็กบ้านนอก ก้าวเข้าสู่เมืองกรุงเพื่อศึกษาต่อในระดับมัธยมเหมือนกับเด็กต่างจังหวัดที่มุ่งหน้าเข้าสู่แดนศิวิไลส์ทั่วไป กระทั่งกลายเป็นนักเรียนนอก ได้รับทุนการศึกษาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไปร่ำเรียนในเมืองผู้ดีอย่างประเทศอังกฤษเป็นเวลาถึง 6 ปีครึ่ง จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ และกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานจากการเป็นพนักงานธนาคารชาติถึง 16 ปี โดยรับผิดชอบงานหลายด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจการเงิน การบริหารบุคคล การฝึกอบรม กระทั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานภาค และก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวม 2 ปี เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) อยู่ 5 ปีครึ่ง จึงตัดสินใจลาออกมาทำงานพัฒนาสังคม โดยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย อยู่ 9 ปี โดยระหว่างเป็นผู้อำนนวยการมูลนิธิก็ได้ไปช่วยการเคหะแห่งชาติ ก่อตั้งสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง ซึ่งเป็นโครงการพิเศษให้ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนแออัดในเมืองด้วย หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินทำอยู่ได้ 3 ปี จึงลาออกมาเป็นประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กระทั่งในปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 (กลุ่มแผนบูรณาการสุขภาวะ) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมกับเป็นประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) และยังเป็นประธานที่ปรึกษาให้กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) รวมทั้งเป็นประธานหรือกรรมการของมูลนิธิและองค์กรอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่ประสบการณ์ชีวิต พร้อมตำแหน่งประดับท้ายชื่อมากมายนี้ก็มิได้ทำให้อาจารย์ไพบูลย์กลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย หรูหรา หลงในวัตถุ ทรัพย์สินเงินทอง หรือลาภยศต่างๆตามค่านิยมของคนในกระแสยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันแต่อย่างใด

                เมื่อถามถึงหลักในการดำเนินชีวิต อาจารย์กล่าวว่า ด้วยความที่เติบโตมาจากชนบททำให้คุ้นเคยกับชีวิตเรียบง่ายความเป็นอยู่พอเพียงมานานแล้ว และก็ทำให้ทัศนคติการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเกิดขึ้นจนปัจจุบัน อาจารย์เล่าความทรงจำในวัยเด็กให้ฟังว่า ตอนนั้นอยู่ที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นส่วนที่ห่างไกลความเจริญมาก ในช่วงน้ำหลากต้องพายเรือไปโรงเรียน ช่วงน้ำแห้งก็เดินไปเรียน จำได้ว่ารองเท้าไม่ได้ใส่ แต่ก็เป็นความสุข ความประทับใจอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะที่ที่อยู่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เก็บดอกโสน ผักบุ้ง ผักกระเฉด สายบัว มาทำกับข้าวกินกันได้อย่างพอเพียง คืออยู่แบบมีกินมีใช้ไปตามควรแก่อัตภาพไม่ได้อยากได้อยากมีอะไรมากไปกว่านี้ แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้จักแนวคิดเรื่องพอเพียงเลยก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตในวัยเด็กนี้เป็นเสมือนรากฐานสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ชีวิตเติบโต และสามารถยืนหยัดอยู่ในเมืองกรุงมาได้เป็นเวลากว่า 40 ปี โดยที่ไม่มีอะไรมาทำให้พื้นฐานการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายพอเพียงเปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้เราก็ทำหน้าที่ของเรา ฐานะพออยู่ได้ เพราะงานที่ทำมาไม่ได้มีค่าตอบแทนสูงอะไร ยิ่งทำงานภาคสังคมก็เหมือนเป็นงานกึ่งอาสาสมัครอยู่แล้ว ชีวิตจึงเป็นชีวิตที่เรียบง่าย และพอเพียงมาโดยตลอด คือมีกิน มีใช้ ไม่เป็นหนี้ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา มีบ้านอยู่ตามสมควร และไม่ได้คิดว่าจะต้องมีบ้านพักตากอากาศที่ต่างจังหวัด ต้องมีรถหลายคัน หรือมีเรือยอร์ทไว้ขับเล่น อาจารย์ไพบูลย์กล่าว

                นอกจากนี้ อาจารย์ยังกล่าวให้ฟังอีกว่า สิ่งหนึ่งที่ช่วยหล่อหลอม กำหนดวิถีชีวิต ให้เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่แบบเรียบง่าย ไม่ทะเยอทะยาน หลงในวัตถุยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆก็คือ ธรรมะ ตอนที่ได้รับทุนไปเรียนที่อังกฤษ มีคนให้หนังสือที่เป็นคำบรรยายของท่านพุทธทาส ซึ่งปัจจุบันได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ใช้ชื่อว่า คู่มือมนุษย์ เป็นเนื้อแท้และหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งพอได้อ่าน ได้คิด และปฏิบัติตามคำบรรยายโดยปฏิบัติแบบธรรมชาติ ไม่ได้นั่งสมาธิวิปัสสนาอะไร พอทำแล้วเห็นประโยชน์จริง เกิดผลทางจิตใจ จึงเกิดความซาบซึ้ง ทำให้สามารถลดละการติดยึดในตัวตนได้ เกิดความสงบเย็น ปลอดโปร่ง ซึ่งเป็นพลังไปในทางที่ดี เพราะพอเราไม่ได้ติดยึดในตัวตน ความคิดและการกระทำจะเป็นไปในทางที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม มากกว่าจะมีความโลภ ทำให้เราไม่ทะเยอทะยานที่จะมีทรัพย์สมบัติเยอะๆ หรือที่จะมีตำแหน่ง มีชื่อเสียงมากมาย แต่มีความมุ่งมั่นที่จะทำภารกิจอันเป็นประโยชน์มากกว่า                คือธรรมะทำให้เรานึกถึงหน้าที่ ที่จะทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ให้กับองค์กร ให้กับส่วนรวม โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าจะได้เงิน ได้เกียรติยศชื่อเสียงอะไร ถ้าจะได้ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น

                ด้วยความคิดพื้นฐานที่เป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เมื่ออาจารย์ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานให้กับมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นมีอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นผู้นำอยู่ และมีโอกาสได้ไปพบเห็นสภาพชนบทว่าชาวบ้านยังมีความยากลำบากกันอยู่มาก จึงเกิดแรงบันดาลใจให้อยากออกจากงานภาคธุรกิจ และหันมุ่งทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง อาจารย์เล่าให้ฟังว่า พอไปเห็นสภาพชนบทก็รู้สึกว่างานด้านพัฒนายังเป็นงานที่สำคัญ และคนที่ทำงานด้านนี้มีอยู่น้อย โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ความสามารถและมีความสมัครใจเข้ามาทำจริงๆ ยิ่งน้อยใหญ่ จึงคิดว่าตัวเองน่าจะออกมาช่วยเสริมกำลังด้านนี้ เพราะถ้าจะให้พูดตามตรงแล้วที่ทำงานภาคธุรกิจให้กับธนาคารพาณิชย์ตอนนั้นก็เพียงเพราะอยากหาประสบการณ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นจุดหมายในชีวิต ซึ่งผมคิดว่าเมื่อมีชีวิตอยู่พึงทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

                เบื้องหลังการทำตามอุดมการณ์ของตนเอง สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมไม่น้อยคือการตัดสินใจที่จะก้าวออกจากภาคธุรกิจมาสู่ภาคสังคม ซึ่งได้รายได้น้อยกว่าเดิมนั้น อาจารย์ก็ไม่ได้ทำด้วยการคำนึงถึงความชอบของตนเองเป็นหลักอย่างเดียว ทว่าอาจารย์ยังได้ปรึกษาและคิดตรึกตรองร่วมกับครอบครัวด้วย ผมคิดว่าคนเราเมื่อมีครอบครัวก็มีหน้าที่ต้องดูแลครอบครัวให้ดี ดังนั้นคงเป็นความโชคดีที่ภรรยาทำงานด้วย เมื่อคำนวณถึงรายรับและรายจ่ายในครอบครัวรวมกันแล้ว แม้ผมจะมีค่าตอบแทนน้อยลงค่อนข้างมาก แต่พอนำมารวมกันก็น่าจะพอเลี้ยงครอบครัวได้ จึงตัดสินใจลาออกจากงานในภาคธุรกิจ โดยได้ปรึกษาภรรยาและภรรยาเห็นชอบด้วย

                ตราบกระทั่งปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าอาจารย์ไพบูลย์ได้ทำงานในภาคสังคมมาเกือบ 20 ปีแล้ว แม้ว่าตอนที่เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินซึ่งถือเป็นธนาคารของภาครัฐ แต่ท่านก็เข้าไปด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ธนาคารนี้ทำหน้าที่เพื่อสังคมอย่างกว้างขวางและสอดรับกับยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานด้านพัฒนาสังคมนั่นเอง และหน้าที่หลักๆในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ คุณธรรมและชุมชนก็ล้วนป็นงานภาคสังคมที่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น 

               อย่างไรก็ตาม การหันเหตัวเองเข้าสู่งานภาคสังคมอย่างเต็มตัวนั้น ไม่ได้หมายความว่าการทำงานอยู่ในภาครัฐ หรือภาคธุรกิจจะไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมเลย อาจารย์ไพบูลย์กล่าวว่า ความจริงอยู่ภาครัฐก็ทำประโยชน์ได้ แต่การบริหารก็ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับหรือระบบงบประมาณต่างๆด้วย ทำให้เราต้องใช้สมองไปคิดเรื่องเหล่านั้นมากหน่อย หรืออยู่ในภาคธุรกิจก็ทำประโยชน์ได้แม้จะต้องเน้นเรื่องค้าขายเน้นเรื่องผลกำไรเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่เวลาและพลังงานที่เราจะอุทิศให้กับสังคมคงทำได้ไม่เต็มที่เท่านั้น ในขณะที่การทำอยู่ในภาคสังคมโดยตรง เราจะมีความอิสระมีความยืดหยุ่นที่จะทำเรื่องที่เห็นว่าสมควรและเกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือต่อส่วนรวมได้มากกว่า และค่อนข้างเต็มที่ เมื่อถามถึงจุดหมายในชีวิต

                อาจารย์ไพบูลย์กล่าวว่า ผมไม่วางแผนอะไรไว้นัก ไม่ได้หวังจะได้ จะมี จะเป็นอะไรเป็นพิเศษ แต่อยากจะทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ คิดว่าการเป็นประธาน หรือเป็นกรรมการ หรือเป็นที่ปรึกษา คอยให้ความคิด แนะทิศทาง เสนอนโยบาย อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ โดยให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้บริหารแทน ก็เหมาะอยู่แล้ว ส่วนเรื่องชีวิตถ้าเลือกได้คงอยากอยู่ที่ที่ใกล้ธรรมชาติหน่อย แต่ถ้ามองในด้านกิจกรรม บทบาทหน้าที่ที่จะทำปะโยชน์ การอยู่ในเมืองจะทำประโยชน์ได้มากและสะดวก ถ้าปลีกตัวไปอยู่ที่ที่น่าอยู่ที่ร่มรื่นแต่ห่างไกล การทำหน้าที่เพื่อสังคมคงไม่สะดวกนัก ซึ่งการใช้ชีวิตในเมืองก็ไม่ลำบากอะไร ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ถ้าเราไม่ติดยึดอะไร เราก็จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ไม่ยาก เช่นอยู่ในเมืองรถติด แออัด เราก็ปรับตัวไป อยู่ในเมืองก็พอเพียง

                เมื่อถามถึงนิยามคำว่า พอเพียง อาจารย์ไพบูลย์กล่าวว่า พอเพียง คือรู้จักพออย่างพอประมาณและพอดี ไม่ได้มุ่งเอาให้ได้มากที่สุด หรือมุ่งกำไร มุ่งเติบโต มุ่งแต่ประโยชน์สูงสุด เราต้องรู้จักพอ ไม่โลภ ไม่ยิ่งมีมากก็ยิ่งอยากได้มาก ความจริงนิสัยคนย่อมมีความโลภอยู่เป็นธรรมดา ผมจึงมักพูดบ่อยๆว่าจงมีความโลภเถิดแต่ให้โลภน้อยๆหน่อย โลภแต่พอเหมาะพอควร และคนเรานั้นอยู่ที่ไหนก็มีความพอเพียงได้ ขึ้นอยู่กับตนเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

                อย่างไรก็ตาม ความพอเพียงก็ขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละคนด้วย อาจารย์กล่าวว่า พอเพียง ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่แบบกระเหม็ดกระแหม่ อยู่แบบติดดินอย่างเดียว เศรษฐีก็อยู่อย่างพอเพียงได้ คือไม่ใช้ชีวิตหรูหราเกินไป ถ้าจะมีบ้านที่สะดวกพอควร มีรถขับ มีเครื่องใช้ไม้สอยอำนวยความสะดวกให้ครอบครัวบ้างไม่ได้ถือว่ามากเกินไป เพราะเป็นธรรมดาที่เมื่อคนเราขยับฐานะก็ต้องเกิดการรักษาสถานภาพทางสังคมเอาไว้บ้าง เพียงแต่เราต้องรู้จักความพอดีเท่านั้น เหลือก็รู้จักเก็บออมไว้บ้างเพื่อเป็นทุนไว้ใช้ยามจำเป็น เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเรามีเงินออมพอจะได้ไม่ต้องไปรบกวนคนอื่น ถือเป็นความรอบคอบอย่างหนึ่ง คนที่รวยมากก็แบ่งเงินทองทรัพย์สินไปทำประโยชน์ให้กับสังคมบ้าง ไม่ใช่มุ่งปรนเปรอความสุขของตัวเองและครอบครัวอย่างเดียว ซึ่งการรู้จักแบ่งปัน รู้จักให้เพื่อสังคม ก็เป็นบุญเป็นกุศล ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างมีความสุขใจอิ่มใจ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยสร้างให้สังคมโดยรวมน่าอยู่ขึ้นด้วย

                ในขณะเดียวกันในความพอเพียง สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ไพบูลย์เน้นย้ำให้เข้าใจคือ พอเพียงต้องเพียงพอไม่อัตคัดด้วย คือไม่สุดโต่งไปในทางที่มีมากเกินไป และไม่สุดโต่งไปในทางที่มีน้อยเกินไป การอดมื้อ กินมื้อ หรือมีข้าวกินแต่กับข้าวน้อยเกินก็ไม่เรียกว่าพอเพียง ดังนั้นคนที่ไม่ค่อยมีสตางค์นัก ก็ใช้น้อยให้เหมาะกับฐานะตนเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรักษาความจนไว้ตลอดกาล ทุกคนมีสิทธิที่จะสร้างรายได้ สร้างชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนตามที่ควรจะเป็นไปได้ นักธุรกิจก็พอเพียงได้

                นอกจากคนเราจะดำเนินวิถีชีวิตของตนเองแบบพอเพียงแล้ว เราก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจแบบพอเพียงได้เช่นกัน อาจารย์ไพบูลย์อธิบายให้ฟังว่า การทำธุรกิจแบบพอเพียง ก็คือ ทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยไม่ใช่มุ่งผลกำไรอย่างยิ่งยวด หรือมุ่งให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วเกินไป แต่ก็ยังคงพยายามทำให้ได้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นตามสมควร มีประโยชน์ตอบแทนให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างสมเหตุผล ทำประโยชน์ให้กับลูกค้าเท่าที่พึงจะทำได้ ในขณะเดียวกันก็ดูแลประโยชน์ของชุมชน ของสังคมรอบข้างด้วย ซึ่งก็อยู่บนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่าด้วยเรื่องความพอประมาณ คือรู้จักพอ รู้จักใช้เหตุใช้ผล เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมเกี่ยวข้อง มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ถ้าเราคิดแบบมีเหตุมีผล เราจะรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ในขณะเดียวกันก็ใช้ปัญญา ความรู้ ความสามารถในการคิดวางแผนอย่างมีหลักการ มีความรอบคอบ รู้จักสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ประมาท เพื่อที่จะได้ไม่เสี่ยงเกินไป ไม่เกิดความพลั้งพลาดที่ไม่ควรเกิด ที่สำคัญคือต้องมีคุณธรรม ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการทำกิจการทั้งหลาย ให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น แต่สร้างความดี ความงาม ความเหมาะสม ความมีคุณค่า ให้เกิดขึ้น ซึ่งหลักของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในชีวิต ในชุมชน ในองค์กร และในสังคม ประเทศพอเพียง

                เมื่อถามถึงแนวทางการพัฒนาประเทศ อาจารย์ไพบูลย์เห็นว่า แนวทางพอเพียงเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาประเทศ คือต้องเพียงพอต่อความต้องการ ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีกินมีใช้ แบบมั่นคง และยั่งยืน ดังที่อาจารย์ป๋วยได้เคยกล่าวถึงสังคมที่พึงปรารถนาว่าต้องเป็นสังคมที่มีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ มีความยุติธรรม และมีความเมตตากรุณา ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไม่ทันสมัย แต่ให้ทันสมัยอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ โดยมีทั้งเสรีภาพ ความยุติธรรม และความเมตตากรุณา ซึ่งจะทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ถ้าเราใช้หลักพอเพียง ก็หมายความว่า คนทั้งหมดต้องพอเพียง ในสังคมที่ดี คนไม่น่าจะแตกต่างกันมากนักในฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ควรมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน อยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง มากกว่าจะต้องมีรายได้ประชาชาติสูงเท่านั้นเท่านี้ คนมีรายได้แค่พอควรในการดำรงชีวิตก็พอแล้ว ส่วนคนที่มีมากหน่อยก็ควรรู้จักแบ่งทรัพย์สินทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมบ้าง การทำธุรกิจถ้าเจริญรุ่งเรืองก็สามารถทำให้คนร่ำรวยขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านี้จะต้องใช้ทรัพย์สินไปเพื่อตนเองอย่างเดียวจนเกินไป อย่างนี้ไม่เรียกว่าพอเพียง ถ้าพอเพียงคือใช้แค่ระดับหนึ่ง เหลือก็แบ่งปันให้สังคมตามสมควร ที่สำคัญความพอเพียงจะช่วยให้เรามีความสุขครบถ้วนอย่างแท้จริง ทั้งความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขทางสังคมและความสุขทางจิตวิญญาณหรือทางปัญญา ถ้าคนเราไม่รู้จักพอ อยากร่ำรวยให้มากที่สุด ก็มักเกิดการกดขี่ข่มเหง แก่งแย่ง เอาเปรียบกัน ทำให้ความสุขของสังคมลดลง คนทำแม้จะมีเงินทองมากมายก็อาจขาดความสุข เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความพอเพียง ในขณะเดียวกันความพอเพียงก็มาช่วยสร้างสุขภาพ หรือคุณธรรมช่วยสร้างความพอเพียง และความพอเพียงก็ช่วยให้เกิดคุณธรรม ดังนั้น ความพอเพียงจึงเกี่ยวข้องและเกื้อหนุนกับทุกเรื่อง ส่วนวิธีที่จะทำให้สังคมดีดังวาดหวังได้นั้น อาจารย์บอกว่า เราต้องช่วยกันสร้างคุณธรรม จริยธรรม การให้คุณค่าต่างๆ โดยเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ครอบครัว ชุมชน ต้องค่อยๆเปลี่ยนทั้งระบบการศึกษา และระบบการทำงาน

                ฟังแล้วดูเหมือนว่าเป็นสังคมอุดมคติที่ไม่มีอยู่ในโลกแห่งความจริงนี้ แต่อาจารย์ไพบูลย์กล่าวทิ้งท้ายว่า สังคมซับซ้อน มีทั้งสิ่งที่ดีงาม และสภาพที่เป็นปัญหา แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ควรทำไปเรื่อยๆ สถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้นและสภาพที่เป็นปัญหาลดลง

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

2 ก.ค. 49

 
คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 42201เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2006 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท