บทคัดย่อธุรกิจการให้บริการการศึกษาในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต : มุมมองทางกฎหมายและนโยบายระหว่างประเทศ


หัวข้อวิทยานิพนธ์   ธุรกิจการให้บริการการศึกษาในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต : มุมมองทางกฎหมายและนโยบายระหว่างประเทศ
E-learning Business In Thai Society : International law and Policy Aspects. 
ชื่อผู้เขียน                   นางสาวรุ่งรัตน์ ธนบดีธาดา

คณะ                            นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ รองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
ปีการศึกษา  2548

การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทยทำให้คอมพิวเตอร์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีราคาถูกลงมากและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นรวมกับนโยบายของทางรัฐบาลที่ต้องการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge based Society) ซึ่งการนโยบายดังกล่าวประกอบกับนโยบายด้านการศึกษาภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ทำให้ประชาชนทั่วไปทุกภาคส่วนของสังคมตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น คนทำงาน ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิต ทำให้ความรู้ที่มีอยู่ไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนอีกต่อไป นโยบายรัฐดังกล่าวทำให้เกิดบทเรียนซึ่งนำไปสู่การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่านคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ตที่จัดทำโดยบุคคลต่าง ๆ ตั้งแต่สถาบันการศึกษา องค์กรของรัฐ องค์กรของเอกชนที่มิใช่สถาบันการศึกษา และบุคคลทั่วไปในสังคมเป็นอย่างมาก

            วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ทำการศึกษาถึงธุรกิจการให้บริการการศึกษาในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต E-learning ซึ่งเกิดการขยายตัวและเข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคมไทยปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาธุรกิจด้านการศึกษาในรูปแบบใหม่ การศึกษาเรื่องธุรกิจการให้บริการการศึกษาในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต : มุมมองทางกฎหมายและนโยบายระหว่างประเทศจึงมีความจำเป็นเพื่อให้สังคมไทยทราบถึงความหมาย ลักษณะ รูปแบบที่เกิดขึ้นของ E-learning รวมตลอดถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการการศึกษา และผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ และสำรวจกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจนี้ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร มาตรการของภาครัฐออกมานั้นมีลักษณะที่เป็นการส่งเสริมหรือเป็นการควบคุมธุรกิจ และภาคเอกชนเข้ามามีมาตรการอย่างไรบ้าง            

             จากการศึกษาพบว่าการให้บริการการศึกษาในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต E-learning เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ในการให้บริการก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ประชาชนมีโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ในขณะนี้สภาวะของประเทศไทยกำลังอยู่ในระว่างการพัฒนาเทคโนโลยี ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจการให้บริการการศึกษาบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ต่างชาติซึ่งมีความเจริญก้าวหน้ากว่าเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยอาจเข้ามาลงทุนโดยตรง หรือเข้ามาร่วมลงทุนกับคนไทย ส่วนการพัฒนา E-learning ในระดับรากหญ้า การจัดทำบทเรียนโดยภาคประชาชนนั้นไม่ค่อยมีการลงทุนมากนั้นทำให้เกิดการไหลออกของเงินบาทไปยังต่างประเทศและการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกที่ไม่เหมาะสมกับคนไทยเข้ามาในประเทศทำให้เกิดการครอบงำทางวัฒนธรรม และทำให้วัฒนธรรม วิถีชีวิตของไทยค่อย ๆ หายไป           

                 ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้เมื่อศึกษาแล้วพบว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายใหม่ในรูปแบบพระราชบัญญัติมาเพื่อบังคับใช้กับธุรกิจนี้โดยเฉพาะ แต่ควรออกกฎหมายลำดับรองเช่นกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง มาประกอบเพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กฎหมายที่มีอยู่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในแต่ละกรณีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดีควรผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ........ออกมาใช้บังคับโดยเร็ว           

                 สำหรับบทบาทภาครัฐในการจัดการสถานการณ์เน้นไปทางด้านการสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินสนับสนุนในการสร้างบทเรียน การเชื่อมต่อฐานข้อมูล รวมตลอดถึงมาตรการทางภาษีเพื่อการศึกษาเพื่อจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น แต่การสนับสนุนของภาครัฐดังกล่าวขาดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วนในสังคมเข้าใจถึงสถานการณ์ด้าน E-learning มีน้อย สำหรับมาตรการในการควบคุมของภาครัฐก็เป็นมาตรการที่กำหนดโดยกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรองค์กรที่รับผิดชอบอยู่ไม่ทราบว่าตนเองมีหน้าที่เข้าไปดูแลบทเรียน E-learning ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ และการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการจัดการบทเรียนที่ไม่ดีบนอินเทอร์เน็ต

                   มาตรการของภาคเอกชนที่เข้ามานั้นก็เป็นมาตรการของแต่ละองค์กรที่เข้ามาส่งเสริม สนับสนุน E-learning เป็นมาตรการช่วยเหลือตนเอง (Self Help) เพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ และทำการตลาดให้สังคมรู้จักผลิตภัณฑ์ขององค์กร ไม่มีมาตรการในการควบคุม E-learning ที่ไม่ดี ไม่มีการรวมตัวกันในการจัดการบทเรียนที่ไม่ดีดังกล่าว

คำสำคัญ (Tags): #e-learning#it-law
หมายเลขบันทึก: 42177เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2006 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท