โศกนาฎกรรม "Roadmap" ยาเสพติดกับ "งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น"


ในระหว่างการเขียน ผมก็จะสลับกับการเขียนบันทึก ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เนื้อหาในหนังสือที่ผมเขียน กับบันทึกที่เขียนใน Gotoknow ไปด้วยกัน เกิดการแลกเปลี่ยนกันกับผู้เข้ามาเรียนรู้ระหว่างนี้ เพื่อการนำไปเพิ่ม-เติม-เสริม ให้หนังสือที่ผมเขียนสมบูรณ์มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น

มองย้อนไปในปี ๒๕๔๖ ผมยังทำงานกับพี่น้องบนดอยสูง ด้วยงานพัฒนาที่เคียงบ่าเคียงไหล่ ทำให้เรารู้สึกผูกพัน เป็นพี่น้องกับคนที่นั่น...

ข้อกล่าวหา ว่าคนบนดอยค้ายาเสพติด หนาแน่นทุกขณะ... ด้วยผลประโยชน์ที่จูงใจ และการนำเข้า "ของ" ที่ง่ายดาย คนไหนที่หลงผิดจึงเปลี่ยนเส้นทางเดินอย่างหวนกลับไม่ได้

 

การประกาศสงครามแตกหักกับปัญหายาเสพติด เป็นยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลตอนนั้นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ชาวบ้านของผมมีหลายๆคนที่ ทยอยหายหน้าไปจากหมู่บ้าน ไปไหนไม่รู้ไม่กลับมาอีกเลย ทิ้งลูกเมียอยู่เพียงลำพัง...ช่วงนั้นมีข่าวว่าในเมืองมีเยาวชนเสพยาบ้ากันงอมแงม...

Roadmap ระยะที่ ๑ จึงเป็นปฏิบัติการที่รุนแรง ยึดพื้นที่ แยกสลาย ทำลายวงจรยาเสพติด ควบคุมตัวยา และผู้ค้ายาเสพติด (Supply) และ ด้านการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติด (Demand) ...ชุมชนที่ถูกกล่าวหา ถูกผลกระทบทางสังคมรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...หลายๆคนบอกผมว่า “ผมไม่มีทางเลือกจริงๆ” อ่านได้จากบันทึกผมที่เคยเขียนไว้ “กระบวนการกลายมาเป็นพ่อค้ายาเสพติด โศกนาฎกรรมบนดอยสูง”

รัฐบาลดำเนินการตาม Roadmap มาเรื่อยๆ จนถึง ระยะที่จะเสริมสร้างพลังแผ่นดินให้เข้มแข็ง ...ผมเถียงในใจว่า จะเข้มแข็งได้อย่างไร เมื่อคนในชุมชนชอกช้ำไปหมดแล้ว ...ตราบาปที่โยนให้ชุมชนเป็นผู้ก่อการแต่เพียงอย่างเดียวมันถูกต้องแล้วหรือ...การค้ายาเสพติดเป็นระบบทุรกรรมที่ใหญ่โต เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายที่สาวบุคคลไปไม่เคยถึง...

ความอ่อนแอ อ่อนล้าของชุมชนในพื้นที่แม่ฮ่องสอนปรากฏเด่นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ จะสร้างชุมชนเหล่านั้นให้เข้มแข็งขึ้นมาได้อย่างไร?จะให้กำลังใจชุมชนในการก้าวต่อได้อย่างไร?

คำถามทั้งหมด เรามานั่งจับเข่าคุยกัน ระหว่าง ผม กับ พี่ชายของผม (พ.ท.ปิยวุฒิ โลสุยะ)นายทหารหนุ่มที่มีไฟแห่งอุดมการณ์ และความถูกต้อง...เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่แม่ฮ่องสอน… เรามานั่งคุยฉันท์พี่น้อง...ลองคิดดูว่ามีหนทางใดบ้าง?ที่จะช่วยฟื้นชุมชนเหล่านี้...ทุกวันนี้ กำลังใจมันหดหายกันไปหมด เสียขวัญและเสียใจกับการจากไปของคนในชุมชน... มันร้ายแรงนักในความรู้สึกของชาวบ้าน…อย่างที่เราเห็นกันอยู่

สิ่งที่เราได้ข้อสรุปจากการคุยกันหลายครั้ง...ว่าน่าจะมีกิจกรรม หรือ งานพัฒนาสักอย่างเข้าไปในชุมชนเหล่านี้ โดยการพัฒนานั้น ต้องเสริมสร้างความรักความสามัคคี ส่งเสริมให้คนในชุมชนรักชาติ รักสถาบัน และอยากให้กิจกรรมนั้นนำไปสู่สิ่งที่ดีๆให้กับชุมชน

ผมได้อ่านเอกสารแผ่นพับ ของ สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงได้ตัดสินใจอีเมลล์คุยกับผู้ประสานงานที่แม่ฮ่องสอน ... ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเกิด งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่แม่ฮ่องสอน(เราใช้ชื่อชุดโครงการว่า “กระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติด จ.แม่ฮ่องสอน”) ในชุดโครงการฯ ดังกล่าวประกอบด้วย โครงการวิจัยย่อย ๔ โครงการวิจัย( ๔ ชุมชน) ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับปัญหายาเสพติดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

...งานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน งานสร้างปัญญา ในการแก้ไขปัญหา โดยนักวิจัยชาวบ้าน เริ่มต้นขึ้นในครั้งนั้น...

การเดินทางไกลของชุมชนสีขาวครั้งนี้...เป็นการเดินทางที่ยาวไกล แต่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เราได้ร่วมกันสร้างสรรค์ปัญญา เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ที่แม่ฮ่องสอน

เรื่องราวที่เป็นบทเรียนเหล่านี้ ผมกำลังเรียบเรียง เป็นต้นฉบับ ...หลังจากผมได้รับทุนการเขียนหนังสือ ประสบการณ์วิจัย จากพื้นที่ กรณี “การแก้ไขปัญหายาเสพติดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งผมจะใช้ระยะเวลาในการเขียนเรื่องราว ผ่านหนังสือเล่มนี้...

อีกประมาณ เดือน หนังสือจะตีพิมพ์ออกมาให้ได้อ่านกัน 

ในระหว่างการเขียนนี้ ผมก็จะสลับกับการเขียนบันทึก ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เนื้อหาในหนังสือที่ผมเขียน กับบันทึกที่เขียนใน Gotoknowเพิ่ม-เติม-เสริมไปด้วยกัน

เกิดการแลกเปลี่ยนกันกับผู้เข้ามาเรียนรู้ระหว่างนี้ เพื่อการนำไป ให้หนังสือที่ผมเขียน สมบูรณ์มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น

 

หมายเลขบันทึก: 42069เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2006 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2020 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ก่อนอื่นต้องขอบคุณในบันทึกนี้ครับ และต้องขออภัยไปพร้อม ๆ กันที่ตอนนี้ยังมิสามารถแสดงความคิดเห็นได้ครับ

เพราะตอนนี้ผมเองกำลังเรียนเรื่อง "พุทธเศรษฐศาสตร์" และพยายามลืมเรื่อง Demand และ Supply อยู่ครับ เพราะ ศ.ดร.อภิชัย จะว่าเป็นพวกเศรษฐศาสตร์เอ๋อ ครับ (Autistics Economics)

ช่วงนี้ขออนุญาตปรับ Paradiam ก่อนนะครับ หวังว่าคงจะไม่ว่ากันนะครับ

ครับผม อาจารย์ปภังกร หาก  พุทธเศรษฐศาสตร ์ ได้สรุปบทเรียนในชั้นเรียนแล้ว...นำมาเขียนบันทึกด้วยนะครับ

แลกเปลี่ยนกันครับ

ขอบคุณครับ 

รออ่าน คำให้การของคนบนดอย นะครับ

คุณออต

คำให้การของคนบนดอย ต้องใช้เวลาเรียบเรียงพอสมควร ครับ

ก็พยายามจะนำมาแลกเปลี่ยนกับการเขียนบันทึกเรื่อยๆครับเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อต่อยอดครับ

ขอบคุณครับที่มาเยี่ยม 

นานมากแล้วเหมือนกัน

ในชั้นเรียนแถวท่าพระจันทร์ สนามหลวง เมื่ออภิปรายถึงโครงการพัฒนา สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือคำว่า "การมีส่วนร่วม" ที่เหมือนจะเป็นคำยอดฮิตแต่ไหนแต่ไรมา

 และการอภิปรายที่ทำให้จดจำได้ถึงทุกวันนี้ก็คือ การอภิปรายคำว่า "การมีส่วนร่วม" (participate) และ "ความร่วมมือ" (Co-Operate) 

ข้อสรุปเบื้องต้นเมื่อหลายปีก่อน ทำนองว่าถ้าคำหลังมีผลมากก็อาจส่งผลให้คำแรกลดค่าความเข้มลงโดยปริยาย

ชอบใจประโยคนี้ครับ 

...โดยการพัฒนานั้น ต้องเสริมสร้างความรักความสามัคคี ส่งเสริมให้คนในชุมชนรักชาติ รักสถาบัน และอยากให้กิจกรรมนั้นนำไปสู่สิ่งที่ดีๆให้กับชุมชน

ผมติดตาม และรออ่านรายงานฉบับนี้ครับ คุณจตุพร

คุณมงคล ครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับความคิดเห็นที่มีประโยชน์

"การมีส่วนร่วม" จากประสบการณ์ที่ทำงานกับชุมชน ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้การส่วนร่วมต้องมีส่วนร่วมโดยแท้จริง ตั้งแต่เริ่มคิด ร่วมกระบวนการ และประเมินผล ...ซึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นที่เราร่วมกันแก้ เป็นปัญหาของทุกคน หากไม่ร่วมมือกัน จะรอให้ใครมาแก้ไขให้เรา...(ประโยคแบบนี้ ใช้กระตุ้นคนในชุมชน)

การมีส่วนร่วมเป็นทั้ง วิธีการ(Mean ) และ เป้าหมาย (End)ครับ

ชุมชนที่ผมทำงาน เป็น "ชายขอบ" แทบทั้งสิ้น คนกลุ่มนี้ถูกทำให้ด้อยเรื่องสิทธิต่างๆ เป็นแหล่งเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ของรัฐบางกลุ่ม ตลอดจนความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับชนกลุ่มน้อยนอกประเทศ ปัจจัยอื่นอีกบางส่วน เอื้อให้เกิดธุรกรรมยาเสพติดที่เข้มแข็งขึ้นมา

ก่อตัวเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง...ยากแก่การแก้ไขในที่สุด

วันหนึ่ง...มีการ"ทำสงคราม" กับปัญหายาเสพติด ก็นองเลือดขึ้นทั่วพื้นที่ 

คนที่ทำอาจเป็นกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง แต่กลุ่มชาตพันธุ์โดนพิพากษาไปแล้ว ชุมชนที่อ่อนแรงอยู่แล้ว ยิ่งอ่อนแรงลงไปทุกขณะ...

จะมีใครบางไหมที่เข้าใจพวกเขา...

เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พิสูจน์ตัวเองในสังคม

"งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น" ที่พวกเราทำ สร้างอัตลักษณ์เชิงบวก และ เสริมสร้างปัญญา พัฒนาศักยภาพคนในท้องถิ่น 

เราเชื่อว่ามันคือ "ทางเลือก" และ "ทางรอด"

ทุกวันนี้ ผลงานบางอย่างจากกระบวนการก็ประจักษ์ชัด 

ขอบคุณ คุณมงคล ที่ช่วยผมเติมเต็มครับ 

กระผมรออ่านหนังสือของคุณอยู่นะครับ......

ท่าน น.เมืองสรวง

ขอบคุณครับ ที่มาเยี่ยมผม...หนังสือจะออกปลายปีนี้ครับ ผมจะมอบให้ท่าน น.เมืองสรวง ๑ เล่ม (สัญญาไว้ก่อน เอาเคล็ดครับ 555) 

ผมอุตส่าห์เรียนจนจบ ป.โท วิทยาการเสพติด จาก ม.มหิดล แบบต้องแอบๆๆไปเรียนขณะปฎิบัติงานที่ชายแดนเชียงใหม่ ทุกวันเรียนจบมาปีกว่า ก็ยังทำงานอยู่กับพี่น้องชนเผ่าตามแนวชายแดนไทย - พม่า ตามนโยบายของ กอ.รมน.เพื่อจัดตั้ชุมชนเข้มแข้งเอาชนะยาเสพติด(โครงการ ชพส) ทำงานมา คิดนอกกรอบมาก แต่ ติดที่ตัวเองเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย กรอบทหารก็เยอะมาก เห็นด้วยกับการจัดการชุมชนให้เข้มแข้ง แต่เท่าที่เห็นมาตลอด ห้า ปี เห็นแต่แบบขอผลาญงบประมาณให้หมดสักที การติดตามงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ แทบทุกหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนมีงบแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่เชื่อไหมครับ มันไม่เคยลดลงเลย (จะลดลงเมื่อนายสั่งว่าให้รายงานลด ตอนสรุปผลงาน)ท้อครับ ทุกวันนี้ เราทำงานแบบรูทีนอย่างเดียว อยากทำงานแบบ R and D

ตอนนี้ผมสนใจที่อยากจะทำงานวิจัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามชุมชนชายแดน กำลังคุยกับ อาจารย์ที่ มหิดล กับที่ มน.อยู่ครับ หากทางพี่มีขอแนะนำอะไรบ้างขออนุญาติรับคำแนะนำบ้างครับ เรื่องที่ผมสนใจอยากจะทำวิจัยคือ ทำไหมบางชุมชนปัญหายาเสพติดยังเป็นปัญหาซ้ำซากอยู่ ในขณะมีหลายหน่วยงานทุ่มงบมาให้มากมาย แล้ว เราจะแก้ปัญหาชุมชนเรานี้ได้อย่างไร ขออนุญาติแสดงความคิดเห็นนะครับ

คุณเสกสรร ครับ

ผมเข้าใจวิถีทหารครับ ที่ผ่านมาก็คลุกชีวิตกับทหาร เห็นทุกแง่มุมที่เป็นจริง

เรื่อง "ชุมชนเข้มแข็ง" นั้น เป็นแนวคิดที่ลงไป ผมก็คิดว่าดี แต่กระบวนการนั้นเป็นเรื่อง รูทีน ทั้งหมด คนทำเองก็ไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งในจิตวิทยาชุมชน ทำให้เสร็จๆไป งบประมาณก็มีเพียงพอ นี่ผมไม่ได้บอกว่าทหารแต่เพียงอย่างเดียว ทีมงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากส่วนงานต่างๆ ทหารนั้นผมให้เครกิต ตรงความตั้งใจครับ แต่"ความตั้งใจ" อย่างเดียวมันไม่พอไง ต้องใช้กลวิธี ใช้ความรู้ค่อนข้างมากครับ

งานยาเสพติดช่วงต่อไป ผมก็ยังให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งของชุมชนครับ นั่นเองเป็นคำตอบเดียวที่ทำให้ชุมชนป้องกันตนเองได้ และพัฒนาสังคมในระดับชุมชนให้เคลื่อนไป

เราสนใจการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนครับ โดยการพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ให้ก้าวขึ้นมารวมตัวกัน มีพื้นที่ มีโอกาส มีพี่เลี้ยง มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ...ทุกอย่างเป็นจริงครับ แต่...ต้องใช้เวลาและความลุ่มลึกของพี่เลี้ยง หรือนักวิจัยข้างนอกก็ต้องดีด้วย

ผมขอให้กำลังใจครับ ...น้อยคนที่จะสนใจประเด็นงานเหล่านี้ เพราะ มันเหนื่อย และใช้เวลา แต่หากตั้งใจ ทำมาจริงๆ คุ้มมากครับ การติดอาวุธทางปัญญาให้ชุมชนนั้นยั่งยืนกว่าเป็นไหนๆ

 

ยินดีมากครับ...หากจะพูดคุยกันในรายละเอียดก็ติดต่อผมผ่านทางโทรศัพท์ หรือ อีเมลได้ ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งครับ จะส่งให้ทางคุณเสกสรรด้วยครับ

vjatuporn  (hotmail  & Gmail) .com

อย่าไปหลงเชื่อคนชื่อ เสกสรร เลยครับ ด้วยความหวังดี

สวัสดีค่ะ

  • พี่คิมสนใจงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นค่ะ
  • ทำมาแล้วครั้ง เมื่อ 2547-2548  ได้ข้อสนเทศมาพอที่จะสานต่อได้ค่ะ
  • พี่คิมต้องการหนังสือที่คุณเอกจะให้ค่ะ
  • งานวิจัยเพื่อท้องถิ่ของ สกว.ฉบับเล็ก ๆพี่คิมอ่านมาแล้วเกือบทั้งหมดค่ะ
  • น้องพอจะแนะนำพี่คิมอีกอย่างไรบ้างคะ
  • [email protected]
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท