การประชุมโซนใต้ประจำเดือนกรกฎาคม (7)


เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา  วันนี้มาติดตามกันต่อดีกว่าค่ะว่าการสนทนามีเนื้อหาสาระและบรรยากาศเป็นอย่างไร

คุณสุวัฒนา  กล่าวต่อว่า  ถ้าไปอ่านในพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก   เหมือนชุมชนเลย  แต่ตอนที่เอาไปทำปรากฎว่าไม่ได้ทำเหมือนกับที่กฎหมายเขียนไว้  เพราะ  ไม่มีการเตรียมคน  โยนโครมลงมาเลย  ถ้าทำตามกฎหมายทุกขั้นตอนก็เหมือนกับชุมชนเลย

 

คุณภีม  บอกว่า  เมื่อตอนไปที่สงขลาได้เชิญคุณสันติ  อุทัยพันธ์  มาพูด  คือ  เปรียบเทียบดูแล้วว่าเมื่อรัฐบาลเก็บเงินภาษีจากประชาชนไป  แล้วต้องการส่งย้อนกลับมา  จะมีวิธีการส่งย้อนกลับมาอย่างไรที่ทำให้คนได้ประโยชน์มากที่สุด  ไม่ทำลายคน  วิธีการที่คุณสันติพูดมี 2 วิธี  คือ

 

1.ส่งมาแบบไม่ทั่วฟ้า  ให้คนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ได้ไปก่อน ให้คนเก่งก่อน กล่าวง่ายๆก็คือ  เช่น   แบบ พอช.  เป็นต้น  มาไม่ครบทุกตำบล  โดยเฉพาะคนที่รู้ข้อมูลจะได้เปรียบ  มีโอกาสรู้มากกว่า  การให้แบบนี้ก็เพื่อให้คนที่เก่งไปขยายผลกับคนที่อ่อน  ขยายแบบเป็นลูกโซ่  แต่วิธีการปฎิบัติต้องผ่านหน่วย  เพราะ  รัฐบาลไม่รู้ว่าใครคือคนเก่ง  ยกตัวอย่าง พอช.  ที่มีเครือข่าย  คนทำงานใน พอช.มีไม่กี่คน  แต่เขาต้องหาเครือข่ายซึ่งมีทั้งตัวปลอม  ตัวจริง  ซึ่งก็มีข้ออ่อนเยอะ

 

2.ส่งมาแบบทั่วฟ้า  คือ  หว่านให้ทั่วไปหมด 

 

คุณยุพิน  บอกว่า  อยากจะเสนอว่าทำไมเขาไม่ลงมาหาตัวจริงเลย

 

คุณภีม  กล่าวต่อว่า  เขาไม่มีคนมาหา  นอกจากราชการ  ขั้นตอนในการพัฒนาของเราเริ่มต้นจากการเข้าหาราชการ  รัฐบาลเก็บภาษีก็ส่งเข้ามาหาราชการ  ผ่านราชการส่วนภูมิภาค  ผ่านพัฒนาชุมชน  เกษตร  โดยทำเป็นโครงการส่งเข้าไปที่หน่วยงานต่างๆ  แต่วิธีการนี้ประชาชนได้ประโยชน์น้อย  เพราะ  ราชการทำงานไม่จริงจัง  ไม่สนใจชุมชน  พอมีปัญหานี้ขึ้นมาก็ใช้วิธีการกระจายอำนาจ  ก็เกิด อบต. ขึ้นมา  ซึ่งก็มีปัญหาอีกแบบหนึ่ง  อบต.ก็มีการแข่งขันกันอีก  มีการแบ่งพรรค  แบ่งพวก  ไม่ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย  ส่วนอีกวิธีหนึ่ง  คือ  ผ่านหน่วยงานมหาชนก็เจอปัญหาอีก  ทีนี้พอผ่านระบบตรงแบบกองทุนหมู่บ้านก็มีปัญหาอีก  เพราะ  ประชาชนไม่มีพื้นฐาน  มีหนี้สินมากขึ้น  สรุปคือ  แต่ละวิธีการมีพัฒนาของตัวเอง  มีข้อจำกัด  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร  โครงการของเราก็พยายามที่จะหาบทเรียนหรือหาวิธีการที่ดีที่สุดอยู่  วิธีการนี้ต้องสามารถที่จะเชื่อมโยงระหว่างการทำงานกับชุมชนกับหน่วยงานข้างนอกที่จะเข้ามาเสริมว่าจะแบ่งบทบาทกันอย่างไร 

 

คุณยุพิน  บอกว่า  ปัญหาคือ  ชาวบ้านไม่รู้วิธีการเชื่อมโยง  ตัวเองได้เคยมีโอกาสพบกับท่าน    ผู้จัดการของ สสส. (ในขณะนั้น)  ท่านก็บอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้ทำโครงการเสนอเข้ามาเลย  ทางสสส.ให้การสนับสนุนได้  แต่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร   เสนอผ่านใคร

 

คุณภีม  บอกว่า  เราก็ใช้วิธีการจัดการความรู้ เพราะ เราก็ทำการจัดการความรู้กันอยู่แล้ว  เป็นการปรับปรุงจากความรู้ที่เราได้บทเรียนมา มีการตรวจสอบ  มีการทบทวนกันทุกเดือน  เอาข้อมูลมาสรุปกัน  แล้วเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างระมัดระวัง 

 

ผู้วิจัย  ขอเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า  วิธีการที่นำเงินลงสู่ชุมชนทั้ง 2 แบบ  โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าผิดตั้งแต่วิธีคิด  อย่างแบบแรกที่บอกว่าให้ไม่ทั่วฟ้า  โดยให้คนเก่งก่อน  ตัวเองเห็นว่า  การเป็นคนเก่งไม่ได้หมายความว่าเป็นคนดี  เพราะฉะนั้น  วิธีคิดที่บอกว่าให้คนเก่งคนจึงไม่น่าจะใช่  น่าจะเปลี่ยนเป็นให้คนดีก่อน  ซึ่งคนดีนั้นอาจไม่ใช่คนเก่งก็ได้  กับวิธีที่สองที่บอกว่าให้แบบทั่วฟ้า  เช่น  กองทุน    หมู่บ้าน ฯลฯ  ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนไม่มีฐาน  แต่สิ่งที่ตัวเองอยากเพิ่มเติม  คือ  เป็นเพราะว่าระบบไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนหรือเปล่า  ตัวเองเคยศึกษาเรื่องเงินกู้นอกระบบ  ตอนนั้นก็ศึกษากองทุนหมู่บ้านด้วยนิดหน่อยในฐานะที่เป็นกลุ่ม/องค์กรในชุมชน  สิ่งที่พบ  คือ  เงินกู้นอกระบบสามารถอยู่ได้  คนมากู้เงินนอกระบบเพื่อเอาไปคืนกองทุนหมู่บ้าน  ผลการศึกษาชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเงินกู้นอกระบบเข้ากับ Life style ของคน  อย่างเงินกองทุนหมู่บ้านยืมไปแล้ว 1 ปี  ค่อยไปหาเงินมาคืน  แต่เงินกู้นอกระบบมันยืดหยุ่นกับวิถีชีวิตของคน  เพราะ  คนไม่ได้ใช้เงินเป็นปี  แต่คนใช้เงินเป็นวัน  ใช้เงินเป็นเดือน  ถ้ากองทุนหมู่บ้านไม่เข้าใจระบบ  ไม่เข้าใจวิธีคิด  หรือไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคน  กองทุนหมู่บ้านจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ 

 

คุณภีม  บอกว่า  ในทางปฏิบัติเราต้องดูว่าทุนในสังคม  ทุนในชุมชนมันรองรับพอไหม  ทุนมนุษย์  คือ  คนมีความรู้  มีคุณธรรม  มีพื้นฐานรองรับเรื่องเหล่านี้ไหม  ทุนทางสังคมของเรามีความรัก  มีความเกื้อกูลกันไหม  ถ้าหากทุนของเรามีไม่เพียงพอ  อะไรลงมาก็มีโอกาสเสี่ยงสูง  เพราะ  ไม่มีตัวรองรับที่ดี  พอมันลงมาแบบไม่มีระบบพี่เลี้ยง  ไม่มีกลไกตรวจสอบ  ไม่ว่าจะหว่านลงมาทั้งฟ้าหรือลงมาบางกลุ่มก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้  ดังนั้น  มันจึงขึ้นอยู่กับทุนในชุมชนของเรา  สิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่สร้างทุนชุมชน  คือ  เป็นการพัฒนาคนให้เก่งขึ้น  เป็นคนดีมากขึ้น  เป็นการพัฒนาการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  นอกจากนี้แล้วยังเป็นการสร้างทุนทางทรัพยากร  แต่สิ่งเหล่านี้มันมาจากพื้นฐาน 2 อันที่เรายังอ่อนอยู่  นั่นคือ  การศึกษา  กับ  วัฒนธรรมเดิมของเราซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะโทษใคร

 

พระธรรมปิฎก  เคยกล่าวเอาไว้ว่าสิ่งที่ดีของคนไทยก็มีเยอะ  แต่สิ่งที่เสียก็มีเช่นกัน  ข้อเสียที่เห็นชัดๆเลยมีอยู่ 2 ข้อ  คือ 

 

1.การบริโภคนิยม  คือ  ลัทธิบริโภคผล  ก็คือ  ไม่เป็นคนผลิต  แต่อยากได้ผลผลิต  กล่าวง่ายๆคือ  ใช้มากกว่าผลิต 

 

2.ลัทธิรอผลดลบันดาล  คือ  รอให้ฝนตกลงมา  ไม่ขวนขวาย 

 

ถ้า 2 สิ่งนี้มาอยู่ด้วยกันเป็นอันเจ๊ง  รัฐบาลที่เข้าใจใน 2 สิ่งนี้จึงได้เสียงมหาศาล  คือ  ให้เรื่องการบริโภค  ทำให้คนเข้าถึงการบริโภคโดยไม่ลำบากนัก

 

นอกจากนี้แล้ว  คุณภีม  ยังเสนอว่า  เราจะต้องพยายามสรุปบทเรียนของขบวนการเครือข่ายฯที่เราไปร่วมงานมา  แล้ววางแผนขับเคลื่อนโซนใต้อย่างเป็นระบบ  กำหนดยุทธวิธี  แล้วลองตั้งเป้าดูว่าภายในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน  เราจะทำอย่างไร  มีวิธีการอย่างไร  และถอดชุดความรู้นี้ออกมาด้วย 

            วันนี้ขอเล่าจบไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะคะ

หมายเลขบันทึก: 42015เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2006 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท