แนวคิดทฤษฎีผู้บริหารมืออาชีพ


แนวคิดทฤษฎีผู้บริหารมืออาชีพ

                               แนวคิดทฤษฎีผู้บริหารมืออาชีพ 

     การพัฒนาทั้งโรงเรียน  (นงลักษณ์  วิรัชชัย  และสุวิมล  ว่องวาณิช. 2544)  เป็นแนวคิดที่มุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาไปพร้อมๆ  กันอย่างเป็นระบบ  โดยมีการดำเนินการอย่างครอบคลุมในทุกองค์ประกอบของโรงเรียน  โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย  โดยทั่วไปการพัฒนาทั้งโรงเรียนมีขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญ 6  ขั้นตอน  คือ

  1. ขั้นสำรวจ (E-explore)
  2. ขั้นสนทนาแลกเปลี่ยนความคิด(C-converse)
  3. ขั้นการวางแผน (P-plan)
  4. ขั้นลงมือปฏิบัติตามแผน (I-implement)
  5. ขั้นประเมินผลการดำเนินงาน (E-evaluation)
  6. ขั้นการปรับปรุงแผนงาน (R-revision)  โดยการดำเนินการดังกล่าวจะมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

       1)  การบูรณาการเข้าสู่ระบบงาน (built-in)  เป็นการนำเรื่องที่ต้องการนำสู่ระบบโรงเรียนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานและภาระงานที่ทำอยู่ตามปกติ  ไม่ใช่เป็นภาระเพิ่มเติมหรือโครงการชั่วคราวเฉพาะกิจ

       2)  การจัดให้ครบวงจร (Complete  cycle)  โดยนำเรื่องที่ต้องการปฏิรูปเข้าไปอยู่ในขั้นตอนต่างๆ  ของระบบและภาระงานตั้งแต่การวางแผน  การดำเนินงาน  และการประเมินผล

       3)  การพัฒนาให้ครอบคลุมทุกส่วนของระบบโรงเรียน (total  development) โดยให้เรื่องที่ต้องการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของทุกองค์ประกอบของโรงเรียน ไม่ใช่เป็นโครงการเอกเทศ

       4)  การกำหนดปัจจัยพื้นฐาน (basic  requirement)  ที่เอื้อต่อการปฏิรูปโดยพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน  เช่น ระบบงาน  กระบวนการทำงาน  บุคลากร  โดรงสร้างของโรงเรียนทางกายภาพ  เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรมของเรื่องที่ต้องการ

       5)  การส่งเสริมให้พัฒนาตนเอง (Self  development)  โดยให้ฝ่ายต่างๆ  และบุคคลเกี่ยวข้องทำการประเมินตนเองเกี่ยวกับการดำเนินงานและพัฒนาตนเองในเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่อง

       6)  การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่  (full  participation)  โดยให้ทุกฝ่ายทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของเรื่องนั้นบนพื้นฐานของความเข้าใจ  การยอมรับ และตระหนักในความสำคัญ

       การจัดการในลักษณะดังที่กล่าวมาต้องครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานที่เป็นองค์ประกอบหลักของงานในโรงเรียน  คือ

       1)  การบริหารจัดการ  ได้แก่  เป้าหมาย  แผนกลยุทธ์  คณะกรรมการโรงเรียน  แผนปฏิบัติการ  ระบบงานและภาระงานของฝ่ายต่างๆ  การพัฒนาบุคลากร  การนิเทศและการประเมินภายใน  และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและสื่อสารสัมพันธ์

       2)  การจัดการเรียนการสอน  ได้แก่  หลักสูตร  กระบวนการเรียนการสอน  การจัดสภาพห้องเรียน  การใช้สื่อและเทคโนโลยี  และการประเมินผล

       3)  กิจกรรมในโรงเรียน  ได้แก่กิจกรรมประจำวัน  กิจกรรมประจำภาคการศึกษา  กิจกรรมวันสำคัญ  และกิจกรรมนอกหลักสูตร

       4)  กิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชน  ได้แก่กิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองหน่วยราชการ หรือองค์กรทางสังคม

       ด้วยเหตุที่การพัฒนาทั้งโรงเรียนในแนวคิดและแนวทางที่เอื้อต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ให้ได้ผล  การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน  จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าจะมีพลังเพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน

       การพัฒนาโรงเรียนทุกด้าน (มาหะมะ  ด๊อเระ.71  อ้างใน ทิศนา  แขมมณี , 2547) 

ได้กล่าวถึงการพัฒนาโรงเรียนไว้ดังนี้

       1.  ผู้บริหารต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองมากขึ้นเพราะเป็นจุดเริ่มและมีความสำคัญที่สุดที่ผลักดันให้โครงการดำเนินไปได้อย่างราบรื่น  ซึ่งผู้บริหารจะต้องดำเนินการบริหารงานวิชาการ  จัดปัจจัยเกื้อหนุน นิเทศภายใน  สร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน  รวมทั้งมีหน้าที่การประเมินการดำเนินการอย่างมีระบบตามวงจร PDCA

        2.  ต้องสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ  วิชาชีพครู  ในฐานะที่เป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ต้องมีการวางแผนการสอน  เตรียมการสอน  สอน  และวัดผลประเมินผลด้วยวิธีการทีหลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะการเรียนจากหนังสือในห้องเรียนเท่านั้น  ครูได้จัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนโดยใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนมากขึ้น  มีการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียนอย่างเป็นระบบมากขึ้นด้วย  เป็นต้น

         3.  บุคลากรอื่นๆ  เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนมากขึ้นว่า  จะต้องอำนวยความสะดวกและจัดปัจจัยเกื้อหนุน  เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น

         4.  ให้นักเรียนได้รับความรู้ตามหลักสูตรและตามข้อบ่งชี้ของโครงการโดยผ่านวิธีการสอนที่น่าสนใจและมีการเรียนรู้ผ่านสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมากกว่าเดิม

        สี่ยุทธศาสตร์หลักผลักดันการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน (อำไพ จิตเมตตา, 2547, 111)  ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปการเรียนรู้  ดังนี้

        1.  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เป็นวิธีการที่สำคัญที่สุด  โดยมีวิธีการดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  3  รูปแบบ  ดังนี้

            1.1  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูด้วยกัน

            1.2  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูกับผู้บริหารและผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ

            1.3  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูผู้นำกับนักวิจัยภายนอก  ทำให้ครูชัดเจนและเกิดกำลังใจในการทำงานต่อไป

        2.  ขั้นพัฒนาครูผู้นำ (Mentor  teacher)  ซึ่งมีจุดประสงค์ดังนี้

             2.1  เป็นผู้มีความรู้ในเรื่องการวิจัย

             2.2  เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ค้นคว้า

             2.3  เป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์

             2.4  ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น

       เมื่อคัดเลือกครูผู้นำได้แล้วโรงเรียนพัฒนาครูผู้นำให้มีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาความสามารถในการคิดซึ่งเป้าหมายของการปฏิรูปของโรงเรียน  โดยใช้วิธีการดังนี้

             1)  ให้ครูผู้นำเข้ารับการอบรมปฏิบัติการพัฒนาความสามารถในการคิดร่วมกับนักวิจัยหลักของโครงการและเป็นวิทยากรมาร่วมขยายผลให้ครูภายในโรงเรียน

             2)  จัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครู 3  โรงเรียนในโครงการย่อยที่กำลังดำเนินการพัฒนาการคิดเช่นเดียวกัน

             3)  จัดหาหนังสือหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสามารถในการคิดและงานวิจัยของโรงเรียนให้ครูผู้นำได้ศึกษาค้นคว้า

       กิจกรรมดังกล่าวทำให้ครูผู้นำมีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาความสามารถในการคิดมากขึ้น  ครูผู้นำแต่ละคนเมื่อได้รับการคัดเลือกแล้วจะรับภารกิจดังนี้

             1) รับสมัครครูเข้าร่วมทีม

             2) เป็นที่ปรึกษาและคอยช่วยเหลือเพื่อนครูในด้านต่างๆ  เช่น ในด้านเอกสารการค้นคว้า 

             3) ตรวจสอบ รวบรวมประสบการณ์ในการวิจัยทั้งด้านความรู้  ความสามารถ  และทัศนคติในการวิจัย ตลอดจนความก้าวหน้าในการวิจัยของครูในทีม

             4) เป็นวิทยากรขยายผลการวิจัยสู่ครูคนอื่นในโรงเรียนขยายผล

       3.  การพัฒนาครูแบบคู่สัญญา  คือ  การจัดกลุ่มครูจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นการจัดคู่กันเพียง  2  คน  หรือมากกว่า  2  คน  ก็ได้  เพื่อทำสัญญาว่าจะร่วมกันทำวิจัยและช่วยเหลือเกื้อกูลให้กำลังใจกันและกันในการทำวิจัยจนเกิดผล วิธีการสำคัญคือ  ให้ครูที่ประสงค์จะทำงานด้วยกันให้สัญญาต่อกันว่าจะผลักดันงานด้วยกัน  โดยมีการเขียนสัญญาให้กันและกันเป็นลายลักษณ์อักษร  ซึ่งคู่สัญญาที่นี่ไม่ได้หมายถึงเพียง  2  คน  แต่อาจหมายถึงการจับกลุ่มกันทำ  คู่สัญญา 

       4.  การพัฒนาศูนย์สื่อและกิจกรรมพัฒนาความคิดศูนย์วิทยาการ  ให้หลากหลายรูปแบบ  เช่น  กิจกรรมชุมนุม  กิจกรรมประเทืองปัญญา

       ยุทธศาสตร์ทั้ง  4  ประการนี้  ให้ยึดหลัก Plan  Do  Check  Action (PDCA)

 การบริหารด้วยพันธะสัญญาเพื่อพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (สมศักดิ์  รู้ชอบ, 2547:121)  ได้กล่าวถึงการบริหารโดยใช้พันธะสัญญา  ไว้ดังนี้

       การพัฒนาเริ่มต้นจากการ  ระดมปัญหา  ซึ่งมี  3  ระยะ

  1. ระดมปัญหาเพื่อกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นด้วยครูทุกคน
  2. ระดมปัญหาการจัดการศึกษาที่ควรแก้ไขจากการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา
  3. ระดมปัญหาและการพัฒนาการศึกษาเมื่อสิ้นภาคเรียนทุกภาคเรียน

      เก้ายุทธศาสตร์นำโรงเรียนสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน (จารุวรรณ  ศิลปะ

รัตน์, 2547:125)    ได้กล่าวถึงการนำยุทธศาสตร์ต่างๆ  มาปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน ดังนี้

     ยุทธศาสตร์ที่  1  การสร้างความตระหนักและความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับ

โครงการวิจัย  โรงเรียนดำเนินการโดยประชุมชี้แจงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ได้แก่  ครู  ผู้ปกครองถึงความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการ  วัตถุประสงค์  ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

     ยุทธศาสตร์ที่  2  การพัฒนาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและรวมพลัง 

     ยุทธศาสตร์ที่  3  การสร้างแรงจูงใจจากภายใน

     ยุทธศาสตร์ที่  4  ยุทธศาสตร์การปฏิบัติจริงในการเรียนรู้  ผู้บริหารกระตุ้นและ

ส่งเสริมให้ครูทดลองวิธีการสอนต่างๆ  ด้วยตนเองและนำผลมาพูดคุยอภิปรายร่วมกันอยู่เป็นประจำเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา

     ยุทธศาสตร์ที่  5  ยุทธศาสตร์การถามคำถามและตอบคำถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ 

ผู้บริหารใช้วิธีพูดคุยซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูเสมอ ฝึกให้ครูเป็นทั้งผู้ถามและผู้ตอบ เพื่อให้ครูรู้จักใช้กระบวนการสืบสวนในการค้นหาคำตอบด้วยตนเอง

     ยุทธศาสตร์ที่  6  ยุทธศาสตร์การสร้างลักษณะนิสัยสนใจใฝ่รู้ให้ครูและนักเรียน  

ผู้บริหารชักชวน  กระตุ้นให้ครูเห็นคุณค่าของการอ่านและหมั่นศึกษาหาความรู้โดยจัดแหล่งค้นคว้าหาความรู้ให้อย่างเพียงพอ  จัดสถานที่สภาพแวดล้อมของแหล่งเรียนรู้สำหรับครูให้สวยงาม ซักถามเรื่องที่ครูอ่าน  ชมเชยเมื่อเห็นครูอ่าน  และชักชวนให้ครูนำเรื่องที่ตนค้นคว้ามานำเสนอต่อเพื่อนๆ  ในที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้

     ยุทธศาสตร์ที่  7  ยุทธศาสตร์การทำงานเป็นทีม  โดยแบ่งสายการบริหารงานและ

กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน  เพื่อร่วมกันปฏิบัติงานตามวงจร  PDCA  ให้เป็นไปตามปกติในการปฏิบัติงานประจำทุกเรื่อ

     ยุทธศาสตร์ที่  8  ยุทธศาสตร์การรู้จักประเมินตนเอง  และเปิดใจรับการประเมิน

จากผู้อื่น  ผู้บริหารกระตุ้นให้ครูรู้จักสำรวจสังเกตวิเคราะห์ตนเอง  และเข้าใจตนเองอยู่เสมอ  โดยใช้คำถามง่ายๆ  เช่น  ถามความรู้สึกของครูว่ารู้สึกอย่างไร  เข้าใจหรือไม่  พอใจในสิ่งที่ทำเพียงใดก้าวหน้าไปแค่ไหน  และเปิดโอกาสให้ครูได้มีการประเมินผลการทำงานซึ่งกันและกัน 

      ยุทธศาสตร์ที่  9  ยุทธศาสตร์การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  ผู้บริหารพูดคุยให้ครู

เห็นความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  โดยให้ครูทดลองทำด้วยตนเอง  และนำไปใช้กับเด็ก

      เรียนรู้ร่วมกันโดยการสร้างสรรค์ 6 องค์ประกอบหลัก (สมลักษณ์  สุเมธ

,2547:130)   ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนไว้ดังนี้

       1.  การสร้างทีม (ทำ) งาน   ผู้บริหารโรงเรียนต้องสร้างทีมที่รับผิดชอบการทำงาน

นี้โดยตรง  ซึ่งจะต้องเป็นทีมที่มีความรู้ความสามารถ  และที่สำคัญต้องเป็นทีมที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่นเสียสละในการทำงาน

       2.  การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

            2.1  ครู  ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครูในเรื่องความสำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้การสอนโดยใช้ยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดเน้นของโรงเรียน  การทำงานในลักษณะของการวิจัยและพัฒนาการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน

            2.2  นักเรียน  ในการปฏิรูปการเรียนรู้นั้นผู้เรียนต้องเปลี่ยนบทบาทของตนเองด้วย  จากผู้ที่รับฟังคำสอนของครูมาเป็นผู้ที่เรียนรู้ด้วยการคิด  การลงมือปฏิบัติด้วยตนเองภายใต้คำแนะนำช่วยเหลือจากครูเท่าที่จำเป็น

            2.3  ผู้ปกครอง  การประชาสัมพันธ์ชี้แจงรายละเอียดให้ผู้ปกครองทราบ  เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจได้เป็นอย่างดี  การประชาสัมพันธ์จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง

            2.4  คณะผู้วิจัยหลักของโรงเรียน  ต้องมีความรู้ความเข้าใจในยุทธศาสตร์การสอนที่โรงเรียนเลือกใช้  เพื่อเป็นที่ปรึกษาของครูในกรณีที่พบปัญหาจากการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้คณะผู้วิจัยหลักของโรงเรียนยังต้องเรียนรู้เรื่องการทำงานในลักษณะของการวิจัยและพัฒนา  การสังเคราะห์งานวิจัยของครู  การบริหารโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงศิลปะการถ่ายทอดความรู้  การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ 

       3.  การสร้างระบบการทำงาน  ระบบการทำงานหลักที่ใช้ในการดำเนินงานคือ  วงจร  PDCA  คือจะต้องมีการตรวจสอบประเมินผลและปรับปรุงงานทุกระยะ  นอกจากนี้ยังต้องมีการนิเทศติดตามงานทั้งภายในโรงเรียนและจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายนอกในส่วนการดำเนินงานของครู 

       4.  การสร้างระบบข้อมูล  เพื่อเก็บร่องรอยการทำงานทุกฝ่ายทุกระดับ  ทุกฝ่าย    ทุกระยะ  เพื่อให้ครูเห็นภาพการพัฒนาของตนเองและของโรงเรียน  เป็นการกระตุ้นให้ครูเกิดการแข่งขันกับตนเองและกับผู้อื่นได้อีกทางหนึ่ง

       5.  การสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน  ให้ความช่วยเหลือครูในรูปแบบต่างๆ      เช่น  การจัดแหล่งศึกษาค้นคว้าความรู้  การจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนด้านสถานที่  วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  การให้เวลาในการทำงาน  ความใส่ใจและห่วงใยสอบถามความก้าวหน้า  การยกย่องชมเชยผู้ที่ปฏิบัติได้ผลดี  การให้โอกาสเผยแพร่ผลงานแก่ผู้อื่น 

       6.  การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้   บรรยากาศของโรงเรียนที่บุคลากรมีความตื่นตัวในการพัฒนาตนเองนั้นจะช่วยให้การดำเนินงานปฏิรูปการเรียนรู้ประสบความสำเร็จ  บุคลากรต้องรู้จักการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานของตนเอง  เรียนรู้จากการปฏิบัติงานของผู้อื่น  และทุกคนสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้  วิธีการที่ใช้ได้ผลดี  คือ  การจัดประชุมกลุ่มย่อย  การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การผลัดกันเป็นวิทยากรนำเสนอผลงาน  การจัดฐานความรู้โดยเพื่อนครูในโรงเรียน  การาจัดกลุ่มสนใจร่วมกัน  กิจกรรมเหล่านี้ควรจัดอย่างต่อเนื่อง  บุคลากรก็จะเกิดการเรียนรู้อยู่เสมอและกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปในที่สุด

       การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน : สามก้าวสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม (จุมพล ทองใหม่, 2547 :143  อ้างใน ทิศนา  แขมมณี ,2547)   ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การบริหารงานไว้ดังนี้

       1. การบริหารด้านวิชาการ

       โรงเรียนต้องพัฒนาระบบการบริหารวิชาการให้เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  โดยยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้  และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ  และเต็มตามศักยภาพ  โดยโรงเรียนมุ่งเน้นการพัฒนาสาระการเรียนรู้แบบบูรณาการ  และพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ให้มีการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง  ตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน  โดยให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้อย่างเต็มที่  ให้มีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา  พัฒนาสื่อการเรียนรู้  พัฒนาระบบประเมินผลการเรียนรู้  และพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้ให้เกิดผลดีแก่ผู้เรียนมากที่สุด

       2. การบริหารงบประมาณและทรัพยากร

       ทรัพยากร  คือ  ความรู้ทุกเรื่องที่มีอยู่ในชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ  โทรทัศน์  โทรศัพท์  ถ้าสามารถนำมาใช้เพื่อการเรียนรู้ได้ก็ถือว่าเป็นทรัพยากร  วัสดุต่างๆ  บุคลากร  และเวลา  ก็ถือว่าเป็นทรัพยากร  โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์  ข้อมูล  ข่าวสาร  และเทคโนโลยีสารสนเทศก็ถือเป็นทรัพยากร  สุดท้ายจึงเป็นเรื่องของเงิน  หรืองบประมาณ  

        โรงเรียนต้องจัดการประชุมทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า  ทรัพยากรที่มาถึงโรงเรียนนั้นเป็นทรัพยากรเพื่อการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียน  การบริหารทรัพยากรจึงต้องมุ่งเน้นที่ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ  และจัดระบบบริหารทรัพยากรให้มีความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างงบประมาณกับการบริหารและการจัดการศึกษา  โดยนำสิ่งที่กำหนดไว้ทั้งเรื่องวิสัยทัศน์  นโยบาย  แผน  มาเป็นตัวตั้ง  และนำทรัพยากรเข้ามาเป็นตัวสนับสนุนให้สัมพันธ์กันให้มากที่สุด  คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้บริหารจะต้องร่วมกันกำหนดความจำเป็นของหมวดรายจ่าย  มีการจัดทำระบบบัญชีที่ดีและจัดหาบุคลากรมืออาชีพมาดำเนินงานการเงิน  และการพัสดุ  ให้เป็นระบบและมีหลักฐานชัดเจน  ไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

        3. การบริหารบุคคล

        โรงเรียนควรจัดระบบพัฒนาการบริหารงานบุคคล  โดยคำนึงถึงทฤษฎีที่สำคัญๆ  เช่น  ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์  ทฤษฎี Y  ทฤษฎีองค์การแห่งการเรียนรู้  ทฤษฎีการมอบหมายงานตามความสามารถของตน  และทฤษฎีการเสริมแรงโดยแบ่งบุคลากรของโรงเรียนออกเป็น  4  กลุ่ม   กลุ่มแรกคือ  บุคลากรอาชีพได้แก่  ผู้บริหารและครู  ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่โรงเรียนต้องเพียรพยายามส่งเสริมให้เป็นครูมืออาชีพ  และผู้บริหารมืออาชีพ   กลุ่มที่  2  คือ  ครูภูมิปัญญา  ซึ่งมาจากชุมชน  เข้ามาทำหน้าที่มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนจะต้องช่วยพัฒนาให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยอย่างเต็มภาคภูมิ  กลุ่มที่  3  คือ  วิทยากรท้องถิ่น  ได้แก่ผู้มีอาชีพ  หรือมีความชำนาญด้านต่างๆ   มีความสามารถเข้ามาช่วยสอนได้ในบางวิชา  ซึ่งโรงเรียนอาจเชิญมาสอนเป็นครั้งคราว  หรือพานักเรียนไปนอกสถานที่    และกลุ่มที่  4  คือ  บุคลากรสนับสนุน  เช่น  งานธุรการ  งานบัญชี  งานพยาบาล  ซึ่งโรงเรียนจะหาวิธีการจ้างบุคลากรประเภทนี้ให้มาทำงานให้มากขึ้น  เพื่อให้ครูสามารถทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่

        4. การบริหารทั่วไป 

        โรงเรียนต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำนโยบาย  แผนระบบข้อมูลสำหรับการดำเนินงาน  โดยรวมงานการประกันคุณภาพการศึกษาไว้ด้วย  โรงเรียนควรเร่งพัฒนาระบบงานบริหารทั่วไปให้มีประสิทธิภาพ  มีระบบข้อมูลที่ทันสมัยสำหรับสนับสนุนงานวิชาการให้มีความคล่องตัว  และใช้บุคลากรน้อย

        ในส่วนของการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้นโรงเรียนมีแนวทางในการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียน  4  กลุ่ม   ได้แก่  กลุ่มปกติ  กลุ่มผู้มีความบกพร่อง  กลุ่มผู้มีความพิการหรือทุพพลภาพ  และกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษ  โดยการสนับสนุนให้ครูได้พัฒนาตนเองให้สามารถจัดการศึกษาเพื่อเด็กพิเศษได้  ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษาเร่งดำเนินการจัดการศึกษาโดยการรวมพลังการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  และการศึกษาตามอัธยาศัยเข้าด้วยกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ศึกษาจุดเด่นของชุมชน  เพื่อระดมครูภูมิปัญญาเข้ามาช่วยให้เกิดประโยชน์แก่การเรียนรู้ของนักเรียนอย่างเต็มที่  ให้เกียรติและเห็นคุณค่าความสำคัญของชุมชนอย่างจริงใจ  ร่วมมือกับสถาบันต่างๆ   ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน  จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนให้มากที่สุด  รวมทั้งพยายามสร้างเครือข่ายร่วมจัดการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น

       ผู้นำกับการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน  (จุมพล ทองใหม่, 2547 :148-149  อ้างใน ทิศนา  แขมมณี ,2547)ได้กล่าวไว้ดังนี้

      ในกาบริหารแบบมีส่วนร่วมโดยใช้รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ผู้บริหารจะต้องเร่งพัฒนาตนเองให้เป็นผู้บริหารมืออาชีพ  ที่สามารถบริหารงานได้ด้วยความมั่นใจ  สามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อถือแก่ชุมชน   สามารถระดมทรัพยากรต่างๆ  มาบริหารและจัดการศึกษาได้อย่างเต็มรูปแบบและต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสม  สามารถปฏิบัติภารกิจตามบทบาทหน้าที่ดังนี้

       1.  บทบาทและภารกิจของผู้นำในเชิงบริหารและการวางแผนการทำงาน  ได้แก่  การรับรู้ตนเอง  ค่านิยม  ความเชื่อและการเชื่อมโยงความคิดทฤษฎี  การประเมินศักยภาพตนเอง  การตั้งปณิธานที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  การดูแลเอาใจใส่สุขภาพตนเอง  การจัดระบบตนเองอย่างมีเป้าหมาย  การจัดเก็บหลักฐานการทำงาน  การจัดสรรทรัพยากร  การตระหนักในหน้าที่ที่รับผิดชอบ  และการพัฒนากระบวนการและโครงสร้างการทำงาน

       2.  บทบาทและภารกิจของผู้นำกับการเปลี่ยนแปลงได้แก่  การให้กำลังใจมากกว่าคอยตำหนิ  การให้เกียรติผู้ร่วมงาน  เต็มใจรับความคิดเห็น  การมองโลกในแง่ดีและมีอารมณ์ขัน  การประนีประนอมและยืดหยุ่น  การให้ความสนใจเรื่องรอบด้าน  พร้อมที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดและการกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หวาดหวั่น

       3.  บทบาทและภารกิจของผู้นำกับการบริหารการศึกษา  ได้แก่การสร้างวิสัยทัศน์ การนิเทศให้คำปรึกษาด้านการจัดการเรียนการสอน การกระจายอำนาจความรับผิดชอบ  การใช้กระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาการเปลี่ยนแปลง  และการดำเนินการชุมชนสัมพันธ์

       4.  บทบาทและภารกิจของผู้นำกับการทำงานร่วมกับชุมชน  ได้แก่  การสร้างพันธมิตร  การสร้างชื่อเสียงของโรงเรียน  การดำเนินนโยบายที่ตอบสนองทั้งระดับล่างอย่างสมดุล  การเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม  และการตระหนักในพื้นฐานความคิดของชุมชน

       5.  บทบาทและภารกิจของผู้นำในด้านศาสนา  วัฒนธรรมและจริยธรรมได้แก่  การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาองค์กร  การดูแลด้านวัฒนธรรม  การดูแลด้านศาสนา  และการดูแลด้านจริยธรรม

      ศูนย์สื่อและกิจกรรมพัฒนาการคิดเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ : ปัจจัยเสริมที่เป็นหลัก (สุพันธ์วดี  ไวยรูป,2547:151-155  อ้างใน  ทิศนา  แขมมณี ,2547)  ได้กล่าวถึงศูนย์สื่อไว้ดังนี้

      ความสำคัญของสื่อการเรียนรู้ 

      สื่อการเรียนรู้เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้  ซึ่งส่งผลต่อการฝึกทักษะกระบวนการคิดในรูปแบบต่างๆ  ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  ได้กล่าวถึงหลักการและแนวคิดของสื่อการเรียนรู้ไว้ว่า   ต้องเป็นสื่อที่ใช้สำหรับการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองทั้งของผู้เรียนและผู้สอนรวมทั้งเป็นสื่อต่างๆ  ที่มีอยู่รอบตัวที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้  ดังนั้นสถานศึกษาจึงควรจัดให้มีสื่ออย่างเพียงพอ  และให้ผู้เรียนสามารถยืมใช้ได้อย่างสะดวก

       ประเภทของศูนย์สื่อพัฒนาความคิด 

       1.  ห้องสมุดโรงเรียน  เป็นสถานที่ที่ให้นักเรียนและครูมาเลือกหนังสือ  สิ่งพิมพ์  ค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ตฯลฯ  เพื่อศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมในเวลาว่าง  และเพื่อศึกษาค้นคว้าทำรายงานตามที่ได้รับมอบหมาย

       2.  ห้องสื่อเอกสารสิ่งพิมพ์  เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลของอาจารย์ในการเตรียมการสอนและหาความรู้เพิ่มเติมจากเอกสารตำราเรียน  คู่มือครู  เอกสารประกอบการสอน  งานวิจัย  วารสารทางการศึกษา  วิทยานิพนธ์  และหนังสืออื่นๆ  ที่ได้รับจากหน่วยงานราชการ  เป็นต้น

       3.  ห้องสื่อเทคโนโลยี  เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับวีดีทัศน์  สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ซีดีรอม  ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่อาจารย์ผู้สอนสามารถเลือกเรื่องที่เหมาะสมกับบทเรียนไปใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  โดยโรงเรียนได้มอบหมายให้มีอาจารย์คอมพิวเตอร์เป็นผู้ดูแลห้องในการเปิดให้บริการ

       4.  ชั้นวางหนังสือประจำห้องเรียน  โรงเรียนให้งบประมาณในการจัดซื้อหนังสือประเภทต่างๆ  ไว้ประจำห้องเรียนทุกห้องเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 

       5.  ตู้หนังสือตามเสา  (เสาหนังสือ)  โรงเรียนจัดทำตู้หนังสือเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้อยู่ในบรรยากาศที่มีหนังสือที่สามารถหยิบอ่านได้สะดวก  เป็นประเภทหนังสือที่หลากหลายแบ่งตามสาระการเรียนรู้  มีหนังสือพระราชนิพนธ์  และหนังสือความรู้รอบตัวเพิ่มเติมให้นักเรียนที่สนใจได้มายืมอ่าน  โดยเปิดบริการเฉพาะเวลาหลังเลิกเรียนระหว่างที่นักเรียนรอผู้ปกครองมารับและให้ผู้ปกครองยืมอ่านได้ด้วย  แต่ไม่อนุญาตให้ยืมกลับบ้าน 

        6.  สื่อจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ  โรงเรียนควรจัดสถานที่เป็นอุทยานดอกไม้เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าให้ความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ดอกไม้ต่างๆ 

                 หลักการเลือกและจัดหาสื่อ 

        1.  มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา

        2.  มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน  และเหมาะสมกับระดับการเรียนรู้

        3.  มีเนื้อหาที่ส่งเสริมกระบวนการคิด  เช่น  เกมสนุกเสริมปัญญา  เกมพัฒนา IQ  การประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุต่างๆ  ปัญหาคณิตพิชิตไม่ยาก  สนุกกับวิทยาศาสตร์  ทดลองฟิสิกส์สุดท้าย  เป็นต้น

        4.  เป็นสื่อที่ครูผู้สอนผลิตเอง  โดยพิจารณาตามเกณฑ์ข้อ 1-3

        5.  เป็นสื่อที่ได้จากธรรมชาติ  และหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว  โดยพิจารณาตามเกณฑ์ข้อ 1-3

 

        กิจกรรมพัฒนาความคิด 

        โรงเรียนควรสอดแทรกกิจกรรมพัฒนาความคิดกับกิจกรรมตามปฏิทินปฏิบัติงานของโรงเรียน  เช่น             

         กิจกรรมค่ายเยาวชนต้ายภัยยาเสพติด  เพื่อฝึกทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์  การคิดแก้ปัญหา

         กิจกรรมวันสุนทรภู่  เพื่อฝึกทักษะการคิดหลากหลาย

         กิจกรรมการเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน  เพื่อฝึกทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์

         กิจกรรมการอบรมเพื่อพัฒนาจิตและปัญญา  เพื่อฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาและกาคิดเชิงเหตุผล

         กิจกรรมวันภาษาไทย  เพื่อฝึกทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการคิดละเอียดลออ

         กิจกรรมวันแม่  เพื่อฝึกทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์

         กิจกรรมวิพิธทัศนา  เพื่อฝึกทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์

 

          การวิจัยปฏิบัติการในโรงเรียน  เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการนิเทศ  และพัฒนางาน (กัญฐณัฐ  ฉลอง, 2547:158-166  อ้างอิงใน  ทิศนา  แขมมณี, 2547 )  ซึ่ง

หมายเลขบันทึก: 419926เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2011 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท