พรพ. กับการต่อจิ๊กซอว์งานเบาหวาน


เชื่อมต่อกิจกรรมทั้งหลายที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วให้เกิดพลังมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ได้รับ e-mail จาก นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) พร้อมเอกสารแนบ “สู่ความเป็นเลิศในระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน” ซึ่งในส่วนของแนวคิดระบุว่า

     "เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังดำเนินอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการ โดยประสานพลังกับกระบวนการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพัฒนากำลังคน การมีแนวทางปฏิบัติที่ดี การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การให้รางวัล การสร้างเครือข่าย การกำหนดตัวชี้วัด
     กลไกขับเคลื่อนที่จะเสริมขึ้นมาได้แก่การวัดผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือ สามารถเปรียบเทียบกันได้ และการให้ recognition แก่หน่วยงานที่สามารถจัดระบบการดูแลได้อย่างเหมาะสมกับบริบท ทั้งในด้านกระบวนการและผลลัพธ์ รวมทั้งการสนับสนุนเครือข่ายบริการในพื้นที่”

สรุปอย่างง่ายๆ ก็คือปัจจุบันมีหน่วยงาน/สมาคม/กลุ่ม หลายส่วนที่ทำงานสนับสนุนการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน คุณหมออนุวัฒน์จึงอยากจะให้มีการเชื่อมต่อกิจกรรมทั้งหลายที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วให้เกิดพลังมากยิ่งขึ้น จึงขอนัดหมายพูดคุยกัน เดิมกะว่าจะประชุมกันทางโทรศัพท์ในวันจันทร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม แต่เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ดิฉันได้รับแจ้งว่าขอเชิญประชุมแบบเห็นตัวกันเลยที่ห้องประชุม ๑ ชั้น ๕ สถาบันวิจับระบบสาธารณสุข ตึกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น.

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ดิฉันไปถึงที่ประชุมก่อนเวลาเล็กน้อย ได้พบ นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล จากเครือข่ายวิจัยคลินิกสหสถาบัน (CRCN) เป็นคนแรก เราเคยคุยกันทางโทรศัพท์ เป็นครั้งแรกที่ได้พบตัวจริง ถามไถ่กันเล็กน้อยว่าจบที่ไหน รุ่นใคร คุณหมอสุธีร์รีบออกตัวก่อนบอกรุ่นว่า “ผมยังอายุไม่มากนะ”

ผู้เข้าประชุมท่านอื่นๆ ทยอยกันมาได้แก่ พญ.อารยา ทองผิว จาก รพ.เปาโลและในฐานะนายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน มาพร้อมกับ Diabetes Educator ของเปาโลและคุณชัชฎาภรณ์ เผ่าวิจารณ์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของบริษัทเทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด นพ.สมเกียรติ โพธิสัตย์ จากกรมการแพทย์ นพ.เพชร รอดอารีย์ จากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ซึ่งทำงานอยู่ทั้งในสมาคมต่อมไร้ท่อและสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะและคุณนงลักษณ์ บรรณจิรกุล จาก สปสช.

คุณหมออนุวัฒน์ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้บอกถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ ให้แต่ละคนแนะนำตัวเอง ก่อนที่จะบอกเล่าว่าทำอะไรกันอยู่บ้าง

นพ.สมเกียรติ เล่าถึงงานด้านเบาหวานของกรมการแพทย์ ซึ่งมีทั้งงานระดับกว้างและงานที่เจาะลึก อาทิ
- เครือข่าย TCEN ที่ร่วมมือกับ พรพ. จัดทำตัวชี้วัดด้าน process และ outcome ระหว่างนี้ให้ รพ.ในเครือข่าย ๗ แห่งไปลองเก็บข้อมูลดู
- กำลังพัฒนา software ต่อยอดจากโครงการ Diabetes Registry เพื่อใช้ในงานให้บริการคลินิกเบาหวาน โดยจะเน้นให้มี user friendly และให้สามารถจัดทำรายงานของตนเองและรายงานที่ส่งส่วนร่วมได้ ขณะนี้ทาง รพ.ภูมิพลและ รพ.เปาโล กำลังทดลองใช้
- การวิจัย cohort ที่ปทุมธานี ๗ sites เกี่ยวกับการ early detection complications
- โครงการที่มุ่งสู่ประชาชน ป้องกันเบาหวานเข้าตา ซึ่งจะดำเนินการที่ชุมชนคลองเตยและหนองจอก

พญ.อารยา เล่าว่า
- สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานทำหน้าที่ผลิต diabetes educator เมื่อสอนแล้วก็อยากติดตามผลว่า outcomes ออกมาเป็นอย่างไร จะเชื่อมกับระบบการพัฒนาของ พรพ.
- สมาคมฯ ร่วมกับบริษัทเทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้รางวัล Diabetes Patient Care Team Award ซึ่งปีที่แล้วมีผู้ส่งผลงานเข้าชิงรางวัลถึง ๔๐ ทีม ปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้ามาถึง ๔๗ ทีมด้วยกัน
- ในส่วนของ รพ.เปาโล กำลังขอ re-accredit ได้ทำ clinical tracer เห็นว่าตัวชี้วัดก็ใช้ได้

นพ.เพชร รอดอารีย์
- โครงการ registry ทำให้ได้แบบการเก็บข้อมูลและได้ข้อมูล ๙,๐๐๐ ราย ขณะนี้กำลังดูเรื่องการตาย ศึกษาสาเหตุที่แน่นอน คาดว่าจะมีรายงานออกมาราวเดือนสิงหาคม
-จากโครงการ registry ส่งมาที่ นพ.สมเกียรติ เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูล และ สวย.เอาแบบเก็บข้อมูลไปใช้และสร้างเครือข่ายที่อยุธยา
- สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย ได้มีการตั้งคณะทำงานที่จะทำงานด้านการให้ความรู้กับประชาชน และตั้งคณะทำงานอีกชุดหนึ่งเพื่อทบทวนสถานการณ์โรคเบาหวานและจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยเบาหวานให้เหมาะสำหรับประเทศไทย
- สมาคมต่อมไร้ท่อ มีการให้รางวัลแก่ทีมและบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

นพ.ชูชัย ศรชำนิ เล่าว่ากำลังพัฒนา Disease Management Program สำหรับโรคเบาหวาน ซึ่งเป็น patient based ปี ๒๕๕๐ จะนำร่อง ๑๓ สาขาอาจทำสาขาละ ๔ โมเดล โครงการนี้จะเป็น “๓๐ บาท+ดูแลเบาหวานครบวงจร” คล้ายประกันเสริม ทาง สปสช.ยังต้องทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเยอะ

คุณชัชฎาภรณ์ เผ่าวิจารณ์
- ร่วมกับสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน อบรมทีมสหสาขาวิชาชีพ สนับสนุนการให้ความรู้ถึงระดับ PCU
- ปีที่แล้วริเริ่มการให้รางวัล Diabetes Patient Care Team Award
- ปีนี้และปีหน้า สนับสนุนโครงการ DM Camp ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ โดยมีทีมจาก รพ.จุฬาฯ เป็นพี่เลี้ยง

ดร.วัลลา ตันตโยทัย
เล่าเรื่องเครือข่ายเบาหวานว่าทำงานแบบ “แม่สื่อ” ให้เกิดการสร้าง connection และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมเบาหวาน รพ.ต่างๆ ผ่านการจัดกิจกรรมตลาดนัดความรู้ กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน การใช้เว็บบล็อก มีการเพิ่มเติมความรู้ให้สมาชิกที่ขอมาบางเรื่องด้วยการจัดอบรม/ประชุมวิชาการและการฝึกปฏิบัติ

นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล
เล่าว่า CRCN มุ่งส่งเสริมการวิจัยเพื่อคุณภาพการบริการ เน้น multi-centers ในเรื่องของเบาหวานเริ่มจาก Diabetes Registry ปีนี้มีการติดตามผู้ป่วย เริ่มจากการตายก่อน ปีหน้าอาจติดตามเรื่อง complications ปัจจุบันมีหน่วยบริหารจัดการข้อมูลด้วย สิ่งที่มุ่งหวังคือให้แพทย์ที่ทำวิจัยได้เห็นข้อมูลของตนเอง แล้วเกิดความคิดนำไปปรับปรุงการทำงานของตนเอง ต่อไปอาจเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง รพ.
โครงการที่จะทำร่วมกับ พรพ. จะดูว่า indicators อะไรที่ส่งผลกับ outcomes ได้ดี โมเดลของ รพ.ต่างๆ แบบใดที่ส่งผลต่อ indicators และ outcomes ในด้านของ indicators นี้จะดูทั้ง indicators ระดับบุคคลและระดับ รพ.

นพ.อนุวัฒน์ สรุปว่าประเด็นที่จะเชื่อมต่อกันได้
- CPG (อยากจะใช้คำว่า Evidence for Clinical Judgement มากกว่า) ดำเนินการร่วมกันได้ เวลาจัดทำและพิจารณา ควรเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วม
- เครือข่ายเบาหวาน (ของเรา) ทำหน้าที่เหมือน knowledge outlet แต่ก็ได้ความรู้ด้วย
- เครือข่าย TCEN ทำหน้าที่เหมือนการสร้างความรู้
- การให้ recognition พรพ.อาจจะเข้าไปให้ประกาศนียบัตรแก่ทีมเบาหวานที่มีผลงานดีแต่ไม่ได้รางวัลของสมาคมต่อมไร้ท่อและสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน คล้าย HA รายโรค รวมทั้งอาจมี recognition ให้แก่เครือข่ายเรียนรู้ระดับจังหวัด
- การใช้งานวิจัยสนับสนุน เช่น การลงทุนในการตรวจ HbA1C และ microalbuminuria สามารถใช้วิธีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยได้
- การขับเคลื่อนนโยบาย จะอาศัยหลายๆ ช่องทาง เช่น ผ่านผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ อาทิ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ เป็นต้น

กลุ่มนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อ ตกลงวิธีการทำงานร่วมกันว่างานไหนเกี่ยวข้องกับใครก็เชิญด้วย จะใช้วิธีการสื่อสารกันทาง e-mail ใครมีอะไรก็บอกให้รู้กัน

เก็บมาบันทึกให้รู้ความเคลื่อนไหวค่ะ เนื้อหาอาจไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่คาดว่าน่าจะอ่านได้จากบล็อกของคุณหมออนุวัฒน์ ซึ่งเจ้าตัว lead การประชุมไปก็พิมพ์ไปตลอดการประชุม ไม่ต้องอาศัยเลขานุการเลย

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 41978เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2006 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
เครือข่ายเบาหวานน่าจะเพิ่ม R2R นะครับ

เรียนอาจารย์วิจารณ์ค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับข้อเสนอแนะค่ะ คงต้องขอโอกาสเข้าพบและเรียนปรึกษาอาจารย์ในเรื่อง R2R ก่อนนะคะ

อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล

ขอบคุณ อ.วัลลา ที่บันทึกมาได้ทุกแง่ทุกมุมครับ

สำหรับเรื่อง R2R ที่ อ.วิจารณ์เสนอนั้น ต้องเรียนว่าการทำงานของ CRCN คือการสนับสนุนให้เกิด R2R ในภาพกว้างหรืออย่างกว้างขวางเลยครับ เป็น multicenter & multistation study  เก็บข้อมูลหลายๆ แห่ง จำนวนที่เก็บในแต่ละแห่งอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระมากเกินไป ใช้เวลาไม่นานก็ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก  มีกระบวนการบริหารจัดการที่ดีเพื่อให้เกิดคุณภาพ  ในระหว่างการเก็บข้อมูล เจ้าของพื้นที่จะเห็น performance ของตัวเองและนำไปสู่การปรับปรุงโดยอัตโนมัติ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทาง CRCN และ พรพ. ร่วมกับสมาคมวิชาชีพได้มาวางแผนกันในเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวานและ stroke ซึ่งคงจะมีการจัดแบ่งเป็น cluster ของโรงพยาบาล  ในแต่ละ cluster มี รพศ.เป็นจุดหลัก และประกอบด้วย รพท. รพ.ชช.ในพื้นที่ 

คำถามหลักของการวิจัยที่พอจะจับได้ก็คือ แบบแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งสองโรคนั้นเป็นอย่างไร มีความแตกต่างหลากหลายอย่างไร และความแตกต่างนั้นส่งผลต่อผลลัพธ์เป็นอย่างไร  ความคุ้มค่าเป็นอย่างไร

ความก้าวหน้าคงจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ 

เตือนจิตร ภักดีพรหม

เรียน อาจารย์วัลลาที่เคารพ

เตือนจิตร เป็นลูกศิษย์อาจารย์จากจุฬาฯเคนเชิญอาจารย์เป็นผู้ทรงตรวจเครื่องมือวิจัยตอนเรียนป.โทค่ะ ตอนนี้จบมา2ปีแล้ว ได้มารับผิดชอบงานเบาหวาน งานคุณภาพ ของรพ.ค่ะ มีปัญหาอยากปรึกษาอาจารย์ค่ะ เนื่องจากทางรพ.ต้องดำเนินงานKM ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ยังไม่มีความรู้ที่ชัดเจน ไม่เข้าใจconcept ค่ะ แต่ต้องทำKM ให้ได้โดยสหสาขา รพ.เลือกที่จะทำ KM DM จากการดำเนินงานประสบปัญหามากๆเลย ไม่สามารถให้คำแนะนำให้ความกระจ่างกับบุคลากรได้มากนัก เนื่องจากทุกคนมีงานประจำคึ่อนข้างหนักต้องรับผิดชอบ การดำเนินงาน KM DM เหมือนรบกวนงานประจำ ทำให้คนไม่พร้อมจะเริ่ม ทำให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานของรพ.ตอนนี้ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้เลยทั้งกับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่

อยากเรียนปรึกษาอาจารย์เพื่อขอความช่วยเหลือค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

เรียนคุณเตือนจิตร

ดีใจนะคะที่เรียนจบแล้วได้กลับไปทำงานเบาหวาน เรื่อง KM ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เข้าใจแนวคิดและเปิดใจกว้างเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ลองศึกษาจากหนังสือและ CD ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ดูนะคะ

เครือข่าย KM เบาหวานจะจัดมหกรรม KM เบาหวานระหว่างวันที่ ๓-๕ กันยายน ๒๕๕๑ ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ หากสนใจเรียนรู้รีบลงทะเบียนนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท