ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivsim)


ปรัชญาการศึกษา

เฉลิมลาภ ทองอาจ 
 

            ความพยายามในการทำลายกรอบแนวทางการจัดการศึกษาที่เคร่งครัด  และไม่ให้ความสำคัญกับความสนใจและความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในการคิดของผู้เรียน เป็นเป็นเหตุให้เกิดปรัชญาการศึกษาสำนักพิพัฒนาการนิยม ซึ่งนำโดยนักปรัชญาคนสำคัญเช่น   John Dewey  และ William  Kilpatrick  โดยเฉพาะ Dewey นั้น  เขามีความคิดว่า  มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและเรียนรู้ได้จากการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น  เพื่อแก้ปัญหาชีวิตและสังคม  การเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลได้รับเสรีภาพในการเข้าไปร่วมทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อตนเอง ดังนั้นความรู้ในแนวคิดของ  Dewey จึงเกิดขึ้นจากการที่บุคคลประยุกต์ใช้ประสบการณ์เดิมในการดำเนินการแก้ปัญหาใหม่ (Rowe, 2010: online)    ในการจัดการศึกษาจึงควรมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับ  “กระบวนการเรียนรู้”  (learning process) ของผู้เรียน  มากกว่าความรู้หรือความสามารถที่ครูมี        ผู้เรียนจะต้องได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ใช้กระบวนการสร้างประสบการณ์จากการได้ลงมือปฏิบัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามจากข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับ เพื่อนำไปสู่การใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้    ผู้เรียนตามแนวคิดของปรัชญานี้ จึงเป็นทั้งนักแก้ปัญหา (problem solver) และนักคิด (thinker)  โดยครูมีบทบาทในการจัดหรือเตรียมประสบการณ์ที่มีความหมายแก่ผู้เรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ (learn by doing)  หลักสูตรตามแนวคิดของปรัชญาจึงมีลักษณะเป็นหลักสูตรประสบการณ์ที่เกิดจากปัญหาหรือความสนใจของ      ผู้เรียนเป็นสำคัญ  หลักการจัดการจัดการศึกษาตามแนวคิดปรัชญาพิพัฒนนิยม  ได้แก่   
                   1.  เน้นการให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติหรือเรียนรู้จากประสบการณ์ และเป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต 
                   2.  หลอมรวมเนื้อหาให้มีลักษณะเป็นหลักสูตรบูรณาการ  หรือหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยจัดเป็นหน่วยการเรียนรู้หัวเรื่องต่างๆ  (thematic units) ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันหรือปัญหาอันเป็นความจำเป็นในสังคม 
                   3.  เน้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการแก้ปัญหาและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
                   4.  ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานกลุ่ม โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตด้านสังคม
                   5.  สร้างค่านิยมเกี่ยวกับประชาธิปไตยและความรับผิดชอบต่อสังคม  (social responsibility)
          การจัดการศึกษาตามปรัชญาพิพัฒนนิยมแสดงในตารางดังนี้
 ตารางการจัดการศึกษาตามปรัชญาพิพัฒนนิยม

  

องค์ประกอบของการศึกษา
แนวทางการปฏิบัติ
1. จุดมุ่งหมายของการศึกษา
   พัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคมและสติปัญญา  การศึกษาควรมุ่งตอบสนองต่อความต้องการและความสนใจของผู้เรียนอย่างแท้จริง
2. องค์ประกอบของการศึกษา
   2.1  หลักสูตร
 
   2.2  ครู
 
 
   2.3  นักเรียน
    หลักสูตรที่เน้นประสบการณ์  หลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  (child-centered curriculum) หรือหลักสูตรกิจกรรม  (activities-based curriculum) ซึ่งเกิดจากความสนใจและความต้องการของผู้เรียน  กำหนดประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์  (scientific method) ในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
    ครูเป็นผู้จัดเตรียม  แนะนำให้คำปรึกษา  “กระตุ้น หนุน หนี”  เข้าใจและให้ความสำคัญกับความแตกต่างของผู้เรียนเป็นรายบุคคล

 

 

    ผู้เรียนมีอิสระและเสรีภาพในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของตนเอง  มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น มีส่วนในการเลือกเนื้อหาหรือวิธีการเรียนตามลักษณะการเรียนรู้ (learning style) 
3. กระบวนการเรียนการสอน 
    วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  (child-centered approach) เช่น การทำโครงงาน  การแก้ปัญหา  การเรียนรู้แบบร่วมมือ  การสร้างสรรค์ชิ้นงานหรือผลงาน  การเรียนรู้รายบุคคล  การอภิปราย การแสดงบทบาทสมมติ ทัศนศึกษา  ฯลฯ

 

หมายเลขบันทึก: 419487เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2011 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท