เล่าเรื่องแก้จนเมืองนคร ว่าส่งผลต่อ LO โดยอ้อม


ทุกวงและทุกระดับจะมีกิจกรรมเรียนรู้งานแก้จนที่รับผิดชอบ เป็นทั้งนักเรียนและครูไปพร้อมกัน เน้นแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวงและต่างวงเรียนรู้

เล่าเรื่องแก้จนเมืองนคร (ต่อ)


ผมเป็นผู้เล่าต่อจากท่านผู้ว่าวิชม ทองสงค์ ในมหกรรม KM ราชการไทยก้าวไกลสู่ LO เมื่อ 21 ก.ค.49 ห้องประชุมแกรนด์ C โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเว็นชั่น กรุงเทพฯ


ผมจำได้ว่าผมเริ่มต้นเล่าว่าโครงการจัดการความรู้แก้นจนเมืองนครอาจมองได้หลายแง่มุม แต่ที่ กพร. สคส. และสถาบันเพิ่มผลฯ เชิญมาวันนี้ต้องการให้เล่าในมิติของการพัฒนาคน พัฒนาบุคลากรที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมนี้ ว่าพัฒนาตนเองพัฒนาสมรรถนะการทำงาน และจะส่งผลต่อองค์กรที่ตนสังกัดอยู่ให้เป็นองค์กรเรียนรู้ได้อย่างไรบ้าง

ผมพูดต่อว่าตัวละคอนที่น่าจะได้รับการพัฒนาก็ไม่พ้น คุณเอื้อ คุณอำนวย และคุณกิจ ซึ่งเป็นตัวหลักของการจัดการควาามรู้คุณเอื้อและคุณอำนวยรวมตัวกันเข้าด้วยกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน จัดเป็นวงเรียนรู้ระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับจังหวัดยันคุณอำนวยระดับตำบล ส่วนคุณอำนวยหมู่บ้าน ก็คือแกนนำชาวบ้าน ซึ่งเป็นชาวบ้านล้วนๆ

สำหรับคุณกิจนั้นคือครัวเรือน หมู่บ้านละ 64 ครัวเรือนที่ได้สำรวจข้อมูลครัวเรือนและจัดทำแผนพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองไว้แล้ว

ทุกวงและทุกระดับจะมีกิจกรรมเรียนรู้งานแก้จนที่รับผิดชอบ เป็นทั้งนักเรียนและครูไปพร้อมกัน เน้นแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวงและต่างวงเรียนรู้

วงคุณเอื้อประกอบด้วยหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดเป็นสมาชิก มีผู้ราชการจังหวัดเป็นประธาน หรือเป็นหัวหน้าวงเรียนรู้ เรียนรู้งานหนุนเสริมแก้จนเป็นหลัก ระดับอำเภอก็มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าวงเรียนรู้ และระดับตำบลก็มีกำนันหรือนายก อบต.เป็นหัวหน้าวงเรียนรู้ หนุนเสริมการทำงานและการเรียนรู้แก้จนระดับต่างๆ แต่ละวงเรียนรู้มีคำสั่งแต่งตั้งจากทางราชการ ซึ่งในวงเรียนรู้นี้จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะใช้ตำแหน่ง CEO ของหน่วยงาน มีวาระนัดหมายเรียนรู้กัน เช่น วงระดับจังหวัดก็จะนัดหมายกัน 1 ชั่วโมง ในวันประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด เป็นต้น

คุณอำนวยกลาง วงเรียนรู้นี้จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับทีมวิชาการ นำความรู้ใหม่ๆจากทีมวิชาการมาฝึกและเผยแพร่ต่อ เรียกว่าฝึกเพื่อเป็นครูของคุณอำนวยอำเภอและตำบล  มี 44 คน หน่วยงานต่างๆก็จะคัดคนที่ค่อนข้างจะมีคุณลัษณะดังกล่าวส่งมาให้ หน่วยงานที่ส่งคุณอำนวยกลางมาก็จะพิจารณาที่ว่าหน่วยงานนนั้นมีคนของหน่วยงานตนเองในพื้นที่หรือไม่ด้วย มีวาระเรียนรู้กันทุกๆวันที่ 4 ของเดือน เนื่องจากคุณอำนวยกลางจะต้องดูแลทั้งจังหวัด จึงต้องเฟ้นหาคนที่จะไปได้ในทุกพื้นที่อำเภอ บุคคลที่เข้าตาก็คือบุคลากรที่ปฏิบัติงานระดับจังหวัด ซึ่งไปได้ในทุกพื้นที่อำเภอ หรืออาจจะเป็นบุคลากรจากหน่วยงานระดับอำเภอหรือตำบลที่ต้นสังกัดอนุญาตให้ไปทำงานในทุกพื้นที่อำเภอได้ ก็ได้ แต่เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชกว้างมาก มีถึง 21 อำเภอ กับ 2 กิ่งอำเภอ จึงแบ่งคุณอำนวยกลางออกทำงานเป็นโซนๆ โซนพื้นที่ 5 โซน ได้แก่โซนลุ่มน้ำปากพนัง 1 โซนลุ่มน้ำปากพนัง 2 โซนลุ่มน้ำตาปี 1 โซนลุ่มน้ำตาปี 2 และโซนลุ่มน้ำกลาย กระจากกันออกไปดูแลส่งเสริมการเรียนรู้

ในวงเรียนรู้ของคุณอำนวยอำเภอ ที่ให้ตำบลต่างๆนำประสบการณ์การทำงาน การเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ตำบลมาแลกเปลี่ยนแบ่งบัน สร้างสรรค์การทำงานใหม่ในระดับอำเภอนั้น ได้วางตัวทีมบุคลากรซึ่งจะจัดการเรียนรู้ในวงนี้ ประกอบด้วย พัฒนาการอำเภอ ปลัดอำเภอ และ ผอ.กศน.อำเภอ ซึ่งทั้ง 3 ท่านนี้ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันฝึกทักษะที่จำเป็นในการจัดการความรู้พื้นฐาน 3 เรื่อง คือ การประสานงาน การจดบันทึก และการนำกระบวนการ

ในวงเรียนรู้คุณอำนวยตำบล ก็จะยึดบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นหลัก พร้อมกับรับบุคคลากรต่างพื้นที่ด้วย ทำกันเป็นทีม ทีมละ 3 คนเป็นอย่างน้อย ที่ให้มี 3 คน เป็นอย่างน้อย เพราะจะได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันฝึกทักษะที่จำเป็นในการจัดการความรู้พื้นฐาน 3 เรื่อง คือ การประสานงาน การจดบันทึก และการนำกระบวนการ คุณอำนวยหมู่บ้าน ซึ่งเป็นชาวบ้านล้วนๆ หมู่บ้านละ 8 คน ก็ฝึกทักษะการทำงาน 3 อย่างดังกล่าวเช่นเดียวกัน ให้ทำการจัดการความรู้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการได้ในทำนองเดียวกัน

ผมพูดต่อมาอีกว่าทักษะ หรือสมรรถนะในการทำงานนั้น จำเป็นมากกับคุณอำนวย โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร ก็ได้เตรียมหลักสูตรพัฒนาคุณอำนวย ในลักษณะ INCLASS TRAINING ไว้หลายหลักสูตร แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวมีงานเลือกตั้ง สส  สว เข้ามาแทรก บุคลากรต้องไปทำหน้าที่ตรงนั้นด้วย เมื่อเสร็จภารกิจเลือกตั้ง ก็เป็นช่วงเวลาที่ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการจะได้ตั้งวงเรียนรู้แก้จนกัน ชาวบ้านมัวรอคุณอำนวยอบรมเสร็จไม่ได้ จำเป็นต้องให้กิจกรรมชาวบ้านเลื่อนไหลต่อไป 

โครงการฯจึงให้คุณอำนวยไปฝึกทักษะหรือสมรรถนะการทำงานในสถานการณ์จริง เรียกว่าเรียนรู้กันหน้างาน ผมเปรียบเทียบว่าเรียนลัด แบบกดเงินด่วน ATM  ซึ่งผมพูดเล่นอะไรทำนองนั้น แต่ ATM นี้ ผมมาทราบจากเพื่อนภายหลัง ย่อมาจาก Action based Training Model เป็นรูปแบบการฝึกอบรมจริงหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ประสบการณ์หรือบทเรียนที่ได้รับจากการฝึกหน้างาน เราจะนำมาสัมมนา ลปรร กันแบบ INCLASS TRAINING กันต่อไป

เมื่อคุณอำนวยมาเรียนรู้ทักษะการทำงาน การทำงานกันเป็นทีม การประสานงาน การจดบันทึก และการนำกระบวนการ  การถอดบทเรียน AAR การประชุมปรึกษาหารือแบบเปิดใจถอดหมวกพูดคุยในหน่วยงาน เป็นคุณอำนวยแทนที่คุณอำนาจมากขึ้น การสร้างมุม KM ที่มีกิจกรรม สื่อต่างๆ ไว้เรียนรู้ร่วมกันในองค์กร การนำกระดาษปรูฟจาการทำเวทีชาวบ้าน หรือสาระจากการแลกเปลี่ยนในหน่วยงานมาพิจาณาดูคลี่ดู ดูหลักฐานร่องรอยการทำงานจากภาพถ่าย วีดิโอ บันทึกเรียนรู้ชาวบ้าน ฯลฯไปพร้อมๆกัน มันเป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานให้เป็นวัฒนธรรมการเรียน เมื่อคุณอำนวยที่มาเป็นทีมทำงานด้วยกันกลับไปหน่วยงานตนเอง นำประสบการณ์การเรียนรู้ตรงนี้ไปปรับใช้ในหน่วยงานตนเอง องค์กรก็จะปรับทิศทางไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ได้

ภาพเหล่านี้เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว

บันทึกต่อไปผมจะเล่าที่น้องพัชณี พูด ครับ

หมายเลขบันทึก: 41923เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2006 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ยอดเยี่ยมครับ     เล่าได้ชัดเจนมาก
ชมตามหลังอาจารย์วิจารณ์มีผลน้อย แต่ก็ต้องชมครับว่า เป็นกระบวนการที่ชัดเจนมาก

ขอชมตามหลังพี่ภีมด้วยคนนะคะ..ยอดจริง ๆ คะ ครูนง

  • อ่านแล้ววาดภาพตามได้เลยค่ะ คำ ๆ หนึ่งที่ขอมอบให้ คือ สุดยอดค่ะ
  • เอ๊...บันทึกมีสีสันขึ้นนะคะขอชื่นชม

ยี่ยมยอดมากครับ

ขอบคุณทุกความเห็น และทุกกำลังใจ .....รู้สึกอิ่มจังเลย....
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท