KM Inside ชุมชน (๕) : วราภรณ์ หลวงมณี เล่าเรื่องการฝึก "คุณอำนวย" ชาวบ้าน ที่ขอนแก่น (๕ จบ)


     ตอนที่ 1   ตอนที่ 2   ตอนที่ 3   ตอนที่ 4      

           มาอ่านกรณีตัวอย่างอีก ๒ หมู่บ้าน และหนึ่งตัวบุคคลนะครับ
           
           "อีกตัวอย่างหนึ่งในการเรียนรู้ระดับกลุ่ม คือ กลุ่มบ้านโคกกลาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่ขนาด 300 ครัวเรือน (สามเท่าของบ้านห้วยบง)    มีการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก๊กเป็นเหล่ากันมาก ส่วนใหญ่จะแบ่งตามสายเครือญาติ และฐานการเมือง    วิทยากรกระบวนการที่นี่เขาก็ไม่สนใจผู้นำแต่ไปชักชวนเพื่อนๆ และเครือญาติมาทำกิจกรรมและขยายไปสู่กลุ่มแม่บ้านและเยาวชนได้อีกมาก

          แต่ก่อนกลุ่มนี้ก็ไม่สนใจแม่บ้านและเยาวชนเลย เพราะพวกเขามาเจอกันเองทำงานด้วยกัน พูดคุยกันสนุกสนานมาก   แต่เมื่อบ่อยครั้งเข้าแม่บ้านเริ่มไม่เข้าใจว่าทำไมประชุมบ่อย ดูงานบ่อย จะเอาปุ๋ยชีวภาพมาใช้บ้าง ทำเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยบ้าง ทำเขียงหมูขายบ้าง แต่ไม่ค่อยได้เงิน    หลายครอบครัวเกิดความไม่เข้าใจกัน พวกเขาจึงเริ่มพูดคุยถึงปัญหานี้ และแก้ด้วยการพากลุ่มแม่บ้านไปดูงานบ้าง มาร่วมกิจกรรมบ้าง เช่น แปลงทดลองนาข้าวปลอดสารและนาข้าวปุ๋ยเคมี

          แม่บ้านมาร่วมกิจกรรมก็รู้สึกสนุกด้วย และเห็นผลที่เกิดขึ้นจริง จึงเป็นฝ่ายบังคับให้สามีทำจริงจัง ไม่ใช่ทำแค่สนุกสนานและจากการพาไปดูงานที่แม่ทา จ.เชียงใหม่ ทำให้วิทยากรกระบวนตระหนักถึงการดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม จากนั้นเยาวชนในหมู่บ้านนี้กลายเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง รวมทั้งเป็นตัวกระตุ้นให้พ่อแม่ของเขาได้เรียนรู้ในเรื่องการพึ่งตนเอง

            ในส่วนของวิทยากรกระบวนการบ้านห้วยบง เริ่มแรกเขาเข้ามาคนเดียวและเคลื่อนงานไม่ได้ เขารู้ปัญหาเกิดจากผู้ใหญ่บ้าน ถ้าผู้ใหญ่บ้านไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมใดแล้วจะเคลื่อนงานยากมาก    เมื่อขยายรุ่นที่ 2 เขาจึงชวนผู้ใหญ่บ้านและผู้อาวุโสที่ชุมชนนับถือเข้ามาด้วย    โชคดีที่ทั้ง 2 คนเล่นด้วย และยิ่งหลังจากเก็บข้อมูลครัวเรือนแล้วเห็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับร้านค้าและรถเร่จำนวนมากแล้ว และการไปดูตัวอย่างของหลายๆ หมู่บ้านที่ทำเพื่อเปรียบเทียบวิธีการ ทำให้เขาตัดสินใจทำร้านค้าชุมชนโดยมีคนทั้งชุมชนเข้าร่วม   ด้วยระบบบริหารจัดการที่โปร่งใส คนในชุมชนมีส่วนร่วม แม้แต่ร้านค้าในหมู่บ้านเองยังสมัครเป็นสมาชิกด้วยเลย   ทำให้พวกตระหนักถึงการใช้ข้อมูลอย่างมาก   หลังจากนั้นก่อนจะตัดสินใจทำอะไรพวกเขาจะคำนึงถึงเรื่องความรู้และข้อมูลก่อนเสมอ

            นอกจากนี้การทำร้านค้าชุมชนยังสามารถดึงแม่บ้านหลายคนเข้ามาทำงานหรือเป็นคณะกรรมการของหมู่บ้านได้   และตอนนี้เยาวชนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นกรรมการร้านค้าชุมชนด้วย   ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า การที่แม่บ้านเข้ามาทำร้านค้าชุมชน ทำให้เรามีคนทำงานมากขึ้น  สามารถแก้ปัญหาการขาดผู้นำทำงานของชุมชนได้เพราะบ้านห้วยบงเป็นหมู่บ้านเล็กมีคนน้อย และยังได้ขยายการทำงานไปสู่งานอื่นๆ ของหมู่บ้านด้วย
            กิจกรรมที่ตามมาหลังจากทำร้านค้าได้เป็นที่พอใจแล้ว พวกเขารวมกลุ่มกันทำปุ๋ยชีวภาพและสร้างเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยชีวภาพ ทำด้วยกันแล้วแบ่งกันไปใช้ ปีที่แล้วพวกเขาใช้กับนาได้ผลดีมาก ปีนี้เลยขยายกำลังการผลิตอย่างเต็มที่ ส่วนแม่บ้านก็รวมกลุ่มกันทำปลาร้าขาย เพราะหมู่บ้านนี้อยู่ใกล้เขื่อนอุบลรัตน์จะมีปลามากในช่วงฤดูฝนที่พวกเขาเรียกว่าปลาน้ำแดง ส่วนเยาวชนก็รวมกลุ่มกันทำขนมดอกจอกวันเสาร์อาทิตย์ไปฝากร้านค้าต่างๆ ในตำบลขายดิบขายดี

           ในส่วนการเรียนรู้ระดับบุคคลที่เห็นผลชัดเจน   คือ พี่ชัยฤทธิ์ อยู่อำเภอภูผาม่าน ซึ่งพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เป็นคนอพยพมาจากหลายที่มาอยู่รวมกัน ทำให้ทำงานกลุ่มยากมาก   พี่ชัยฤทธิ์จึงเริ่มจากการศึกษา คนเดียวก่อน   พี่ชัยฤทธิ์บอกว่า “ผมเป็นคนที่ทำเกษตรมาหลายอย่างปลูกพริก ปลูกผัก ปลูกมะขามหวาน ปลูกมาหลายชนิด และคิดว่าตัวเองวิ่งตามกระแสมากเกินไป พอพืชผักชนิดไหนราคาดี     ก็ไปปลูกตามคนเขา ทำให้พอถึงเวลาขายได้ราคาไม่ดีและก็ขาดทุน เนื่องจากเราไม่มีกำลังในการแปรรูป ผมจึงมองหาพืชที่ไม่ต้องลงทุนมากและสามารถเก็บผลผลิตได้ทุกช่วง ในบริเวณบ้านผม  มีกล้วยที่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่องทุกปี ได้ขายผลผลิตทั้งผลกล้วยและใบตองตลอดทั้งปี จึงมองว่ากล้วยน่าจะเป็นพืชที่มีประโยชน์ และได้พยายามหาพันธุ์กล้วยชนิดต่างๆ มาปลูกเพิ่ม  ในแปลงเกษตรเพื่อทดลองดูว่าพันธุ์ไหนเหมาะสมและสามารถขายได้ราคาดี”

            พี่ชัยฤทธิ์มีวิธีการค้นหาความรู้โดยการสอบถามผู้รู้ เช่น การสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ การสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตด้วยตัวเองแม้จะเรียนจบเพียงชั้น ป.4  การทดลองปลูกแล้วสังเกตผลที่เกิดขึ้นดัวยตัวเอง     ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์กล้วย การขยายพันธุ์ วิธีการปลูก สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม โรคต่างๆ ของกล้วย สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค สรรพคุณของต้นกล้วยในการรักษาโรค รวมถึงความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกล้วย และวิธีการเก็บผลผลิตที่ถูกวิธีไม่ว่าจะเป็นการตัดใบตองหรือเครือกล้วย รวมถึงวิธีการนำส่วนต่างๆ ของต้นกล้วยมาทำอาหาร

          “กล้วย” เป็นพืชที่หลายคนเห็นว่า “ปลูกง่าย” “กินง่าย” แต่แทบทุกคนก็ต้องซื้อกล้วยกิน      คนที่กลับลำจากการปลูกพืชเศรษฐกิจแล้วหันมาปลูกกล้วยได้ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิด ที่หันกลับมา  ที่ตัวเอง พึ่งตัวเองมากขึ้น รวมถึงการมองทะลุถึงความรู้ว่ามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกสิ่งสามารถเป็นความรู้ได้ แม้แต่เรื่องกล้วยๆ ก็ตาม

          แต่ก่อนพี่ชัยฤทธิ์เป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นอะไรในการประชุมเครือข่าย    เพราะพี่ชัยฤทธิ์เป็นคนที่พูดเสียงเบามากและใช้ภาษาท้องถิ่นของภูผาม่านแท้ๆ โดยไม่ยอมใช้ภาษาลาวอีสานเหมือนคนทั่วไป    แม้พยายามจะพูดก็ไม่มีคนฟัง    แต่เมื่อมีเวทีให้ทุกคนที่ศึกษาในประเด็นต่างๆ  ได้นำเสนอผลการศึกษาของตนเองทุกเดือน   พี่ชัยฤทธิ์ก็ได้นำเสนอโดยที่ไม่ต้องแย่งใครพูด พี่ชัยฤทธิ์จึง มักจะใช้โอกาสนี้สอดแทรกปรัชญาของตนเองลงไปเรื่อยๆ    นอกจากนี้ทางเครือข่ายยังมีกระบวนการติดตามสมาชิกที่กู้เงินจากเครือข่ายไปใช้ทำกิจกรรมทางการเกษตรว่า สมาชิกได้นำเงินไปลงทุนจริงหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอะไรในการทำกิจกรรม เป็นต้น ทำให้หลายๆ คนในเครือข่ายได้เห็นรูปธรรมที่พี่ชัยฤทธิ์ทำ   จึงเกิดความเชื่อถือ และเมื่อครบรอบการเลือกประธานเครือข่ายคนใหม่ พี่ชัยฤทธิ์จึงได้รับเลือกให้เป็นประธานและได้เป็นแกนนำในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนเรื่อยมา

          กิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายเหล่านี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับพวกเขาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมั่นในความรู้ของตนเองและท้องถิ่น เชื่อมั่นในวิถีการพึ่งตนเองในรูปแบบต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขากล้าคิด กล้าทำ กล้านำ และกล้าพูดมากขึ้น จากนั้นการจัดเวทีจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับบางคน แต่บางคนก็ถนัดที่จะเป็นผู้พากลุ่มสร้างรูปธรรมสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ  บางคนก็เป็นตัวช่วยในการจุดประกาย กระตุ้น เร่งเร้าเพื่อน บางคนก็เป็นคนคอยตั้งคำถามให้กลุ่มหันกลับมามองด้วยความระมัดระวังในการที่จะก้าวเดิน บางคนก็เป็นตัวเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆ ในชุมชน วิทยากรกระบวนการในรูปแบบของเราจึงไม่ใช่พระเอกขี่ม้าขาว แต่เป็นกระบวนการกลุ่มที่ก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน"

          ผมคิดว่า เราเริ่มเห็น KM Inside ชุมชนหรือท้องถิ่นรางๆ แล้ว      และเริ่มเห็นกระบวนการพัฒนา 'คุณอำนวยท้องถิ่น' ด้วย    แต่คงต้องมีการพัฒนาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น     ใครมีเรื่องราวของ KM Inside ชุมชนหรือท้องถิ่นโปรดนำมาเล่าให้ สคส. ได้ร่วมชื่นชมนะครับ     เราจะเข้าไป 'จับภาพ'      และหาทางเชิญท่านมาร่วมกิจกรรม KM ประเทศไทยต่อไป

วิจารณ์ พานิช
๒๕ กค. ๔๙
บนเครื่องบินกลับจากหาดใหญ่           

หมายเลขบันทึก: 41920เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2006 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท