คุณสมบัติของนักวิจัยรุ่นใหม่


การวิจัยก็เริ่มจากตัวชีวิตเรา ต้องทำการวิจัยตนเองและทำตัวเองให้ดีก่อน

เมื่อวานนี้หลังจากที่ผมได้อ่านและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องพุทธเศรษฐศาสตร์ ก็ทำให้ได้ย้อนนึกถึงย้อนไปเมื่อครั้งทำงานวิจัยในอดีต

เหตุเกิดขึ้น ณ ร้านขนมจีนปลาตะโกก จังหวัดอุตรดิตถ์ ผมได้พาอาจารย์ไปทานขนมจีน ซึ่งร้านขนมจีนปลาตะโกกนี้ เป็นร้านที่ขึ้นชื่อมาก ๆ ไว้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองโดยเฉพาะ

แล้วอาจารย์ก็ถามผมว่า

ปภังกร ปลาตะโกกเนี่ยหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมตอบอย่างหน้าชื่นตาบานเลยครับว่า

"ไม่ทราบครับ "

มาทานทีไรก็เห็นเป็นน้ำยาปลามาแล้ว

แล้วอาจารย์ท่านก็บอกกับผมว่า การเป็นนักวิจัยและทำงานวิจัยมาก ๆ จะทำให้เรากลายเป็นเด็กอีกครั้ง

การเป็นเด็กนี่หมายถึง การช่างคิด ช่างสงสัย ช่างซักถาม ช่างสังเกต เห็นแล้วถาม ถามให้รู้ รู้ให้ลึก

ดังนั้นคุณสมบัติพื้นฐานของอันหนึ่งของนักวิจัยที่ดีนั้นจะต้องเป็น "ผู้เรียนรู้" อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้อยู่ในทุก ๆ ลมหายใจ

ไม่ใช่จะเรียนรู้เฉพาะตอนที่เข้าไปทำงานกับชุมชน สิ่งสำคัญที่สำคัญควรจะทำก็คือ "การเรียนรู้ชีวิต"


"ชีวิต"

เรื่องชีวิตมีเรื่องสำคัญอย่างน้อยอยู่ 3 เรื่องใหญ่ คือ

1.เรื่องกิน

2. เรื่องอยู่

3. เรื่องเสวนา คือการพูดคุยสังสรรค์

 

แล้ววิจัยนั่นคืออะไรล่ะ

ผมเคยสังสัยหลาย ๆ ครั้งจากนักวิชาการหลาย ๆ ท่านว่า เอ่! วิจัยนั้นคืออะไร  ซึ่งอาจารย์เคยสอนผมว่า

วิจัย คือ การค้นแล้วค้นอีกจนได้คำตอบที่ถูกต้อง

ขีดเส้นใต้คำว่าถูกต้อง 10 ครั้ง เพราะคำนี้ใหญ่มากในทางวิชาการเขาถือว่าสำคัญมาก

ถูกต้องเชื่อถือได้

ตรวจสอบได้

ทางพุทธศาสนาเขาจะใช้เขา อริยสัจมาจับ เริ่มต้นจากปัญหาที่ความทุกข์ นั่นคือตัววิจัย 

 

เรียนรู้ร่วมกัน รวดเร็ว รื่นรมย์

ต้องขีดเส้นใต้ตรงคำว่ารื่นรมย์เพราะถ้าเราทำอะไรแล้วไม่รื่นรมย์ เห็นชัดเลยว่างานวิจัยนั้นไปไม่รอด ยิ่งงานวิจัยที่ไปทำกับชุมชน ถ้าขาดความรื่นรมย์ จะทำงานวิจัยไม่ได้ 

รื่นรมย์ หมายถึง ภาวะจิตที่มีความสุข เพราะฉะนั้น "งาน" กับ "วิจัย"  

"งาน" กับ "ชีวิต" แยกออกจากกันไม่ได้ต้องทำให้รื่นรมย์

เพราะถ้ารื่นรมย์อยู่ตลอดเวลาชีวิตเราก็จะไปอยู่ในกลุ่มของหน้าใสดอทคอม

จะเปรียบเหมือนดอกไม้ที่บ้าน ที่สวยงาม ใคร ๆ ก็อยากนำมาประดับแจกัน

แต่ถ้าเราเหี่ยว เราเบื่อ เราเซ็ง เราหงุดหงิด เหมือนกับดอกไม้ที่เหี่ยว

เขาก็จะเอาไปไว้ที่ขยะ และอยู่ในตระกูลของหน้าดำดอทคอม  

 

การวิจัย เป็นการเฝ้าดูตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะการเข้าใจการเรียนรู้ต้องเริ่มต้นจากตัวเอง การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวนั้น การวิจัยในตัวทำให้เกิดการรู้เรื่องตัวเองขึ้น เขาเรียกว่าการตรัสรู้

 นักวิจัยจะต้องทำงานวิจัยให้ใสสะอาด ใช้คำว่าไม่มีความลำเอียง นั้นคือไม่ bias คนที่ลำเอียงแสดงว่าขาดความรื่นรมย์ คนยิ้มตลอดไม่บ้า แต่คนหน้าบึ้ง "บ้า"

เพราะคนที่ยิ้มตลอดไม่ใช่ยิ้มที่ปาก แต่มันยิ้มที่ใจ ปากนั้นจะแย้มบ้างก็ได้ก็แล้วแต่กาลเทศะ ถ้าเรามีความสุข ยิ้มแย้ม แจ่มใส่ การสร้างมนุษย์สัมพันธ์ในการเข้าไปทำงานกับเพื่อนมนุษย์ก็ทำได้ง่าย 

เพราะฉะนั้นการวิจัยก็เริ่มจากตัวชีวิตเรา ต้องทำการวิจัยตนเองและทำตัวเองให้ดีก่อน

ดังเช่นที่ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ว่า 

"การพัฒนาคน โดยพัฒนาตัวคนที่เป็นปัจจัยตัวกระทำให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ด้วยการพัฒนาตัวคนเต็มทั้งระบบ คือ ครบทั้งพฤติกรรม จิตใจและปัญญา"

และท่านยังให้ความหมายเกี่ยวกับบัณฑิตไว้อีกว่า"คนที่เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ย่อมคิดการมิใช่เพื่อเบียดเบียนตน มิใช่เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น มิใช่เพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เมื่อจะคิดย่อมคิดการที่เกื้อกูลแก่ตน ที่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ที่เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย ที่เกื้อกูลแก่คนทั้งโลกเลยทีเดียว"

ศาสนา เศรษฐกิจ ชีวิต เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างสมดุล

ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียสมดุลไป วิถีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ ย้อนกลับเข้าหา "ศาสนา"

พุทธศาสนา  ศาสนาพุทธ

สิ่งที่สรรค์สร้างเราและวิถีชีวิตไทย สอดคล้องกับอุดมคติ ประเพณีและวัฒนธรรม

"สูงสุดคืนสู่สามัญ"

บางครั้งปัญหาที่ไม่สามารถหาทางออกได้อย่างเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้ อาจจะหาทางออกและแก้ได้อย่างอัศจรรย์โดยเพียงแค่เราเดินเข้า "วัด"

"ทางสายกลาง"

ปฏิบัติตนและปฏิบัติใจอย่างพอเพียง ดังเช่นที่ท่านพระธรรมปิฎก ได้กล่าวไว้ว่า

"การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อร่างกายให้ร่างกายเกิดดุลยภาพ ปฏิบัติถูกต้องต่อเศรษฐกิจ ดำเนินการหาเลี้ยงชีพ จัดการเงินให้พอเหมาะพอดีก็ตาม หรือการปฏิบัติในทางสังคมให้พอเหมาะพอดีก็ตาม หรือการปฏิบัติในเรื่องของจิตใจของเราให้พอดีก็ตาม นั่นคือ ดุลยภาพของธรรม หรือตัวธรรมเป็นดุลยภาพ เป็นข้อสุดท้ายซึ่งเป็นตัวที่คุมและคลุมทั้งหมด"


เรามาร่วมกันวิจัยชีวิตเพื่อพัฒนาชีวิต ปฏิบัติตน ปฏิบัติใจอย่างพอเพียงและเพียงพอเพื่อให้เกิดดุลยภาพกันเถอะครับ

หมายเลขบันทึก: 41911เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2006 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วิจารณ์ วิจัย และ วิจักษณ์

เป็นคำที่ อาจารย์ ผอ.บวร เขียนให้ข้อคิดเห็นผมในบันทึกของผม

วิจัย เนียนอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน เราเป็นนักวิจัยกันตั้งแต่ ถามโน้น ถามนี่ เก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และก็ใช้ประโยชน์

เป็นประสบการณ์ที่สร้างคนหนึ่งคนตลอดชีวิต

ผมอีกคนที่ชอบที่จะเรียนรู้ ช่างสังเกต และ ถามเมื่อไม่รู้ จนคนบ่นว่า ทำไมชอบสงสัย นัก

ผมอยากรู้ไปเสียทุกอย่าง ตอนเป็นเด็ก ก็แปรเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้า ในบ้านเป็นเศษเหล็กมาก็เยอะ เพราะถอดได้ ประกอบไม่ได้ ประเภท น็อตเหลือครับ

วิจัย เป็นวิถีชีวิตครับ

ให้กำลังอาจารย์ปภังกรครับผม

 อ่านข้อความของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ได้ความคิดที่จะนำไปพัฒนานักเรียนของพี่  ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ดี  จิตใจดี  และพฤติกรรมดีด้วย

พี่จะหัดถามบ้าง  รู้ตัวเหมือนกันว่า  เมื่อสงสัยแล้วไม่ค่อยจะถาม  แต่ไม่เคยปล่อยปละละเลย  จะค้นหาคำตอบด้วยตนเองเสมอ  น้อยปัญหานักที่จะถาม

แต่ต่อจากนี้ไปพี่จะหัดเป็นคนช่างสงสัย  เพราะพี่สอนให้นักเรียนของพี่ช่างสังเกต  ช่างสงสัย  และรู้จักการค้นหาคำตอบด้วย

นี่เป็นการเริ่มต้นที่ดีของการวิจัย

พี่พยายามที่จะปฏิบัติกาย  ใจ  วาจาให้พอเพียง  การอยู่คนเดียวเงียบๆก็ไม่ใช่หนทางที่จะปฏิบัติตามแนวนี้ได้ดี

ตรงกันข้างต้องรีบเข้าหาคนอื่น  พูดคุย  และรู้จักพูดคุยให้เข้ากับสังคมนั้นๆ

ดังเช่นเข้ามาใน G2K  พี่ได้พันธมิตรทางความคิดมากมาย  อย่างน้อยพี่ก็ได้คำกลอนที่ดี  และน่าจดจำไป

มะพร้าวแก่  แก่ดี  มีประโยชน์

รสเอมโอษฐ์  หวานมัน  อย่างขานไข

แก่วิชา  ยิ่งแก่  ยิ่งแน่ไป

ไม่มีใคร  งกเงิ่น  แก่เกินเรียน

พี่ชอบวรรคสุดท้ายมากเลยค่ะ  คุณปภังกร

ขอบคุณอาจารย์จตุพรมาก ๆ เลยครับ

วิจารณ์ วิจัย และ วิจักษณ์

นำมาเติมเต็มให้กับผมได้อย่างมาก ๆ เลยครับ

ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับอาจารย์สิริพร

นำสิ่งดี ๆ ไปเติมเต็มต่ยอดให้กับนักเรียน นักศึกษาเยอะ ๆ นะครับ

เพราะถ้าเรายิ่งให้เรายิ่งได้รับครับ

เป็นกำลังใจให้อาจารย์ในการต่อสู้และทำทุกสิ่งทุกอย่างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท