การวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำใหญ่


Vena Cava Filters

การวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำใหญ่

Vena Cava Filters

 

พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ  วท.บ.รังสีเทคนิค

เสาวนีย์ หอมสุด      พย.บ.

ตองอ่อน น้อยวัฒน์  อนุ.รังสีเทคนิค

คง           บุญคุ้ม   อนุ.รังสีเทคนิค

สมจิตร    จอมแก้ว  อนุ.รังสีเทคนิค

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ, เสาวนีย์ หอมสุด, ตองอ่อน น้อยวัฒน์, คง บุญคุ้ม,สมจิตร จอมแก้ว.  การวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำใหญ่. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2552 ; 3(1): 1-11

 

บทคัดย่อ

หัตถการใส่ตะแกรงกรองลิ่มเลือดเป็นหัตถการหลักในการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด ซึ่งทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ วิธีการและขั้นตอนของหัตถการเป็นสิ่งที่มีความละเอียดอ่อนที่จะต้องพิจารณา จัดเตรียมและพัฒนาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำหัตถการของแพทย์และทีมงาน

 ภาวะอย่างหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยคือการหลุดของลิ่มเลือดจากหลอดเลือดในผู้ป่วยโรค Deep venous thrombosis (DVT) ผ่านระบบการไหลเวียนและเข้าสู่หัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำใหญ่ (inferior vena cava) และจะไปอุดตันยังหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary arteries) วิธีการตรวจพบทำได้ด้วยการประเมินอาการผู้ป่วยซึ่งจะมีลักษณะบ่งชี้ และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดแดงปอด (CTA Pulmonary artery) กรอบแนวคิดในการรักษาก็คือการขัดขวางการไหลเวียนในตำแหน่งหลอดเลือดดำใหญ่ เพื่อป้องกัน โดยในระหว่างปี 1930-40 ได้ใช้วิธี  common femoral vein and superficial femoral vein ligation ร่วมกับการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น  heparin และ warfarin ซึ่งค้นพบในปี   1935 และ 1948 ตามลำดับ การผ่าตัดหลอดเลือดดำ (Phlebotomy) ร่วมกับการลากลิ่มเลือดออกจะทำในตำแหน่งของ  common femoral vein แต่ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญก็คือ limb edema

ต่อมาจึงได้ปรับเป็นการรักษาด้วย  ligation of the IVC โดยจะทำในตำแหน่งที่ต่ำกว่า renal vein ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง  2-15% แต่ก็ช่วยลดภาวะการเกิดซ้ำของ  recurrent PE  อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนอีกอย่างหนึ่งก็คือมีอัตรา immediate lower-extremity swelling ได้ถึง10-16%

ในปี 1960 ได้มีการค้นหาวิธีใหม่ๆ โดยปรับประเด็นการป้องกันเป็นการทำ emboli trapping ร่วมกับการ preservation of blood flow  ซึ่งได้แก่การทำ suture plication และการใช้ caval clips (Moretz clip, Miles clip, Adams-DeWeese clip) พบว่าทำให้อัตรา limb edema ลดลง อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตยังใกล้เคียงกับการทำ caval ligation และมีอัตราการเกิด  caval occlusion สูงถึง 30-40%  

ในปี 1967 ได้มีการพัฒนา Mobin-Uddin umbrella filter และหลังจากนั้นได้มีการพัฒนาตัวกรองลิ่มเลือดชนิดอื่นๆ ขึ้นอีกจำนวนมาก 

 ซึ่งเมื่อตรวจพบจะต้องทำการรักษาด้วยหัถตการกรองลิ่มเลือดด้วยตะแกรงกรองลิ่มเลือด (IVC filter) ในหลอดเลือดดำใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolus) โดยการกรองลิ่มเลือดไว้ไม่ให้ผ่านเข้าไปสู่หัวใจได้  ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่

 

ตะแกรงกรองลิ่มเลือดชนิดถาวร (Permanent IVC Filter)

ตะแกรงกรองลิ่มเลือดชนิดถาวรเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับการปรับตำแหน่งหรือการเอาออกซ้ำ จึงไม่แนะนำให้ใช้ ยกเว้นกรณีที่ไม่มีตะแกรมกรองลิ่มเลือดชนิดถอดออกได้ เช่น

-    Mobin-Uddin umbrella filter ออกแบบเป็นรูปร่วม โดยทำจาก silicone membrane มีขาเป็น stainless steel alloy 6 ขา  เส้นผ่านศูนย์กลางคือ  28 มม.

-    Greenfield filter ทำจาก stainless steel ออกแบบเป็นรูป conical ประกอบด้วย  6 ขา  เป็นรูป zigzag  ขามีขนาด 0.015 นิ้ว โดยรวมมีความยาก 4.6 ซม. ฐานกว้าง  3.0 ซม. แต่ละขาห่างกัน 11 มม. ซึ่งต้องใช้ด้วยสายสวนหลอดเลือดนำส่งขนาด 24F  

-    Bird's nest filter ออกแบบให้เป็นโครงข่ายของ biocompatible stainless steel wires 4 เส้น แต่ละเส้นยาว 5 ซม. และมีขนาด  0.18 มม. โค้งเป็นรูปตัว  V ติดกันตรงกลาง ต้องใช้สายสวนหลอดเลือดนำส่งขนาด 12F

-    Vena Tech-LGM filter ออกเป็นเป็นรูป conical ที่มีแนวรัศมี 6  ด้าน แต่ละขางอเป็นรูปตัว V มีขนาดกว้าง  34 มม. และยาว 45 มม. ต้องใช้สายสวนหลอดเลือดนำส่งขนาด 12F

-    The Vena Tech LP filter ทำจาก Pynox และเป็น MRI-compatible ออกแบบเป็นรูป conical ที่มี 8 ขา กางเป็นรูปตัว  V ขนาดยาว 43 มม. กว้าง 28 มม. ต้องใช้สายสวนหลอดเลือดนำส่งขนาด 9F

-    Simon nitinol filter เป็นตัวแรกที่ทำจาก Nitinol ซึ่งเป็น alloy  (53% nickel, 45% titanium,  2% cobalt) มีขนาด 3.8 ซม. มีขาที่วาง ตัวเป็น  7 overlapping loopแต่ละขาทำจากลวดขนาด   0.015 นิ้ว

-    TrapEase filter ทำจาก  single tube of nitinol ที่ตัดด้วยเลเซอร์  เป็นรูป conical ที่มี 6 ขา และจัดตัวเป็น symmetric trapezoidal double-basket เพื่อกรองลิ่มเลือด 2 ชั้น มีขนาดยาว  65 มม. และกางได้  50 มม. ต้องใช้สายสวนหลอดเลือดนำส่งขนาด 8F

 

ดังนั้นการเลือกใช้จะต้องพิจารณาข้อบ่งชี้สมบูรณ์หรือข้อบ่งชี้สัมพัทธ์อย่างถี่ถ้วน

 

ข้อบ่งชี้สมบูรณ์ 

  1. ผู้ป่วยได้รับการยืนยันแล้วว่ามีอาการหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตัน (Deep vein thrombosis) หรือ ภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolus) ซึ่งมีข้อห้ามต่อการให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด หรือเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หรือมีเลือดออกในศีรษะ
  2. ผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่ามีการดำเนินของโรคหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือเกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดซ้ำขณะให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (ผู้ป่วยได้รับยามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน)
  3. ผู้ป่วยไม่อาจให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดได้ เช่น มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารจำนวนมาก ทำให้ต้องหยุดการให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  4. ผู้ป่วยภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดที่อยู่ในขั้นร้ายแรง อาจถึงแก่ชีวิตได้
  5. ผู้ป่วยมีภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดซ้ำ เนื่องจากตะแกรงกรองลิ่มเลือดอันเดิมไม่สามารถกรองลิ่มเลือดได้ และผู้ป่วยมีข้อห้ามต่อการให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด

 

ข้อบ่งชี้สัมพัทธ์ 

  1. ผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดที่มีข้อจำกัดในการดูแลปอดและหัวใจ
  2. ผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด และมีภาวะแทรกซ้อนจากยา เสี่ยงต่อการล้ม และไม่สามารถให้การเฝ้าดูได้ระหว่างการรักษา
  3. ผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดที่มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่อยู่ในหลอดเลือดดำแขนหรือขา หรือในหลอดเลือดดำใหญ่ส่วนล่าง (inferior vena cava)
  4. ผู้ป่วยมีประวัติหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดที่ได้รับการผ่าตัดแล้วและเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
  5. ผู้ป่วยไม่มีอาการหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด แต่มีความเสี่ยงเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุ (multiple trauma)

 

ตะแกรงกรองลิ่มเลือดชนิดถอดออกได้  

(Temporary IVC Filter)

ตะแกรงกรองลิ่มเลือดชนิดถอดออกได้เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบไว้สำหรับการปรับตำแหน่งหรือการเอาออกซ้ำในเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยทำจาก tether alloy ซึ่งมีหลายชนิด ได้แก่

-    Gunther Tulip filter ทำจาก nonferromagnetic Conichrome มี 4 ขา ขนาดยาว 44มม. ที่หุบหากันเป็น tulip-petal conical ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 มม. ยาว  50 มม. ต้องใช้สายสวนหลอดเลือดนำส่งขนาด 7F

-    Recovery filter ทำจาก nitinol และเป็น MRI-compatible ลักษณะคล้าย Simon nitinol filter มีตะแกรง 2 ชั้น และมี 6 แขน ซึ่งเป็นลวดขนาด  0.13 นิ้ว   เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 32มม. ยาว 40 มม. ต้องใช้สายสวนหลอดเลือดนำส่งขนาด 7F

-    G2 Filter ออกแบบให้ทนต่อการหักงอ และมีจุดศูนย์ที่แข็งแรง ขาที่ยาวขึ้น เพื่อลดการขยับจากตำแหน่ง ต้องใช้สายสวนหลอดเลือดนำส่งขนาด 7F

-       OptEase filter มีรูปแบบที่คล้ายกับ  TrapEase filter 

-       Celect filter ออกแบบคล้ายกับ  Gunther Tulip filter มี 4 ขาหลัก และมีแกน 8 อันเพื่อคงรูปและดักจับลิ่มเลือด  

การเลือกใช้จะต้องพิจารณาข้อบ่งชี้สมบูรณ์หรือข้อบ่งชี้สัมพัทธ์อย่างถี่ถ้วนเช่นกัน

 

ข้อบ่งชี้สมบูรณ์ 

  1. ผู้ป่วยได้รับการยืนยันแล้วว่ามีอาการหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตัน (Deep vein thrombosis) หรือ ภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolus) ซึ่งมีข้อห้ามต่อการให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด หรือเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หรือมีเลือดออกในศีรษะ
  2. ผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่ามีการดำเนินของโรคหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือเกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดซ้ำขณะให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (ผู้ป่วยได้รับยามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน)
  3. ผู้ป่วยไม่อาจให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดได้ เช่น มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารจำนวนมาก ทำให้ต้องหยุดการให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  4. ผู้ป่วยภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดที่อยู่ในขั้นร้ายแรง อาจถึงแก่ชีวิตได้
  5. ผู้ป่วยมีภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดซ้ำ เนื่องจากตะแกรงกรองลิ่มเลือดอันเดิมไม่สามารถกรองลิ่มเลือดได้ และผู้ป่วยมีข้อห้ามต่อการให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด

 

ข้อบ่งชี้สัมพัทธ์ 

  1. ผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดที่มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่อยู่ในหลอดเลือดดำแขนหรือขา หรือในหลอดเลือดดำใหญ่ส่วนล่าง
  2. ผู้ป่วยมีประวัติหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดที่ได้รับการผ่าตัดแล้วและเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
  3. ผู้ป่วยไม่มีอาการหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตันหรือภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด แต่มีความเสี่ยงเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุ (multiple trauma)

 

ข้อห้ามในการใส่ตะแกรงป้องกันลิ่มเลือด

1. มีข้อห้ามในสภาวะดังต่อไปนี้

1.1       มีการอุดตันของหลอดเลือดดำใหญ่ทั้งหมด

1.2       ไม่สามารถผ่านเข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ได้

1.3       ไม่สามารถเห็นภาพร่วมตรวจระหว่างการวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดได้

2. ภาวะเหล่านี้ไม่ถือเป็นข้อห้ามการใส่ตะแกรงกรองลิ่มเลือดได้

2.1       มีภาวะติดเชื้อ (sepsis) เช่น thrombophlebitis

2.2       ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีลิ่มเลือดหลงเหลืออยู่ในหลอดเลือดแดงส่วนปลายในผู้ป่วยภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด

 

การดูแลผู้ป่วยก่อนการหัตถการ

ต้องมีการให้ข้อมูลหัตถการและการลงลายมือชื่อเพื่อยินยอมรับการทำหัตถการวางตะแกรงกรองลิ่มเลือด ซึ่งมีความเสี่ยงเนื่องด้วยการตรวจดังนี้

  1. อัตราเกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดซ้ำ 5%
  2. อัตราเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงใหญ่เนื่องจากลิ่มเลือด 5%
  3. อัตราที่ตะแกรงกรองลิ่มเลือดจะเคลื่อนจากตำแหน่ง หักงอ หรือวางผิดตำแหน่ง หรือเกิดการทะลุของหลอดเลือดดำใหญ่ระหว่างหัตถการ 1%
  4. เกิดการอุดตันของหลอดเลือดดำบริเวณที่เจาะผ่าน <3%

 

การดูแลระหว่างหัตถการ

การเจาะผิวหนังเพื่อผ่านชุดอุปกรณ์ตะแกรงกรองลิ่มเลือดสามารถเจาะผ่านหลอดเลือดดำได้หลายตำแหน่ง เช่น femoral vein, internal and external jugular vein, subclavian vein and upper extremities vein หรือ เจาะตรงเข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ IVC ด้วยวิธี translumbar approach

 

การสร้างภาพระหว่างการตรวจ

ในการตรวจจะมีการสวนหลอดเลือดและทำการฉีดสารทึบรังสีเพื่อให้ได้ภาพของหลอดเลือดดำ (Cavography) โดยสอดสายสวนหลอดเลือดเช่น pigtal 5-7F แล้วทำการฉีดสารทึบรังสี ในตำแหน่งต่างๆ ด้วยอัตรา 20mL/s , 2sec และถ่ายภาพที่ความเร็ว 4 frames/sec เพื่อประเมินกายวิภาคของหลอดเลือด อย่างไรก็ตามอาจใช้อัลตราซาวน์ร่วมตรวจด้วยก็ได้

 

การวางตะแกรงกรองลิ่มเลือด

พื้นฐานเบื้องต้น

  1. ฉีดสารทึบรังสีเพื่อประเมินพยาธิสภาพและตำแหน่งของหลอดเลือดดำของไต
  2. เปลี่ยนชุดของสายสวนหลอดเลือดเป็นชุดตะแกรงกรองลิ่มเลือด (filter delivery sheath) โดยใช้ exchange guidewire ซึ่งยาว 260 ซม.
  3. เนื่องจากชุดตะแกรงกรองลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ จะต้องมีการขยายตำแหน่งที่เจาะผ่าน (access site)
  4. ส่งผ่านชุดตะแกรงกรองลิ่มเลือดผ่านชุดนำส่งไปยังปลายสุดของชุดนำส่ง
  5. ปรับตำแหน่งของตะแกรงกรองลิ่มเลือดให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ
  6. ค่อยๆ กางตะแกรงกรองลิ่มเลือด
  7. เลื่อนชุดนำส่งลงต่ำกว่าตำแหน่งตะแกรงประมาณ 4-5 ซม. แล้วฉีดสารทึบรังสีผ่านชุดนำส่งเพื่อให้ได้ภาพรังสีของหลอดเลือดดำใหญ่อีกครั้ง

 

หลักการวางตะแกรงกรองลิ่มเลือด

  1. กรณีหลอดเลือดดำใหญ่ปกติ (normal IVC)

1.1       ขอบบนของตะแกรงกรองลิ่มเลือดวางอยู่ที่ตำแหน่งรูเปิดของหลอดเลือดดำของไตข้างที่ต่ำกว่า

1.2    หากวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดไปแล้ว แต่ไม่พบลิ่มเลือด ในผู้ป่วยที่มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดซ้ำ (recurrent PE) ให้กางตะแกรงกรองลิ่มเลือดอันที่ 2 ต่ำกว่าตะแกรงกรองลิ่มเลือดตัวแรกถ้ามีที่วางเพียงพอ แต่ถ้าไม่ได้ ให้วางตะแกรงกรองลิ่มเลือดอันที่ 2 สูงกว่าตะแกรงกรองลิ่มเลือดตัวแรกได้ (วางสูงกว่า suprerenal IVC)

 

   2. กรณีหลอดเลือดดำใหญ่อุดตัน (thrombus in IVC)

2.1 หากลิ่มเลือดเกาะตัวแต่ไม่ได้ขวางไปถึงหลอดเลือดดำของไต ให้วางตะแกรงกรองลิ่มเลือดไว้ต่ำกว่า suprarenal IVC  แต่ต้องอยู่เหนือลิ่มเลือด (สามารถวางในตำแหน่ง  intrarenal IVC ได้)

2.2 ลิ่มเลือดเกาะตัวและขวางไปถึงหลอดเลือดดำของไต หรือเกิดจากหลอดเลือดดำของไต ให้วางตะแกรงกรองลิ่มเลือดที่ตำแหน่ง suprarenal IVC หรือสูงกว่า renal vein หรือตำแหน่ง intrahepatic IVC และควรเป็นตะแกรงชนิดสั้น (bird’s Nest)

2.3 ลิ่มเลือดเกาะตัวเกินกว่าตะแกรงกรองลิ่มเลือดที่วางไว้แต่เดิม ให้วางตะแกรงกรองลิ่มเลือดอันใหม่สูงกว่าตะแกรงเดิม มักจะเป็นตำแหน่ง suprerenal IVC

 

   3. กรณีหลอดเลือดแดงใหญ่ซ้อน (duplicated IVC)

3.1       วางตะแกรงกรองลิ่มเลือดแยกตาม IVC ละ 1 ชุด ใต้ต่อ renal vein

3.2       วางตะแกรงกรองลิ่มเลือดอีก 1 ตัวที่ suprerenal IVC

3.3    ถ้าหลอดเลือดดำใหญ่อันที่ 2 มีหลอดเลือดดำชนิด accessory vein ซึ่งมีขนาดเล็กและเชื่อมต่อกับ IVC หลักที่ตำแหน่ง common iliac และ renal veins  ให้วางตะแกรงไว้ที่ IVC เส้นที่ปกติ และทำการอุดหลอดเลือดดำใหญ่อันที่ 2 นั้นด้วยขดลวด

3.4    ผู้ป่วยมีหลอดเลือด circumaortic left renal vein ถ้าวางตะแกรงไว้ในตำแหน่งปกติอาจมีลิ่มเลือดเคลื่อนผ่านวงแหวนของหลอดเลือดดำได้ ให้วางของล่างของตะแกรงต่ำกว่าตำแหน่งเปิดของวงแหวนหลอดเลือดดำนั้น และอยู่ในตำแหน่ง suprarenal IVC

3.5    ผู้ป่วยมีหลอดเลือด retroacortic left renal vein ให้วางตะแกรงไว้ต่ำกว่ารูเปิดของ left renal vein แต่ถ้าวางไม่ได้ ให้วางตะแกรงให้ขอบบนไว้ที่ระดับของ right renal vein และวางตะแกรงอีกอันหนึ่งที่ common iliac vein

3.6     ผู้ป่วยมี Mega Cava ให้วางตะแกรงกรองลิ่มเลือดชนิด bird’s nest ไว้ที่ตำแหน่ง infrarenal IVC ถ้าไม่มีให้วางตะแกรงไว้ที่common iliac vein ข้างละ 1 อัน

3.7       ในสตรีตั้งครรภ์ให้วางในตำแหน่ง suprarenal IVC เพื่อลดรังสีต่อทารกในครรภ์

3.8       ในสตรีที่อยู่ในแผนจะตั้งครรภ์ ให้วางในตำแหน่ง suprarenal IVC เพื่อลดความเสี่ยง

3.9    การวางตะแกรงในหลอดเลือดดำใหญ่ส่วนบน (Superior Vena Cava)ให้ใช้ตะแกรงชนิดสั้น เช่น bird’s nest โดยวางขอบล่างไว้ที่เหนือต่อ azygous และต้องยังอยู่ใน SVC นั่นคือต้องไม่ยื่นเข้าไปในหัวใจห้องบนขวา

 

การดูแลหลังหัตถการ

  1. สังเกตอาการบวมของขา ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ของอาการหลอดเลือดดำใหญ่อุดตัน หรือหลอดเลือดดำระดับลึกอุดตัน
  2. ให้ถ่ายภาพเอกซเรย์ช่องท้องเพื่อตรวจสอบตำแหน่งของตะแกรงกรองลิ่มเลือดปีละครั้ง

 

สรุป

 การวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดจะต้องพิจารณาเลือกใช้ชนิดของตะแกรงที่เหมาะสม เนื่องจากมีทั้งแบบถาวร และแบบชั่วคราวที่สามารถเอาออกได้ รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ทำ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่ม nitinol ที่สำคัญก็คือการวัดขนาดของหลอดเลือดดำใหญ่ และเลือกตัวกรองลิ่มเลือดที่สามารถกางได้อย่างพอดี เพราะจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและสามารถกรองลิ่มเลือดได้อย่างดี ตัวกรองลิ่มเลือดมีการออกแบบให้กรองลิ่มเลือดได้ต่างกันไป ดังนั้นการเลือกใช้ การเตรียมและการดูและระหว่างหัตถการเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความปลอดภัยและความสำเร็จของหัตถการ

 

บรรณานุกรม

  1. Kaufman JA. In Kandarpa K, Aruny JE. Handbook of interventional radiology, 3rd , Lippincott Williams & Wilkins, NewYork, 2002
  2. Siskin GP. Inferior vena cava filters. http://emedicine.medscape.com/article/419796-overview
  3. Anonymous. Inferior vena cava filter .http://en.wikipedia.org/wiki/Inferior_vena_cava_filter
  4. Radiology of north america. Inferior Vena Cava Filter Placement and Removal. http://www.radiologyinfo.org/en/info.cfm?pg=VenaCavaFilter
  5. Thomson Healthcare Inc.  Inferior Vena Cava Filter Placement. http://www.drugs.com/cg/inferior-vena-cava-filter-placement.html
คำสำคัญ (Tags): #filter#pe#IVC
หมายเลขบันทึก: 418833เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2011 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลังผ่าตัดต้องนอนท่าไหนคะ

ปกติหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ต้องค้างโรงพยาบาลประมาณ 2 วันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท