เล่าเรื่องแก้จนบนเวทีมหกรรม KM ราชการไทยก้าวไกลสู่ LO


วงเรียนรู้คุณเอื้อต่างหากที่ท่านผู้ว่าฯกล่าวว่ายังขยับตัวได้ช้า ไม่ค่อยคืบหน้าและชัดเจนเท่าที่ควร

เล่าเรื่องแก้จน 

         การพูดคุยบนเวทีของผู้ถ่ายทอดเรื่องราวแก้จนเมืองนคร สำหรับช่วงการนำเสนอกรณีศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ในห้องแกรนด์ C  ในประเด็น KM กับการพัฒนาบุคลากร กรณีศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 21 ก.ค. 49 นั้น ผมขอเรียนอย่างนี้นะครับ

         ลำดับแรก คุณธวัช หมัดเต๊ะ ผู้ประสานงานโครงการ จาก สคส.ค่อนข้างจะเป็นห่วงเรื่องนี้มาก ว่าจะให้ได้ทั้งสาระ ทันเวลาที่กำหนดให้ รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีส่วนร่วมพูดคุยด้วย จะต้องทำอย่างไร ท่านจึงได้วางกรอบประเด็นการพูดคุยส่งมาให้ผู้เล่าทั้ง 3 ท่าน  ศึกษาทำการบ้านล่วงหน้าราวๆสองสามวัน แฟกซ์มาให้นะครับ

         ผู้เล่าทั้ง 3 ท่าน คือ ท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ น้องพัชณี และตัวกระผมเอง  ศึกษาจุดประสงค์ กรอบประเด็นการพูดคุยของ Sesssion นี้ ว่าคือการให้เล่าความรู้ปฏิบัติของการทำ KM ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเน้นการจัดทัพบุคลากรรองรับในทางปฏิบัติจริง ทัพคุณเอื้อ คุณอำนวย และการพัมนาคุณอำนวยเพื่อขยายผลทั้งจังหวัด ใช้เวลา 70 นาที ระหว่าง 10.50 - 12.00 น.โดยมีคุณธวัช เองเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยท่านจัดสรรเวลามาให้เรียบร้อยเลยว่าแต่ละท่านจะใช้เวลาประมาณเท่าไร

          ผมจำได้ว่าตอนเริ่มต้นรายการ มีน้องจาก สคส.มากระซิบบอกว่า เวลาล่วงเลยมาแล้ว (ล่วงเลยจากพักย่อย) ให้ขึ้นเวทีได้เลย คณะวิทยากรจึงขึ้นเวที หลังจากที่คุณธวัช กล่าวนำและแนะนำวิทยากร รวมทั้งกติการการพูดคุยเสร็จแล้ว การเล่าก็เริ่มต้นและไหลไปโดยอัตโนมัติ ชนิดที่ว่าวิทยากรส่งไมค์ต่อๆกันเลย คุณธวัช ก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่ได้ยึดไมค์กลับแต่อย่างใด เริ่มจากท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ เล่าก่อนครับ

         เสียดายไม่มีภาพบนเวทีมาฝาก เพราะแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูปหมดพอดีครับ

          ผมจะสรุปใจความเอานะครับ ส่วนรายละเอียด ผมคิดว่า สคส.คงจะได้ทำ บทสรุปปรากฏการณ์ Proceedings เผยแพร่ต่อไป กรุณาติดตามอ่านนะครับ

         ท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์  ท่านเล่าว่าท่านได้ทำเรื่องชุมชนเข้มแข็ง กระบวนการประชาคมมานาน แต่กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นจริงกับประชาชนมีน้อย ที่เป็นดังนี้ท่านให้เหตุผลว่าเพราะกระบวนการเรียนรู้ภาคประชาชนที่ภาครัฐส่งเสริมยังไม่จริงจังและไม่เข้มแข็งเพียงพอ มีประสบการณ์การพัฒนาที่ผ่านมาที่ไม่ยั่งยืนมากมายเป็นบทเรียน ท่านเองให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของภาคประชาสังคมมาก เห็นว่าเป็นแนวทางการเรียนรู้และแนวทางการพัฒนาที่ดีที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ไหน ท่านยกตัวอย่างชุมชนใกล้ตัวในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือประสบการณ์การเรียนรู้หรือการพัฒนาของชุมชนไม้เรียง อำเภอฉวาง ที่มีปราชญ์ชาวบ้าน รางวัลแมกไซไซ ท่านประยงค์ รณรงค์  เป็นผู้นำ หรือชุมชนคีรีวงศ์ อำเภอลานสกา เป็นต้น ได้เห็นถึงการพึ่งตนเอง กระบวนการประชาคม กระบวนการชุมชนเข้มแข็ง กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน

         เรื่องการจัดการความรู้นี้เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ท่านจึงได้ดำเนินการทดลองนำร่องจัดการความรู้เพื่อหาประสบการณ์ตรงด้วยตัวท่านเอง โดยดำเนินการจัดการความรู้องค์กรการเงินชุม (กทบ.กลุ่มออมทรัพย์ คขกจ.)ในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย 9 หน่วยงาน ด้วยงบประมาณกลางปี 2548 ของจังหวัดซีอีโอ ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน เห็นผลชัดเจนและเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย คือกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนดีขึ้น การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆและการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆกับชาวบ้านเป็นไปได้ด้วยดี

         ท่านจึงนำประสบการณ์การจัดความรู้ทั้งที่ภาคประชาสังคม หรือภาครัฐจัดอยู่นี้ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ประกอบกับแนวคิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่มีจุดเน้นที่การพัฒนาคน ท่านจึงใช้โอกาสนี้พัฒนาคนไว้รองรับแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 ด้วย โดยใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดเป็นเนื้อหาให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ เน้นยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนก่อน  ตั้งชื่อโครงการว่า โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร โดยทำเต็มพื้นที่ทั้งจังหวัด 1,545 หมู่บ้าน ทำ 3 ปี ต่อเนื่อง ระหว่างปี 2549 - 2551 แบ่งหมู่บ้านเป้าหมายการทำออกเป็น 400 หมู่บ้าน ในปี 2549 และเพิ่มอีก 600 หมู่บ้านในปี 2550 และเพิ่มอีก 545 หมู่บ้าน ในปี 2551 โดยก่อนปีที่จะดำเนินการจัดการความรู้แก้จน จะเป็นปีของการศึกษาสำรวจข้อมูลครัวเรือนและจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเองก่อน

        คุณกิจของโครงการนี้คือครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ หมู่บ้านละ 64 ครัวเรือน ส่วนคุณอำนวยที่เป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ชาวบ้านก็จัดทัพหรือจัดโครงสร้างการทำงานเป็นระดับๆ ตั้งแต่คุณอำนวยหมู่บ้านหรือคุณอำนวยพื้นที่ซึ่งได้แก่แกนนำของหมู่บ้านๆละ 8 คน คุณอำนวยตำบลประกอบด้วยภาคีภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตำบลละอย่างน้อย 3 คน คุณอำนวยอำเภอ คุณอำนวยกลาง ซึ่งคุณอำนวยแต่ละระดับจะมีวงเรียนรู้และวาระนัดหมายการเรียนรู้ในวงของตนเอง ส่วนทีมคุณเอื้อก็มีตั้งแต่ทีมคุณเอื้อตำบล คุณเอื้ออำเภอ และคุณเอื้อจังหวัด คอยหนุนเสริม นอกจากนี้ก็มีทีมที่ปรึกษา และทีมวิชาการ คอยให้คำปรึกษาแนะนำ สำหรับหน่วยงานที่มาร่วมดำเนินการก็ใช้ทุกหน่วยงานในจังหวัด ร่วมกันเสนอโครงการด้วยกัน 8 หน่วยงาน คือ กศน. ปกครอง มวล. พช. เกษตร สาธารณสุข ธกส. และเครือข่ายยมนา ซึ่งใน 8 หน่วยงานนี้ กศน.เป็น เลขานุการหรือธุรการโครงการ ส่วนในเรื่องงบประมาณก็ใช้งบประมาณของจังหวัดซีอีโอสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้

        ท่านผู้ว่าฯกล่าวต่อไปว่า การดำเนินการในทุกขั้นตอน เราจะต้องเป็นนักเรียนเรียนรู้งานไปพร้อมกันทุกระดับ แลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์กัน จากการที่ได้ร่วมเรียนรู้ ติดตามการเรียนรู้ในวงเรียนรู้ต่างๆ พบว่าวงเรียนรู้ของคุณกิจซึ่งคือครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ มีความคืบหน้ามาก ชาวบ้านรู้กระบวนการเรียนรู้ จัดการครัวเรือนตนเอง ชุมชนตนเอง ภายใต้การส่งเสริมกระวนการเรียนรู้ของคุณอำนวยตำบล ได้ในระดับที่น่าพอใจ  วงเรียนรู้ของคุณเอื้อต่างหากที่ท่านผู้ว่าฯกล่าวว่ายังขยับตัวได้ช้า ไม่ค่อยคืบหน้าและชัดเจนเท่าที่ควร


       นี่ผมก็เล่าเท่าที่จับประเด็นได้นะครับ อาจจะขาดๆเกินๆ ค่อยติดตามอ่านฉบับเต็มจาก สคส.นะครับ

หมายเลขบันทึก: 41868เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2006 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ต้องขอแอบเอาเทคนิค การหมุนวงคุณระดับต่างๆ ของครูนงมาใช้นะคะ  ได้ประโยชน์มากค่ะ ขอบคุณค่ะ
ลองปรับใช้ดูนะครับ มีอะไรก็มา ลปรร.กัน ลองผิดลองถูกกันไปเรื่อยๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท