มาทำ SWOT ในโรงเรียนกันเถอะ


SWOT เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักองค์กรของเราอย่างละเอียด ชัดเจน รอบด้าน SWOT เป็นการวิเคราะห์องค์กร ที่มีผู้เขียนแนะนำอย่างหลากหลายทั้งในองค์กรธุรกิจ องค์กรการศึกษา แต่ SWOT ในระดับโรงเรียน ยังไม่ค่อยได้นำมาใช้กันอย่างจริงจังนัก แต่ก็มี แล้ว SWOT ในระดับโรงเรียนมีวิธีการเหมือนหรือแตกต่างจากองค์กรอื่นหรือไม่อย่างไร ต้องอ่านครับ

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้มีโอกาสได้รับการพัฒนา ตามโครงการผู้บริหารยุคใหม่ไทยเข้มแข็ง ซึ่งก็เป็นโครงการหนึ่งของ SP2 ที่จะพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ให้มีความเข้มแข็งนั่นเอง สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดในบรรดา 9 ชุดเครื่องมือ ก็คือ การวิเคราะห์บริบท:ความท้าทายของการบริหารการศึกษาในอนาคต (Context Analysis:The Challenge of the Future Education Administration) โดยเฉพาะกับคำว่า SWOT เพราะคำๆนี้ ผมเคยมีความคิดว่า ในระดับโรงเรียนแล้วไม่มีความจำเป็นที่จะทำ SWOT แบบในทฤษฎีที่กล่าวไว้เลย เพราะ 1.มีมาตรฐานชาติ มาตรฐานสพฐ. มาตรฐาน สมศ.อยู่แล้ว 2.มีนโยบายของรัฐบาล กระทรวง หน่วยงานต้นสังกัด วางแนวทางไว้แล้ว 3.มีหลักสูตรกำหนดไว้แล้ว ก็เพียงเราจับประเด็นต่างๆเหล่านี้มาปรับใช้ ประยุกต์ใช้ เป็นกลยุทธ์ แผนงาน โครงการ ก็แทบจะทำไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว แล้วต้องไปวิเคราะห์อะไรกันอีก นั่นอาจเป็นเพราะว่า ผมเคยศึกษา SWOT มาตั้งแต่ตอนต้นๆที่กำลังได้รับความสนใจในประเทศไทยเกี่ยวกับการศึกษามายุคแรกๆ ด้วยความไม่ชัดเจนพอ และบุคลากรในหน่วยงานก็ยังไม่มีความชัดเจนในการทำ SWOT อีกทั้งผมมองว่า การวิเคราห์บริบทขององค์กรขนาดเล็ก ก็ไม่จำเป็นต้องทำ SWOT เพียงแค่ประชุม พูดคุย ในส่วนผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่เมื่อ 2 ปีก่อน ครั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเดิมก่อนย้ายมาที่ปัจจุบันนี้ ผมพบปัญหาเล็กๆเรื่องหนึ่ง แต่ผมก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ นั่นคือ โรงเรียนมีครู 3 คน และ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงของการพัฒนาบุคลากร มีทั้งการไปอบรม การไปประชุม ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ การปฏิบัติงานพิเศษต่างๆ ซึ่งนั่นย่อมส่งผลให้ โอกาสที่ครูในโรงเรียนต้องเดินทางไปราชการ อย่างน้อย 2 คนมีบ่อย และทุกครั้ง ผู้บริหารก็ต้องไปด้วย ทำให้มีครูเหลืออยู่ 1 คน แล้วนักเรียนตั้งแต่อนุบาล ไปจนถึง ป.6 จะดูแลอย่างไร นั่นเป็นปัญหาที่ลำบากใจในการแก้ ครั้นจะหยุดเรียน ก็บ่อยเสียเหลือเกิน ครั้งจะไม่หยุดเรียน ปล่อยให้ครูคนเดียวดูแล ก็เกรงว่าจะดูแลไม่ทั่วถึง หากเด็กเป็นอะไรไปในระหว่างนั้น ก็หนักที่ครูที่ดูแล ก็พยายามคิดหาทางแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่คำตอบที่ได้ยังไม่มี จนวันหนึ่ง จึงจัดประชุมคณะกรรมการบริหารแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียน แล้วนำเสนอวิธีการ SWOT ให้คณะกรรมการได้รับทราบ ปรากฏว่า คณะกรรมการมีความเห็นว่าลองทำดู จึงเกิดการทำ SWOT กันขึ้น แต่ด้วย ทั้งคณะกรรมการ ครู และผู้บริหารเอง ก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ จึงทำ SWOT แบบง่ายๆ กล่าวคือ เราจะไม่แยกบริบทในการวิเคราะห์มากมายนัก เพียงแต่ถามทุกคนว่า 1.สภาพภายใน เป็นอย่างไร 2.สภาพภายนอกเป็นอย่างไร โดยให้พูดรวมๆกันมา แล้วช่วยกันระดมความคิดวางแนวทางแก้ปัญหา
          จากการดำเนินการดังกล่าว มีเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมาก นั่นคือ คณะกรรมท่านหนึ่งถามว่า วันที่ครูไปราชการ แล้วไม่มีครูอยู่โรงเรียน ไม่หยุดเรียนได้ไหม แล้วผู้ปกครองจะมาทำหน้าที่แทน แต่ก็มีบางคนบอกว่า ทำไม่ได้ เด็กจะไม่ฟัง แต่หลายคนก็บอกว่าไม่น่าจะมีปัญหา ให้ครูแนะนำ และวางแนวทางในการปฏิบัติแต่ละวันที่ครูไม่อยู่ไว้ให้ สรุปแล้วลองทำ
         แต่แล้วแนวคิดนี้ยังไม่ได้ลงมือทำเลยแม้แต่ครั้งเดียวเพราะผมได้รับคำสั่งย้ายเสียก่อน และที่โรงเรียนปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวไม่เกิด แต่เรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักได้อยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ความจำเป็นในการ SWOT และ 2.เชื่อมั่นและยอมรับแนวคิดและข้อเสนอแนะของผู้ปกครอง แม้ว่าจะเป็นคำพูดง่ายๆ ซื่อๆ แต่ถ้าเราพิจารณาดีๆ มันก็เป็นทฤษฎีการจัดการศึกษาที่ยังไม่ได้จัดทำภาษาให้สวยหรูเหมือนภาษาของนักวิชาการ

         สำหรับเรื่องแรกที่จะนำเสนอครั้งนี้ คือ การ SWOT ในโรงเรียน โดยจะกลั่นออกมาเป็นภาษาง่ายๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การนำไปปฏิบัติได้มีความสะดวก และชัดเจนเพิ่มมากขึ้น โดยยึดคู่มือการอบรมที่กล่าวถึงในเบื่องต้นเป็นแกนหลัก(การวิเคราะห์บริบท:ความท้าทายของการบริหารการศึกษาในอนาคต...คู่มือประกอบการอบรมโครงการยกระดับคุณภาพครูและผู้บริหารสถานศึกษาทั้งระบบ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปีงบประมาณ 2553-2555)

หมายเลขบันทึก: 417462เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2010 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท