ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๕๑. ชีวิตในเงามัว



          วงเสวนาระหว่างอาหารเช้าที่โรงแรมพุลแมน เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย. ๕๓ ระหว้าง นพ. สุรชัย ปัญญาพฤทธิพงศ์, นพ. อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล และผม ทำให้ผมได้ขายความคิดเรื่องเงามืดและเงามัวของการทำงานหรือทำหน้าที่  และทำให้ผมได้ทบทวนความเชื่อที่ตนยึดถือมาตลอดชีวิต  และมีส่วนผลักดันให้ชีวิตบั้นปลายของผมเป็นอย่างนี้

          ไม่ว่าจะทำงานหลักชิ้นใดก็ตาม ผมจะถามตัวเองว่า เราจะสามารถทำสิ่งนั้นให้เกิดผลหรือประโยชน์ยิ่งใหญ่ยั่งยืนได้อย่างไร   ไม่ว่าจะทำงานอะไร ผมจะบอกตัวเองให้คำนึงถึง ๒ ด้านที่เป็นขั้วตรงกันข้าม   คือด้านหนึ่ง ให้ตั้งหน้าตั้งตาใช้ความพยายามสร้างผลสำเร็จชนิดที่เป็นการวางรากฐานของเรื่องนั้น ให้เป็นประวัติศาสตร์เล็กๆ ของเรื่องนั้น  ที่หากไม่มีการวางรากฐานนั้นไว้ ภาพที่เกิดผลสำเร็จต่อเนื่องและยิ่งใหญ่ (แบบเล็กๆ) จะไม่เกิด

          ในทางตรงกันข้าม ผมจะบอกตัวเองว่า ภายใต้ข้อจำกัดของตนเอง คงจะไม่สามารถทำให้เกิดผลตามที่หวังได้  จะเกิดขึ้นได้ต้องมีคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก เข้ามาเป็นเจ้าของงานชิ้นนั้น อย่างต่อเนื่องหลายรุ่นคน   ในลักษณะที่ถึงตอนนั้น ก็จะไม่มีใครนึกถึงผม

          ในช่วงที่ผมทำงานอยู่ที่หาดใหญ่ ผมวิ่งออกกำลังผ่านเขื่อนใน มอ. หาดใหญ่ เกือบทุกเช้า   ผมมองหินที่เขานำมาถมเป็นเขื่อนกั้นน้ำ และบอกตัวเองว่า ผมคือหินก้อนล่างๆ ของเขื่อนนั้น หากคิดเปรียบเทียบว่า มอ. คือเขื่อน   และหินก้อนล่างๆ ย่อมไม่มีคนคิดถึงหรือรู้จัก

          ด้วยวิธีคิดข้างต้น ทำให้ผมพัฒนาทฤษฎีเงา ขึ้นมาใช้กับตนเอง คือมองว่าคนทั่วไปทำงานอยู่ใน "เงามืด" คือทำเฉพาะหน้าที่โดยตรงของตน หรือของหน่วยงานตน   แต่ผมจะทำในส่วนของ “เงามัว” คืองานส่วนที่คนทั่วไปไม่คิดว่าเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตน   แต่ผมคิดว่าเกี่ยว เพราะมันจะช่วยให้งานในส่วน “เงามืด” มันได้ผลในลักษณะ “ดีอย่างไม่น่าเชื่อ”

        ชีวิตของผมทุกช่วงจึงเป็นชีวิตที่ทำงานทั้งใน “เงามืด” และ “เงามัว”   ทำไปนานๆ เข้า ก็จะมีแรงผลักดันให้ “เงามัว” กลายเป็นอีก “เงามืด” หนึ่งของผม   ชีวิตของผมจึงเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ   กลายเป็นคนที่ทำงานอยู่ในหลายภาคส่วน   ซึ่งมองในมุมหนึ่ง เป็นชีวิตการทำงานที่ทำไม่เก่งสักอย่าง   ไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเลย   แต่ทำได้หลายอย่าง   คล้ายๆ เป็นเป็ด หรือ generalist

         ผมตีความว่า การเข้าไปทำงานอยู่ใน “เงามัว” เป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่อยากเข้าไป   เพราะเป็นดินแดนที่ไม่คุ้นเคย  ไม่รู้จัก ไม่สบายใจที่จะเข้าไปอยู่   แต่ผมชอบ เพราะอยากเรียนรู้   และเมื่อเรียนรู้มากเข้าก็หาทางเอามาใช้ประโยชน์พบ   สามารถทำงานแนวใหม่ได้   แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ก็ทำให้เป็นที่เชื่อถือ   ซึ่งสำหรับผม ในหลายๆกรณีเป็นการยกย่องเกินจริง

          และผมต้องคอยบอกตัวเองอยู่เสมอว่า อย่าไปเชื่อตามที่คนเขามายกย่อง   เราต้องรู้จักประมาณตนเอง ว่าอะไรที่เราถนัดหรือพอจะขวนขวายทำได้   อะไรที่เกินกำลัง ไปรับทำเข้าจะเสียงาน   คือไม่ใช่เข้า “เงามัว” เปรอะไปหมด   ผมมักบอกคนใกล้ชิด ว่าผมตีตนเป็นคนโง่มาตลอดชีวิต   ความฉลาดของผมมีอยู่อย่างเดียว คือพอจะรู้ว่าตนเองทำอะไรไม่ได้

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ พ.ย. ๕๓

หมายเลขบันทึก: 416961เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2010 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ท่านอาจารย์เป็นบุคคลตัวอย่าง ที่อยู่ในใจของเราเสมอค่ะ

ในปีใหม่นี้..ขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรง ตลอดไปค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท