การวัดผลการเรียนระดับประถมและมัธยมของเด็กไทย ควรจะเปลี่ยนวิธีได้หรือยัง


เราจะเริ่มกันที่ไหนดี จึงจะมีผลภาคปฎิบัติ ก่อนที่เราจะสูญเสียไปมากกว่านี้

วันนี้ได้ไปร่วมการประชุมสามัญประจำปีของโรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์ นอกจากการฟังการรายงานการดำเนินการของโรงเรียน และการบรรยายถึงการช่วยลูกวัยรุ่นในเรื่องการเรียนแล้ว พวกเราพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไปเพื่อรับผลการสอบกลางภาคของลูกหลานด้วย เห็นวิธีบอกผลการสอบและผลสอบแล้วสงสารเด็กไทยส่วนใหญ่ค่ะ

ระบบการวัดผลของเราเท่าที่เห็น แปลกใจว่าทำไมคุณครูออกข้อสอบยังไง เด็กส่วนมากจะทำได้เกินครึ่งมานิดเดียว (ดูจากค่า mean ที่ให้มา) เด็กๆ(รวมทั้งพ่อแม่ด้วย) ก็เลยจะเอาคะแนนของลูกมาเทียบกันและกันมากกว่าเทียบว่า ลูกทำได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน เรียนรู้ได้ตรงตามที่ควรจะเป็นหรือเปล่า ไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์ของการสอบคือการวัดอะไรกันแน่ ผลน่าจะทำให้เด็กเครียดมากกว่าว่า ทำข้อสอบได้ถูกน้อย นี่ขนาดไม่ต้องคิดถึงการเทียบกับเด็กคนอื่นๆ

สำหรับตัวเองอยากรู้ว่า ลูกรู้ไหมว่าทำไมจึงทำไม่ได้ ทำไมเพื่อนที่ทำได้ดีถึงทำได้ มีคนทำไม่ได้ มากไหม และทำไมเขาจึงทำไม่ได้ (คุณครูมีคะแนนสูงสุด ต่ำสุดโชว์ด้วย) คุณครูและเพื่อนๆจะช่วยคนที่ได้คะแนนน้อยๆอย่างไร เด็กกลุ่มนี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ ไปยิ่งซ้ำเติมต่อว่า คิดดูแล้วกันค่ะว่า เราทำร้ายเด็กกันขนาดไหน ขนาดเจ้าตัวโตไม่ค่อยเครียดเรื่องสอบมากนักเราก็ยังรู้สึกได้ถึงความต้องการแข่งขันกับเพื่อน มากกว่าจะคิดว่าตัวเองรู้อะไร ไม่รู้อะไร ดีที่เขาเข้าใจตัวเองและรู้ว่าที่ทำไม่ได้เพราะอะไร และเราพ่อแม่ไม่ว่าอะไรเลย ได้ยังไงก็ได้ เราต้องเตือนเขาว่า แล้วลูกคิดจะช่วยเพื่อนที่ตั้งใจแล้วแต่ก็ยังทำได้ไม่ดี อย่างไร  

พวกเรา (ลูกชายทั้ง 3 คน) มาจากการเรียนในระบบที่ไม่มีการสอบแข่งขันกันเองเลย มีแต่สอบเพื่อวัดผลการเรียนเทียบกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตร เป็นเวลา 6 ปี กลับมาเรียนในระบบที่มีการสอบวัดผลเทียบกับนักเรียนคนอื่นๆแล้ว คุณแม่อย่างเราเห็นผลเสียของการสอบแบบนี้อย่างชัดเจนมาก ทำให้ลูกพยายามใช้สมองคิดให้น้อยลง จำให้มากขึ้น จึงอยากจะขอคุยให้ช่วยกันเปรียบเทียบดูนะคะ ว่าถึงเวลาที่เราควรจะลงมือช่วยเด็กไทยของเรากันหรือยัง และอย่างไรดี

ที่ออสเตรเลีย เขาวัดผลของเด็กโดยใช้วิธีตั้งเกณฑ์ไว้เลยว่า เด็กชั้นเรียนนี้ควรรู้เรื่องอะไรบ้าง แล้วการวัดผลก็ใช้วิธีเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆว่าเด็กทำได้ตามนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็หาวิธีช่วยการเรียนรู้ หรือหาสาเหตุว่าทำไมไม่ได้ คนไหนที่ทำได้เกินระดับชั้นตัวเอง ก็ให้งานระดับที่สูงขึ้นไปได้เลยเรื่อยๆ ไม่มีการจัดลำดับที่ในห้อง เด็กแข่งกับตัวเอง คือรู้ว่าปีนี้ควรจะทำอะไรได้ เทอมนี้ทำได้เท่านี้ เทอมหน้าจะต้องทำให้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม การสอบจัดลำดับจะมีการจัดทำโดยมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ให้ข้อสอบมาทางโรงเรียน ใครอยากสอบก็ต้องจ่ายเงิน จะได้รู้คะแนนตัวเองเทียบกับเด็กทั้งประเทศ เค้าจะมีผลให้โดยละเอียด รู้ว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่ตรงไหน mean ของทั้งประเทศอยู่ที่ไหน คะแนนของเราได้เท่าไหร่ อยู่ตรงไหน มีละเอียดกระทั่งว่าข้อสอบแต่ละข้อ วัดอะไร เด็กตอบว่าอย่างไร คนส่วนใหญ่ตอบว่าอย่างไร เป็นข้อสอบระดับยากหรือง่าย ดังตัวอย่างนี้แหละค่ะ   



เด็กก็จะเรียนอย่างมีความสุข ไม่ต้องแข่งกับเพื่อนเลย แต่เขาจะรู้กันว่าคนนี้เก่งคิดเลข คนนี้เก่งการทดลอง คนนี้เก่งดนตรี วาดรูป ใครชอบทางไหนก็ไปทางนั้น อะไรที่ทำไม่ได้คุณครูก็พยายามหาทางช่วย

ทั้ง 3 หนุ่มน้อยกลับมาเข้าสู่ระบบสอบ น้องฟุงเป็นคนชอบสอบ สนุกกับการสอบ ดูเหมือนเขาจะจับจุดวิธีการสอบเมืองไทยได้แล้ว ว่าจำโน่นจำนี่ จำข้อสอบเก่าๆด้วยยิ่งดี เพราะมีบ่อยๆที่เหมือนเดิม ได้คะแนนดีแน่นอน เห็นได้ชัดว่าเขาเริ่มชินกับวิธีที่คุณครูบอกว่า ต้องตอบอย่างนี้ ทั้งๆที่ไม่มีเหตุผลอธิบาย บางครั้งเขาคิดแตกต่าง เขาก็ไม่ต้องแสดงความคิดเล้ว แค่จำว่าตอบอย่างนี้ก็พอ เวลาฟังลูกเล่าแล้วบางทีก็ทำให้รู้ได้เหมือนกันว่า ทำไมเด็กไทยจึงไม่ช่างคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ เพราะเมื่อเขาเริ่มจะคิดอะไรที่แตกต่าง ก็ได้รับการบอกให้จำไปเลย ง่ายดี อะไรๆก็แค่จำ

เราทำลายความภูมิใจในตัวเองของเด็กจำนวนมากด้วยระบบการสอบที่เราทำอยู่ เราทำลายความสุขกับการเรียนที่เด็กๆควรจะมี เราจะมีเด็กจำนวนมากที่คงจะคิดว่า ทำยังไงก็คงสอบให้ดีกว่าที่ 10 ไม่ได้ เพราะคนที่เค้าเก่งๆกว่ามีตั้งเยอะ จะตั้งใจไปทำไม สอบได้คะแนนดีกว่าคราวที่แล้ว แต่ได้ที่ท้ายๆของห้องอยู่ดี ก็ไม่เห็นมีคนสนใจชม เราทำร้ายเด็กส่วนใหญ่ของเรากันขนาดนี้ แล้วเราจะคาดหวังให้เด็กรักการเรียนที่ต้องแข่งกับคนอื่นๆอย่างนี้ได้อย่างไร เราให้กำลังใจเด็กๆให้ถ้วนทั่วหรือเปล่า ลูกเราเรียนดี ได้ที่ดี แต่เด็กที่เหลืออีกครึ่งค่อน เราไม่ได้ส่งเสริมพลังความสามารถที่เขามี เพียงเพราะเรามัวแต่ให้รางวัลคนที่เรียนดี ได้คะแนนดีกันเท่านั้น

เมื่อไหร่เราจะสร้างระบบให้กำลังใจเด็กให้เขาแข่งกับตัวเอง ให้เขารู้เป้าหมาย แล้วไปให้ถึงโดยแข่งกับตัวเอง โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูและเพื่อนๆ ไม่ใช่การแข่งขันกันเอง

หมายเลขบันทึก: 41574เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2006 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
"ระบบให้กำลังใจเด็กให้เขาแข่งกับตัวเอง" เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เสียงกู่จากคุณครูโอ๋จะดังไปถึงใครบ้างหนอ ต้องแก้ที่ระบบครับ ผมบอกลูกเสมอว่าไม่ต้องไปแข่งกับใคร ให้แข่งกับตัวเอง ได้เท่าไรพ่อภูมิใจในตัวลูกเสมอครับ

ดิฉันก็เห็นด้วยกับคุณโอ๋  กับการเรียนแข่งขันกับตัวเอง นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข  ไม่มีการแสดงความเห็นแก่ตัว  ดิฉันคงจะช่วยอะไรคุณโอ๋ไม่ได้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลง  แต่ดิฉันจะสอนและย้ำบอกกับนักเรียนของดิฉันว่า  ตนแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน  จูงมือเพื่อนบ้างในเมื่อตัวถึงฝั่งและมีโอกาส

คุณโอ๋มักมีความคิดที่ดีทุกครั้งในการเขียนบล็อก  ขอส่งกำลังใจมาช่วยค่ะ

พี่โอ๋

เขียนบันทึกนี้ได้ตรงใจ ละเอียด และสะกิดให้ชวนมองได้ดี การแข่งขันทำให้ประสิทธิภาพของสมองเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน

เพราะมุ่งแต่เพียงการจำแต่เรื่องเดียว ข้อสอบส่วนใหญ่ก็เปฌนข้อสอบประเภทนี้ด้วย เพราะวัดผลง่ายเป็นปริมาณ

หากแต่เป็นข้อสอบที่ใช้ความคิดสรา้งสรรค์ ให้เด็กคิดจะไม่มี

ระบบที่ออสเตรเลีย น่าสนใจมากนะครับ... 

ผมคาดหวังให้เีราเรียนแบบมีความสุข เรียนด้วย ความรู้สึกอยากจะเรียน เป็นบรรยากาศที่เด็กต้องการเรียนรู้อย่างแท้จริง...การเรียนจึงจะเกิดขึ้นได้

เก่ง ดี และมีความสุข...จะไม่เกิดเลย  หากเรายังคิดแบบนี้กันอยู่

หลายครั้งว่าเราจะพบ คนที่เรียนเก่ง IQ สูงแต่ EQ  ไม่ดี และนับวันจะมากขึ้น...

ผมไม่อยากได้สังคมที่มีแต่คนเก่ง แต่เอาเปรียบ ...บ้านเมืองถึงได้วุ่นวาย ถึงทุกวันนี้ไงครับ 

เหมือนถอดหัวใจผมเขียนเลยล่ะครับ คุณ โอ๋-อโณ
 ... ผลจากการปฏิบัติผิดลู่ ผิดธรรมชาติ อย่างที่เขียนบอกมา ก่อให้เกิดผลเสียมากมาย เช่น :-

  • เรียนรู้อย่างไร้ความหมาย
  • เรียนรู้ด้วยความเบื่อหน่าย + ความทุกข์
  • เรียนเพื่อทำคะแนน ความรู้ไม่สำคัญเท่าคะแนน
  • ไม่ต้องคิดว่าจะเอาความรู้ไปทำอะไร
  • หลายเรื่องที่เรียนไม่ควรเสียเวลามาเรียน
  • การแข่งขันกันเพื่อการเป็น "ผู้ชนะ" เป็นการส่งเสริมให้เบียดเบียนกัน และให้เห็นแก่ตัวมากขึ้น
  • กัลยาณมิตร และ พรหมวิหาร ๔ เกิดได้ยากมากเพราะในใจผู้เรียนมี "กูต้องเก่งกว่ามึง"
  •   ฯลฯ

        ผมเคยร่วมทีมทำวิจัยเพื่อแสวงหา กระบวนการเรียนรู้ที่ดี โดยยึดในหลวงเป็นตัวแบบ ศึกษาทั้ง พระราชดำรัส พระราชจริยาวัตร พระราชดำริ พระราชนิพนธ์ แล้วสกัดเป็นแก่นได้ 4 ขั้นตอนคือ

  • มุ่งมั่นด้วยศรัทธา
  • ใฝ่หาความรู้คู่คุณธรรม
  • นำไปใช้อย่างฉลาด
  • ไม่ประมาท หมั่นตรวจสอบ - พัฒนา

    วิจัยเอกสารแล้วยังได้มีโอกาสนำไปทดลอง ก็ได้ผลดีน่าพอใจครับ จัดกระบวนการเรียนรู้แบบ "ฉลาดรู้" เห็นการเรียนแบบช่วยเหลือกันเพื่อให้ทุกคนก้าวไปสู่ "ศักยภาพสูงสุดของตนเอง" โดยไม่ต้องเบียดเบียนกัน .. เลยทำให้อดไม่ได้ต้องเขียนกลอนให้เขาอ่านบนจอ เพื่อเสริมกำลังใจว่าเรามาถูกทางแล้ว ..

             ร่วมแรง ร่วมใจ ไม่แข่งขัน
          ช่วยเหลือ แบ่งปัน ดีกว่า
          เป้าหมาย แน่ชัด คือพัฒนา
          ทุกคนให้ ดีกว่า ... เมื่อวาน !

      จำได้มั้ยครับ เคยลงไว้ในบันทึกเรื่อง .. ใช้บทกลอนประกอบการสอนอิเล็กทรอนิกส์

แถมอีกนิดครับ ... 

พระบรมราโชวาท เมื่อ 22 มิย. 2524

       " ... การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่าต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ ความฉลาดรู้ ” คือ รู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ ไม่เป็นพิษและโทษ… "

ขอบคุณสำหรับการต่อยอดจากทุกท่านนะคะ เราคงต้องช่วยๆกันกระจายแนวคิดนี้ให้ออกไปยังคุณครูทั้งหลาย ตัวเองก็พยายามทั้งต่อคุณครูที่ได้มีโอกาสพูดคุยและเพื่อนๆพ่อแม่ ถ้าคุณครูอย่างคุณครูสิริพร เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆก็คาดหวังได้ว่า เราจะมีเด็กที่ได้เรียนรู้ที่จะภูมิใจในตัวเองและรักที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นไปด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้ามีโอกาสได้พูดคุยกับลูกหรือเพื่อนๆลูก ก็จะแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยค่ะ ให้เขารู้ว่าการเรียนรู้ไม่ได้วัดด้วยคะแนนสอบอย่างเดียว การสอนคนอื่นและการฟังคนอื่นสอนก็เป็นการเรียนรู้ที่ดี เรายิ่งแบ่ง เรายิ่งได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท