ชีวิตและงานแพทย์ชนบท: ผลเกื้อกูลจากกิจกรรมนักศึกษา


โชคดีที่ได้เรียนในโรงเรียนที่มีครูดีๆแม้จะเป็นโรงเรียนเล็กๆในหมู่บ้านและในอำเภอ โชคดีที่ได้เรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยแพทย์ที่มีครูแพทย์ดีๆที่สอนผมทั้งวิชาชีพแพทย์ละวิชาชีวิต โชคดีที่ได้ทำงานในโรงพยาบาลดีๆแม้จะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆแต่ก็มากไปด้วยน้ำใจและมิตรไมตรีของผู้ร่วมงานที่มีต่อกัน

ชีวิตและงานแพทย์ชนบท: ผลเกื้อกูลจากกิจกรรมนักศึกษา
                เมื่อ 13 ตุลาคม 2547 ผมได้รับเกียรติจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปบรรยายให้กับนักศึกษาแพทย์และผู้สนใจฟังในหัวข้อประสบการณ์ชีวิตแพทย์ชนบทดีเด่น ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษารุ่นน้องได้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตครอบครัว ชีวิตการงานและชีวิตในสังคมโดยผมได้พิจารณาใน 3 ส่วนสำคัญคือชีวิตส่วนตัว  ชีวิตนักศึกษาแพทย์และชีวิตแพทย์ชนบท พระพุทธเจ้าตรัสว่าโลกเรามีอยู่ 3 วันคือวันวาน  วันนี้และวันพรุ่งนี้ ถ้าไม่รู้จักวันวาน  จะไม่รู้จักวันนี้และจะมองไม่ออกว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมจะนำเสนอจะได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอดีต สู่ปัจจุบันและจะนำสู่อนาคตอย่างไรบ้าง  ผมเกิดมาโชคดีแม้จะเกิดมาในครอบครัวชาวไร่ที่ยากจนทรัพย์สินเงินทอง แต่ก็ร่ำรวยไปด้วยความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่และเครือญาติที่เพรียบพร้อมไปทั้งปู่ยาตายาย ลุงป้าน้าอา พี่น้อง เพื่อนบ้าน  โชคดีที่ได้เรียนในโรงเรียนที่มีครูดีๆแม้จะเป็นโรงเรียนเล็กๆในหมู่บ้านและในอำเภอ  โชคดีที่ได้เรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยแพทย์ที่มีครูแพทย์ดีๆที่สอนผมทั้งวิชาชีพแพทย์ละวิชาชีวิต  โชคดีที่ได้ทำงานในโรงพยาบาลดีๆแม้จะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆแต่ก็มากไปด้วยน้ำใจและมิตรไมตรีของผู้ร่วมงานที่มีต่อกัน และโชคดีที่ได้คู่ครองที่ดีที่ช่วยกันสร้างครอบครัวอย่างอบอุ่นและอยู่กันอย่างมีความสุขตามอัตภาพ เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อที่ทำให้ผมไม่ต้องดิ้นรนหาเงินหาทองอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อมารองรับกับความต้องการของคนในครอบครัว สิ่งเหล่านี้คือทุนทางสังคมที่มีค่าที่ช่วยให้ผมสามารถทำงานอยู่ในชนบทได้อย่างมีความสุข  ครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมแต่มีความสำคัญที่สุดในโลก ในทุกๆวันของชีวิตผมจึงได้ให้ความสำคัญกับครอบครัว กับคุณแม่ กับภรรยาและกับลูกๆ ในวันหยุดเราจะไปทำบุญไหว้พระที่วัดกัน พาเด็กๆไปร้านหนังสือ พาไปดูทุ่งนาและวัวควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้  ให้ลูกเรียนหนังสือใกล้ๆบ้าน  สอนให้เขาเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบๆตัว และมีกิจกรรมที่ทำให้เราใกล้ชิดกันเสมอเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและหวังว่าในอนาคตลูกๆจะได้ไม่เป็นปัญหาของสังคม
                ในวัยเรียนผมเป็นคนเรียนได้ที่ 1 มาตลอดตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา นั่งนึกย้อนถึงตัวเองตอนนั้นเราเหมือนจะรู้สึกภูมิใจกับความเก่งของเราแต่เป็นความภูมิใจสุขใจเพียงชั่วขณะแล้วก็ทุกข์ยาวนานกว่าเพราะกลัวคนอื่นจะเก่งกว่า กลัวแพ้ กลัวเสียหน้าสารพัด เพราะฉะนั้นชีวิตเด็กเรียนเก่งจึงมีความเครียดสูงและพาลจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวได้ง่ายๆและสนใจแต่เรื่องเรียนมากกว่าการเรียนรู้เรื่องรอบๆตัวจนอาจกลายเป็นคนที่มีIQสูงแต่EQต่ำได้ง่าย  ช่วงม.4 ได้มีเหตุการณ์ที่คนรู้จักใกล้ชิดป่วยเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุอีกทั้งเวลาเจ็บป่วยคนในหมู่บ้านจะไปรักษาที่โรงพยาบาลลำบากและเมื่อไปแล้วก็มักจะกลัวไม่กล้าถามหมอว่าเป็นอะไร ทำให้คิดว่าเราจะเป็นหมอและจะเป็นหมอบ้านนอกที่จะพยายามทำให้คนจนเข้าถึงบริการที่ดีให้ได้และผมก็สามารถสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ถึง 2 แห่งคือที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่ผมก็ได้เลือกเรียนที่เชียงใหม่เพราะความคุ้นเคยกับต่างจังหวัดมากกว่าชีวิตในกรุงเทพฯ ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนเทอมแรกของการเป็นนักศึกษาแพทย์ก็ได้เกรดเฉลี่ยค่อนข้างสูงเมื่อได้อ่านพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดาที่ว่า “ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นหมอเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย” อีกทั้งได้อ่านบทประพันธ์ของวิทยากร เชียงกูลที่ว่า
                ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง                        ฉันจึง มาหา ความหมาย
                ฉันหวัง เก็บอะไรไปมากมาย                   สุดท้าย ได้กระดาษ แค่ แผ่นเดียว” 
ทำให้ผมได้คิดว่าถ้าผมเอาแต่เรียนหนังสือผมก็คงรู้หนังสืออย่างเดียวแล้วผมจะรู้จักชีวิตได้อย่างไร  ถ้าผมเรียนวิชาแพทย์อย่างเดียวผมก็จะรู้แต่เรื่องโรคแต่ไม่รู้เรื่องคน  และคิดว่าความรู้เรื่องแพทย์ทำให้ผมเป็นแพทย์เต็มตัว  การเรียนรู้กิจกรรมในชนบททำให้ผมเป็นคนเต็มคน  จากนั้นผมก็ให้ความสนใจกับการทำกิจกรรมนักศึกษาเป็นอย่างมากโดยจะต้องพยายามไม่ให้เสียการเรียน เมื่อคณะและมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมอะไรก็ตามผมจะเข้าร่วมเสมอทำให้ผมได้รู้จักคนมากหลากหลายคณะหลายความคิด ต่างสาขา ต่างวัย ต่างประสบการณ์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้ทำงานร่วมกับคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง  ท่ามกลางการทำงานที่แตกต่างทางความคิด แต่ไม่แตกแยกและพยายามหาความเห็นร่วมอย่างเหมาะสมเพราะชีวิตนักศึกษามักไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงมาเกี่ยวข้อง  ในช่วงปิดเทอมก็จะออกไปเรียนรู้ชีวิตแพทย์ในชนบทโดยออกไปดูงานตามโรงพยาบาลในอำเภอเพื่อจะได้รู้ว่าเมื่อเรียนจบออกไปทำงานจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ได้เห็นชีวิตการทำงานของพี่ๆวิชาชีพต่างๆที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนนอกจากนี้กิจกรรมหลักๆที่ได้เข้าร่วมอย่างจริงจังก็มีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกันคือด้านกีฬา  ด้านการแสดงและกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท  ในด้านกีฬาจะเป็นนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งรักบี้ฟุตบอล กรีฑา ว่ายน้ำ โปโลน้ำ ซึ่งกีฬาทำให้เป็นคนกล้าแสดงออก เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น รู้จักทำงานเป็นทีม  รู้จักวางแผนเตรียมการ  กีฬาแต่ละประเภทจะให้บทเรียนที่แตกต่างกันไปนอกเหนือจากความแข็งแรงทางร่างกายและจิตใจแล้ว กีฬารักบี้ฟุตบอล สอนให้เป็นคนอดทน  ขยันฝึกซ้อมสม่ำเสมอเพราะอาจบาดเจ็บได้ถ้าร่างกายไม่พร้อมจึงทำให้เราไม่ประมาท  มีจิตใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย รู้จักรักษากฎกติกามารยาทเพราะถ้าเล่นผิดกติกาอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองและคู่แข่งขันได้สมกับที่ว่ากีฬารักบี้ฟุตบอลเป็นกีฬากุ๊ยที่ผู้ดีเล่น  กีฬาว่ายน้ำและกรีฑา สอนให้มีความมุ่งมั่น ขยันมานะอดทน ต้องเอาชนะใจตนเองและต้องแข่งกับเวลา แข่งกับตนเอง ทำให้ใจนิ่ง  ส่วนของโปโลน้ำก็คล้ายรักบี้ฟุตบอลคือต้องแข็งแรง อดทน และทำงานเป็นทีม และเมื่อจบไปทำงานในโรงพยาบาลอำเภอก็ได้เล่นกีฬาที่ชื่นชอบอีก 2 ประเภทคือบาสเกตบอลและวอลเลย์บอล โดยบาสเกตบอลจะสอนให้เราทำงานเป็นทีม  รู้จักใช้จังหวะโอกาสที่เหมาะสม การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ฉับไว กล้าตัดสินใจ คล่องแคล่วว่องไว  ขณะที่วอลเลย์บอลจะเน้นอย่างมากในเรื่องของทีมงาน คนเก่งคนเดียวในทีมเอาชนะคู่ต่อสู้ไม่ได้ต้องอาศัยคนอื่นๆในทีมช่วยจึงจะทำแต้มได้ สอนให้รู้จักการมองผลงานของส่วนรวมมากกว่าความเด่นดังเฉพาะตัว  จะเห็นว่าเราสามารถเรียนรู้และได้ประโยชน์แง่คิดจากกีฬาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างมากมาย   ในด้านการแสดง ได้มีโอกาสแสดงละครเวทีในหอประชุมใหญ่ของคณะแพทย์ 2 ครั้ง  แสดงลิเกในกิจกรรมรับน้อง 2 ครั้ง ได้แสดงและกำกับละครทีวีเนื่องในวันมหิดลฉายทางช่อง 11 จำนวน 2 ครั้ง ในฐานะที่เป็นผู้แสดงต้องฟังผู้กำกับและต้องแสดงในบทที่เรารับมอบหมายให้ดีที่สุด แนบเนียนที่สุด เป็นอะไรก็ให้แสดงบทตามนั้น รู้จักแสดงสีหน้าและอารมณ์ให้เข้ากับสถานการณ์ขณะนั้น  รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง บางครั้งเราอยากแสดงเป็นตัวละครตัวหนึ่งแต่ในสายตาผู้กำกับมอบบทของตัวละครอีกตัวหนึ่งเราก็ต้องยอมรับและทำตามบทที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด เหมือนกับชีวิตจริงเมื่อเราทำงานในตำแหน่งใดเราก็ต้องทำหน้าที่ของตำแหน่งนั้นให้ดีที่สุด ไม่ใช่ไปทำหน้าที่ของคนอื่น ในฐานะผู้กำกับก็ต้องรู้จักวางแผนการทำงาน รู้จักวิเคราะห์สถานการณ์แวดล้อม รู้จักประเมินบุคคล รู้จักผู้ร่วมงานว่าใครควรเล่นบทอะไรจะได้มอบหมายบทให้ถูกกับคนและต้องคอยกระตุ้นให้กำลังใจให้เขาสามารถแสดงบทบาทของเขาได้อย่างเต็มที่โดยมีเราเป็นผู้เอื้ออำนวยให้ เพื่อภาพรวมของละครจะได้ออกมาดีที่สุด  กิจกรรมค่ายอาสา ถือเป็นกิจกรรมหลักที่ให้หลายสิ่งหลายอย่างแก่ชีวิต ค่ายที่ทำเรียกว่าโครงการพัฒนาอนามัยและชนบท(พอช) เป็นค่ายของนักศึกษา 5 คณะสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปัจจุบันทราบว่าเปลี่ยนเป็น 6 คณะและเปิดกว้างให้ทุกคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมได้ ริเริ่มครั้งแรกตั้งแต่สมัยศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม  วัฒนชัย องคมนตรี(อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 4)เป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งกิจกรรมที่ทำแทบจะจำลองชีวิตการทำงานในชนบทออกมาเลยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกหมู่บ้านที่จะทำค่าย มีการกำหนดกฎเกณฑ์ มีการออกสำรวจข้อมูลจริงในพื้นที่ การขอข้อมูลจากส่วนราชการต่างๆในพื้นที่ ประชุมกลุ่มคัดเลือกหมู่บ้าน ออกสำรวจปัญหาหมู่บ้านที่คัดเลือกแล้ว จัดทำโครงการของบประมาณสนับสนุน  การ defend งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารจัดการในขณะออกค่ายอาสา ซึ่งใน 1 ปีจะออกค่ายประมาณ 3-5 ครั้งในช่วงวันหยุดยาวหรือปิดเทอม งานมีทั้งด้านสาธารณสุข ด้านศึกษา ด้านโยธาและด้านสร้างสัมพันธ์กับชาวบ้าน จากประสบการณ์ในการทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ช่วยหล่อหลอมประสบการณ์ให้มีความมั่นใจที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์ในชนบท  มีบทเพลงหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินจากการร้องเพลงเชียร์ตั้งแต่สมัยปี 1 ปี 2 ซึ่งมีเนื้อหาที่ทำให้พวกเรานักศึกษาแพทย์ทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะออกไปเป็นแพทย์ที่ดีของประชาชน  นั่นคือเพลงเทียน ซึ่งมีเนื้อหาที่ยังคงก้องอยู่ในใจว่า
“จากวันนั้นเพื่อนขวัญเคยร่วมกันขับขาน ร่วมจิตใจ สู่วันนี้พี่น้องจำจากไกล ฝากใจถึงทุกคน ด้วยความรักเปี่ยมล้นบนเส้นทางสว่างไสวในศรัทธา ร่วมกันสร้างพรุ่งนี้ของประชาที่สดใส ให้เป็นจริง 
            ชีวิตเธอมีคุณค่ามวลประชาเฝ้ารออยู่  รอเธอเป็นผู้ก้าวไป ดังมวลไม้ที่งอกงามยามถึงคราชูช่อใบ ไปเถิดจงไปทั่วแดน  อยากให้เธอเป็นเทียนเล่มน้อยที่ส่องแสง สู่หน  ทางมืดมน  เทียนสว่างไสวอยู่ในใจผู้คน ตราบจน นิรันดร
                ในความเห็นและประสบการณ์คิดว่าการเป็นแพทย์ในชนบทต้องมีบทบาทสำคัญ 5 ด้านคือ
1.       เป็นหมอ ต้องเป็นหมอทั่วไปที่ดูแลรักษาได้ทุกด้าน รู้ว่าโรคไหนต้องรักษาอย่างไร รักษาที่ไหน ที่สำคัญต้องรู้ตัวเองว่าโรคไหนต้องส่งต่อ โรคไหนรักษาได้โดยยึดถือความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เป็นหมอที่มองกว้างมองให้ไกลกว่าโรงพยาบาลมองไปถึงครอบครัว ชุมชนของผู้ป่วย ทำภารกิจให้ครบทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพ
2.       เป็นครู ต้องสอนหรือแนะนำคนอื่นได้ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆได้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายเพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยเฉพาะในการดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วย

อ่านฉบับเต็มได้ใน www.bantakhospital.com ใน บทความครับ

หมายเลขบันทึก: 4156เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2005 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท