ลมชัก


โรคลมชัก

                                      http://www.thaiepilepsy.org/index_.php

รู้จักโรคลมชัก > คำแนะนำจากแพทย์

คำแนะนำจากแพทย์

การเป็นโรคลมชักไม่ใช่เรื่องสนุกแต่ก็มิใช่จุดจบของโลก

บุคคลผู้มีชื่อเสียงที่พลิกประวัติศาสตร์โลกหลายคน ก็เป็นโรคลมชัก อาทิ นักรบผู้ยิ่งใหญ่จูเลียส ซีซาส์ และพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นต้น พวกเขาสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ในสมัยนั้นไม่มียาที่ทันสมัย

แต่ด้วยความเจริญทางการแพทย์ในปัจจุบัน บุคคลที่เป็นโรคลมชักสามารถมีการศึกษาที่ดี มีงานดีดีทำ และมีชีวิตที่ดีเหมือนคนทั่วไป… โอกาสดีๆ ซึ่งคุณเองก็สามารถมีได้

 

โรคลมชักคืออะไร และลักษณะอาการชัก

          เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับโรคลมชัก ให้คิดว่าสมองของเราเป็นเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ มีเซลส์สมองซึ่งเชื่อมโยงติดต่อกันเหมือนวงจรไฟฟ้า ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างสมบูรณ์ แต่บางทีการ ทำงานของเซลส์สมองก็ผิดปรกติ มีผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่รุนแรงขึ้น จนเกิดเป็นอาการชักให้เห็นออกมาทาง ร่างกาย

          อาการชัก เกิดเมื่อสมองได้รับผลกระทบจากกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น อย่างรวดเร็ว และรุนแรงอย่าง ผิดปรกติ นั้น อาการที่เกิดแต่ละครั้งนั้น เราเรียกว่า "อาการชัก" แต่หากอาการชักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในคนหนึ่ง ๆ เราเรียกว่าเขาเป็น"โรคลมชัก"

          ถ้ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น รบกวนสมองเป็นบางส่วน เราเรียกว่า "อาการชักเฉพาะส่วน" (Partial Seizure)ที่พบกันบ่อยที่สุด ได้แก่ อาการชักแบบทำอะไรไม่รู้ตัว หรือ อาการลมชะงัก (Complex Partial Seizure) คนที่ชักแบบนี้ อาจจะรู้สึกวิงเวียนศีรษะ สับสน เห็นภาพหลอน หรือหูแว่ว จากนั้นผู้ป่วยอาจคลำตามเสื้อผ้า เคลื่อนไหวแขนขาอย่างไร้จุดหมายอย่างไม่รู้ตัว โดยไม่รับรู้สิ่งรอบข้าง และเมื่อหายแล้ว เขาจะจำเหตุการณ์ ระหว่างนั้นไม่ได้ บ่อยครั้งอาการชักแบบนี้ จึงถูกเข้าใจผิดว่าเกิดจากอาการทางจิตหรือ ทางไสยศาสตร์ อะไร สักอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่

           อีกรูปแบบหนึ่งของอาการชักเฉพาะส่วน ผู้ป่วยจะยังรู้สึกตัวดี เรียกว่า อาการชักเฉพาะที่ (Simple Partial Seizure) กระแสไฟฟ้าที่ผิดปรกติอาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อสักแห่งหนึ่งของร่างกาย เป็นต้นว่า แขนขวา ในระหว่างการชัก แขนข้างขวาก็อาจจะแข็งเกร็งหรือกระตุก หรือเคลื่อนไหวอย่างไม่สามารถควบคุมได้ โดยที่กล้ามเนื้อส่วนอื่นจะอยู่เป็นปรกติ บางครั้งกระแสไฟฟ้าก็รบกวนสมองส่วนที่ควบคุม หน้าที่หลัก ของการ ดำรงชีพ ซึ่งทำงานอยู่เป็นอัตโนมัติ ผลก็คือผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้องจากการทำงาน ของระบบทาง เดินอาหารที่มากเกินไป หรือมีหัวใจเต้นผิดปรกติในขณะชัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าส่วนใดของสมองถูกรบกวน

          ถ้าหากกระแสไฟฟ้าที่ผิดปรกติรบกวนการทำงานของสมองทั้งหมด ก็จะเกิดอาการชักที่เรียกว่า "อาการชักทั่วทุกส่วน" (Generalized Seizure) ชนิดที่พบกันบ่อย ๆ และรู้จักกันดีก็คือ อาการชักแบบเกร็ง กระตุกทั้งตัว หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า "ลมบ้าหมู" ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม อาการชักชนิดนี้เป็นสิ่งที่ คนส่วนมากรู้จักเมื่อพูดถึงโรคลมชัก

          คนที่เป็นลมบ้าหมูจะสูญเสียการรู้สึกตัวทันทีและล้มลง กล้ามเนื้อจะแข็งเกร็งทั่วทั้งตัว จากนั้นจะเริ่มกระตุก ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 นาที แต่คนส่วนมากจะรู้สึกว่ามันนานเหลือเกิน หลังจากนั้นก็จะหยุด ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยก็จะฟื้นและกลับมาทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ต่อไป หลังจากได้พักสักระยะหนึ่ง

          อีกแบบหนึ่งของอาการชักทั่วทุกส่วน ก็คือที่เรียกว่า อาการชักแบบเหม่อนิ่ง (Absence Seizure) อาการชัก ชนิดนี้ เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นมากจนแทบไม่เป็นที่สังเกต ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้า อย่างไร้จุดหมาย เป็นระยะ เวลาสั้นๆ คล้ายกับกำลังเหม่อ แล้วกลับมาทำสิ่งที่ค้างอยู่ต่อไป โดยไม่มีการเค ลื่อนไหวแขนขาแต่อย่างใดเลย อาการชักแบบเหม่อนิ่งมักจะนานเป็นเพียง 2-3 วินาที ผู้ป่วยจะหมดการรับรู้สิ่งรอบข้างในช่วงระยะเวลานั้น แต่อาจจะเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นชุด ๆ ได้ตลอดวัน ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา

          อาการชักที่กล่าวมานี้เป็นแบบที่พบบ่อยของโรคลมชัก ยังมีอาการชักอย่างอื่น ๆ อีกหลายแบบ ซึ่งแพทย์ผู้ชำนาญโรคลมชักจะสามารถให้ความกระจ่างแก่คุณได้

 

สาเหตุของการเกิดโรคลมชัก

เราทราบเพียงว่า โรคลมชักเกิดเพราะมีคลื่นไฟฟ้าปล่อยออกมาจากเซลส์สมองอย่างมากผิดปรกติ แต่บ่อยครั้ง ที่ยากจะบอกว่าอะไรเป็นต้นเหตุ บางทีก็ไม่มีคำอธิบายว่าโรคลมชักทำไมจึงเกิดกับคนนั้นคนนี้ นอกจากในบาง สาเหตุ เช่น เกิดตามหลังอุบัติเหตุต่อสมอง เกิดระหว่างการคลอด จากโรคภัยไข้เจ็บในวัยเด็ก หรือเกิดเพราะ ความไม่สบายในระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์ นอกจากนี้อาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง พยาธิในสมอง หรือโรค เส้นเลือดสมองตีบตันหรือแตก บางครั้งกรรมพันธุ์ก็อาจจะเป็นสาเหตุได้ในผู้ป่วยบางคน

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถจะหาสาเหตุของโรคลมชักได้ แม้ว่าแพทย์จะได้ทำการ ตรวจโดย ละเอียดแล้ว ในกลุ่มนี้เราเรียกว่า โรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Epilepsy) ซึ่งหมายความว่าสาเหตุของโรคยังอาจตรวจไม่พบด้วยวิทยาการที่ทันสมัยที่สุด ที่จะเป็นไปได้ในปัจจุบัน

 

เมื่อเป็นโรคลมชักแล้วควรบอกใคร และควรบอกอย่างไร

โรคลมชักมิใช่เป็นโรคที่น่าละอายแต่อย่างใด ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องปกปิดบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะ ผู้ที่ใกล้ชิดและมีความสำคัญต่อชีวิตคุณ ว่าคุณเป็นโรคลมชัก ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหายเพื่อนร่วมชั้นเรียน ครู หมอฟัน หรือที่ปรึกษาในเรื่องการเรียนและการกีฬาต่าง ๆ ของคุณ พวกเขาควรที่จะได้รับทราบ เพราะมีคนที่รู้ เรื่องนี้อย่างจริงจังน้อยมาก พวกเขาจะได้เข้าใจโรคของคุณ และรับรู้ว่าคุณเป็นผู้หนึ่งที่มีโรคลมชัก เขาควรที่จะ ได้รู้จักอาการของโรค รวมทั้งวิธีการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคลมชักเช่นคุณ และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือเขาควรจะ ได้ทราบ ว่าคุณก็เป็นเหมือนเช่นคนอื่นๆ เว้นแต่มีโรคลมชักเท่านั้น

น่าเสียดายที่คนบางคนยังไม่เข้าใจโรคลมชักดีพอ คนเหล่านี้จะมองผู้ป่วยว่าแตกต่างไปจากคนปรกติ อาจพยายาม กีดกันผู้ป่วยออกจากสังคมของพวกเขาโดยไม่มีเหตุผล แต่คนที่เข้าใจคุณ ชอบคุณ ในสภาพที่คุณเป็นอยู่นั้น มีอยู่มากมาย คุณจงให้ความสำคัญกับคนเหล่านั้น และที่สำคัญก็คือ มีคนไข้โรคลมชัก จำนวนไม่น้อยที่มี ความสามารถสูงและเป็นประโยขน์ต่อสังคม การที่คุณจะบอกใครว่าเป็นโรคนี้ และควรบอกแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับ ว่าคุณคุยอยู่กับใคร ซึ่งคุณจะต้องพิจารณา ตามความเหมาะสม ครู หมอหรือพ่อแม่ของคุณอาจจะช่วยคุณตอบ ปัญหานี้ได้ คุณอาจจะพูดคุยกับผู้ป่วย โรคลมชักด้วยกัน ซึ่งอาจจะมีปัญหาคล้ายๆ กับคุณหมอของคุณอาจจะ สามารถช่วยให้คุณได้พบกับผู้ป่วยคนอื่น หรือกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งคุณอาจจะปรึกษาหารือกันได้ สำหรับผู้ที่มีความ รับผิดชอบ ต่อชีวิตคุณโดยตรง เช่น ครูหรือพยาบาลประจำโรงเรียน คุณควรจะให้เขารู้เกี่ยวกับ เรื่องโรคลมชัก ของคุณ พอที่จะช่วยเหลือคุณได้เวลาที่เกิดปัญหาขึ้น บางครั้งครูของคุณและผู้ปกครอง อาจจะต้อง นั่งคุยกัน เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดให้คุณ เอกสารนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งมือที่อาจช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดี

เพื่อนสนิทอาจเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับโรคลมชัก และอาจให้ความช่วยเหลือได้ หากพบคุณกำลัง มีอาการชักต่อหน้า ซึ่งบางครั้งดูน่าตกใจสำหรับคนที่ไม่เคยเห็นมาก่อน การที่คุณให้เวลาพูดคุยกับเพื่อนโดยตรง ก็อาจจะเป็นผลดีที่ทำให้เขาได้รับข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องจากปากของคุณ

โรคลมชักจะมีผลต่อคุณอย่างไร

เผชิญหน้ากับมันซิ มันอาจมีผลบ้างแต่ไม่มากนักคุณอาจไม่สามารถเป็นนักบิน หรือทำงานบนที่สูงได้ แต่คุณก็สามารถที่จะไปโรงเรียน รวมทั้งสำเร็จการศึกษา ไม่มีเหตุผลใดที่คุณจะเป็นทนายความ นักธุรกิจ สถาปนิก หรืออื่น ๆ ตามที่คุณปรารถนาไม่ได้ คุณยังมีประโยชน์ ต่อสังคม คุณสามารถแต่งงาน มีบุตร และมีชีวิตที่เป็น ปรกติได้ และในฐานะของวัยรุ่น คุณก็สามารถจะเป็นเหมือนคนอื่น ๆ ได้เกือบทุกทาง คุณอาจไปเที่ยว หรือเล่น สนุกกับเพื่อนๆ ได้… รวมทั้งมีแฟนได้เหมือนกับคนอื่นๆ

 

อาหาร การออกกำลังกาย และกิจกรรม

ทำเช่นเดียวกับคนปรกติ ไม่จำเป็นต้องใช้วิตามินหรือเกลือแร่หรืออาหารเสริมการออกกำลังกายเป็นสิ่งดีสำหรับ ทุกคน แต่ควรเริ่มทีละน้อยและพยายามหลีกเลี่ยงกีฬาซึ่งเสี่ยงอันตรายก่อน ในระยะที่อาการชัก ของคุณยังควบคุม ได้ไม่ดีพอ ผู้ที่หายจากอาการชักแล้วเป็นเวลานาน หลายเดือน อาจไปว่ายน้ำได้ แต่ต้องมีคนที่ว่ายน้ำเก่งคอยดูแล การขี่จักรยานก็อาจกระทำได้ถ้าไม่มีอาการชักมาเป็นเวลานาน ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่เหนื่อยหรือตรากตรำมาก หรือที่ต้อง เล่นอย่างต่อเนื่อง ทางที่ดีปรึกษาหมอ ก่อนที่จะเริ่มต้นเล่นกีฬาใดๆ ส่วนการพักผ่อน หย่อนใจอื่นๆ จะเป็นการเต้นรำ ดูหนัง ฟังเพลง หรือไปเที่ยวกับเพื่อนนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ และอาจจะเป็น  การดีที่ จะเข้าสังคมกับคนอื่นในบางคน แสงไฟกระพริบ เช่น ในดิสโก้เทค หรือวีดีโอเกมส์ ทำให้ชักมากขึ้น ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คุณต้องหลีกเลี่ยง ทางที่ดี ถ้าคุณอยากลอง ควรลองแต่น้อยๆ ก่อน

 

 

การเรียน

การศึกษาของผู้เป็นโรคลมชัก ไม่แตกต่างจากคนปรกติ คุณอาจให้ข้อมูลของโรคแก่ผู้ร่วมชั้น เพื่อนบางคน อาจแปลกใจที่เห็นอาการของโรค แต่พวกเขาจะเข้าใจและยอมรับในที่สุด ถ้าคุณมีทัศนคติที่ดีต่อโรคของคุณ ไม่มีเหตุผลที่จะทำตัวให้แปลกหรือถอยห่างออกจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน แต่อย่าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มากเกินไป คนเป็นโรคลมชักส่วนมากมักมีอาการชัก หากพวกเขาทำงานหนักและนอนน้อยเกินไป

 

 

การขับรถ

คุณสามารถขับรถได้ หากคุณไม่มีอาการชักเลยมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของ แพทย์ผู้รักษาโรคลมชัก ในบางประเทศมีการออกใบขับขี่ให้กับผู้ป่วย แต่ต้องอยู่ในระยะที่ปลอด จากอาการชัก เท่านั้น อย่างน้อย 1-2 ปีมาแล้ว โดยอยู่ภายใต้การควบคุมและรับรองของแพทย์

 

การเรียนในขั้นอุดมศึกษา และการหางานทำ

ไม่มีปัญหาสำหรับผู้ป่วยในการเข้ามหาวิทยาลัย หรือเรียนจนจบได้รับปริญญา คุณสามารถจะเรียนจนจบได้ แม้สถาบันนั้นจะรู้ว่าคุณเป็นผู้ป่วย แต่คุณอาจต้องแนบประวัติทางการแพทย์ของคุณให้กับสถาบัน เพื่อร่วมดูแล คุณ ระหว่างการศึกษา แพทย์ที่คลินิกโรคลมชัก ยินดีให้ความสะดวกแก่คุณในเรื่องนี้ทุกเมื่อการ หางานทำเป็น เรื่องที่คุณจะต้องตัดสินใจและคิดล่วงหน้า หากต้องการทำงานที่ถูกกับใจของคุณเองและขึ้นอยู่ว่ากับอาการชัก ของคุณ หายดีแล้วเพียงใด คุณสามารถควบคุมตัวเองระหว่างทำงานได้หรือไม่ หากอาการชักของคุณยังไม่หาย  สนิทดี คุณควรหลีกเลี่ยงอาชีพที่เสี่ยงอันตราย เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล หรือบนพื้นผิวการจราจร

การแต่งงาน

 

ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถที่จะแต่งงานและมีบุตรได้เช่นคนทั่วไป สิ่งแรกที่คุณควรทราบก็คือ โรคลมชักไม่มีผล ต่อเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิดหรือการมีบุตร คุณสามารถปรึกษาหมอได้หากมีข้อข้องใจใด ๆ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคลมชักจะเคยชินกับคำถามต่างๆ ที่คุณอาจรู้สึกอายที่จะถามคนที่เป็นโรคนี้อาจแปลกใจที่มีคนปรกติแต่งงาน ด้วย มักจะมีคำถามมากมายเหมือนกับไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง สิ่งสำคัญอยู่ที่ความจริงใจต่อกัน ความเข้าใจซึ่งกัน และกัน และบางครั้งอาจจะต้องปรึกษาหารือกันอย่างเปิดเผย หากมีบุตร โอกาสที่บุตรจะเป็นโรคลมชักมีน้อย หากพ่อและแม่ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีประวัติป่วยด้วยโรคนี้ อย่างไรก็ตามคุณอาจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชักถึงปัญหานี้ได้

ควรให้กำลังใจแก่ตัวคุณเอง

 

อย่างน้อยคุณควรเข้าใจตัวคุณเองเสียก่อน คุณจะต้องยอมรับความเป็นตัวของตัวคุณเอง และให้ความหวังเพื่อ มีชีวิตที่สดใสในวันข้างหน้า คุณคงจะต้องปลอบใจตัวเองให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้อย่างเข้มแข็งและอดทน แม้จะเป็น เวลานาน เป็นเดือนหรือเป็นปี รวมทั้งตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ความดี โดยมิให้ความเจ็บป่วยมาเป็นอุปสรรค

คนที่เป็น โรคนี้ไม่ใช่จะมีความรักไม่ได้ บางครั้งอาจมีความรักที่บริสุทธิ์ รวมทั้งความรักในเพื่อนมนุษย์อื่น ๆ คุณสามารถที่จะทำตนให้เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งผู้ป่วยอื่น ๆ ได้ การที่จะยอมรับเรื่องโรค นี้อาจ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ก็ไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยนั้นทำร้ายตนเอง ขอให้คุณจงเชื่อมั่นในการรักษาแผนปัจจุบัน ซึ่งได้ผลดีถึงกว่า 80% ของผู้ป่วย ขอให้คุณคิดว่าคุณยังมีค่าต่อสังคมและคุณสามารถจะเป็นที่รักของสังคมได้

 

ช่วยให้สังคมเข้าใจคุณมากขึ้น

 

ปัจจุบันโรคลมชักไม่ใช่เรื่องที่น่าละอายอีกต่อไป ไม่มีอะไรที่จะต้องปิดบังซ่อนเร้น บางครั้งอาจจะมีบุคคล ที่มอง ผู้ป่วยด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจ และอาจยังไม่ยอมรับคุณ คุณสามารถจะช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดของบุคคลเหล่านั้นได้ หากคุณสามารถทำให้คนอื่นอีกสักคนเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชัก ก็เท่ากับคุณได้เป็นผู้แทนผู้ป่วยโรคลมชักอื่น ๆ ทั้งหมด และเมื่อมีคนที่เข้าใจโรคลมชักมากขึ้น ก็จะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น

 

มีผู้คนอีกมากที่เข้าใจคุณ

 

โรคลมชักไม่ใช่เรื่องสนุก แต่ก็มิใช่จุดจบของโลก คงเป็นการยากหากคุณต้องแก้ปัญหาทุกอย่างเพียงผู้เดียว แต่มีคนอีกเป็นอันมากที่พร้อมจะเข้าใจและช่วยเหลือคุณ แพทย์ของคุณก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคลมชัก หรือเจ้าหน้าที่ในคลินิกโรคลมชัก ซึ่งพร้อมที่จะให้ความกระจ่างและความสบายใจแก่คุณ

 

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชัก

 

เมื่อผู้ป่วยโรคลมชัก เกิดอาการชักขึ้นมา ไม่มีวิธีใดที่จะสามารถหยุดอาการชักได้ แม้แต่ยากันชักที่ผู้ป่วยกำลัง รับประทานอยู่ จึงจำต้องปล่อยให้อาการชักดำเนินต่อไปจนจบระยะของมันเอง การปฐมพยาบาล ผู้ป่วยขณะชัก จึงเป็นเพียงการป้องกันไม่ให้เกิดจากบาดเจ็บระหว่างชักเท่านั้น และเมื่อผู้ป่วยหายชักแล้ว อาจจะพูดจาปลอบโยน หรือบอกให้ผู้ป่วยทราบว่ามีอาการชัก จะทำให้ผู้ป่วยหายสับสนเร็วขึ้น หาก ผู้ป่วยมีอาการชักติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง โดยไม่ฟื้น หรือชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวนานเกิน 15 นาที ควรปรึกษาแพทย์หรือนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ช นิดของอาการชักที่พบบ่อย ได้แก่

 

อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู)

(Generalized Tonic-Clonic Seizures : GTC)

 

อาการที่เกิดขึ้น

ระยะเกร็ง (Tonic Phase)

  • หมดสติอย่างรวดเร็ว
  • ล้มลง
  • อาจส่งเสียงโดยไม่ตั้งใจ
  • มีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟัน
  • หยุดหายใจชั่วคราว

ระยะกระตุก (Clonic Phase)

  • มีอาการกระตุกแขนขาติดต่อกัน
  • อาจมีการกัดลิ้น หรือกัดกระพุ้งแก้ม
  • น้ำลายไหลเป็นฟอง
  • หยุดหายใจ 2-3 นาที (ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเขียว)

ระยะเวลาของการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว มักนาน 1-3 นาที

 

ระยะหลังชัก ( Postictal Phase)

  • เริ่มหายใจเอง
  • เริ่มรู้สึกตัว
  • มีอาการสับสนชั่วคราว อ่อนเพลีย หรือนอนหลับ
  • มีอาการอาเจียน อุจจาระหรือปัสสาวะราด

การปฐมพยาบาล

  1. ไม่งัดหรือใส่ของแข็งเข้าไปในปาก
การพยายามที่จะงักขากรรไกรที่เกร็งแน่น และใส่ของแข็งเข้าไประหว่างฟันขณะชักอาจจะทำให้ช่องปากผู้ป่วยบาดเจ็บ ควรใช้ผ้าหรือของนุ่มๆให้ผู้ป่วยกัดจะดีกว่า
  2. ป้องกันการบาดเจ็บ
พยายามป้องกันการกระแทกจากการล้ม จับให้ผู้ป่วยนอนลงในท่าตะแคงตัว เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง การเปลี่ยนท่าผู้ป่วยควรทำโดยการผลักลำตัว มิใช่การดึงแขนเพราะอาจทำให้ไหล่หลุดได้ ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดออก คลายเสื้อผ้าให้หลวม ให้ผู้ป่วยหนุนหมอนหรือสิ่งของนุ่มๆ เคลื่อนย้ายข้าวของที่อยู่รอบบริเวณผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยใส่ฟันปลอม ควรถอดฟันปลอมออกถ้าทำได้
  3. ไม่ควรผูกมัดหรือต่อสู้กับคนไข้
อาการชักเมื่อเกิดขึ้นจะหยุดไปได้เอง การผูกมัดหรือขัดขวางอาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บ
  4. ไม่ควรละทิ้งผู้ป่วยเพื่อไปตามผู้อื่น
ควรอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยอุ่นใจเมื่อฟื้นขึ้นมา
  5. ช่วยเหลือการหายใจ
ถ้าผู้ป่วยนอนหงาย หลังหยุดชักควรให้ผู้ป่วยนอนตะแคง จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในตำแหน่งปกติ เพราะขณะที่ชักลิ้นอาจจะตกไปปิดช่องทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังช่วยให้น้ำลายที่ค้างในกระพุ้งแก้มไหลออกมาได้
  6. ไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานระหว่างการชักหรือหลังชักใหม่ๆ เนื่องจากการรับประทานอาจทำให้สำลักได้

 

อาการชักแบบทำอะไรไม่รู้ตัว

(Complex Partial Seizures, Psychomotor : Temporal Lobe Seizures CPS)

 

อาการที่เกิดขึ้น

  • มีอาการหยุดสิ่งที่ทำอยู่พร้อมกับสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัว
  • อาจมีการเคลื่อนไหวแบบไร้จุดหมาย โดยไม่รู้ตัว เช่น เดินไปเดินมา ถูมือไปมา แกะหรือจับเสื้อผ้า คลำสิ่งของ ดูดริมฝีปาก หรือเคี้ยว พูดคำซ้ำๆ เป็นต้น
  • อาจมีอาการคล้ายล่องลอยไป หรือคล้ายคนเสียสติ
  • ถ้าจับหรือมัดอาจมีการต่อสู้ดิ้นรน
  • อาการต่างๆมักเกิดนาน 2-4 นาที
  • อาจเกิดอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวตามมาได้

การปฐมพยาบาล

  • อยู่กับผู้ป่วยและคอยกันผู้ป่วยจากอันตรายต่างๆ
  • ไม่พยายามขัดขวางการเคลื่อนไหว เพราะผู้ป่วยจะยิ่งต่อสู้
  • ติดตามผู้ป่วยจนอาการชักผ่านพ้นไป
  • คอยจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัวเต็มที่ ถ้าผู้ป่วยหลับปล่อยให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ จนกว่าจะเป็นปกติ

อาการชักแบบเหม่อ (Absence Seizures Petit Mal)

อาการที่เกิดขึ้น

  • อาการชักชนิดนี้สั้นมาก เกิดขึ้นทันทีและหายไปอย่างรวดเร็ว
  • ผู้ป่วยจะเหม่อนิ่งประมาณ 5-10 วินาที บ่อยครั้งที่ถูกเข้ใจผิดว่ากำลังใจลอย
  • อาจจะมีอาการตาค้าง กระพริบตา หรือกระตุกบนใบหน้า
  • ผู้ป่วยมักไม่ล้ม แต่จะหยุดค้างในท่าเดิม
  • ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
  • ส่วนมากมกพบในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6-14 ปี

การปฐมพยาบาล

  • ขณะผู้ป่วยกำลงเหม่อนิ่ง อาจลองนับเลขหรือเรียกชื่อสิ่งของให้ผู้ป่วยจำ แล้วถามภายหลังเมื่อผู้ป่วยหาย ถ้าผู้ป่วยมีอาการชักชนิดนี้ ผู้ป่วยจะบอกไม่ได้
  • ไม่จำเป็นต้องให้การปฐมพยาบาล แต่อาการชักชนิดนี้ จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
คำสำคัญ (Tags): #ลมชัก
หมายเลขบันทึก: 415118เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2010 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

โห้ น่ากลัว จัง ดีนะที่เราไม่เป็น อ่านแล้วมีความรู้ใหม่ๆดีจัง นะน้องเบิ้ล ผู้น่ารัก

อ่านแล้วน่าสงสารคนที่เป็นโรคนี้จังเลยค่ะ

ได้ความรู้เพิ่มมาในสมองเยอะขึ้น....และ ขอแนะนำท่านที่เป็นโรคลมชัก ให้พบแพทย์โดยด่วน

อย่าบอกว่าไม่มีเวลา เพราะ 24 ชั่วโมงเป็นของทุกคนบนโลก

ได้ความรู้ดี น่าสนใจ เป็นความรู้รอบตัวดี สามารถนำไปใช้ได้

อ่านแล้วรู้สึกได้ความรู้มากเลยค่ะ ครูเบิ้ลน่ารัก

ได้ความรู้ดีนะคะ น่ากลัว แต่ไม่น่าเป็นนะคะ

ได้ความรู้มากเลยค่ะ ไม่รู้ว่าถ้ามาเจอคนชักตรงหน้าจะตกใจหรือเปล่า ขอบคุณค่ะน้องเบิ้ล

เป้นลมชักแล้วตกงาน เรียนจบตรีมา 2 ใบ(ไฟฟ้า,คอม)แล้ว ก้ตกงานทำงาน 3 เดือนเด้งออกมาเลย ต้องออกมาโดนกดดันหนักกับค่ายาราคาไม่ถูกเลย และกดดันจากเป้นคนส่งของที่บ้าน ไม่เป้นตัวของตัวเอง เครียดตลอดเวลา ไม่รู้เรียนมาทำไมน่ะ?? เคยอยากตายหลายหน เพราะสังคมไม่เคยสนใจเลยในเรื่องนี้

ใจเย็นน่ะ Asky ทุกปัญหามีทางออก

งานตามสายงาน อาจจะไม่เหมาะกับเรา

คนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ก็ไม่ได้มาจากการทำงานตรงสาย

หาอะไรที่เหมาะกับเราดีกว่า

อยากได้งานประจำที่แน่นอน ไม่โดนออกจากงานเพราะลมชัก

เคยเป้นครู แต่โดนออกเพราะเป้นลมชัก ใครแนะนำชีวิตให้ได้บ้าง

เคยมีแฟนเป็นลมชักตอนเด็กค่ะ หนูไม่เคยเข้าใจเขาเลยเพิ่งทราบจากแม่ของเขาค่ะ เขามักจะขี้ลืม พูดไปแล้วบอกไม่ได้พูด เขาไม่รู้เลยว่าการกระทำของเขาทำร้ายคนอื่น ชอบทำให้หนูเสียใจ พูดหยาบ พูดอะไรซ้าๆๆ ใจร้อน จำอะไรไม่ค่อยได้ หนูก็หงุดหงิดมากกับเขาทำให้หนูเสียสุขภาพ เครียดบ่อยๆๆๆที่คบกันมาตลอด 5 ปี ทำอะไรก็ไม่สบายใจเลยเลยทำงานออกมาไม่ประสิทธิภาพเลย ที่บ้านเขาชอบบอกว่าเขาไม่เก่ง หนูไม่รู้ว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการที่เกิดจากโรคลมชักสมัยเด็กๆๆๆที่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆๆๆริป่าวเขาบอกหนูว่าเข้าไม่สบายบ่อยตอนเด็กๆๆๆต้องกินยาเยอะ หรือว่าเป็นนิสัยของคน หนูเป็นห่วงเขา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท