หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551


นิยามคำศัพท์

นิยามคำศัพท์หลักสูตร

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๕๑

มาตรฐานการเรียนรู้

(Content standards/Academic standards/Learning standards)

คุณภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนเป็นสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความรู้ ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะที่ระบุไว้ในมาตรฐาน   การเรียนรู้ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกคนดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาทั้งระดับชาติ เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา มีหน้าที่และความรับผิดชอบ          ในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุคุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนด มาตรฐานการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และใช้สำหรับผู้เรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แนวคิดดังกล่าวอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถพัฒนาอย่างมีคุณภาพ  เท่าเทียมกันได้

ตัวชี้วัด (Indicators)

สิ่งที่นักเรียนพึงรู้และปฏิบัติได้ ซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัดมีลักษณะเฉพาะเจาะจงและมีความเป็นรูปธรรมในการนำไปใช้ ในการกำหนดเนื้อหา การเรียนการสอน และเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการวัดและประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน โดยทั่วไปจะมีการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการตรวจสอบผู้เรียนเป็นระยะ ๆ ในการพัฒนาไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ การกำหนดตัวชี้วัดดังกล่าวนั้น ในระบบการศึกษาบางแห่งอาจกำหนดไว้เป็นช่วงๆ ทุก ๓-๔ ปีแต่บางแห่งอาจกำหนดทุกระดับชั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับบริบทการศึกษาแต่ละแห่ง

* หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน .. ๒๕๕๑ กำหนดตัวชี้วัดชั้นปีในระดับการศึกษาภาคบังคับ (.-.) ตัวชี้วัดช่วงชั้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (.-.)

 ตัวชี้วัดชั้นปี (Grade-level Indicators/Grade-level expectations)

สิ่งที่นักเรียนพึงรู้และปฏิบัติได้ในแต่ละระดับชั้น เป็นตัวชี้วัดพัฒนาการของผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด ตัวชี้วัดชั้นปีมีความชัดเจน มีความเฉพาะเจาะจง และมีความเป็นรูปธรรมในการนำไปใช้ในการกำหนดเนื้อหา จัดการเรียนการสอน และเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการวัดและประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ได้กำหนดตัวชี้วัดชั้นปีในระดับการศึกษาภาคบังคับ (ป.๑-ม.๓) เพื่อเป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

 ตัวชี้วัดช่วงชั้น (Interval indicators)

หมายถึง สิ่งที่นักเรียนพึงรู้และปฏิบัติได้เมื่อเรียนจบแต่ละช่วงชั้นเป็นตัวชี้วัดพัฒนาการของผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ตัวชี้วัดช่วงชั้นจึงมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ แต่มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ได้กำหนดตัวชี้วัดช่วงชั้นเพื่อใช้สำหรับเป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางในการจัดทำหลักสูตร กำหนดเนื้อหา การเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

หลักสูตร (Curriculum)

ประมวลความรู้และประสบการณ์ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ หลักสูตรจึงเป็นเสมือนแผนที่กำหนดทิศทางในการพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ซึ่งเป็นเป้าหมาย และมีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เพื่อให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนในการพัฒนาไปสู่มาตรฐานที่กำหนด

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Basic education  curriculum)

หลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนในระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีความสมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา อีกทั้ง มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต และมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล เพื่อการแข่งขันในยุคปัจจุบัน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วยส่วนที่เป็นแกนกลางซึ่งกำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนที่เกี่ยวกับสภาพชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งพัฒนาโดยเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นและส่วนที่สถานศึกษาพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับความสนใจ ความต้องการ และความถนัดของผู้เรียน

 หลักสูตรแกนกลาง (Core curriculum)

หลักสูตรแกนกลางเป็นหลักสูตรในส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดเพื่อใช้ ในการพัฒนาผู้เรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรแกนกลางมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดสาระการเรียนรู้แกนกลาง โครงสร้างเวลาเรียนพื้นฐานซึ่งระบุการจัดเวลาเรียนของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และเกณฑ์กลางในการจบหลักสูตรหลักสูตรแกนกลางเป็นกรอบทิศทางในการพัฒนากรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่นและหลักสูตรสถานศึกษา เป็นส่วนจำเป็นสำหรับพัฒนาเยาวชนไทยทุกคนให้เป็นพลเมืองดีของชาติ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญทางวิทยาการในโลกยุคปัจจุบัน

กรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น (Local curriculum  framework)

กรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่นเป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในแต่ละท้องถิ่น    ซึ่งจัดทำโดยเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในระดับท้องถิ่นมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ เป้าหมาย/จุดเน้นในการพัฒนาผู้เรียนในท้องถิ่น สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น และการประเมินคุณภาพผู้เรียนระดับท้องถิ่น สถานศึกษาในเขตพื้นที่นั้นๆจะใช้ข้อมูลในกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่นเป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ  ตามมาตรฐานการเรียนรู้ และเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน มีความรักและหวงแหนมรดกทางสังคม   มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา การแก้ไขปัญหาการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพในชุมชน

 หลักสูตรสถานศึกษา (School curriculum)

แผนหรือแนวทางในการจัดประมวลความรู้และประสบการณ์ซึ่งจัดทำโดยคณะบุคคลในระดับสถานศึกษา เพื่อใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานการเรียนรู้ และส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียนชุมชน และสังคมอย่างมีความสุข การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาพิจารณาจากหลักสูตรแกนกลาง และกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น นอกจากนั้นสถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทและจุดเน้นของสถานศึกษา ตลอดจนความต้องการ ความถนัดและความสามารถของผู้เรียน

หลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standards-based curriculum)

หลักสูตรที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ซึ่งเป็นคุณภาพที่คาดหวังให้เกิดในตัวผู้เรียนขึ้น ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรตลอดแนวตั้งแต่ระดับชาติ ระดับท้องถิ่นระดับสถานศึกษา ตลอดจนถึงระดับชั้นเรียนจะมีลักษณะเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน คือยึดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายและเป็นกรอบทิศทางในการกำหนดโครงสร้าง เนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ กล่าวโดยรวมก็คือการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standards-based  curriculum) การเรียนการสอนอิงมาตรฐาน (Standards-based  instruction) และการประเมินผลอิงมาตรฐาน (Standards-based assessment)

คณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการ (School academic board)

คณะบุคคล ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอาทิเช่น ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนกลุ่มสาระการเรียนรู้ ผู้แทนฝ่ายวิชาการ ฝ่ายวัดและประเมินผลการเรียนรู้แนะแนว ฯลฯ ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาด้านวิชาการ หลักสูตร  การเรียนการสอนของสถานศึกษาให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

........................

ที่มา : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน                กระทรวงศึกษาธิการ
 
คำสำคัญ (Tags): #หลักสูตร
หมายเลขบันทึก: 414717เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2010 04:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

  ขอให้มีความสุขตลอดปีและตลอดไปค่ะ

สวัสดีครับครู ฐิติพันธ์

ตามมาจากบ้านน้องน้ำชา

มาเรียนรู้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 51

ไม่ทราบว่าหลักสูตรแกนกลางพูดถึงชุมชนว่าอย่างไรบ้างครับ อย่างเช่นเรื่องประเพณี วัฒนธรรมหรือ สิทธิชุมชน การป้องกันชุมชนเหล่านี้ครับ

ท่านวอญ่าคะ ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้พูดถึงเรื่องชุมชนเลยค่ะ

นอกเสียจากว่าร่วมเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)

 

 

 

                 วันหน้า

                    อย่าลืมมาอีกนะคะ

                         ครูตุ๋ย

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับข้อมูลที่ดีๆ เป็นประโยชน์อย่างมากค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท