หลักการจัดการ


หลักการจัดการ หน่วยที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการ 1. ความหมายของการจัดการ การจัดการ (Management) ตามพจนานุกรมฉบับพระราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมาย การจัดการ หมายถึง การสั่งงาน ควบคุมงาน ดำเนินงาน เดรค เฟรช และ ฮีทเตอร์ สวาร์ด (Derak French and Heather Saward) ได้ให้ความหมาย การจัดการ หมายถึง “กระบวนการ กิจกรรมหรือการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในอันที่จะเชื่อมั่นได้ว่า กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปในแนวทางที่จะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อองรี ฟาโยล์ (Fayol, 1949) ได้กล่าวถึงการจัดการว่าเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 5 ขั้นตอน คือ การวางแผน การจัดองค์กร การบังคับบัญชา การประสานงาน และการควบคุม วาร์เรน บี. บราวน์ (Warren B.Brown) ให้ความหมาย การบริหาร คือ งานของผู้นำที่ใช้ทรัพยากรบริหารทั้งปวงที่มีอยู่ในหน่วยงาน เพื่อให้เป้าหมายที่กำหนดไว้บรรลุผล พิมลจรรย์ นามวัฒน์ ให้ความหมาย การบริหารคือ การประสมประสานทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล และบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ชุบ กาญจนประการ ให้ความหมาย การบริหาร หมายถึง การทำงานของคณะบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน พยอม วงศ์สารศรี ได้ให้คำจำกัดความ “การจัดการเป็นศิลปะของการใช้บุคคลอื่นทำงานให้แก่องค์การ โดยการตอบสนองความต้องการ ความคาดหวัง และจัดโอกาสให้เขาเหล่านั้นมีความเจริญก้าวหน้าในการทำงาน” สรุป ความหมายของ “การจัดการ” หมายถึง กระบวนการ กิจกรรมหรือการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในอันที่จะเชื่อมั่นได้ว่า กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปในแนวทางที่จะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่อันที่จะสร้างและรักษาไว้ซึ่งสภาวะที่จะเอื้ออำนวยต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ ด้วยความพยายามร่วมกันของกลุ่มบุคคล การจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เนื่องจากการจัดการเป็นความรู้ที่สามารถถ่ายทอด มีหลักเกณฑ์ สามารถพิสูจน์ความจริงได้ ตลอดจนได้รับการศึกษาค้นคว้ากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนในแง่ของการเป็นศิลป์ ซึ่งหมายถึงการประยุกต์เอาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะการจัดการในองค์กรแต่ละองค์กรมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นศาสตร์หรือความรู้ในด้านการจัดการเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้ จำเป็นต้องประยุกต์ความรู้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับองค์กรแต่ละองค์กร การบวนการในการจัดการ มีองค์ประกอบ คือ 1. การวางแผน (Planning) 2. การจัดองค์กร (Organization) 3. การบังคับบัญชา (Commanding) 4. การประสานงาน (Co-ordinating) 5. การควบคุม (Controlling) ความสำคัญของการการจัดการ การจัดการมีผลต่อความสำเร็จขององค์กร แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่สามารถวัดและประเมินผลได้ การจัดการทำให้การใช้ทรัพยากรมีความคุ้มค่าและเกิดประสิทธิผลในการผลิต นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น และยังเป็นการแสวงหาวิธีการทำงานที่ดีที่สุด และความสำคัญประการสุดท้าย คือ การจัดการช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน ทำให้ประชาชนมีรายได้ บทบาทหน้าที่ของผู้จัดการ ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น ทำหน้าที่ผู้นำ การเป็นผู้บังคับบัญชามีบทบาทด้านการสื่อสาร เช่น การทำหน้าที่กำกับดูแล และมีบทบาทในการตัดสินใจ เช่น การแก้ไขปัญหา การจัดสรรทรัพยากรในองค์กร และมีบทบาทในฐานะนักเจรจาต่อรอง เป็นต้น ผู้จัดการที่ดี ควรมีคุณสมบัติ 1. มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของการบริหาร 2. มีภาวะผู้นำ 3. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ 4. มีความคิดสร้างสรรค์ 5. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทักษะที่สำคัญในการจัดการ 1. ทักษะทางความคิด เป็นทักษะที่จำเป็นมากสำหรับผู้จัดการในระดับสูง 2. ทักษะในการประสานงาน เป็นทักษะที่จำเป็นมากสำหรับผู้บริหารในระดับกลาง 3. ทักษะในการปฏิบัติ เป็นทักษะที่จำเป็นมากสำหรับผู้บริหารในระดับต้น ระดับชั้นของการจัดการ มี 3 ระดับ คือ ระดับสูง ระดับกลาง และระดับต้น มีผู้กล่าวว่า “การจัดการเป็นกิจกรรม” เพราะการจัดการต้องมีการออกแบบงานต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อสนับสนุนและชี้แนวทางในการทำงานของบุคคล กลุ่มบุคคลในองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร บทบาทของผู้บริหารระดับกลางในการจัดการ ผู้บริหารระดับกลางมีบทบาทสำคัญในการนำแผนหลักหรือนโยบายไปสู่แผนปฏิบัติงาน และเป็นผู้รับผิดชอบในการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและกำหนดเป็นนโยบายขององค์กร จึงเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับผู้บริหารระดับต้น หน่วยที่ 2 องค์การและการจัดการ ความหมายขององค์กรในลักษณะเป็นโครงสร้างของสังคม เพราะองค์กรเป็นศูนย์รวมของกิจการที่ประกอบขึ้นเป็นหน่วยงานเดียวกัน เมื่อหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานรวมกันขึ้นจะมีลักษณะเป็นสังคม มี การประสานกิจกรรมของกลุ่มบุคคลที่มีเป้าหมายร่วมกันให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ ความหมายขององค์กรในลักษณะเป็นหน่วยงาน เพื่อประกอบกิจกรรม องค์กรในลักษณะนี้หมายถึงการรวมตัวของบุคคลจำนวนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาช่วยทำกิจกรรม โดยมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่แน่นอน มีสถานที่ทำงานเป็นหน่วยงาน มีวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน มีการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มาร่วมปฏิบัติงาน องค์กร แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ องค์กรของรัฐ องค์กรธุรกิจ องค์กรรัฐวิสาหกิจ และองค์กรอาสาสมัคร ความหมายขององค์กรภาครัฐ องค์กรภาครัฐเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้บริการแก่ประชาชน โดยไม่หวังผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจ ตัวอย่างองค์กรภาครัฐ ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น ความหมายขององค์กรธุรกิจ องค์กรธุรกิจเป็นองค์กรที่จัดทำขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการค้าและทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร เช่น บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ได้แก่ ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด เป็นต้น ลักษณะสำคัญของการจัดองค์กรธุรกิจ องค์กรธุรกิจเป็นองค์กรแบบเปิด มีความยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เป็นองค์กรที่เน้นความสำเร็จของเป้าหมายมากกว่าวิธีการในการปฏิบัติ เป็นองค์กรที่คนในองค์กรทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหาร และการวัดประเมินผลขึ้นอยู่กับความสามารถและผลงานที่ทำเป็นหลัก บทบาทหน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ไปประกอบการทางอุตสาหกรรมทั้งภายในและต่างประเทศ โดยทำหน้าที่ในด้านการตลาด เทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาแรงงาน การส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรูปแบบหรือลักษณะของการจัดหน่วยงานเพื่อบริหารองค์กรธุรกิจ ได้แก่ ประเภทของธุรกิจ ขนาดขององค์กร ภาวะเศรษฐกิจ การขยายกิจการหรือการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ขององค์กร อิทธิพลจากภายในและภายนอกองค์กร และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารองค์กร รูปแบบการจัดการสำนักงาน มี 3 รูปแบบ คือ สำนักงานรวม สำนักงานแบบกระจายงาน และสำนักงานแบบประสม หน่วยที่ 3 ความเป็นมาและแนวคิดในการจัดการ แนวคิดในการจัดการ แบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ แนวคิดคลาสสิก แนวคิดพฤติกรรมมนุษย์ และแนวคิดการจัดการสมัยใหม่ กลุ่มคลาสสิกมีแนวคิดหลักในการจัดการที่เน้นการแยกการบริหารออกจากการเมือง โดยมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องได้แก่ การจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ การจัดการเชิงบริหาร และการจัดการตามแนวคิดของระบบราชการ กลุ่มพฤติกรรมมนุษย์เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ กลุ่มนี้มองว่ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นทรัพยากรที่มีความรู้สึกนึกคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องได้แก่ แนวคิดจิตวิทยาอุตสาหกรรม พฤติกรรมมนุษย์ เป็นต้น กลุ่มการจัดการสมัยใหม่เน้นการสร้างระบบการจัดการทำงานโดยนำความรู้ในทางคณิตศาสตร์ สถิติ วิศวกรรม การบัญชี เข้ามาช่วยในการจัดการ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แนวคิดวิทยาการจัดการ การบริหารศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ แนวคิดเชิงสถานการณ์ และแนวคิดเชิงระบบ หลักสำคัญของการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ มี หลักเรื่องเวลา หลักการกำหนดหน่วยการจ้าง หลักการแยกงานวางแผนออกจาการปฏิบัติ หลักการทำงานแบบวิทยาศาสตร์ หลักการควบคุมโดยฝ่ายจัดการ หลักการจัดระเบียบในการปฏิบัติงาน การจัดการเชิงบริหาร มีหลักการสำคัญคือ การวางแผน การจัดหน่วยงาน การบังคับบัญชา การประสานงานและการควบคุม การจัดการตามแนวคิดของระบบราชการ มีหลักการสำคัญ คือ การแบ่งแผนกในองค์กรไว้ อย่างชัดเจนแน่นอน การจัดหน่วยงานเป็นลำดับชั้น การกำหนดกฎระเบียบเพื่อใช้ในการควบคุมดูแล การจำแนกสิทธิและทรัพย์สินส่วนบุคคลออกจากองค์กร การกำหนดวิธีการคัดเลือกหรือสรรหาบุคลากร การทำงานในองค์กรสามารถยึดเป็นอาชีพได้ การจัดการจิตวิทยาอุตสาหกรรมเป็นแนวคิดของนักวิชาการชาวปรัสเซียชื่อ ฮิวโก เมาน์สเตอร์เบิร์ก (Hugo Mounsterberg) โดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น เพราะมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีทักษะทางร่างกายและมีใจรักที่จะทำงานดังกล่าว แนวคิดนี้จึงพยายามศึกษาและทดสอบ เพื่อคัดเลือกคนงานเข้าทำงานด้วยการทดสอบทางจิตวิทยาด้วย การศึกษาที่ฮอว์ธอร์น (Hawthorne Studies) เป็นการศึกษาของเอลตัน เมโยล์ ได้ทำการศึกษาทดลองทัศนคติและจิตวิทยาของคนงานในการทำงานในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยได้เน้นความสนใจในเรื่องบรรยากาศการจัดการและภาวะผู้นำ ทำให้พบว่า 1. คนเป็นสิ่งมีชีวิตมีจิตใจ การสร้างขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญของการทำงาน 2. การให้รางวัลทางใจ เช่น การยกย่องชมเชย การให้เกียรติ มีผลต่อการทำงานไม่น้อยไปกว่าการจูงใจด้วยเงิน 3. ความสามารถในการทำงานของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคมของหน่วยงานด้วย เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนงาน เป็นต้น 4. อิทธิพลของกลุ่มมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของหน่วยงาน จึงมุ่งเน้นที่จะให้มี การทำงานเป็นทีม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แนวคิดเชิงสถานการณ์เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่แวดล้อมองค์กร ดังนั้นผู้จัดการจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการของตนเองให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นได้ แนวคิดนี้มีจุดเด่นคือ ไม่เชื่อในหลักการสากล แต่มุ่งเน้นความเป็นสากลของสถานการณ์ เพราะเชื่อว่าไม่มีหลักการใดที่สามารถนำไปใช้ในการจัดการองค์กรได้ทุกองค์กร ดังนั้นการจัดการแต่ละองค์กรจึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมขององค์กรนั้น ๆ แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงกรอบปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ทฤษฎีหรือแนวคิดที่นำมาใช้ในการจัดการได้ หน่วยที่ 4 รูปแบบของการประกอบธุรกิจ รูปแบบของการประกอบธุรกิจ การประกอบธุรกิจมี 8 รูปแบบ ได้แก่ ธุรกิจเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วน บริษัท กิจการร่วมค้า กองทุนธุรกิจ โฮลดิ้งคอมพานี สหกรณ์ สหกรณ์ และรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเจ้าของคนเดียว เป็น ธุรกิจที่มีผู้ดำเนินการหรือเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการมากที่สุดและมีอายุเก่าแก่ที่สุด มักเป็นธุรกิจในครอบครัว เช่น ร้านโชวห่วย หาบเร่ แผงลอย ร้านสินค้าสะดวกซื้อ ร้านสินค้าเฉพาะอย่าง ข้อดีธุรกิจเจ้าของคนเดียว เป็นธุรกิจที่จัดตั้งได้ง่าย ใช้ทุนในการดำเนินการน้อย มีอิสระในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากการประกอบธุรกิจแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และสามารถเลิกล้มกิจการได้ง่าย ห้างหุ้นส่วน เป็นรูปแบบการดำเนินการธุรกิจที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงใจที่จะร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน เพื่อทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการทำสัญญาร่วมกัน มีรูปแบบการดำเนินการ 3 รูปแบบคือห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และห้างหุ้นส่วนจำกัด ข้อเสียของการประกอบธุรกิจแบบห้างหุ้นส่วน คือ เป็นธุรกิจที่มีปัญหาในเรื่องความซื่อสัตย์ของ ผู้ร่วมหุ้น เพราะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน นอกจากนั้นการถอนหุ้นส่วนทำได้ยาก และมีความไม่แน่นอนในการประกอบธุรกิจมาก บริษัท เป็นการประกอบธุรกิจสามารถจัดตั้งได้ 2 ประเภท ได้แก่ 1. บริษัทจำกัด เป็นธุรกิจที่มีการลงทุนร่วมหุ้นของบุคคลตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป อาจรู้จักหรือไม่รู้จักกันเลยก็ได้ แต่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อประกอบการค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง มีผู้เชี่ยวชาญมาประกอบกิจการ จ้างผู้มีความรู้ความสามารถ ระดมทุนกันมาก ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบเพียงค่าหุ้นที่ตนซื้อ 2. บริษัทมหาชน คือรูปแบบของการประกอบธุรกิจที่จัดตั้งโดยอาศัยพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 เป็นลักษณะมหาชน (Public company limited) เป็นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ที่เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป แบ่งหุ้นเป็นหุ้นละเท่าๆ กัน ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบจำกัด ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระ มีความแตกต่างจากบริษัทเอกชนตรงที่ มีขนาดใหญ่ ต้องใช้ทุนมาก สามารถเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป การตั้งชื่อบริษัทมหาชนจะต้องมีคำว่า “บริษัท” นำหน้าและมีคำว่า “จำกัด(มหาชน)” ต่อท้าย หรือใช้ชื่อย่อว่า “บมจ.” นำหน้าแทนคำว่า“บริษัท” และต่อท้ายด้วยคำว่า “จำกัด(มหาชน) ก็ได้ กิจการร่วมค้า เป็นรูปแบบของการประกอบธุรกิจที่เป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชน เช่น ระหว่างบริษัทกับบริษัท หรือบริษัทกับห้างหุ้นส่วน อาจมีลักษณะเป็นการร่วมลงทุนข้ามชาติระหว่างบริษัทภายในประเทศกับบริษัทต่างชาติ นิยมใช้ในการประกอบธุรกิจที่ใช้เวลาสั้นๆในการประกอบการ เมื่อดำเนินธุรกิจเรียบร้อยแล้วก็ยกเลิกกิจการร่วมค้าไป ลักษณะสำคัญๆ ของกิจการร่วมค้า มีดังนี้ 1. เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทกับบริษัท หรือระหว่างบริษัทกับห้างหุ้นส่วน แต่ระหว่างห้างหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ 2. ผู้ร่วมลงทุนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ โดยไม่จำกัดความรับผิดชอบ 3. กิจการร่วมค้ามักมีลักษณะความร่วมมือชั่วคราว โดยมีจุดประสงค์เพื่อดำเนินกิจการใดกิจการหนึ่งให้สำเร็จลุล่วงแล้วเลิกกิจการร่วมค้าไป 4. การถอนตัวจากกิจการร่วมค้าจะกระทำได้เมื่อผู้ร่วมกิจการยินยอมเท่านั้น หากไม่ยินยอมแล้ว จะถอนตัวไม่ได้ 5. หากผู้ร่วมกิจการร่วมค้าคนใด คนหนึ่งเสียชีวิต กิจการร่วมค้านั้นยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ต้องยกเลิกเพราะถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจของนิติบุคคล กองทุนธุรกิจ เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป นำทรัพย์สินที่ประสงค์จะลงทุนไปมอบให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลอีกคนหนึ่ง ซึ่งอาจประกอบกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทก็ได้ เพื่อนำทรัพย์สินไปประกอบธุรกิจ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขของการลงทุนและกำหนดระยะเวลาในการลงทุนไว้อย่างชัดเจน โฮลดิ้งคอมพานี เป็นธุรกิจที่เน้นการเข้าควบคุมนโยบายของบริษัทในเครือของตนเอง โดยวิธีการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทในเครือ มักเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท จึงมีอำนาจในการกำหนดนโยบายในการดำเนินกิจการของบริษัทในเครือ บริษัทที่เข้าไปควบคุมนโยบายมีชื่อเรียกว่า “บริษัทแม่” ส่วนบริษัทที่ถูกควมคุมเรียกว่า “บริษัทในเครือ” โฮลดิ้งคอมพานี มีลักษณะสำคัญดังนี้ 1. บริษัทที่ขายหุ้นให้บริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละ50 จึงถูกควบคุมในด้านนโยบาย และ การบริหารจัดการ (เรียกว่าบริษัทในเครือ) 2. บริษัทที่เข้าไปควบคุมนโยบายของบริษัทในเครือโดยการซื้อหุ้นเพื่อให้ตนเองเป็นผู้ถือหุ้น รายใหญ่ (เรียกว่าบริษัทแม่) 3. เป็นลักษณะการขยายธุรกิจของบริษัทแม่เพื่อให้มีเครือข่ายของธุรกิจที่กว้างขวางและครอบคลุม รัฐวิสาหกิจ หมายถึง การประกอบกิจการหรือธุรกิจที่รัฐบาลเข้าไปดำเนินการเอง โดยเป็นเจ้าของกิจการนั้นทั้งหมด หรือเป็นเพียงบางส่วน ที่เป็นส่วนใหญ่คือมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50 หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดของกิจการนั้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อควบคุมดูแลกิจการที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อหารายได้เข้ารัฐ เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและเพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ หน่วยที่ 5 กระบวนการในการจัดการ กระบวนการจัดการตามแนวความคิดของเฮนรี ฟาโยล์ ประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์กร การสั่งการ การประสานงาน และการควบคุม กระบวนการจัดการตามแนวความคิดของลูเทอร์ กูลิก และลินดอน เออร์วิก ประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์กร การจัดคน การอำนวยการ การประสานงาน การรายงาน และการงบประมาณ กระบวนการจัดการตามแนวความคิดของแฮร์โรล คูนตซ์ ประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์กร การจัดคน การอำนวยการ และการควบคุม กระบวนการจัดการตามแนวความคิดของเออร์เนส เดล ประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์กร การจัดคน การอำนวยการ การควบคุม การสร้างสรรค์นวัตกรรม และตัวแทนองค์กร ความหมายของ “การวางแผน” การวางแผน (Planning) เป็นการคิดและกำหนดสิ่งที่จะทำในอนาคต ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญมากของผู้จัดการ ผู้จัดการมีวิสัยทัศน์ทางการจัดการจะต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการแข่งขันในภาวะที่มีการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ผู้จัดการที่มีความสามารถจะต้องกำหนดสิ่งที่จะทำในอนาคตไว้ก่อนได้อย่างถูกต้อง ความหมายของ “การจัดองค์กร” (Organizing) คือการตัดสินใจว่าจะจัดหน่วยงานขององค์กรอย่างไร การกำหนดแผนกหรือหน่วยงานย่อย ๆ ในองค์กรว่าจะมีแผนกอะไรบ้าง จำนวนกี่แผนก เพื่อให้เห็นโครงสร้างขององค์กร การจัดสายงานตำแหน่งต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน การจัดองค์กรที่ดีจะต้องเป็นองค์กรที่ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ซ้ำซ้อน หรือทำให้เกิดการเกี่ยงงานกันทำ เป็นต้น ความหมายของ “การจัดคน” (Staffing) การจัดคนในด้านบุคลากรที่มีอยู่ในองค์กร โดยทำหน้าที่สรรหา คัดเลือก บรรจุและแต่งตั้ง การพัฒนาบุคลากร การสร้างขวัญและกำลังใจ การสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เกิดขึ้นในองค์กร การธำรงรักษาไว้ซึ่งบุคลากรที่เก่ง ดี มีความสามารถ การจัดคนลงตำแหน่งที่เหมาะสมกับงาน ในการจัดการเรื่องบุคคลนี้จะต้องทำให้สอดคล้องกับการจัดตั้งองค์กรจึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ความหมายของ “การอำนวยการ” (Directing) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การสั่งการ การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาเหล่านี้สามารถควบคุมการทำงานขององค์กรได้ การอำนวยการขององค์กรที่เป็นของรัฐจะมีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนองค์กรของเอกชนแม้ไม่มีกฎหมายรับรองแต่จะมีการกำหนดอำนาจหน้าที่เอาไว้เป็นแนวปฏิบัติอย่างชัดเจนเช่นกัน ความหมายของ “การประสานงาน” (Co-ordinating) คือการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ ซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานย่อยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติงาน ป้องกันปัญหาความซ้ำซ้อนหรือการเกี่ยงงานกันทำ ผู้ประสานงานที่ดีจะต้องทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ความหมายของ “การรายงาน” การรายงาน (Reporting) หมายถึง การแจ้งหรือการสรุปผลของการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายว่าได้รับผลเป็นอย่างไร มีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานหรือไม่ การรายงานจะทำให้ทราบความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานและทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน สามารถนำรายงานการปฏิบัติงานนี้มาใช้ในการวางแผนการทำงานในอนาคตได้ หน่วยที่ 6 การวางแผน การวางแผนมีความสำคัญต่อการจัดการ ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร การวางแผนทำให้รู้แนวปฏิบัติงานในอนาคต ช่วยให้องค์กรลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้องค์กรยังสามารถตรวจสอบความสำเร็จของเป้าหมายได้ การวางแผนยังช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของผู้บริหาร และเกิดการประสานงานที่ดีขององค์กร การวางแผนมีองค์ประกอบพื้นฐาน ดังนี้ ความเป็นมาของแผน วัตถุประสงค์ของแผน เป้าหมายของแผน แผนงาน และโครงการ วัตถุประสงค์ในการจัดทำแผน ได้แก่ วัตถุประสงค์หลักคือ วัตถุประสงค์ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของแผนงาน นอกจากนี้แผนยังมีวัตถุประสงค์ที่หากสามารถบรรลุได้จะทำให้เกิดผลดี แต่หากไม่สามารถตอบสนองก็ไม่มีต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กร เป้าหมายในเชิงคุณภาพ เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ผลสัมฤทธิ์ของการทำกิจกรรม เป็นเป้าหมายที่วัดและประเมินผลได้ยาก เช่น เป้าหมายในการพัฒนาทักษะทางความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น เป้าหมายในเชิงปริมาณ เป็นการกำหนดเป้าหมายที่เป็นตัวเลข สามารถวัดและตรวจสอบได้โดยง่าย เช่น เป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้ 20 % กระบวนการในการจัดทำแผน 1. ขั้นเตรียมการ 2. การวิเคราะห์ข้อมูล 3. การกำหนดแผน 4. การปฏิบัติตามแผน 5. การประเมินผล การแบ่งประเภทของแผน แบ่งได้ 4 ประเภท ได้แก่ แผนตามระยะเวลา แผนตามสถานที่หรือภูมิศาสตร์ แผนตามสายงานและแผนตามหลักเศรษฐศาสตร์ การแบ่งแผนตามหลักเศรษฐศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แผนมหภาค เป็นแผนระดับสูง หรือแผนใหญ่ เป็นแผนที่มีเนื้อหาสาระครอบคลุมงานหลักๆ ขององค์กรทั้งหมด แผนจุลภาค เป็นแผนระดับปฏิบัติการ มีวิธีการทำโดยนำแผนหลักมาทำการวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนย่อย ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้แผนมหภาคบรรลุเป้าหมาย แผนที่ดี ควรมีลักษณะ 1. มีการกำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์ของแผนอย่างชัดเจน 2. มีเหตุมีผลสามารถปฏิบัติได้ 3. มีความสอดคล้องกับแผนในทุกระดับ 4. มีความครอบคลุมเนื้อหาสาระหรือวัตถุประสงค์หลักขององค์กร 5. มีความยืดหยุ่น 6. มีการกำหนดขั้นตอนและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน 7. มีการนำทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 8. มีความต่อเนื่อง แผนตามสายงาน ประกอบด้วย แผนในระดับชาติ แผนระดับกระทรวง แผนระดับกรมหรือสำนักงาน และแผนระดับกองหรือระดับฝ่าย ถ้าเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผน จะต้องมีแนวทางในการหาข้อมูลเพื่อเขียนแผนโดยศึกษานโยบายขององค์กร นโยบายของรัฐบาล ศึกษาแผนงานเดิม และศึกษาสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น หน่วยที่ 7 การจัดการทรัพยากรบุคคล ความหมายของการจัดการทรัพยากรบุคคล หมายถึง ศิลปะในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานในองค์กร มอบหมาย พัฒนาบุคคล และให้พ้นจากงาน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพของผลผลิตหรือบริการขององค์กรเป็นสำคัญ ประโยชนของการจัดการทรัพยากรบุคคล 1. เปิดโอกาสให้คนมีงานทำ 2. องค์กรได้คนดีมีความสามารถเข้าร่วมงาน 3. บุคคลได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถ 4. เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม 5. ทำให้ประเทศชาติมีรายได้จากการเก็บภาษี บทบาทหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีต่อองค์กร มีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล การให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้บริหารในระดับสูง บทบาทในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร การสร้างขวัญและกำลังใจ และบทบาทในฐานะผู้ควบคุม บทบาทหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีต่อสมาชิกองค์กร มีบทบาทในการวางแผนทรัพยากรบุคคล ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการจัดการทรัพยากรบุคคล มีบทบาทด้านการจัดการตำแหน่งให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก้สมาชิกขององค์กร และมีบทบาทในการธำรงรักษาบุคลกรที่ดีให้อยู่กับองค์กรได้ตลอดไป การจัดการทรัพยากรบุคคลโดยยึดหลักคุณธรรมมีองค์ประกอบ ดังนี้ 1. หลักความเสมอภาค 2. หลักความสามารถ 3. หลักความมั่นคง 4. หลักความเป็นกลางทางการเมือง การจัดการทรัพยากรบุคคลโดยยึดหลักอุปถัมภ์มีองค์ประกอบ เป็นการจัดการทรัพยากรบุคคลที่ตรงกันข้ามกับหลักคุณธรรม โดยมุ่งเน้นการยึดเอาพวกพ้องเข้ามาช่วยทำงาน เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้การทำงานมีความราบรื่น กระบวนการจัดการทรัพยากรบุคคล 1. การวิเคราะห์งาน 2. การวางแผนกำลังคน 3. การสรรหา คัดเลือก และแต่งตั้ง 4. การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร 5. การเลื่อนและย้ายตำแหน่ง 6. ผลประโยชน์ตอบแทน 7. การให้พ้นจากงาน 8. บำเหน็จบำนาญ ความหมายของการสรรหา คัดเลือก และบรรจุแต่งตั้ง การสรรหา หมายถึง การหาแหล่งผลิตกำลังคน หรือการค้นหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ มีคุณวุฒิ ประสบการณ์และทักษะตามที่องค์กรต้องการ การสรรหาที่มีคุณภาพจะทำให้องค์กรมีโอกาสคัดเลือกคนที่ดีมีความเหมาะสมเข้ามาทำงานในองค์กรได้ การคัดเลือก ภายหลังจากที่ทำการสรรหาเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจทราบข่าวคราวเกี่ยวกับ การสรรหาบุคคลแล้ว หน่วยงานจัดการทรัพยากรบุคคลจะต้องคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ตรงกับความต้องการขององค์กรมากที่สุด โดยจะต้องเลือกเครื่องมือที่จะใช้ในการคัดเลือกที่เหมาะสม การบรรจุและแต่งตั้ง คือ การมอบหมายงานให้บุคคลผู้นั้นปฏิบัติ ในการบรรจุและแต่งตั้งควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับงานตามคำกล่าวที่ว่า “Put the right man in the right job” ความหมายของการเลื่อนและการย้ายตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง คือ การแต่งตั้งให้บุคลากรไปดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในระดับ ที่สูงขึ้น มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพิ่มมากขึ้น การย้ายตำแหน่ง คือ การแต่งตั้งให้บุคลากรไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่อยู่ในระดับเดียวกัน แต่อาจต่างหน่วยงานหรือแผนก ความแตกต่างระหว่างบำเหน็จกับบำนาญ บำเหน็จ คือ เงินตอบแทนที่จัดให้เพียงครั้งเดียว เป็นเงินก้อน ที่ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งจะรับในครั้งเดียว บำนาญ คือ เงินตอบแทนที่จัดให้เป็นรายเดือน ตอบแทนให้จนกว่าบุคคลนั้นจะเสียชีวิต นิยมใช้ในหน่วยงานราชการ หน่วยที่ 8 การอำนวยการ ความหมายของ “การอำนวยการ” คือ การมอบหมาย ชี้แนะ และติดตามตรวจสอบการทำงานของพนักงานให้ดำเนินไปตามแผนหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจะต้องคำนึงถึงขวัญและกำลังใจของพนักงานด้วย องค์ประกอบของการอำนวยการ ประกอบด้วย การตัดสินใจ การสั่งการ การจูงใจ การสร้างขวัญและกำลังใจ การประสานงานและการสื่อสาร วิธีการที่ใช้ในการตัดสินใจ 1. การตัดสินใจโดยใช้วิธีการวิเคราะห์แยกแยะปัญหาออกเป็นปัญหาย่อย ๆ แล้วจึงตัดสินใจ 2. การวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป็นการตัดสินใจโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหา 3. การตัดสินใจในการลองผิดลองถูก 4. การตัดสินใจโดยใช้ประสบการณ์เดิม 5. การใช้ความรู้สึกหรือญาณวิเศษในการตัดสินใจ กระบวนการในการตัดสินใจ 1. ค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูล 2. กำหนดทางเลือกในการตัดสินใจเอาไว้หลาย ๆ ทาง 3. การคาดการณ์ล่วงหน้า 4. ตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง 5. ติดตามประเมินผลของการตัดสินใจ การตัดสินใจที่ดี ควรยึดหลักการคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับส่วนรวมเป็นหลัก สามารถปฏิบัติได้ เป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดกฎหมายและหลักของศีลธรรม ให้ผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การสั่งการ จำแนกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. การสั่งการแบบเป็นลายลักษณ์อักษร คือ การสั่งการที่มีการเขียนหรือบันทึกออกเป็นคำสั่ง สามารถตรวจสอบและใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ เช่น คำสั่ง ประกาศ แนวปฏิบัติ การสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร อักษรที่นิยมใช้กันมากในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากมีจำนวนบุคลากรมากจำเป็นต้องสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้บุคลากรทุกคนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน 2. การสั่งการที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการสั่งการที่ไม่เป็นทางการ สั่งการด้วยคำพูด ไม่สามารถเก็บเป็นหลักฐานได้ ทฤษฎี X และทฤษฎี Y ทฤษฎี X ตามความคิดของแมกเกรเกอร์ เชื่อว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์เป็นคนชี้เกียจไม่ชอบทำงาน ขาดความรับผิดชอบ คนส่วนมากไม่มีความคิดริเริ่ม ดังนั้นการจะสั่งการให้คนทำงานได้จะต้องไม่ใช้วิธีการบังคับ ทฤษฎี Y เชื่อว่ามนุษย์โดยธรรมชาติเป็นคนที่ตั้งใจทำงาน มีความขยันขันแข็ง ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุน มีความรับผิดชอบและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ผู้บริหารที่เชื่อในทฤษฎี Y จะพยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้
คำสำคัญ (Tags): #หลักการจัดการ
หมายเลขบันทึก: 414427เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2010 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท