สิ่งที่ได้เรียนรู้ 25/07/49


ชั้นเรียน วัฒนธรรมศึกษา

โรงเรียนชาวนา

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 25/07/49

 

2519 2525

............กรรมกร  ชาวนา  จงมาร่วมกันสรรค์สร้างโลกใหม่……….

( บางส่วนของเนื้อเพลง กรรมาชน  จากวงดนตรี กรรมาชน

โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล )

จินตนาการย้อนกลับช่วงที่ความคิดทางการเมืองในสังคมไทย

แบ่งเป็น 2 ขั้วคือ  ไม่ไปซ้ายก็เดินมาทางขวา

และไม่ว่าจะเป็นทาง  ซ้าย หรือ ขวา

 

อาจมีผู้ที่ยินดีที่จะเดิน  ด้วยความสมัครใจ

เดินเพราะ ความจำเป็นต้องเดิน

หรือ หยุดอยู่กับที่ แต่ ผู้อื่น บอกว่า เขากำลังเดินไปทางใดทางหนึ่ง

ช่วงนั้นหากเกิด การรวมกลุ่ม

ที่แตกต่างไปจากความต้องการของผู้มีอำนาจ 

หรืออะไรที่ออกไปในทำนอง ดูเหมือนว่ากำลังเลือกทางเดิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมกันโดยใช้ชื่อ โรงเรียนชาวนา

 

25/07/2549  : 09.00 น.

ชั้นเรียน วัฒนธรรมศึกษา 

มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับ โรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี 

ระหว่าง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ กับ ผู้ศึกษา เกี่ยวกับโรงเรียนชาวนา

โดยศึกษาผ่าน หนังสือโรงเรียนชาวนา และ Blog โรงเรียนชาวนา

 

แน่นอนเราไม่พึงพอใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดิ่งลึก ว่า

ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  กับใคร  เมื่อไร  อย่างไร 

ทำไม  เพราะอะไร ?????  ที่โรงเรียนชาวนาทั้ง 4 แห่งใน จ. สุพรรณบุรี 

ยิ่งดิ่งลึก  ก็ยิ่งได้ภาพของโรงเรียนชาวนาที่ พร่าเลือน 

เพราะทั้งหมด  ทั้งปวงที่เรารับรู้เกี่ยวกับโรงเรียนชาวนานั้น แบนราบ 

เพียง มิติเดียว ที่เรารับรู้  มิติการรับรู้ที่ผ่าน หนังสือ และ Blog  

ฉะนั้น ยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งพร่าเลือน และที่สำคัญ หลงประเด็น

 

อะไรล่ะในโรงเรียนชาวนาที่เราควร ตีโจทย์ ให้แตก

ใช่หรือไม่คือ  กระบวนการเรียนรู้ของชาวนา  โดยชาวนา   เพื่อชาวนา 

เพื่ออธิบาย วัฒนธรรมการเรียนรู้ของสังคมไทย 

และค้นหาว่า เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่

ที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย พ.ศ. 2549

ต้องทำอย่างไร

 

ในเบื้องต้นเราคงต้อง ทบทวนตนเอง ว่า

สังคมไทยมี วัฒนธรรม เช่นนี้หรือไม่

กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  กระบวนการคิดร่วมกัน 

กระบวนการทำร่วมกัน  ลองผิดลองถูกร่วมกัน

ค้นหาของดีจากกันและกัน  ไม่รีรอที่จะรับจากภายนอก

แยกสามารถแยก ความแตกต่าง ระหว่าง การรับรู้ กับ การเรียนรู้

ถ้าสังคมไทยยังห่างไกลเรื่องเหล่านี้ 

เช่นนั้นสังคมไทยกำลังประสบปัญหา วัฒนธรรมการเรียนรู้ ใช่หรือไม่

 

จินตนาการ นิยาม วัฒนธรรม ของสังคมไทย

มักมีลักษณะแบนราบ ทั้งๆที่สามารถจำแนกได้ 4 แบบ

 

แบบ Classic  วัฒนธรรมหมายถึง การพัฒนาด้านภูมิปัญญา และ จิตวิญญาณ  

(มีความหมายใกล้เคียงคำว่า อารยธรรม)  ผลผลิตทางวัฒนธรรม

จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เคยพูด  เคยคิด  เคยกระทำมา

 

แบบ Descriptive เป็นการนิยามด้วย การพรรณนาคุณลักษณะ ต่างๆ

ของวัฒนธรรม เช่น  ความเชื่อ  จริยธรรม  ข้าวของเครื่องใช้ 

อุปนิสัยของคนในสังคม  การละเล่น ฯลฯ

 

แบบ Symbolic  จะพิจารณาวัฒนธรรมในรูปของ สัญญะ (Sign)

ที่มี ความหมาย (Meaning) อันถูกสังคมนั้นประกอบสร้างขึ้นมา 

การศึกษาวัฒนธรรมจึงต้องเข้าใจระบบความหมาย

ที่ซ่อนอยู่ในระบบสัญญะเหล่านี้

 

แบบ Structural  เป็นการนิยามที่ก้าวต่อจากกลุ่ม Symbolic 

คือการขยายระบบสัญญะให้มาสัมพันธ์กับบริบทสังคม 

โดยถือว่า สัญญะ  นั้นไม่ได้เกิดจากความว่างเปล่า 

ดังนั้นการศึกษาจึงต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต  การกระจาย 

และการบริโภคสัญญะเหล่านั้น  ที่มีอยู่ในบริบทสังคมหนึ่งๆ

 

(กาญจนา  แก้วเทพ,  รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 23  ฉบับที่ 3  2545,  คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.)

 

นิยามวัฒนธรรมดังกล่าวทำให้เราเห็นถึง การไม่หยุดนิ่ง ของวัฒนธรรม (พลวัต)

สำหรับสังคมไทย ถ้าต้องการ ยืนอยู่ได้

ท่ามกลาง ความเปลี่ยนแปลง และ ปัญหา ที่กระทบ 

วิธีคิดแบบ วีรชนเอกชน หรือ 

มุ่งแก้ไขปัญหาจาก ฐานคิดแยกส่วน ที่ไม่สนองต่อการแก้ปัญหา    

เพราะได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขโจทย์ ใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้

ไม่สามารถใช้ได้ใน บริบทของสังคมไทยปัจจุบัน 

เมื่อไม่สามารถแก้ไขได้  ก็ต้องเปลี่ยนแปลง

 

เปลี่ยนแปลงเพื่อให้บุคคล อยู่ได้ และ อยู่ดี ในสังคม 

และเพื่อให้ สังคมทั้งระบบ อยู่ได้ และ อยู่ดี

คงต้องมี วิธีคิด ที่ แหวกกรอบคิด ของ สังคม กันบ้าง

เพื่อค้นหาและสร้าง วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่

เรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ สู่ความ วัฒนะ

ขณะเดียวกันวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่

ก็มีความสอดคล้องกับ ภูมิสังคม ของแต่ละพื้นที่

  

ถ้าโรงเรียนชาวนาเป็นตัวอย่าง 

คำถามที่น่าสนใจใน การแหวกกรอบคิด

เพื่อ เปลี่ยนแบบแผนการทำนา ที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบัน 

ต้องต่อสู้กับอะไรบ้าง  ต้องมีความมุ่งมั่นเพียงใดจึงเพื่อฝ่าฟันไปได้

หนึ่ง วิธีคิดดั้งเดิมตั้งของตนเอง 

สอง วิธีคิดของชาวนาด้วยกันที่ไม่เอาด้วย หรือไม่เห็นด้วย ฯลฯ

(รายละเอียดอ่านที่  Blog โรงเรียนชาวนา)

นึกถึง ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว (เกษตรกรรมธรรมชาติ ในญี่ปุ่น)

และ  ดาบวิชัย  คนปลูกต้นไม้  ในการทำอะไรที่แตกต่างไปจากกระแสหลัก

 

ดังนั้นหากสังคมไทยจะมุ่งไปสู่ วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่

ต้องทำให้ วัฒนธรรม มี พรมแดน ที่กว้างขึ้น

เพราะวัฒนธรรมคือ ทุกอณูของการดำรงชีวิต

เรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการทุกขณะจิตแห่งการดำรงชีวิต

ก็เชื่อได้ว่าสังคมไทยจะ ยืนตั้งรับ และ รุก อย่างมี ท่วงทีและลีลา 

 

2519 2525 

โรงเรียนชาวนา  สื่อถึงการแบ่งฝักฝ่ายการเลือกอุดมการณ์ทางการเมือง

2549

โรงเรียนชาวนา  สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้  ร่วมคิด  ร่วมทำ  ร่วมรับผลที่ได้

 

ขอบคุณครับ

ธำรงค์  บริเวธานันท์

      

 

คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 41404เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2006 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท