ประวัติผ้าผูกคอลูกเสือ


ผ้าผูกคอลูกเสือ

ผมเขียนเรื่อง ประวัติผ้าผูกคอลูกเสือให้พี่น้องลูกเสือที่ต้องการนำไปลงในวารสาร  แต่งานหนังสือนั้นล้มเลิกไป  ตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว  ตอนนี้ขอนำมาลงให้ท่านที่สนใจได้อ่านกัน  ตามเรื่องที่เขียนมีภาพประกอบด้วย  ก็จะนำมาลงทั้งหมด ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะนำลงได้ครบถ้วนหรือไม่  ผมไม่ค่อยรู้วิธีการนำลงเท่าไร หากผิดพลาดอย่างไรก็จะนำลงแก้ไข  เพิ่มเติมให้ในไฟล์ภาพนะครับ

เรื่องแต่ก่อนเก่าเล่าสู่กันฟัง  “ประวัติผ้าผูกคอลูกเสือ”

โดย นายทันทิตย์   ชอบธรรม  L.T.

      หัวหน้าฝ่ายวิชาการโรงเรียนอนุบาลเมืองราชบุรี  อำเภอเมืองราชบุรี  จังหวัดราชบุรี 

                                                   ประธานฝ่ายวิชาการ  สมาคมสโมสรลูกเสือจังหวัดราชบุรี

*********

                เมื่อ พ.ศ. 2451 (ค.ศ.1908)   ขณะที่พลโท เซอร์ โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สมิท เบเดน เพาเวลล์  (Lieut. Gen. SIR Robert  Stephenson  Smyth Baden-Powell  หรือ  B-P)  ได้นำเด็กชาย 20 คน  ไปอยู่ค่ายพักแรมที่เกาะ Brown  Sea  บริเวณช่องแคบอังกฤษ นับเป็นจุดเริ่มต้นก่อตั้งขบวนการลูกเสือ (The Scout Movement)  นั้น  จากภาพถ่ายไม่พบว่าเด็กเหล่านั้นใช้ผ้าผูกคอ (Scarp)เลย  แต่เราได้เห็นภาพเด็กใช้ผ้าผูกคอ  ที่ชัดเจนที่สุดก็จากภาพปกหนังสือ  Scouting  for boys    นั่นคงไม่ใช่ครั้งแรกที่ B-P ได้นำผ้าผูกคอมาใช้  เป็นไปได้ว่า  ที่เกาะ Brown  Sea  ยังเป็นการทดลองวิธีการบางอย่างอยู่  แต่เมื่อเขียนเป็นหนังสือจึงมีรูปแบบการแต่งกายชัดเจนขึ้น 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                 ภาพถ่ายที่เกาะ  Brown  Sea  เด็ก ๆไม่สวมหมวกปีกและใช้ผ้าผูกคอ             

 
 

 

 

 

 

 

 

 

             ภาพปกหนังสือ  Scouting for boys   

                เด็กแต่งเครื่องแบบ มีหมวกปีกและผ้าผูกคอ

 

 

แล้ว  B-P  ใช้ผ้าผูกคอตั้งแต่เมื่อใด ?

B-P  ใช้ประสบการณ์หลายอย่างจากชีวิตทหารมาใช้ในกิจการลูกเสือ  เช่น  ไม้พลอง  บีดส์  เพลง  หมวกปีกกว้าง  การจับมือซ้าย  ฯลฯ   เรื่องผ้าผูกคอกับหมวกปีกดูเหมือนจะมาด้วยกัน

พ.ศ. 2438 (ค.ศ.1895)  ขณะที่  B-P  มียศพันตรี   ได้ไปเมือง Ashanti ในแอฟริกาตะวันตกเพื่อ

ทำสงครามกับ   King Prempeh  ซึ่งเปรมเปห์ได้ยอมแพ้โดยมิได้มีการรบ  และได้มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิจการลูกเสือ 3 ประการ  ซึ่งเรื่องหนึ่งก็คือ  การใช้หมวกปีก  ชาวอาชันติเรียก บี-พี ว่า Kantankye  หรือคนสวมหมวกปีกกว้าง  พ.ศ. 2439 (ค.ศ.1896)  B-P  ไปรบกับเผ่า  มาตาบิลี (Matabele)  ได้รับฉายาว่า  อิมปีซ่า (Impeeza) หรือสุนัขป่าผู้ไม่เคยนอนหลับ ภาพถ่ายของ  B-P  ขณะนั้น ใช้ทั้งหมวกปีกกว้างและผ้าผูกคอแล้ว

       
 

 

 
 

 

 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

            ภาพถ่าย  B-P  พ.ศ. 2439 (ค.ศ.1896) 

พ.ศ.2442 (ค.ศ.1899)     บี-พี   ไปแอฟริกาในสงครามรักษาเมืองมัฟฟีคิง  (Mafeking)

 

 

และที่นี่ได้กำเนิด  Mafeking Cadet Corps หรือเป็น Scout at  Mafeking   เฉพาะเรื่องการแต่งกายยังไม่พบเรื่องผ้าผูกคอ แต่เรื่องหมวกนั้น มีทั้งหมวกปีกพับข้างซ้ายและหมวกหนีบ  แม้แต่ Warner Goodyear ซึ่งนับเป็น The first Boy Scout  ก็ยังไม่มีการใช้ผ้าผูกคอเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

ภาพถ่าย  Mafeking Cadet Corps  ค.ศ.1899  ใช้หมวกหนีบ ไม่มีผ้าผูกคอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพถ่าย  Mafeking Cadet Corps  ค.ศ.1899 เสื้อคอปิด

 

B-P  ได้แบบอย่างเรื่องผ้าผูกคอและหมวกปีก (กว้าง) มาจากไหน ?

                เมื่อเราดูภาพถ่าย  B-P  พ.ศ. 2439  โดยเฉพาะภาพที่ขี่ม้า  มือขวาถือปืนยาวหลังม้า (ขนาดสั้นกว่าปืนไรเฟิลทั่วไป)  เอวข้างซ้ายพกปืนสั้น 1 กระบอกหันด้ามปืนไปด้านหน้า  ต้องชักปืนแบบไขว้ (ไม่ทราบว่าพกอีกกระบอกที่ข้างขวาด้วยหรือไม่ ? )  สวมหมวกปีกกว้างและมีผ้าผูกคอ  เรานึกถึงอะไร ?

ในระหว่างสงครามที่แอฟริกาใต้นั้น มีหน่วยทหารจากแคนาดา  ได้เข้าร่วมในการรบด้วย  คือ  The 2nd (Special Service) Battalion, Royal Canadian Regiment of Infantry  และทหารเหล่านี้สวม

หมวกปีกกว้างที่เรียกว่า  หมวกเสต็ทสันส์ (Stetsons)  ของ John B. Stetson Company   หมวกนี้เป็นที่

นิยมในทวีปอเมริกา   แม้แต่เหล่า  คาวบอย (cowboy)  หน่วยตำรวจ  ทหาร    ผู้รักษากฎหมายและคน

ทั่วไปด้วย บางครั้งจึงเรียกกันว่า “หมวกคาวบอย” คนเหล่านี้ยังนิยมใช้ผ้าผูกคอซึ่งใช้ประโยชน์ได้มากมาย ป้องกันอากาศเย็น  ป้องกันฝุ่น-ทรายเข้าเสื้อ ปิดคลุมหน้า บอกฝ่ายหรือสังกัด ฯลฯ

 

 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพทหารจากหน่วย  Royal Canadian Regiment of Infantry  

B-P ได้สัมผัสกับการใช้หมวกและผ้าผูกคอเหล่านี้มาก่อนแล้ว  และเมื่อได้ดูแลหน่วยงานตำรวจในเวลาต่อมา B-P  ก็ได้ให้ใช้หมวกลักษณะนี้ทั้งหมดและเป็นรูปแบบที่ B-P  นำมาใช้กับกิจการลูกเสือในเวลาต่อมาร่วมกับการใช้ผ้าผูกคอที่ B-P  ได้เคยใช้มาก่อน   แล้วลูกเสือทั่วโลกก็มีผ้าผูกคอและหมวกปีกเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนี่งแม้เรื่องหมวกจะมีแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่หมวกปีกก็ยังเป็นลักษณะที่แพร่หลายมากเช่นเดิมถึงทุกวันนี้

B-P  กับผ้าผูกคอกิลเวลล์

                B-P  นำผ้าผูกคอมาใช้กับกิจการลูกเสือที่เหมือนกันทั่วโลกคือ “ผ้าผูกคอกิลเวลล์”  สำหรับผู้ผ่านหลักสูตรผู้กำกับลูกเสือที่ กิลเวลล์ ปาร์ค (Gilwell Park)  ซึ่งคุณ เดอ บัวส์ แมคลาเรน Mr. de Bois Maclaren ได้ซึ้อที่ดิน 57 เอเคอร์ เป็นเงิน 10,000 ปอนด์ ให้กับสมาคมลูกเสืออังกฤษ เมื่อ ค.ศ.1919 คุณแมคลาเรนก็ได้อนุสรณ์สำหรับความดีของท่านคือลายผ้านุ่งประจำตระกูลของท่าน (ที่มักจะเห็นหนุ่มชาวสก็อตนุ่งเป็นกระโปรง)  ติดอยู่ที่มุมผ้าผูกคอกิลเวลล์สำหรับผู้ได้ Wood Badge มาถึงปัจจุบัน

 
   

 

 

 

 

 

 

 

   B-P with Scoutmasters at Gilwell  Park                       ผ้าผูกคอแบบกิลเวลล์                                                 
                                                                                    ติดแผ่นลายผ้านุ่งประจำตระกูล  Maclaren

มาถึงเรื่องผ้าผูกคอลูกเสือไทยบ้างดีไหม ?

 

 

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม  พ.ศ.2454 (ค.ศ.1911) นั้น           ทรงก่อตั้งกิจการเสือป่าขึ้นก่อนเมื่อวันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2454 (พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2454 ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)กองเสือป่ามีเครื่องแบบสนามที่ใช้ผ้าผูกคอแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเสือป่า  ครั้งที่ 1  ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รัชกาลที่ 6   ฉลองพระองค์เครื่องแบบเสือป่า  

พระมาลาหนีบ  ผ้าผูกพระศอ  ในการซ้อมรบเสือป่า

 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพประวัติศาสตร์ที่ค่ายหลวงบ้านไร่ 

 

 

ขณะนั้น ฯพณฯ มล.ปิ่น มาลากุล  เป็นนักเรียนเสือป่ารับใช้   เครื่องแบบใช้หมวกหนีบ  มีผ้าผูกคอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์  บุนนาค  ลูกเสือคนแรกแห่งสยาม

 

ลูกเสือหลวง   แต่งเครื่องแบบตามข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ  ร.ศ. 130    ใช้หมวกสาบเหลือง  ผ้าพันหมวกลายเสือ  ดอกไม้จีบสลับดำกับเหลือง ปักขนนกขาว บ่าเกลียวสีแดง  ผ้าพันคอสนามพื้นดำขอบแดง  (หมายเหตุ-ขณะนั้นใช้คำนี้)  นอกนั้นเหมือนลูกเสือทั่วไป  ยกเว้นถุงเท้าดำพับใต้เข่านั้น ต่อมาเพิ่มริ้วเหลืองดำ  ส่วนเรื่องเนตรนารีก็เช่นกัน  เนตรนารีในยุคเริ่มแรกระหว่างทดลองฝึกที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย  ส่วนของผ้าผูกคอก็จะเป็นโบว์สีแดงแทน  ดังนั้นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องแบบลูกเสือไทยทั้งหมดยังมีอีกมาก ต้องแยกไปอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว   

แล้วลูกเสือไทยมีผ้าผูกคอหลากหลายแบบและสีสัน    แถมใช้ห่วงรัดผ้าผูกคอกันตั้งแต่เมื่อใด ?

ดังที่กล่าวแล้วว่า เรื่องเกี่ยวกับเครื่องแบบลูกเสือไทยมีอีกมากและเกี่ยวพันกัน  ตามแต่การ ตรา พ.ร.บ.ลูกเสือแต่ละยุคสมัย   จึงขอข้ามมาถึง “กฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ” (เขียนอย่างนี้จริง ๆ ไม่บอกว่ากระทรวงอะไร  แต่ไปรู้ตอนท้ายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนาม) มีหลายฉบับ  มีการแก้ไขหลายครั้ง  หลาย พ.ศ. กำหนดให้ลูกเสือแต่ละประเภท  แต่ละเหล่า  ใช้ผ้าผูกคอขนาดต่าง ๆ กัน  เช่น  ลูกเสือสำรอง  ใช้ผ้าผูกคอรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว  ด้านฐาน 90 ซม.  ด้านตั้ง 65 ซม.  สีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนดและมีห่วงซึ่งไม่ใช่ห่วงกิลเวลล์สวมผ้าผูกคอ  ดังนี้เป็นต้น

                แต่พอถึงลูกเสือสามัญ  ได้กำหนดให้ใช้สีตามสีประจำภาคการศึกษา  (หรือเขตการศึกษาและปัจจุบันเป็นเขตตรวจราชการ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป)  ถ้าเป็นลูกเสือเหล่าสมุทรก็จะกำหนดต่างกันออกไป  รายละเอียดก็มีในหนังสือกฎกระทรวงฯ นั้น  ก็ใช้มาถึงปัจจุบัน

                ผ้าผูกคอลูกเสือที่เป็นผู้บังคับบัญชาตำแหน่งต่าง ๆ  ก็น่าสนใจ  เพราะกำหนดมาทุกตำแหน่ง  เช่น  สภานายกลงมาถึงกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติใช้ผ้าสีกรมท่ามีขลิบเหลือง ขนาด 0.5 ซม.  ตั้งแต่ผู้อำนวยการใหญ่ลงมาถึงเจ้าหน้าที่ลูกเสือประจำสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติก็ใช้ผ้าสีกรมท่า  มีขลิบสีฟ้า  ขนาด 0.5 ซม.  (หมายเหตุ-ด้านหลังตรงมุมผ้าใช้ตราคณะลูกเสือแห่งชาติ)ผู้บังคับบัญชาอื่น ๆ ใช้ผ้าผูกคอเหมือนลูกเสือสามัญ  มีขลิบสีขาบขนาด 2 ซม.  ด้านหลังจะเป็นตราประจำจังหวัดนั้น ๆ   หากไม่ใช้ผ้าวูดแบดจ์แล้ว  ก็สามารถใช้ผ้าผูกคอแบบนี้ได้ทุกเมื่อ  (ไม่จำเป็นว่าจะหมายถึงผู้ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้นเท่านั้น)     สำหรับองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ    ผ้าขลิบริมสีธงชาติ กว้าง 2 ซม.       ขออัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์มาเพื่อเป็น ศิริมงคลแก่พี่น้องลูกเสือทุกท่าน ณ ที่นี้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                เรื่องผ้าผูกคอลูกเสือไทยคงจะจบไม่สมบูรณ์นัก  หากไม่กล่าวถึงผ้าผูกคออีก 2 แบบ  คือผ้าผูกคอสำหรับไปต่างประเทศ  นับเป็น “ผ้าผูกคอพิเศษ”  สีกรมท่า  ขลิบริมสีเหลือง กว้าง 0.5 ซม.  ที่มุมมีรูปแผนที่ประเทศไทยสีเหลือง  มีอักษร THAILAND สีเหลือง (“ผ้ากิลเวลล์” ก็อยู่ในหมวดผ้าผูกคอพิเศษ” เช่นกัน)

                ผ้าผูกคอชนิดสุดท้ายคือ “ผ้าผูกคอลูกเสือชาวบ้าน” เป็น “ผ้าผูกคอพระราชทาน”สีแดงเลือดหมู  ขลิบสีดำ   สมัยแรก ๆ  ใช้ภาพพระแก้วมรกตประกอบแผนที่ประเทศไทยสีเหลือง ที่มุมผ้า ต่อมาปรับปรุงเป็น   อักษรคำว่า  ไทย  กลางรูปแผนที่แทน 

                เล่าเรื่องผ้าผูกคอลูกเสือมาแต่แรกเริ่ม  เป็นเรื่องอดีตยาวนานกว่า 100 ปี แล้วก็ให้เห็นภาพโดยรวมเป็นลำดับมา อาจมีเรื่องใดที่จะขาดตกบกพร่องหรือคลาดเคลื่อนไปบ้างก็เป็นไปได้   โอกาสข้างหน้าก็อาจจะได้มาเสริมหรือปรับปรุงกันอีก  พี่น้องลูกเสือท่านใดที่มีความรู้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์  ขอเชิญช่วยกันแนะนำเพื่อให้เป็นความรู้ความเจริญกับกิจการลูกเสือของเรากันต่อไป.

 ครูเล็ก   ราชบุรี  15  ธ.ค.2553

หมายเลขบันทึก: 413977เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2012 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ภาพไม่มาจริง ๆ ด้วย แล้วจะส่งไฟล์ภาพต่างหากนะครับ

นายชะอุ้ม เชื้อทอง

ท่านครับ ภาพไม่มาครับขอความกรุณาแนบไฟล์ภาพไปที่เมล์ข้างต้น เพื่อเป็นวิทยาทานขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท