ตัวแปรของงานวิจัย


ข้อมูล ตัวแปร และ สมมติฐาน

ตัวแปร (Variable)

                ตัวแปร หมายถึง สิ่งที่ได้จากการสังเกต วัด สอบถามจากหน่วยที่ศึกษาที่มีค่าได้หลายค่าและเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ได้ เช่น อายุ เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ ตำแหน่งงาน เป็นต้น เมื่อหน่วยศึกษาแตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้ก็แตกต่างกันออกไป  เช่น ตัวแปร คือ อายุ ข้อมูลที่ได้จากหน่วยที่ศึกษาอาจมีอายุเป็น ๑๘, ๒๐,๓๐ เป็นต้น หรือตัวแปรคือระดับการศึกษา

                ข้อมูลที่ได้จากหน่วยศึกษาอาจเป็นระดับมัธยมศึกษา  ปริญญาตรี  ปริญญาโท เป็นต้น หากหน่วยที่ได้ศึกษาใดก็ตามให้ข้อมูลเหมือนกันหมดหรืออย่างเดียวจะไม่เรียกหน่วยศึกษานั้นว่าตัวแปร เช่น ความเร็วของเครื่องคอมพิวเตอร์ในหน่วยงานเท่ากันหมด ความเร็วของเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ไม่จัดว่าเป็นตัวแปร เป็นต้น  สำหรับตัวแปรทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความคิดเห็น  ความพึงพอใจ  การมีส่วนร่วม เป็นต้น

ประเภทของตัวแปร

                โดยทั่วไปตัวแปรจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ตัวแปรเชิงปริมาณ คือตัวแปรที่ประกอบด้วยข้อมูลที่เป็นตัวเลข ใช้แทนขนาดหรือปริมาณ เช่น อายุ ประกอบด้วยอายุต่าง ๆ หน่วยเป็นปี เป็นต้น ตัวแปรอีกตัวหนึ่งคือตัวแปรเชิง คุณภาพ หรืออาจเรียกว่าตัวแปรเชิงกลุ่ม คือ ตัวแปรที่ประกอบด้วยข้อมูลที่ไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ เช่น เพศ ประกอบด้วยเพศต่าง ๆ ไม่มีหน่วยวัด แต่สามารถแทนค่าเป็นตัวเลขได้โดยไม่สามารถนำมาคำนวณแทนได้ เช่นเพศชายให้แทนค่าเป็นหมายเลข ๑ เพศหญิงให้แทนค่าเป็นหมายเลข ๒ เป็นต้น

ลักษณะและชนิดของตัวแปร

                ตัวแปรที่พบเห็นในงานวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งจะศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะและการมีส่วนร่วมของมนุษย์ ซึ่งสามารถแบ่งลักษระของตัวแปรออกได้เป็น ๒ ลักษณะ ด้วยกัน ได้แก่

                                ๑.ตัวแปรที่แสดงความหมายในลักษณะที่คนทั่วไปรับรู้ตรงกันหรือสอดคล้องกันเป็นรูปธรรม เช่น เพศ อายุ รายได้ เชื้อชาติ เป็นต้น อาจเรียกตัวแปรชนิดนี้ว่า ตัวแปร Concept

                                ๒.ตัวแปรที่แสดงความหมายในลักษณะเฉพาะตัวบุคคล คนทั่วไปอาจรับรู้ตรงกันหรือแตกต่างกันได้ โดยมากเป็นนามธรรม เช่น ความคิดเห็น การมีส่วนร่วม ความเป็นผู้นำ ทัศนคติ ซึ่งสังเกตโดยตรงไม่ได้ ต้องใช้เครื่องมือในการวัด อาจเรียกตัวแปรชนิดนี้ว่า ตัวแปร Construct

               ในการวิจัยผู้วิจัยจำเป็นต้องจำแนกตัวแปรตามการวิเคราะห์ว่าตัวแปรทั้งหมดกี่ตัว มีอะไรบ้าง และเป็นตัวแปรชนิดใดบ้าง ซึ่งสามารถจำแนกตัวแปรได้ ดังนี้

                                ๑.ตัวแปรอิสระ (Independent Variable) คือตัวแปรที่เกิดขึ้นก่อนหรือเป็นตัวแปรที่เป็นเหตุ ทำให้เกิดผลตามมา

                                ๒.ตัวแปรตาม (Dependent Variable) คือตัวแปรที่เกิดขึ้นเนื่องจากตัวแปรอิสระ หรือเป็นตัวแปรผล อันเกิดจากเหตุ

                ตัวอย่างของตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม  เช่น การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของผู้นำท้องถิ่น

                ตัวแปรอิสระ ประกอบด้วย

                                 ๑) เพศ มี ๒ เพศ   คือ  เพศชาย     เพศหญิง

                                 ๒)ตำแหน่ง มี ๓ ตำแหน่ง  คือ  นายก อบต.  ประธานสภา อบต.   ส.อบต.

                ตัวแปรตาม ประกอบด้วย

                                 ๑)    พฤติกรรมด้านการเสียสละ

                                 ๒)   พฤติกรรมด้านการมีวินัย

                                 ๓)   พฤติกรรมด้านความขยันหมั่นเพียร

                                 ๔)   พฤติกรรมด้านความซื่อสัตย์

                                 ๕)   พฤติกรรมด้านความมีน้ำใจนักกีฬา

                                 ๖)    พฤติกรรมด้านการให้ความร่วมมือ

                                 ๗)   พฤติกรรมด้านการรู้จักช่วยตนเอง

               ตัวอย่างการวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบการมีวินัยแห่งตนและผลสัมฤทธิ์ทางการอบรมผู้นำ ของ ส.อบต.ตำบลสะเดียง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวิธีการอบรมแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์กับการอบรมแบบบรรยาย

ตัวแปรอิสระ คือ วิธีการอบรม ซึ่งมี ๒ วิธี คือ

๑)    วิธีอบรมแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์

๒)   วิธีอบรมแบบบรรยาย

ตัวแปรตาม คือ

๑)    ผลสัมฤทธิ์ทางการอบรมผู้นำ

๒)   ความมีวินัยแห่งตน

                                ๓.ตัวแปรทดลอง (Experimental Variable) เป็นตัวแปรปฏิบัติ (Treatment Variable) หรือตัวแปรอิสระ ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่เกิดขึ้นจากการทดลองหนึ่ง ๆ เพื่อให้เป็นเหตุ และเพื่อศึกษาตัวแปรที่เกิดขึ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

                               ๔.ตัวแปรแทรกซ้อนหรือเรียกว่าตัวแปรเกิน (Extraneous Variable) เป็นตัวแปรที่ไม่ต้องการศึกษาของงานวิจัยเรื่อง หนึ่ง ๆ ในขณะนั้น  มีลักษณะเหมือนตัวแปรอิสระ ตัวแปรแทรกซ้อนนี้จะส่งผลมารบกวนตัวแปรอิสระที่ศึกษา ทำให้ผลการวัดค่าตัวแปรคลาดเคลื่อนไปได้ ตัวแปรชนิดนี้จึงต้องทำการควบคุมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ตัวแปรชนิดนี้ผู้วิจัยคาดการณ์ได้ว่าจะมีอะไรบ้าง จึงสามารถทำการควบคุมได้ล่วงหน้า    ตัวอย่างเช่น ในการทดลองการอบรมที่กล่าวมาแล้ว เพื่อจะศึกษาว่า ผู้นำจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการอบรมแตกต่างกันหรือไม่ สิ่งที่เป็นตัวแปรแทรกซ้อนจะได้แก่ วิทยากร ถ้าใช้วิทยากรคนละคนอาจจะมีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการอบรมของผุ้นำต่างกันได้ ดังนั้นจึงต้องควบคุมโดยใช้วิทยากรคนเดียวกัน นอกจากนั้น พื้นฐานของผู้เข้าอบรม  ทัศนคติและความสนใจของผู้เข้าอบรมที่มีต่อวิธีการอบรมกระบวนการวิชาที่ใช้อบรม เพศของผู้เข้าอบรม  เป็นต้น   สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรแทรกซ้อน  ผู้วิจัยต้องทำการควบคุมตัวแปรเหล่านี้ให้เกิดมีขึ้นน้อยที่สุด  เพื่อให้ตัวแปรตามที่วัด เกิดจากการกระทำของตัวแปรอิสระแต่เพียงอย่างเดียว ผลการวิจัยจึงจะถูกต้องมากที่สุด

                                ๕.ตัวแปรแทรก (Intervening Variable) เป็นตัวแปรอีกชนิดหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อตัวแปรตามคล้าย ๆ ตัวแปรแทรกซ้อน แต่มีลักษณะต่างกันตรงที่ว่าตัวแปรชนิดนี้ ผู้วิจัยไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า มีอะไรบ้าง และจะเกิดขึ้นเมื่อใด จึงไม่สามารถหาทางควบคุมได้ เช่น ความวิตกกังวล ภาวะของสุขภาพ ความตื่นเต้น เป็นต้น ตัวแปรชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการทางจิตวิทยา

ความผิดพลาดในการกำหนดตัวแปร

                ในการกำหนดตัวแปรถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับงานวิจัย แต่เพื่อป้องกันความผิดพลาดจึงควรพิจารณาสาเหตุของความผิดพลาดที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้

                ๑.ความไม่เข้าใจในความหมายของตัวแปรสืบเนื่องมาจากผู้วิจัยขาดทักษะในการใช้ภาษาไทยหรือความรู้ทางจิตวิทยาที่เกี่ยวกับตัวแปร เช่นคำว่าการอนุรักษ์ กับการยังคงไว้ จะมีความหมายที่แตกต่างกัน เพราะการอนุรักษ์จะมีความหมายที่กว้าง รวมถึงการดูแล รักษา ฟื้นฟู และจัดการด้วย เป็นต้น

                ๒.การขาดการศึกษา ทบทวน เอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ การศึกษาเอกสารต้องศึกษาและทบทวนไม่ครอบคลุม  จะทำให้ได้ตัวแปรที่ไม่ถูกต้องหรือละเลยตัวแปรที่สำคัญไปโดยเฉพาะการวิจัยเชิงสาเหตุ ต้องศึกษาคัวแปรเชิงสาเหตุให้ครอบคลุมมาที่สุด

                ๓.การขาดทักษะในการเขียน ทำให้การระบุชื่อตัวแปรผิดพลาด เช่นการมีส่วนร่วม กับการสนใจในการมีส่วนร่วม จะมีความแตกต่างกัน ถ้าเป็นความสนใจในการมีส่วนร่วมจะต้องมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความสนใจควบคู่กับการมีส่วนร่วม  หรือถ้าชื่อตัวแปรยาวเกินไปอาจทำให้เข้าใจผิดว่ามีตัวแปรหลายตัว เช่นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ตัวแปรก็คือ การมีส่วนร่วม ส่วนประชาชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมนั้นเป็นคำขยาย เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 413952เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท