สอนเรื่องตัวแปร


สอนวิชาเริ่มต้นโครงงานวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนชั้น ม.1 มานานแล้ว ตั้งแต่หลักสูตร 2521 ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรี จนมาเป็นสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมในหลักสูตร 2544 และ 2551 สาระสำคัญต้องการปูพื้นให้รู้และศึกษาหาความรู้ด้วยวิธีการและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ ในระดับชั้นมัธยมเรียกการค้นคว้าลักษณะนี้ว่า โครงงาน 

เมื่อภาคเรียนที่แล้ว ฝึกให้นักเรียนแก้ปัญหาโดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ฝึกให้ช่างสังเกตด้วยประสาทรับสัมผัสต่างๆ อาทิ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย รวมถึงสร้างความตระหนักของการเป็นผู้ที่มีเหตุผล มาภาคเรียนนี้ ตั้งใจจะฝึกให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย การระบุปัญหา ตั้งสมมติฐาน ตรวจสอบสมมติฐาน และสรุปผล กิจกรรมต่างๆวางแผนจะร่วมกันคิดกับนักเรียนในชั้นตามสถานการณ์จริง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไป 

ความเห็นส่วนตัวแล้ว ไม่ว่านักเรียนจะแก้ปัญหา หรือต้องการจะรู้อะไรสักอย่าง ถ้าทุกคนทำตามขั้นตอนของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ ตรวจสอบก่อนทุกครั้ง จนมีข้อมูลน่าเชื่อถือมากพอ จึงค่อยสรุป ค่อยเชื่อ อย่างนี้จึงจะถือได้ว่าการเรียนของนักเรียนประสบความสำเร็จ 

การตรวจสอบสมมติฐานอาจทำได้หลายวิธี มิใช่แค่การทดลอง อาจทำง่ายๆด้วยการถามจากผู้รู้ โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งหลาย อาจค้นคว้าจากตำรับตำราในห้องสมุด หรือสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตครูกูเกิลเก่งมาก(ฮา) ไม่เชื่อพิสูจน์ได้ทดลองเป็นวิธีหนึ่งเท่านั้น ย้ำเรื่องนี้บ่อย ร้อยทั้งร้อย หากถามวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์เกี่ยวกับอะไร นักเรียนตอบว่าการทดลองแน่ 

แต่ถ้าจะตรวจสอบสมมติฐานด้วยการทดลอง จำเป็นที่ต้องรู้จักตัวแปรต่างๆ ทั้งตัวแปรต้น(อิสระ) ตัวแปรตาม และตัวแปรควบคุม นักเรียนมักสับสนและออกแบบการทดลองได้ไม่ดี เพราะไม่เข้าใจตัวแปร 

การสอนให้รู้จักตัวแปร ทดลองมาหลายแบบแล้ว แบบหนึ่งคิดว่าจะเข้าใจดีกว่า ตัวเองเพิ่งเรียนรู้เมื่อการสอนครั้งล่าสุดครับ ก่อนโน้น บรรยายเลย ตัวแปรคืออะไร มีกี่แบบ แล้วจึงให้ออกแบบการทดลอง อย่างนี้นักเรียนจะงง ความไม่เข้าใจน่าจะเกิดจากเกร็งเรื่องความถูกผิดของตัวแปร จนลืมการตรวจสอบทั่วๆไป ซึ่งทุกคนน่าจะคิดได้อย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว 

บางครั้งให้นักเรียนเขียนวิธีการทดลองส่ง แล้วค่อยชี้ ค่อยอธิบาย ว่าตัวแปรต่างๆในการทดลองนั้นคืออะไร บางคราวก็ยกการทดลองหนึ่งขึ้นมาให้ร่วมกันพิจารณาพร้อมตั้งคำถาม สิ่งนี้ทำไมต้องเท่า ต้องเหมือน สิ่งนี้ทำไมต้องต่าง แล้วค่อยสรุปเปรียบเทียบถึงตัวแปร 

ครั้งล่าสุด เมื่อต้นภาคเรียนนี้เอง ผมเริ่มด้วยการถามนักเรียนอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยถึงปัจจัยการงอกและการเจริญของเมล็ด นักเรียนคงงงๆ งอกกับเจริญคล้ายกัน ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องให้นักเรียนช่วยกันคิด ช่วยกันตอบ หากไม่ครบครูก็เสริมเพิ่มเข้าไป แล้วช่วยกันสรุป 

จากนั้นให้ช่วยกันคิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเมล็ดถั่วซึ่งหาได้ง่าย ไม่ไปไหนดอกครับ ค่อนข้างแน่นอนว่า นักเรียนจะระบุปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยการงอกหรือการเจริญของเมล็ดนั่นเอง อย่างนั้นคิดว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร ลองเดาอย่างมีเหตุมีผลดู แล้วจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคำตอบซึ่งเดาถูกหรือผิด ค่อยๆตั้งคำถามให้นักเรียนคิดไปทีละขั้นๆครับ 

ชั่วโมงต่อจากนั้น ก็ปล่อยให้นักเรียนเพาะถั่ว เพื่อหาคำตอบตามที่แต่ละกลุ่มคิด กว่าเมล็ดถั่วจะงอกหรือจะเจริญก็อีกสัปดาห์ข้างหน้า นักเรียนช่วยกันเพาะถั่วไม่นานนัก เวลาที่เหลือ ผมแนะวิธีและหัวข้อเขียนรายงานผลการทดลอง โดยย้ำ..ชั่วโมงหน้าแต่ละกลุ่มต้องเขียนรายงานผลการทดลองส่ง รวมถึงนำถั่วที่เพาะมาอวดเพื่อนๆด้วย 

สัปดาห์ต่อมา นักเรียนนำต้นถั่วที่งอกและเจริญมาอย่างพร้อมเพรียง ผมให้แต่ละกลุ่มออกมาเล่าหน้าชั้นว่าทำอย่างไรไปบ้าง โดยให้บอกข้อสงสัย คำตอบที่เดา วิธีตรวจสอบ และผลการทดลองที่ได้ หลังเล่าเสร็จ ทุกกลุ่มจะถูกถามด้วยคำถามเดียวกัน การทดลองทั้งสองชุดนั้นอะไรต่างกัน อะไรเหมือนกัน สังเกตบันทึกผลอะไรจึงนำไปสู่ข้อสรุปได้ บางกลุ่มออกแบบและทดลองมาอย่างไม่เข้าใจนัก ครูก็ถือโอกาสนี้อธิบายให้ทุกคนฟังเป็นความรู้เสียเลย เล่าและอธิบายหลายๆกลุ่มเข้า ดูอาการแล้ว น่าจะเข้าใจขึ้นครับ จากนั้น จึงค่อยเฉลยว่าตัวแปรต่างๆเป็นอะไร

การเรียนในสัปดาห์ถัดจากนั้น ผมให้นักเรียนตั้งสมมติฐานและตรวจสอบ ด้วยการออกแบบการทดลอง พร้อมระบุตัวแปรต่างๆก่อน หากวิธีและตัวแปรถูกต้องทั้งหมดแล้ว จึงจะอนุญาตให้ลงมือทำจริงได้ ปัญหาที่นำมาใช้เป็นโจทย์ครั้งแรก คือ โทรศัพท์แบบใดเสียงจะดังชัดเจนที่สุด ครั้งต่อมานักเรียนเสนอปืนก้านกล้วยของเล่นพื้นบ้านมาใช้ในการเรียนรู้ คำถามคล้ายเดิม ความดังของปืนก้านกล้วยขึ้นอยู่กับอะไร

เริ่มต้นด้วยการให้ลองคิดลองทำไปก่อนเลย ผิดถูกไม่ต้องกังวล หลังจากนั้นจึงค่อยถาม ค่อยชี้ และค่อยเน้น..เป็นอีกวิธีที่นักเรียนน่าจะเข้าใจตัวแปรได้ดีกว่า 

หมายเลขบันทึก: 413572เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2010 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

มารับเอาเทคนิคการสอนค่ะพี่ครู....สมัยเรียนเมื่อก่อนครูก็อธิบายเลยค่ะ...ว่าตัวแปรคืออะไร ..ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม..ก็เป็นงง...ค่ะพี่ครู..กว่าจะ..อ๋อ..ได้..ก็เอ๋อ..พอสมควร...วิธีการของพี่ครูนับว่าสุดยอดเลยนะคะ..

เริ่มต้นด้วยการให้ลองคิดลองทำไปก่อนเลย ผิดถูกอย่าไปสนใจ แล้วจึงค่อยถาม ค่อยชี้ ค่อยเน้นในภายหลัง..เป็นอีกวิธีที่นักเรียนน่าจะเข้าใจตัวแปรได้ดี 

 

กระแตว่า..ใช่เลย..ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์ เห็นปืนก้านกล้วย นึกม้าก้านกล้วยและรถลากทางหมาก

กิจกรรมเหล่านี้เป็นประสบการณ์ตรงครับ

*** ที่จริงเราก็เคยเรียนการทำโครงงานมาตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 5 แล้วนะ พี่จำได้ว่าเรียนวิทยาศาสตร์กับ คุณครูสมศักดิ์ ศักดิ์ศรี ท่านสอนให้ห้องพี่ทำไอติม กว่าจะเป็นไอติมได้ตัวแปรเยอะเลย ....นึกออกใช่ไหม

  • เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ครูเราน่าจะนำไปใช้กันมาก ๆ นะครับ
  • บางทีเด็กอาจจะเบื่อน้อยลง และครูก็เหนื่อยน้อยลงด้วย
  • แต่อย่าใช้แบบผมนะ คือปล่อยให้นักเรียนเรียนรู้ แบบ "ดัง ๆ" ห้องข้างเคียงบ่อย ๆ (กำลังหาผลลัพท์อยู่ครับ...)
  • ขอบคุณครับ -ปณิธิ ภูศรีเทศ

มาเรียนวิทยาศาสตร์กับคุณครู ได้ความรู้และเทคนิคดีๆค่ะ

 

  • พี่ชอบวิธีสอนของอาจารย์ธนิตย์ในทุกบันทึก ชอบที่อาจารย์กระตุ้น "การคิด" เด็กๆ ค่ะ 
  • เดือนก่อน พี่ไปพักที่โรงแรมอมารี พัทยา "เย็นวันหนึ่งมองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นสะพานทอดยาวมากออกไปในทะเล น้ำทะเลขึ้นมาจนถึงคอสะพาน เรือหาปลาเทียบท่าอยู่หลายลำ ใกล้ๆ คอสะพาน ตื่นมาตอนเช้าตรู่สะพานยังคงทอดยาวเช่นเดิม แต่น้ำทะเลหดหายไปลิบๆ อยู่ตรงปลายสะพาน  เรือหาปลาถอยตามน้ำไปด้วย"
  • เช้านั้น พี่คิดอยากเป็นครูสอนเด็กๆ อนุบาลเหลือเกิน พี่จะพาเด็กๆ ไปดูสะพานเวลาน้ำขึ้น และเวลาน้ำลง ให้เด็กๆ ได้เห็นชีวิตชาวประมง แล้วถามเด็กๆว่า  "ทำไมต้องสร้างสะพานยาวๆ ออกไปในทะเล" 
  • อาจารย์ว่าเด็กอนุบาลจะตอบได้มั๊ยคะ...พี่ว่าตอบได้น่า...

การเรียนที่มีคุณค่า คือการเรียนรู้จากการปฏิบัคิ และเรียนรู้ร่วมกัน

สนับสนุนคุณครูกระแตค่ะ ว่าเมื่อก่อนการเรียนแบบมีส่วนร่วมมีน้อย ไม่ได้โทษหรือว่าอาจารย์ใดๆทั้งสิ้นแต่ด้วยเพราะระบบการศึกษาแต่ละยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เริ่มต้นด้วยการให้ลองคิดลองทำไปก่อนเลย ผิดถูกไม่ต้องกังวล หลังจากนั้นจึงค่อยถาม ค่อยชี้ และค่อยเน้น..เป็นอีกวิธีที่นักเรียนน่าจะเข้าใจตัวแปรได้ดีกว่า ... อย่างนี้ก็เป็นการเรียนอย่างมีความสุขแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • พี่ครูครับ
  • ชอบก้านกล้วยที่เด็กๆๆเล่น
  • ไม่ได้เห็นนาน
  • เอหรือผมคนโบราณเนี่ย
  • เคยไปอบรมวิจัยให้ครู ครูงง ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม
  • ฮ่าๆ

                                             Merry Christmas animated with many colors
                                  

***ส่งความสุขปีใหม่ ...ให้ครอบครัวสุวรรณเจริญทุกคน

*** ด้วยรัก....จาก กิติยาและน้องฟาง

***  กิติยาและน้องฟางถูกใจสิ่งนี้....บรรยากาศคล้ายโฆษณาบรั่นดียี่ห้อดัง

*** จัดแสงได้งดงามจริงๆ   .... ขอบคุณค่ะ

เป็นเทคนิคการสอนที่ดีค่ะ  ยอดเยี่ยมมาก

  • พี่เคยสอนเรื่องตัวแปรจากเรื่องใกล้ตัว หลายๆเรื่อง เช่นการเจริญเติบโตของพืช  การเจริญเติบโตของไก่  ฯลฯ  
  • แต่ถ้า  นักเรียนทะเลาะและชกต่อยกัน น้องลองหาตัวแปรให้พี่หน่อย 
  • แต่ผลการทดลองพอจะเข้าใจได้โดยไม่ต้องอาศัยสมมติฐาน
  • ใช้การพยากรณ์แทนได้มั๊ย    55555555
  • ขอบคุณค่ะ

 

*** ทุกวันครู...คิดถึงครอบครัวสุวรรณเจริญของครูทุกปี ... ทำบุญวันครูครั้งใดส่งใจไปกราบคุณครู

*** ด้วยรักและศรัทธา...สุวรรณเจริญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท