วัฒนธรรมการเรียนรู้ 25/07/49


การเรียนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549
เรียน ศ.นพ.วิจารณ์
      การเรียนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 จากการสอนแบบไม่สอนของอาจารย์ ดิฉันได้เรียนรู้ถึง การมอง กับ การเห็น นั้นแตกต่างกัน ซึ่งคนทั่วไปรวมทั้งดิฉันก็ยังเคลิ้มแต่ระดับของการเห็น กล่าวคือ เห็นโต๊ะเป็นโต๊ะ เห็นการสนทนา เป็นการสนทนา แต่หากยังไม่มองทะลุให้ลึกไปกว่านั้นว่าที่ตาเห็น ที่หูได้ยิน ส่งสัญญะ อะไร อย่างไร ด้วยเหตุผลใด เราต้องตั้งท่าอย่างไรต่อสัญญะนั้น
      อาจารย์คงจำได้ว่า อาจารย์ได้ถามนักศึกษาว่า การที่มูลนิธิข้าวขวัญได้เปิดโครงการ โรงเรียนชาวนานั้น มีเป้าหมายอะไร นศ.หลายคนที่มีโอกาสตอบ ก็เป็นคำตอบที่เฉียดเป้า ส่วนคนที่ยังไม่ได้ตอบ บางคนคงตอบเข้าเป้า แต่คำตอบของดิฉันก็เป็นเพียงการมองแบบแบน ๆ ว่าปลายทางของมูลนิธิขวัญข้าวนั้น เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้ตระหนักว่าความรู้ที่จะนำมาช่วยแก้วิกฤตนั้นอยู่ใกล้ ๆ ตัวเขา อาจอยู่ในตัวเขาเองบ้าง เพื่อนบ้านบ้าง แต่หากนำมาประยุกต์กับความรู้สมัยใหม่ จะมีอานุภาพร้ายแรงเพียงพอที่จะทำลายวิกฤตของเขาได้ แต่ปลายทางที่อาจารย์เฉลย มันเป็นคำตอบที่ต้องเรียกว่าต้องทะลุทะลวงไปกว่านี้มาก เพราะปลายทาง คือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคน
      นอกจากนี้การที่อาจารย์ได้เชิญคุณอ้อมมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้พวกเราประจักษ์ว่าความสามารถของใครสักคน ใช่เกาะติดอยู่กับที่ตำแหน่งวิชาการ วุฒิการศึกษา หรืออายุ แต่อย่างใด แต่ความรู้อยู่ในทุกคนหากคนนั้นมีประสบการณ์ตรง ทั้งจากการเรียน จากการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนชำนาญ ถ้าเป็นการปรุงอาหารก็เรียกว่ามีรสมือ แม้ไม่ได้ใส่ส่วนผสมตามตำรา ซึ่งหากใครประพฤติตนเป็นข้าวรวงลีบ ก็จะอดสัมผัสความรู้ที่ไม่ต้องจ่ายค่าลงทะเบียน หรือมีเงื่อนของเวลามาบังคับ
      สุดท้ายได้เรียนรู้ว่าการไม่ได้พูด ไม่ได้เขียน เป็นการสิ้นอิสรภาพทางความคิดเช่นกัน อาจารย์พยายามให้เราได้หลุดพ้นพันธนาการ โดยการให้เราได้แสดงความคิดเห็นทั้งจากการมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน และการเขียนลง blog ให้พวกเราได้บินไปพบปิยมิตรทางปัญญา
                                          ขอบพระคุณค่ะกุณฑลีย์ ไวทยะวณิช 
คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 41353เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2006 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 08:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท