ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๔๐. กัญชาเป็นยา


ประเทศไทยควรเป็นประเทศที่ผลิตอาหารและยาให้แก่โลกผ่านการเกษตรแผนใหม่ การเกษตรชนิดที่ให้มูลค่าเพิ่มสูง และมีคุณค่าสูงต่อมนุษยชาติ สิ่งที่มีคุณค่าสูงมักจะมีอันตรายสูงตามมา เราสามารถเพิ่มคุณค่าลดอันตรายได้โดยการวิจัยสร้างความรู้ให้สังคมรู้จักใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ลดโทษ และต้องวิจัยและสื่อสารต่อสังคมไทยและต่อโลก เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้คน ให้เห็นว่าข้อตกลงระดับโลกหลายอย่างไม่เป็นธรรม หรือไม่ถูกต้อง สมควรได้รับการแก้ไข

          ผมเคยเขียนเรื่องกัญชาไว้ที่นี่   บัดนี้นิตยสาร ไทม์ ฉบับวันที่ ๒๒ พ.ย. ๕๓ ลงบทความยาว ๑๐ หน้า เรื่อง How Marijuana Got Mainstreamed   แสดงให้เห็นโอกาสที่ประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็น “แหล่งยารักษาโรคให้แก่โลก”   ไม่ใช่แหล่งผลิตยาเสพติด
          เรื่องกัญชาเป็นตัวอย่างที่ดี ว่าหากเราสามารถสร้าง “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์” ได้ด้วยตนเอง   เราจะไม่ต้องตามก้นฝรั่ง   ที่ผ่านมาฝรั่งว่าไม่ดีเราก็ว่าไม่ดีตาม ยอมกำหนดให้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย   บัดนี้ฝรั่งเริ่มรู้จักคุณประโยชน์ของมัน   และรู้จักใช้ในทางที่เป็นประโยชน์   เราน่าจะไหวตัวเร็ว   เพราะนี่คือจุดได้เปรียบของเรา
          ที่จริงฝิ่นก็เป็นยา ฝิ่นเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นสำหรับผลิตมอร์ฟีน สำหรับใช้เป็นยาแก้ปวดที่ราคาถูกและได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต  แต่เราต้องซื้อยาราคาแพงจากต่างประเทศ   ผลิตเองไม่ได้   ทั้งๆ ที่ภาคเหนือของเราเป็นแหล่งที่เหมาะสมยิ่งต่อการปลูกฝิ่น   และเราเคยปลูกมาแล้ว   ทำไมเราไม่สามารถปลูกฝิ่นเพื่อผลิตมอร์ฟีนขายให้แก่โลก ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีง่ายมาก   แต่บริษัทฝรั่งผลิตได้ 
          เวลานี้โลกเริ่มเปลี่ยนกระบวนทัศ์การมองกัญชา จากจากยาเสพติด สิ่งเลวร้าย เป็นยา (medicine) เป็นสิ่งดีที่ช่วยให้ชีวิตไม่ทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้ปวด
          และสำหรับประเทศไทย แทนที่ผู้ป่วยที่ต้องการใช้กัญชาเป็นเวลานาน เพราะเป็นโรคเรื้อรัง จะต้องซื้อ ควรจะปลูกเองในสวนครัว  ทั้งประเทศน่าจะลดค่าใช้จ่ายด้านยาแก้ปวดได้เป็นพันล้านบาทต่อปี
          โดยต้องมีการวิจัยครบวงจรเพื่อสร้างการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง ใช้มันเป็นทาสเรา ไม่ใช่คนตกเป็นทาสมัน
          อาจต้องวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมายขึ้นมาควบคุมการใช้ ไม่ให้มีการใช้ในทางที่ผิด ทำอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น   เราสามารถเริ่มต้นจากการอนุญาตให้ใช้โดยมีการคุมเข้มก่อน อนุญาตให้ใช้เฉพาะผู้ป่วยที่แพทย์สั่งยาให้ใช้กัญชา และมีคำแนะนำวิธีใช้ที่ชัดเจน รวมทั้งบอกอาการไม่พึงประสงค์ที่จะต้องหยุดยาและไปพบแพทย์   ต่อไปเมื่อสังคมรู้จักควบคุมกันเองได้ดีขึ้นก็ค่อยๆ หย่อนการควบคุมลง
          เป้าหมายอย่างหนึ่งของการวิจัย คือเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้คนในสังคมเกี่ยวกับกัญชา จากเชิงลบเป็นเชิงบวก ที่มีกติกาและจริยธรรมในการใช้ โดยเราสามารถศึกษาจากประสบการณ์ในประเทศอื่นที่นำหน้าไปแล้ว
          เวลานี้โลกมีความรู้เกี่ยวกับกัญชามากมาย ที่จะนำมาใช้กำหนดวิธีใช้ที่ให้ผลดี ลดผลร้าย เรารู้ว่าในกัญชามีสารออกฤทธิ์ ๑๐๘ ชนิด และมีมากน้อยต่างกันในกัญชาต่างสายพันธุ์จากต่างแหล่งผลิต  รวมทั้งออกฤทธิ์ต่างกันในต่างคน  ผู้ใข้แต่ละคนจึงต้องลองเองว่าได้ผลดีที่ต้องการหรือไม่
          สารออกฤทธิ์สำคัญ ๒ ตัวคือ THC (tetrahydrocannabinol) กับ CBD (cannabidinol)
          ความรู้เรื่องการออกฤทธิ์ของกัญชาต่อคนมีมากมาย   รวมทั้งรู้ว่ามันช่วยลดการอักเสบ ซึ่งอาจมีผลช่วยต่อต้านมะเร็ง   แต่ก็มีผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่าสารออกฤทธิ์ชนิดหนึ่งในกัญชาคือ acetaldehyde มีฤทธิ์ทำลาย ดีเอ็นเอ ทำให้เดาต่อได้ว่าอาจเป็นต้วก่อมะเร็ง
          อาการป่วยที่ใช้กัญชามากที่สุดคือปวดอย่างรุนแรงและเรื้อรัง  ร้อยละ ๙๔ ของการใช้กัญชาเป็นยาในสหรัฐอเมริกา ใช้เพื่อบำบัดอาการปวดรุนแรงนี้
          คนที่ใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องจะติดเพียงร้อยละ ๑๐  ในขณะที่ตัวเลขนี้เท่ากับ ๑๕ ในสุรา และ ๓๒ ในบุหรี่
          เราต้องไม่ลืมว่ากัญชา (ทุกสิ่ง) มีทั้งคุณและโทษ  กัญชามีฤทธิ์ลดความสามารถในการรับรู้ (cognitive impairment)  และมีรายงานว่ามีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้า และโรคจิตเภท   อาการแทรกซ้อนทางจิตนี้พบบ่อยในผู้ใช้กัญชาที่อายุน้อย สมัยผมเด็กๆ เขาเรียกคนที่สติไม่ดีเมื่อเสพกัญชาว่า "บ้ากัญชา"
          ประเทศไทยควรเป็นประเทศที่ผลิตอาหารและยาให้แก่โลกผ่านการเกษตรแผนใหม่ การเกษตรชนิดที่ให้มูลค่าเพิ่มสูง และมีคุณค่าสูงต่อมนุษยชาติ   สิ่งที่มีคุณค่าสูงมักจะมีอันตรายสูงตามมา   เราสามารถเพิ่มคุณค่าลดอันตรายได้โดยการวิจัยสร้างความรู้ให้สังคมรู้จักใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ลดโทษ   และต้องวิจัยและสื่อสารต่อสังคมไทยและต่อโลก เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้คน   ให้เห็นว่าข้อตกลงระดับโลกหลายอย่างไม่เป็นธรรม หรือไม่ถูกต้อง สมควรได้รับการแก้ไข
          ประเทศไทยควรมีสิทธิ์ผลิตยาแก้ปวดที่มีคุณค่ายิ่งออกจำหน่ายแก่โลก คือฝิ่น (มอร์ฟีน) และกัญชา
วิจารณ์ พานิช
๑๔ พ.ย. ๕๓

  
 
หมายเลขบันทึก: 413497เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2010 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

หากเราไม่ก้มหน้าก้มตาเชื่อ farang กันมากนัก เราก็คงเชื่อและศรัทธาในภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย ที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น หมอชาวบ้าน ยาผีบอก เป็นต้น เรามีนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เกษตรชาวบ้าน หมอชาวบ้าน และอื่นๆของไทยอีกมากมาย ที่ได้เคยลงเรื่องราวของสมุนไพรไทยที่มีคุณค่าทุกรูปแบบ และได้มีการทำวิจัยทั้งกัญชา กระท่อม เป็นต้น แต่ไม่ได้มีใครนำมาเป็นประเด็นสนใจมากนัก

"ประเทศไทยควรเป็นประเทศที่ผลิตอาหารและยาให้แก่โลกผ่านการเกษตรแผนใหม่"

ประโยคนี้ไม่ไช่สิ่งใหม่หรือข้อคิดใหม่แต่อย่างใด แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องเป็น

"ประเทศไทย(ต้อง)เป็นประเทศที่ผลิตอาหารและยาให้แก่โลก”

หากคนไทย (นักการเมือง) รู้จักรากฐานของประเทศตัวเอง ที่เรามีพืชพันธ์ุไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และพืชสมุนไพรของเรามีสารที่มีความเข้มข้น เพราะเราอยู่ในโซนศูนย์สูตร

คิดว่าคนไทยน่าจะยังจำเหตุการณ์ประกาศเรื่องแปลกแต่จริงข้างล่างนี้ได้

"ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงทางเคมี 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดอกดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข.

ไม่ว่าด้วยสารพัดเหตุผลใดที่เอามาเป็นข้ออ้างของประกาศนี้ ทำให้เดือดร้อนถึง ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร เภสัชกรหลายคน ต้องออกมาช่วยกันปกป้อง อธิบายให้ความรู้กันใหม่ ตลอดจนคนไทยในหลายภาคส่วนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ทั้งๆที่เป็นพืชพื้นฐานคู่ยุคสมัยตั้งแต่ปู่ย่า ตา ทวด กินกันมาจนลูกหลานเต็มประเทศ (หรือคิดว่านั่นยุคโบราณ ไม่รู้จักคำว่าวัตถุอันตราย)

บางคนสนใจเพียงว่า ถ้าชาวต่างชาติที่อยากรู้จักส่วนผสมของต้มยำแล้วไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต พบว่า ขิง ข่า เป็นวัตถุอันตราย แล้วจะคิดอย่างไร

 ต้มยำไทย เกือบจะหายไปจากเมนูอาหารชามหลักของไทยในต่างแดน

ภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยขาดหายเพราะพืชบางชนิดเช่น กระท่อมกลายเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไม่กล้านำมาใช้ ทั้งๆที่หากมีการต่อยอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในอนาคตจะพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้

สงสัยต้องรอให้นิตยสารไทม์ มาช่วยลงเรื่อง “กระท่อม “ (ที่ไม่ไช่บ้าน) จึงจะได้รับความสนใจอีกครั้ง (แต่อาจไม่ทันเพราะขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเราได้นำไปต่อยอดแล้ว)

นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักวิชาการไทย ตลอดจนภาครัฐต้องร่วมมือกันในการที่จะก้าวนำ เพื่อความก้าวหน้า ไม่ไช่ ต้องรอให้ต่างประเทศสนใจทรัพยากรของไทย จึงค่อยตื่นตัว และตื่นตูมเมื่อเขาจดลิขสิทธ์เป็นของเขาเรียบร้อยแล้วดังที่ผ่านมา

อืมม์น่าคิดนะครับ ก็มองได้สองแง่ ในทางการศึกษาก็สอนให้เห็นโทษเป็นส่วนใหญ่แถมมีกฏหมายออกมาควบคุมอีกด้วย แล้วการศึกษาเราก็สอนให้เชื่อความรู้ที่มีการศึกษามาก่อนด้วยซิ มองอีกอย่างนะผมว่าเห็นคนบางกลุมที่มีอำนาจก็อาศัยช่องทางออกกฏหมายควบคุมไปเกือบซะทุกอย่าง อย่างเช่นสมุนไพรไทยบางชนิดตามที่ตกเป็นข่าวกันมาช่วงหนึ่ง ก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วที่ออกมาแบบนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าบ้างอย่างชาวบ้านใช้กันเป็นสรรพคุณทางยามานานแสนนาแล้ว

ขอให้ปลัด และ รมต.สาธารณสุขเห็นชอบด้วยเทอญ

แอบทดลองอยู่ นำสมุนไพร(Strychnos krabiensis A.W. Hill)พญามูลเหล็ก+กัญชา ผสมอัตรา 1:20 ดูดทำให้ยับยั้งการระคายเคืองดวงตา ม่านตาไม่ขยาย จิตใจเบิกบาน สงบ คลายกล้ามเนื้อลายและเรียบ บำรุงรักษาปลอกประสาทเส้นประสาท บำรุงประสาทตา ผสมกัญชาดูดแล้วตาไม่แดงไม่แฉะ ไม่มีอาการเหวอ หลอนหรือฟุ้งซ่านใดๆ ดูไม่ออกว่าดูดกัญชา ประสาทหูและระบบสัมผัสทุกส่วน ระบบหายใจ ทานอาหารอร่อย หลับลึกตื่นแล้วสดชื่นไม่เพลีย บำรุงสมอง ความจำดี แก้ไข้เรื้อรัง ล้างพิษตกค้างในอวัยวะต่างๆ สุขภาพกายดีสุขภาพจิตดี พญามูลเหล็กเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน มีจำหน่ายเป็นชิ้นแก่นไม้หรือบดเป็นผงสะดวกในการใช้ ตามร้านขายยาจีนไทย บดแล้วถุงละ2ขีด20บาท ใช้นิดหน่อยผสมกัญชาใบยานิดหน่อย สูบหลังเลิกงานเหมาะสำหรับคนวัยทำงาน คนสูงอายุวัยทองจะหายจากอาการซึมเศร้าหงุดหงิดขี้บ่น ปวดหลังปวดเอว มองโลกในแง่ร้ายขี้ลืมขี้น้อยใจ กินแล้วบอกไม่ได้กิน จำลูกหลานไม่ค่อยได้ วางของไว้จำไม่ได้หาทั้งวันทั้งคืนอาละวาดไปทั้งบ้าน อาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไปกลายเป็นคนแก่ที่ใจดี สงบน่ารักอารมณ์ดี นับว่ากัญชาและพญามูลเหล็กถือเป็นความกรุณาของธรรมชาติที่ส่งยาวิเศษมาให้พวกเรารักษาร่างกายจิตใจฟรีๆ เสียอย่างเดียวต้องแอบๆใช้ เอาไปใช้เปิดเผยไม่ได้เพราะกัญชายังถูกจับติดคุกอยู่สิ่งดีๆที่สังคมไทยมองข้าม เป็นการเสียโอกาสที่น่าเสียดาย...

น่าจะถูกกฎหมายตั้งนานแล้ว ไม่ต้องเสียเงินซื้อเหล้ากิน

นอกจากจะช่วยรักษาโรคแล้วจะไม่ทำไห้เครียสช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวเพราะต้องซื้อเหล้ากินใหนจะค่าน้ำมันออกไปวื้อเหล้าเพราะกัญชาสามารถปลูกเองได้ง่ายไม่ต้องใช้ผงชูรสประหยัดรายจ่ายไม่เป็นภยต่อสังคมคนเมากัญชาจะอารมณ์ดีไม่โมโหร้ายเหมือนเมาเหล้าในเขมรชาวบ้านปลูกได้บ้านละ5ต้นไม่ต้องไปดูอเมริกาหรอกใกลับ้านเราก็มีให้เห็น

จนถึงวันนี้ประเทศไทยมีนายกจากทหารเสือราชินีแต่พระราชเสาวณีย์เรื่อง"กัญชง"ยังดองเรื่องอยู่ ไม่มีใครสนใจ เกษตรกรไม่ได้ปลูกตามพระราชประสงค์ทั้งที่ทรงดำริจะครบ10ปีในปี2558แล้ว เหตุผลของกระทรวงสาธารณะสุขคือกลัวควบคุมการเพาะปลูกไม่ได้ ทั้งๆที่รัฐโคโรลาโด้และหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาต่างก็เปิดเสรีกัญชาพี่กัญชงไปแล้ว ประเทศกลุ่มอเมรกาใต้ก็เปิดกันหมดแล้ว แต่ประเทศไทยยังหน้าบางเหนียมอายกันอยู่ไม่กล้าออกตัวเพราะกลัวจะโดนเพ่งเล็งจากตำรวจ เดี๋ยวจะโดนยัดข้อหายาเสพติด ฆ่าตัดตอน ยึดทรัพย์ ข้าราชการนักวิชาการทั้งหลายจึงพากันหุบปาก ทั้งที่รู้ข่าวสารความคืบหน้าความจริงเรื่องกัญชาในต่างประเทศมากมาย แต่ไม่กล้าออกหน้าเพราะเสี่ยงกับการเสียชื่อเสียงสู้อยู่เฉยๆดีกว่า ยังไงก็ได้ขั้นทุกปีอยู่แล้ว..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท