เรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหา


การเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียว

เรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหาPBL:Problem Based Learning   

             แก่นแท้ของการเรียนการสอน คือ การเรียนรู้ของผู้เรียนในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้ให้ความสำคัญของการเรียนรู้ไว้อย่างมาก โดยกำหนดให้การจัดการศึกษานั้น ต้องเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาไปตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องเป็นการบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ เป็นการเรียนรู้ที่สนุกสนานและยืดหยุ่น โดยการเรียนรู้มิได้อยู่ที่ห้องเรียนแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีแหล่งการเรียนรู้อื่นที่ผู้เรียนสามารถศึกษาหาความรู้ได้ตามความต้องการของตน          การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหา เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้เพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ ความรู้ ความคิด จินตนาการ เกิดการคิดริเริ่มอย่างสร้างสรรค์ สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้มาปรับใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานและการดำเนินชีวิต  รูปแบบและแนวทางในการจัดการเรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหา มิได้นำมาซึ่งการเพิ่มพูนการเรียนรู้ให้เกิดแก่ผู้เรียนแต่เพียงประการเดียว หากแต่ยังนำมาซึ่งความสมดุลระหว่างหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนรู้ และการวัดผลประเมินผล รวมทั้งการเชื่อมโยงระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษาและแหล่งการเรียนรู้ภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วยคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย คงคุ้นเคยกับพฤติกรรมการตั้งคำถามของลูกหลาน เพราะเด็กๆมีนิสัยชอบถามโน่นถามนี่อยู่ตลอดเวลา รู้สึกไหมครับว่าคำถามที่เด็กๆชอบถามมากเป็นพิเศษจะเป็นคำถามประเภท ทำไม เช่น ทำไมนกบินได้ ทำไมท้องฟ้าเป็นสีคราม ทำไมยีราฟคอยาว ทำไมฝนตก ทำไมหนูทำอันนี้ไม่ได้...ถ้าสังเกตให้ดีๆ จะพบอีกว่าคำถามในทำนองนี้มักจะถูกถามซ้ำ คือถามแล้วถามอีกในเวลาที่ต่างกันแม้ว่าเด็กๆจะไม่เข้าใจคำตอบที่ได้รับในทุกเรื่องที่เขาถาม แต่ตัวคำถามเหล่านั้นก็แสดงให้เราเห็นชัดเจนว่า เด็กๆกำลังคิดถึงสรรพสิ่งรอบๆตัวเขาและกำลังพัฒนาระบบความคิด
            คำถามมีอยู่ว่า เราจะทำอย่างไร
?  
       นักการศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายคนก็ได้พูดถึงเรื่องนี้มามาก และต่างก็ตระหนักดีว่า คำถามของเด็กเป็นธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กที่ต้องการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมหรือบริบททางสังคมที่เขาเผชิญอยู่ นั่นหมายถึงการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงห้องเรียนสีเหลี่ยมในสถานศึกษาเท่านั้น         หากแต่สามรถเรียนรู้ได้ทุกๆที่ทุกๆเวลา (any where any time)
โลกแห่งความเป็นจริงนอกระบบโรงเรียนนั้น ผู้คนสามารถเรียนรู้และทักษะมามากมายมหาศาล จากกระบวนการที่พวกเขาแก้ปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจริง มิได้เรียนรู้จกการทำแบบฝึกหัดที่เป็นนามธรรมการเรียนรู้ที่เกิดจากการได้รับประสบการณ์ดังกล่าวนี้แหละ เป็นพื้นฐานของหลักการเรียนรู้ที่เราเรียกว่า การเรียนรู้ผ่านกระบวนการแก้ปัญหา หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า PBL : Problem Based Learning
          การเรียนรู้แบบนี้มีใช้ในระบบโรงเรียนมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งผู้เขียนร่วมกับคณะนักการศึกษาของไทย ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษา ดูงานด้านการศึกษาและวิชาชีพ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2549 พบว่า สถาบันการศึกษาของเขาได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก  ในเมืองไทยเองก็ได้นำเอาวิธีการนี้มาประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาต่างๆมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีของโรงเรียน        จิระศาสตร์วิทยา ได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
บริบทอยุธยามรดกโลก นักเรียนได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้ โดยมีปราชญ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น  ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ สนองแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง  ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา  ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา  พิพิธภัณฑ์เรือไทย (อาจารย์ไพฑูรย์ ขาวมาลา)  แหล่งศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น  อาทิ การประดิษฐ์ดอกไม้จากโสน  การปั้นตุ๊กตาชาววัง  การปั้นหม้อ   การทำหัวโขน   การสานพัด เป็นต้น
 ตัวอย่างขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านกระบวนการแก้ปัญหา          ขั้นที่ 1 ขั้นวางแผน  เป็นการวางแผนการดำเนินงาน 2 ส่วน คือ การดำเนินงานให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในแหล่งการเรียนรู้และการดำเนินงานร่วมกับสถานศึกษา โดยดำเนินการดังนี้
          1. วางแผนการดำเนินงานและสร้างความเข้าใจกับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
          2. ศึกษาหลักสูตรของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับกิจกรรมของแหล่งเรียนรู้          3. ประสานงานกับครูผู้สอนและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเตรียมการจัดการเรียนรู้ อาทิ การจัดนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม การปฐมนิเทศและกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้          4. เตรียมเนื้อหาให้สอดคล้องกับหลักสูตร ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และจัดเตรียมวิทยากร          5. เตรียมสื่อการเรียนรู้ วัสดุอุปกรณ์และสถานที่จัดการเรียนรู้          6. จัดกิจกรรมโดยแบ่งเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล          ขั้นที่ 2 จัดเตรียมเนื้อหา  เพื่อให้ความรู้ ดังนี้
          - เนื้อหาสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในแหล่งการเรียนรู้ประเภทนั้นๆ อาทิ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมไทย เป็นต้น
          - สอดคล้องกับหลักสูตรและความต้องการของสถานศึกษาและชุมชน          ขั้นที่ 3 จัดทำดัชนีชี้วัด  กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ อาทิ          เชิงปริมาณ 1.     มีกลุ่มผู้ใช้บริการที่หลากหลายและเพิ่มจำนวนมากขึ้น2.     ขยายจำนวนแหล่งการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเชิงคุณภาพ1.     ผู้เรียนมีศักยภาพด้านต่างๆ ดังนี้1.1   มีความรู้ ความเข้าใจในองค์ความรู้และผลงาน1.2   มีทักษะกระบวนการในการแก้ปัญหาและสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้1.3   มีเจตคติที่ดี ชื่นชม เห็นคุณค่า เกิดสุนทรียภาพและเรียนรู้อย่างมีความสุข2.     แหล่งการเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น  มีศักยภาพด้านต่างๆดังนี้2.1   มีความรู้และความเข้าใจในองค์ความรู้และผลงานอย่างลุ่มลึกและกว้างขวาง2.2   มีทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย นักเรียนแต่ละระดับ/ ช่วงชั้น2.3   มีการเผยแพร่องค์ความรู้ด้วยวิธีต่างๆอย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่อง กระบวนการที่ว่านี้ เริ่มตั้งแต่การขบคิดถึงปัญหาที่เผชิญอยู่ให้กระจ่าง การเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารสารสนเทศเพิ่มเติม การแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาหลายๆแนวทาง การประเมินทางเลือกในการแก้ไขปัญหา ว่าอย่างใดจะดีหรือเหมาะสมที่สุด (One best way)          ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เพียงต้องการจะย้ำว่าทางคุณครูหรือคุณพ่อคุณแม่ควรให้โอกาสแก่นักเรียนได้เรียนรู้โดยผ่านกระบวนการแก้ไขปัญหาในชีวิตจริงอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าบรรยายให้ฟัง หรือให้ทำแบบฝึกหัดที่เป็นนามธรรมอย่างเดียว          การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการแก้ปัญหานี้ทำได้กับเด็กทุกวัยและในทุกระดับชั้นเรียน แต่สิ่งที่จะต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้นคือ     การเรียนรู้ในลักษณะนี้จะต้องมีความร่วมมือสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและชุมชน ซึ่งเป็นเสมือนกัลยาณมิตรที่จะช่วยกันอบรมกล่อมเกลาอุปนิสัยใจคอของลูกและศิษย์ให้เป็นคนดี คนเก่ง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข.    

ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ
28 ก.ค.49               
 

หมายเลขบันทึก: 41337เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2006 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท