อิทธิพลจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ต่อการเปิดเขตการค้าเสรีด้านการค้า การบริการและการลงทุน


จากอิทธิพลของแนวความคิดระบบเสรีนิยมใหม่ได้ปฏิว้ติระบบกลไกตลาดสินค้าและบริการไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คือส่งผลต่อกลไกการเกิดขึ้นของตลาดสินค้าและบริการและการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งส่งผลต่ออำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศในการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการค้าของตน

                       หากกล่าวถึงเรื่องของอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่มีความหมายเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งที่บ่งบอกถึงนัยสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรื่องของอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นเรื่องของการใช้อำนาจของแต่ละประเทศในการกำหนดนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดทั้งการก่อนิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย ซึ่งการใช้อำนาจนี้เป็นไปโดยอิสระแต่ก็ต้องเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นๆ

                     จากอิทธิพลของแนวความคิดเสรีนิยมใหม่(neo-liberalism)ได้ปฏิวัติระบบกลไกของตลาดสินค้าและบริการอย่างสิ้นเชิงทั้งการเกิดขึ้นและระบบการทำงานของตลาด โดยตลาดไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติจากระบบกลไกตลาดตามแนวคิดของAdam Smith หากแต่การเกิดขึ้นของตลาดสินค้าและบริการในระดับระหว่างประเทศในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากข้อกำหนดของข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ  ทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคี  ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมากมายเหล่านี้ได้สร้างตลาดสินค้าและบริการให้เกิดขึ้นในสังคมระหว่างประเทศ

                       ข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องสินค้าและบริการเหล่านี้เองที่ส่งผลให้รัฐจำต้องกำหนดนโยบายการบริหารและการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจตามพันธะหรือตามข้อตกลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐในอันที่จะเลือกและดำเนินนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมต่อความเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละรัฐและก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างราบรื่นต่อไป

                       ประเด็นแรกที่สำคัญที่เป็นผลพวงซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากระบบเสรีนิยมใหม่ก็คือแนวคิดในการเปิดเสรีทางการค้า โดยมุ่งเน้นให้นโยบายของรัฐต่างๆตอบสนองต่อการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะภาคการค้าและการบริการ  มีกระบวนการเคลื่อนย้ายทุนและเทคโนโลยี  การจัดทำนโยบายสาธารณะหรือนโยบายต่างๆมุ่งเน้นไปเพื่อการตอบสนองต่อกระบวนการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน

                     โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงประเทศไทยเองแล้ว  เราเองกำหนดนโยบายสาธารณะโดยมุ่งเน้นไปที่การเกื้อหนุน ตอบสนองและอำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนต่างชาติ เพื่อที่จะแสวงหาและทำกำไร(marginalization)ให้มากที่สุดมากกว่าที่จะมาพิจารณาถึงสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคมเศรษฐกิจและระดับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยเอคือแทนที่ภาครัฐจะมุ่งไปที่ความต้องการและปัญหาของประชาชนภายในประเทศ รัฐกลับพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการดำเนินนโยบายอย่างเข้าไปผูกพันกับข้อตกลงระหว่างประเทศและพยายามเปลี่ยนสิ่งที่เป็นสมบัติสาธารณะ(public goods)ให้เป็นสินค้า(commodities)ภายใต้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการเปิดเสรีในการลงทุน มีการปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะและโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มผู้ลงทุน

               ซึ่งเป็นการมุ่งที่จะพัฒนาแบบก้าวกระโดดเพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของตน  และความต้องการที่แท้จริงของประชาชน  เห็นกรณีตัวอย่างได้ชัดเจนจากการทำ FTA  กับหลายประเทศที่ไทยไม่มีการศึกษาถึงผลได้-ผลเสียที่ดีพอก่อนที่จะเปิดเสรีด้วย  ขาดการเตรียมการรองรับผลกระทบรอบด้านอย่างเพียงพอ

               และเมื่อเกิดปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบและต้องแบกรับภาระด็คือภาคประชาชน   ทั้งที่ความจริงแล้วหลักการที่ใกล้ตัวที่เราควรนำมาเป็นหลักก็คือ  แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  คือมองว่าเรามีศักยภาพอะไร  ถนัดด้านไหนก็มุ่งพัฒนาให้ถูกด้าน  โดยที่ไม่ต้องไปพยายามให้มีให้เป็นอย่างประเทศมหาอำนาจ  ขอแค่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้ไหลลื่น  ไม่ติดขัด  และนำความเป็นอยู่ที่ดีมาสู่ภาคประชาชน

หมายเลขบันทึก: 41283เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2006 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากจะรออ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท