เสียงกู่จากครูที่รับผิดชอบงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา


ครูเขาไม่อยากให้ฝ่ายบริหารสั่งอย่างเดียว แต่อยากให้ลงมากำกับดูแลช่วยแก้ปัญหาบ้าง

        มีครูที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาคนหนึ่งบ่นถึงสภาพการดำเนินการประกันคุณภาพภายในโรงเรียนของตนเองให้ฟังด้วยความรันทดใจ  พอสรุปความได้ว่า
        ผอ. และรองฯ ผอ.ที่โรงเรียนเขาใช้ระบบ
เห็นชอบมอบเลขา โดยกระจายอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ มีปัญหาก็ให้แก้ปัญหาเอาเอง  คำถามที่ท่านนิยมใช้เวลาเจอกันหรือเวลาเรียกไปพบก็คือ ทำ SARเรียบร้อยแล้วหรือยัง  เขาจะมาตรวจประเมินเร็วๆนี้แล้ว ให้เร่งๆดำเนินการด้วย  เวลาจะรายงานถึงปัญหาและให้ช่วยแก้ไขก็จะรู้สึกหงุดหงิดและมักพูดตัดบทว่า  ให้ไปหาทางแก้ปัญหาเอง    

      คราวหลังจึงไม่อยากรายงานอะไรให้รู้ จึงก้มหน้าก้มตาทำไป  จะลาออกก็ไม่ได้   ตัวเองก็มีชั่วโมงสอนไม่น้อยกว่าครูคนอื่นๆ  เวลาไปติดตามถามถึงผลการประเมินแต่ละมาตรฐานกับครูแต่ละคนที่รับผิดชอบ  เขาก็ผัดไปเรื่อยๆ บางคนก็จะรู้สึกว่าเราไปจู้จี้เขา หรือบางคนก็ทำแบบเขี่ยๆส่งให้  เขาทำไม่เสร็จเราก็ต้องรอ  พูดมากก็ไม่ได้เราเป็นครูธรรมดาด้วยกันกลัวเขาจะโกรธเอา  รอไม่ไหวก็พยายามตกแต่งข้อมูลเอาเอง  เพื่อทำรายงานการประเมินตนเอง(SAR) ให้เสร็จๆทันส่ง
        ฟังแล้วก็รู้สึกสงสารและเห็นใจ  ไม่รู้ว่าโรงเรียนอื่นมีเช่นนี้บ้างไหม  ซึ่งคำพูดของครูคนนี้คงพอเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติและกฎกระทรวง  ที่กำหนดไว้ว่า ให้สถานศึกษาใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาเป็นระบบเดียวกันกับการบริหารสถานศึกษาเป็นปกติ  และให้เป็นไปตามวงจร
PDCA อย่างต่อเนื่อง
        ถ้าเป็นเช่นนี้จริงก็แสดงว่าระบบบริหารมีปัญหาจะต้องมาทบทวนกันแล้ว  เพราะในกระบวนการบริหารไม่ว่าจะใช้ทฤษฎีใด เช่น
POLCA ขอHarris ก็จะพูดถึง 5 กระบวนการในการบริหารคือ Planning , Organizing, Leading, Controlling, Assessing  
        นั่นคือเมื่อวางแผนแล้ว ก็ต้องจัดองค์กรจัดระเบียบงาน  แล้วต้องมีการนำ มีการเสนอแนะ สร้างแรงจูงใจ  สื่อความหมาย  รวมทั้งมีระบบการกำกับติดตาม ตรวจสอบ  สนับสนุนส่งเสริม สร้างขวัญกำลังใจอย่างต่อเนื่อง จนถึงการประเมินผล  ไม่ใช่มอบงานแล้วปล่อยขาด  ไปรอรับผลเอาตอนท้ายอย่างเดียว  คนทำงานเขาก็จะรู้ทาง รู้ว่าฝ่ายบริหารไม่สนใจ เขาก็ทำตามใจเขา  ตอนท้ายเขาก็จะกรอกตามแบบส่งมาให้แผ่นหนึ่งให้เอามารวมกันเป็นเล่มเพื่อบอกว่าได้ประเมินผลแล้วและมีรายงานแล้ว  ซึ่งไม่ได้เกิดผลดีอะไร แต่จะเกิดผลเสียหายตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะในด้านคุณธรรมจริยธรรม  เราจึงพูดล้อกันจนติดปากว่า
แพลนแล้วก็นิ่ง หรือ แผนการส่ง เป็นต้น 
          ด้วยเหตุนี้ สมศ.เขาเลยกำหนดเกณฑ์ประเมินให้มีทั้งอิงเกณฑ์และอิงสถานศึกษา(พัฒนา/บรรลุ/ตระหนัก/พยายาม) เพื่อให้สถานศึกษาทำวงจร
PDCA ให้เป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิตนั่นเอง
      ผมเคยเสนอแนะโรงเรียนที่ไปเยี่ยมมาว่า  ฝ่ายบริหารน่าจะมีโครงการของตนเองสักโครงการหนึ่งคือ
การกำกับติดตามประเมินผล หรือจะใช้ชื่ออย่างอื่นก็ได้ เช่น นิเทศภายใน โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ นำแผน/โครงการ/งาน/กิจกรรม ทั้งหมดในโรงเรียน มากำหนดระบบการกำกับติดตาม สนับสนุน ส่งเสริม สร้างขวัญกำลังใจ และประเมินผล  มาจัดทำเป็นแผนที่ชัดเจน  มีปฏิทินติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง  โดยต้องสร้างความตระหนัก ความเห็นพ้องต้องกันกับสมาชิกในโรงเรียนให้เข้าใจกันก่อน  ซึ่งก็ต้องหากลวิธีที่เหมาะสม ไม่ใช่ทำเพื่อจับผิด แต่เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและอย่างเป็นกัลยาณมิตร  ทุกฝ่ายก็จะทำอย่างสบายใจ ทำอย่างมีเป้าหมาย  เมื่อทำบ่อยๆก็จะเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่มีคุณภาพไปเอง 

        อย่างนี้จึงจะเป็น SBM ที่มีการกระจายอำนาจ  มีส่วนร่วม  และมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้  แล้วเราก็จะได้วงจร PDCA ที่มีชีวิตอย่างแท้จริง
          ใครมีข้อคิดเห็น หรือมีเทคนิคอะไรดีๆก็เล่าสู่กันฟังบ้าง 

หมายเลขบันทึก: 41196เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2006 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
มักจะเป็นอย่างนั้นส่วนมาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท