ขอทุนให้นักศิลปศาสตร์บ้างได้ไหม


ผมอ่านบันทึกของอาจารย์หมอวิจารณ์เรื่อง การให้ทุนเสริมสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ระดับปริญญาเอก เพื่อดึงดูดเด็กเก่งมาเรียนคณะวิทยาศาสตร์มากขึ้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะปัจจุบันเด็กที่สนใจจะเรียน pure science น้อยลงมาก แต่ applied science ด้านต่างๆ กลับได้ความนิยมมากขึ้นกว่าในอดีตอีกเยอะ (เพราะ applied science หาเงินได้มากกว่า)

ถ้ามีคนเรียน pure science น้อย วงการวิทยาศาสตร์ในบ้านเราจะมีพัฒนาการที่น่าเป็นห่วงในอนาคต เพราะฐานจะไม่ดีและไม่มีทางสู้ต่างชาติได้

แต่ความเห็นผมไม่เกี่ยวกับ pure science หรือ applied science แต่กลับเกี่ยวกับ science และ art ครับ

ความเห็นของผมคือ ผมอยากเห็นการสร้างนักศิลปศาสตร์รุ่นใหม่ควบคู่ไปกับการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ครับ

ผมมีความรู้สึกว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์มากเกินไปจนหลงลืมนักศิลปศาสตร์ไป

ต้องบอกกันก่อนว่า "วิทยาศาสตร์" และ "ศิลปศาสตร์" ที่ผมเขียนในที่นี้หมายถึง "วิทยาศาสตร์" และ "ศิลปศาสตร์" ในมุม "กว้าง" ที่สุดนะครับ (in the broadest sense) แต่ไม่ใช่ sense ของ art is science; science is art.

ในประเทศไทย เด็กที่เก่งด้านศิลปศาสตร์ (ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะไม่ได้เก่งด้านวิทยาศาสตร์เท่าๆ ไปด้วยนั้น) ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างที่ควร เด็กเหล่านี้ต้องดิ้นรนกันเองตามมีตามเกิด

บางคนก็พยายามไปเอาดีในทางวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองไม่ถนัด ประเทศก็สูญเสียบุคคลากรชั้นเลิศที่ควรมีไปแต่กลับได้นักวิทยาศาสตร์ "ธรรมดา" มาหนึ่งคน แต่นั่นยังดีนะครับ เพราะบางคนก็หลงทางไปเลย ไม่ได้ไปทางไหนสักทาง ส่วนคนที่ "รอด" มาได้เป็นนักศิลปศาสตร์นั้น ต้องเก่งมากๆ และดิ้นรนมากๆ เท่านั้น จึงมีจำนวนน้อยมาก

ในขณะเดียวกัน เด็กที่พอมีแวว "เล็กๆ" ด้านวิทยาศาสตร์กลับได้รับการส่งเสริมเสียดิบดี ทั้งๆ ที่ทรัพยากรที่เราไปส่งเสริมเด็กเหล่านั้น ถ้าเรานำมาส่งเสริมเด็กที่มีแวว "ดีๆ" ด้านศิลปศาสตร์จะมีประโยชน์เยอะกว่ามาก

เราจะเห็นว่าประเทศเรามีแต่ทุนให้เรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น เผลอๆ ทุนจะมากกว่าคนอยากเรียน แต่ในขณะเดียวกันทุนให้เรียนต่อด้านศิลปศาสตร์กลับหายากเหลือเกิน เห็นแต่มีเฉพาะ "อัจฉริยะ" เท่านั้นถึงจะได้ทุนไปเรียนด้านที่ไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

ผมมองดูไปรอบๆ พบว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก มากเสียจนคนไทยเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์นั้นสามารถทำงานที่ปกติแล้วควรให้นักศิลปศาสตร์เฉพาะทางมาทำ เราเลยเห็นนักวิทยาศาสตร์ไปทำงานที่ตัวเองไม่ถนัดด้วยความเชื่อว่าตัวเองทำได้เยอะแยะ อาจกล่าวได้ว่าเราเป็นประเทศที่ใช้มือสมัครเล่นทำงานด้านศิลปศาสตร์กันเป็นหลักเป็นฐานทีเดียวครับ

การเราใช้ "มือสมัครเล่น" เยอะขนาดนี้ นอกจากแสดงให้เห็นความเข้าใจผิดของนักวิทยาศาสตร์ว่าตัวเองมีความรู้ครอบคลุมศิลปศาสตร์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความคาดแคลนอย่างรุนแรงของนักศิลปศาสตร์ในเมืองไทย แต่ด้วยความเข้าใจผิดของนักวิทยาศาสตร์ เราเลยไม่ได้ตระหนักถึงความขาดแคลนนี้

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเอาจริงเอาจังกับการสร้างนักศิลปศาสตร์ไม่ว่าแขนงใดก็ตาม เพราะนอกจากวิทยาศาสตร์แล้ว ศิลปศาสตร์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันในการนำพาประเทศสู่ความสำเร็จ

น่าเศร้าที่เรามองข้ามศิลปศาสตร์ไป ประเทศเราเลยพายเรือวนในอ่าง ..... อย่างถูกหลักวิทยาศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 41174เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2006 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • ขอสนับสนุนอาจารย์ครับ
  • Vote  ให้ครับ กว่าจะสอบทุนได้เลือดตาแทบกระเด็น ในขณะที่สายวิทยาศาสสตร์ทุนมากมาย
ศิลปศาสตร์ หรือ ศิลปกรรมศาสตร์ ครับ ?

ถ้าเป็นสาย มนุษยศาสตร์/อักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์ (humanities) กับ สายสังคมศาสตร์ (social sciences)
ผมยังเห็นมีทุนของมหาลัย หน่วยงานรัฐ เอกชนต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ สม่ำเสมอนะครับ
สายสังคมศาสตร์อาจจะมากกว่าหน่อย โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์
แต่รวม ๆ ผมว่าก็ไม่น้อยนะครับ ทั้งสองสายนี้

แต่ถ้าเป็น ศิลปกรรมศาสตร์ ผมว่าน้อยจริง ๆ แฮะ

สวัสดีครับ bact' ไม่ได้เห็นใน GotoKnow.org ตั้งนานเลยนะครับ :-)

ผมหมายถึง "สายศิลป์" ในความหมายกว้างอย่างที่เรียกกันครับ คือรวมทุกอย่างที่ไม่ใช่ "สายวิทย์"

ผมก็เห็นทุน "สายศิลป์" มาเหมือนกันครับ แต่ไม่มากเท่า "สายวิทย์" เทียบสัดส่วนแล้วน้อยกว่าหลายต่อหลายเท่าทีเดียวครับ

ขนาดคณะฯ ที่กลางๆ หมายความว่าจะมองเป็นวิทย์ก็ได้ศิลป์ก็ได้ อย่าง บริหารธุรกิจ ก็พยายาม ตีความให้ การเงิน หรือ เศรษฐศาสตร์ เป็นวิทย์ จะได้อยู่ในโควต้าของเขาด้วยครับ

ถ้าจะหวังได้ พวกที่ไม่ใช่สายวิทย์ ก็ต้องดูล่ะครับ ว่าเงินจะมาจากไหน

 ผมว่าพวกออกแบบ กราฟิก อนิเมชั่น พวกนี้นี่ จะทำเงิน
แล้วรัฐก็อยากจะบูมด้านนี้เหลือเกิน อาจจะได้เห็นทุนสายพวกนี้ก็ได้
(จริง ๆ ตอนนี้ก็มีแล้ว แต่อาจจะไม่ชัดเท่าไหร่ เป็นทำนองอุดหนุนมากกว่า คือมีรุ่นน้องไปเรียนเขียนเกมกับโรงเรียนของการสื่อสารมั้ง เค้าจ้างอาจารย์เกาหลีมาสอนเลย มีเงินเดือนให้นักเรียนด้วย ที่พักก็มีให้ราคาถูกพิเศษ)

 

พูดถึงคณะกึ่ง ๆ แหม เค้าก็ต้องพยายามหาทุนครับ ว่าไม่ได้ :P

ภาคที่เคยเรียนนี่ (Informatics)  วางตัวเองอยู่ตรงกลางเลย (ไม่รู้ตั้งใจป่าว)
คือเค้านอกจากทุนสายวิทย์กายภาพ/ประยุกต์ สำหรับวิทยาการคอม/ทฤษฎี ก็มีทำพวก AI, cognitive science อันนี้ก็ขอทุนสายมนุษยศาสตร์ได้ หรือทำ law informatics ก็ไปขอทุนสายสังคมศาสตร์ แถมยังดอดไปทำพวก nueroinformatics, bioinformatics เอาทุนสายวิทย์การแพทย์อีก ร้ายจริง ๆ :P ทุนสามสายหลัก ขอเอี่ยวหมด (นี่ไม่นับพวกที่เล็ก ๆ ลงมาหน่อยอย่างพวกศิลปะกับดนตรี ที่ก็ยังมีไปทำด้วย ให้คอมแต่งเพลง ทำนองนี้ - -" มั่วจริง ๆ)

 

แต่พูดถึง สังคมศาสตร์ ผมถือว่าสายนี้เป็นวิทยาศาสตร์นะครับ
เหมือนกับ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ กระบวนการศึกษาน่าจะคล้าย ๆ กัน จะต่างกันก็ที่วัตถุที่ศึกษา 

(มนุษยศาสตร์ นี่ต่างเยอะไป)  

ถ้ามองอีกแนว อาชีพไหน เรียนจบกลับมาแล้ว หางานไม่ยาก เงินดี ก็ไม่น่าจะมีทุนให้เยอะ  ปล่อยให้คนเค้าไปลงทุนเรียนกันเอง เพราะมันคุ้ม

แล้วไปอุดหนุนสาขาที่จบกลับมาแล้วได้เงินน้อยละกัน (เผื่อคนจะไปเรียนกันเยอะขึ้น ... เอ๊ะ แต่แบบนี้เรียกว่า spoil รึเปล่า ? สร้างความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง :P)

 

ผมอยากเห็นทุนของ ศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ เยอะ ๆ อ่ะครับ

 

ภาคที่ผมเคยเรียน (Information Systems) ก็ทำตัวอยู่ตรงกลางเหมือนกันครับ ที่จริงแล้วผมคิดว่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศพยายามทำตัวเป็น multidisciplinary เพราะศาสตร์ต่างๆ มัน integrate หากันได้หมด และการ integration ของศาสตร์นี่ละที่เป็น research topics เล่นกันอยู่ในปัจจุบัน

แต่กลับมาในประเทศไทยผมว่าต่างกันครับ โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างนักวิจัย (แค่เรื่อง "สร้าง" ยังไม่ถึงเรื่อง "ทำ") เราเน้น "วิทยาศาสตร์" และพยายามมองข้าม "มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" ว่าเป็นสิ่งรองลงไป ค่านิยมบอกว่าคนฉลาดเป็นนักวิทยาศาสตร์ว่างั้นเถอะ ฉะนั้น "คนฉลาด" หรือนักวิทยาศาสตร์ทำได้ทุกอย่าง

ตัวอย่างเช่นพวกการสร้างอนิเมชั่นอะไรพวกนี้ พยายามให้คนเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์มาทำ เพราะนึกว่าพวกนั้นทำได้ เนื่องจากต้องทำกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ปรากฎว่าก็เข้ารกเข้าพงไป

ที่จริงแล้วคนที่จะทำ story line ได้ดีที่สุดต้องมาจากคณะอักษรศาสตร์เสียมากกว่า แต่คนอักษรฯ ไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนสำคัญที่สุดทำหรับธุรกิจ "อนิเมชั่น"

ผมเชื่อว่าถ้าประเทศไทยเรามีค่านิยมที่ดีขึ้นสำหรับ "ศิลปศาสตร์" พัฒนาการในด้านต่างๆ คงจะดีกว่านี้ครับ

อืม ผมว่าผมประหลาด จะดันเด็กคอมไซน์ให้ไปทำเกม

คือทำน่ะมันได้แน่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเกม พวกทำเอนจิ้น ทำ physics ของเกม เขียนโปรแกรม

แต่จะให้วางเนื้อเรื่อง ออกแบบตัวละคร ทำกราฟิก ออกแบบระบบการเล่น ฯลฯ ทั้งหมดด้วย ... ซูเปอร์แมนไปหน่อย - -"

 

มองไปมองมา มันมีหลายที่ที่ประหลาดแฮะ ไม่รู้จะไปแก้ตรงไหนแค่จุดเดียวได้

อย่างนึง ความแตกต่างของค่าตอบแทนของแต่ละสาย ก็ไม่สมดุลกับความแตกต่างของเนื้องาน/ความรับผิดชอบ
อีกอย่างนึง ค่านิยมของคน (ถ้าจะโทษเขา) ... หรือความกลัวที่จะหลุดออกจากค่านิยมของสังคมที่คนนั้นดันไปอยู่ (ถ้าจะสงสารเขา) กับ เงิน กับ งาน กับ ชีวิตที่อยากใช้

เป็นเอก รัตนเรือง ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ "อย่างน้อยที่สุด" บอกประมาณ (เท่าที่ผมเข้าใจ) ว่า
คนทำหนังไทยเก่ง ๆ เยอะ แต่คนมาทำน้อย เพราะเค้าไปทำโฆษณาหมด เงินดีกว่า ได้แน่ ๆ
ทำหนังมันเสี่ยง ตัวเขาเองก็ทำโฆษณามาก่อน และทุกวันนี้ที่มาทำหนังได้ ก็เพราะทำโฆษณามาก่อน (ทำให้ฐานะพอจะไม่เดือดร้อน ถ้าหนังเจ๊ง / คอนเนคชั่นอื่น ๆ ที่ทำให้ทุนหนังมันต่ำลงกว่าที่ีควรเป็น ฯลฯ)

โฆษณามันมีเงินมาแน่ มือถือ เหล้า เบียร์ โรลออน ฯลฯ ใคร ๆ ก็อยากทำ ทำหนังมันไม่แน่ไม่นอน 

มองโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น เขาอาจจะอยากเป็นนักฟิสิกส์ แต่ใจไม่กล้าพอ
มองหมอศัลยกรรมพลาสติก ใจจริงอาจจะอยากเรียนปั้นหม้อ แต่ตอนเด็ก ๆ ดันเรียนเก่ง ช่วยไม่ได้
ฯลฯ

ทุกอย่างมันคงไปทางนี้หมดมั้งครับ

อะไรที่มันไม่ทำเงิน คนก็ไม่สนใจ ...ก็คงไม่แปลก แต่ละคนคงต้องทำมาหากิน เอาตัวเองให้รอด

แต่รัฐน่าจะสนใจหน่อยเนอะ ให้มันสมดุลกันหน่อย

....

แต่บ้านเราไม่ใช่รัฐสวัสดิการหรืออะไรทำนองนั้นน่ะสิ :P
แต่เป็นทุนนิยมสมัยใหม่ตัวใหญ่เลยล่ะ
ทุนต่อทุน ทุนต่อทุน เอาเงินอนาคตมาใช้ก่อน นี่คือคนฉลาด

ยังไม่มีทุนตอนนี้ แปลงสินทรัพย์เป็นทุน แปลงปัญญาเป็นทุน แปลงทุกอย่างเป็นทุน ฯลฯ จะได้เอาทุนไปต่อทุน 

 

เผอิญศิลปศาสตร์มันแปลงเป็นทุนได้น้อยไปหน่อย

แวะมา..หลายครั้ง... ทันพอได้เห็น คห. ที่กระทบใจ

ไม่ต้องคิดอื่นไกล..ใครคือผู้พิจารณา "ทุน"...

พวกพ้องและน้องพี่...อาจมีมาก่อนได้..ใครจะรู้

ถามว่า...สายศิลป์..ผู้หลักผู้ใหญ่มีเยอะไหมใน..ทีม

ของผู้ที่มี Power ในการพิจารณาคัดสรรทุน...ส่งเสริม"คนไทย"...

มองชื่อ..มองคุณสมบัติ "ท่านๆ" ส่วนใหญ่...เป็นศิษย์เก่าสายวิทย์..ทั้งนั้นแหละคะ

สมัยก่อน...เมื่อคุณแม่ยังสาว...คนเก่งต้องเรียนครู

แต่เดี๋ยวนี้...คนเก่ง..ต้องเลือกเรียนอย่างอื่น งานดีเงินดี

แล้วครู...ก็มีแต่คนเรียนปานกลางไปจนถึง...คนที่เลือกเรียนอย่างอื่นไม่ได้...

 

 

  •  แวะมาทักทายอาจารย์ครับ
  • เห็นเงียบๆไป งานคงยุ่งนะครับ
  • รอดูรูปบ้านใหม่ครับ
  • ขอบคุณครับ
  • Cukoo Clock





พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท