เมื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการรวมเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้PCUภาคใต้


KM ใน PCU ภาคใต้

บันทึกเมื่อเข้าเป็นส่วนร่วมหนึ่งของการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาคใต้

          ขณะนั้นย้ายกลับมารับราชการตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ7 ที่คลินิคเวชปฏิบัติครอบครัว  ฝ่ายเวชกรรมสังคม  โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ. สงขลา ได้ประมาณ 5-6 เดือน หลังจากหยุดเทศกาลปีใหม่ 2549 เปิดทำงานก็ได้รับทาบทามให้เข้าร่วมประชุมการจัดการความรู้  การถอดบทเรียน  ครั้งแรกที่ได้ยินจากหัวหน้าฝ่ายเวชกรรมสังคม นพ.อมร  รอดคล้าย (ปัจจุบันท่านย้าย    ไปรับตำแหน่ง ผอ.สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตพื้นที่สงขลา )   ว่าจะให้ไปอบรมเรื่องนี้ คำถามแรกที่ถามออกไปคือมันไช่เหมือนวิธีในการเกิด grounded  theory หรือเปล่า  ที่ถามอย่างนี้เพราะเวลาถูกให้วิเคราะห์ทฤษฏีสมัยเรียน ป.โท ก็เคยติดใจอยู่เหมือนกันว่านักคิด นักทฤษฏีต่างๆเขาทำได้อย่างไร  ก็ได้รับคำตอบว่าคงจะประมาณอย่างนั้น  ตอนนั้นรู้แค่จะให้ไปอบรมยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปในฐานะบทบาทอะไร   จากนั้นวันประชุมจริงก็มาถึง ได้รับโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ"เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำสรุปบทเรียนและสังเคราะห์องค์ความรู้การพัฒนาบริการสุขภาพชุมชน ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2549  ณ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา  ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต  ก็มีผู้เข้าร่วมประชุมมากหน้าหลายตาจากทุกภาคเฉพาะภาคใต้มีผู้เข้าร่วม 12 คนจาก 5 จังหวัด ไล่จากจังหวัดเหนือสุดคือชุมพร มีคุณธีรวัลย์  แสงสุวรรณ สสจ. คุณยุทธพงศ์  ฉิ่งวังตะกอ สอ.ปังหวาน อ.พะโต๊ะ ถัดมาก็กระบี่ มีพญ.อรุณี  ทิพยวงค์ รพ.กระบี่ คุณนิตยา นิลจันทร์ สอ.บ้านทุ่ง อ.เมือง ต่อมาก็นครศรีธรรมราช มีคุณกีรตา  สุขเจริญ สสจ. คุณยงยุทธ์  สุขพิทักษ์ สอ.บ้านเขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ (ถ้าไปดูในทำเนียบรายชื่อจะเห็นเป็นสอ.เทพาระบาท ตอนนั้นยังไม่รู้จักกันนักเลยเข้าใจตามนั้นจริงๆ) ใต้ลงมาอีกก็สงขลามีคุณสุพร ยุรพันธ์ รพ.ระโนด คุณนุชนาถ  แซ่คู รพ.เทพา  ใต้สุดคือปัตตานี มีคุณอุสาห์  เพ็งภารา สสจ. คุณปาริชาติ  แก้วทองคำ สอ.ยาบี  อ.หนองหัก (น่าจะหนองจิกมากกว่าดูในรายชื่อเท่าไหร่ก็ไม่คุ้น)ซึ่งกำลังตั้งครรภ์แก่พอสมควร และพ่วงจากฝ่ายเวชกรรมโรงพยาบาลหาดใหญ่อีก 2 คน คือคุณสิริวรรณ  เดี่ยวสุรินทร์ และตัวผู้เขียน มาสรุปได้ภายหลังว่าไปในนามเครือข่ายภาคใต้  6 โมงเช้าวันที่ 11 ม.ค.49 ก็ออกเดินทางถึงสถานที่ประชุมใกล้เที่ยงเก็บของเข้าที่พัก     แล้วออกไปกินข้าว ที่โรงอาหารมหาวิทยาลัยกลับเข้ามาเริ่มประชุมด้วยกิจกรรมอุ่นเครื่องก่อนเข้า        สู่บทเรียน  จากนั้นฝึกทักษะการถอดบทเรียน การตีความ ให้ความหมาย    จับประเด็น โดยทีมวิทยากรนำโดย          อ.ทรงพล  เจตนวานิชย์ จากสถาบัน สรส.ภาคกลาง พอตกเย็นหลังรับประทานอาหาร ก็ฝึกทักษะการจับประเด็นโดยดูจากภาพยนต์ความสำเร็จของครูใหญ่เกาหลี "ที่สามารถพลิกเกาะที่ยากไร้แม้กระทั่งน้ำใจมาเป็นเกาะที่มีชีวิตชีวามีความเป็นอยู่ดีขึ้น" ดูเรื่องเดียวกันแต่อาจได้บทเรียนที่ต่างกัน นี่คือบทเรียนบทแรกที่ถอดออกมาได้  วันนี้เลิกเกือบ 5 ทุ่ม ตื่นขึ้นมาพยายามอ่านหนังสือ KM ของสคส.ที่พี่ติ่ม(สิริวรรณ)ซื้อมา อ่านแล้วก็จดเว็บไซต์ของสคส. (www.kmi.or.th)มา  ใจก็นึกถีงหนังสือเล่มหนึ่งที่คุณ จีระนันท์  พิตรปรีชาแปล จากเรื่อง Fish  Tale ทฤษฏีปลายิ้ม แต่จำชื่อผู้เขียนไม่ได้         มันน่าจะใช้เครื่องมือ KM ทำให้เกิดการเห็นบทเรียนนั้นขึ้นมาได้  แต่ผู้เขียนทฤษฏีไม่ได้บอกไว้ว่าใช้เครื่องมือแบบใดจึงได้ข้อสรุปเป็นทฤษฏีมา  

 

 

         ท่านวิทยากร  อ.ทรงพล    เจตนวานิชย์

และภาพซ้ายผู้เข้าร่วมประชุม

 

 

 

 

 

  เช้าวันที่ 2 ของการอบรแนวคิด หลักการ เครื่องมือในการถอดบทเรียน  ครึ่งวัน   บ่ายแบ่งกลุ่มฝึกการถอดบทเรียน สลับกับการนำเสนอ

ช่วงหลังอาหารเย็น ให้ฝึกจับประเด็นผ่านการดูภาพยนต์เรื่อง เพ็ตอาดัม  โรบิน  วิลเลี่ยม แสดงนำเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้าเรียนแพทย์เมื่อวัยกลางคนที่ "เห็นความสำคัญของการรักษาคนมิไช่มุ่งแค่รักษาโรค( desease) " เป็นบทเรียนที่สอง  กว่าจะเสร็จกิจกรรมก็หลัง 4 ทุ่มแล้ว วันสุดท้ายให้แบ่งกลุ่มสรุปวิธีการ  กลยุทธ์ คู่มือของตนเองว่าอะไรต้องทำ  อะไรห้ามทำ( do and don't ) ของคุณอำนวย และคุณลิขิต จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา โดยพี่จากเครือข่ายฉะเชิงเทรา 2 ท่านกรุณาให้อาศัยมาด้วยนั่งรถพี่คำรณ มาลงที่ Future Park   รังสิตแล้วพี่กิ่งแก้วพานั่งรถตู้ต่อมาลงดอนเมือง  ประทับใจมากค่ะเมื่อไหร่มาหาดใหญ่อย่าลืมบอก มานะคะจะบริการเต็มที่ 
กลับมาถึงหาดใหญ่ก็กะจะต้องรีบทำการบ้านคือฝึกการถอดบทเรียนแต่ยังมืดๆ มัวๆอยู่  ระหว่างที่ยัง งงๆ อยู่นั้นก็ได้การบ้านของจริงคือการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาคใต้ ภายใต้สัญญาของสหกรณ์บริการสุขภาพหาดใหญ่ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนประชุม ผู้ถือหุ้น มีพี่แพรว(คุณแพรวพรรณ)เป็นหัวเรือใหญ่แทน นพ.อมรฯ  กลับบ้านก็มานั่งคิดว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี  และ หนังสือเรื่อง
Fish Tale
ยังกวนใจอยู่อยากหามาอ่านซ้ำ   และ สรุปเองว่า จุดแรกที่ต้องทำก็คือพัฒนาตนเองก็เริ่มเข้าไปค้นหาข้อมูลตามที่ต่างๆที่พอเข้าถึงได้  และ ก็โชคดีมากหาหนังสือเล่มนี้เจอในห้องสมุด  นอกจากนี้ก็ อ่านโน่นอ่านนี่สะเปะสะปะแล้วก็สรุปว่าเราต้องทดลองปฏิบัติจริงจึงจะสามารถ แลกเปลี่ยนกับผู้อื่นได้ หลังจากปรึกษากับทีมงาน คุณเอื้อ คุณอำนวย คุณกิจ ตอนนั้น จ.สงขลาเกือบทุกอำเภอเพิ่งผ่านวิกฤติการณ์น้ำท่วมมาหมาดๆ จึงได้รับข้อเสนอให้ฝึกถอดบทเรียนเรื่องน้ำท่วมในจังหวัดสงขลาเมื่อได้โจทย์ มาแล้วก็มาหาวิธีทำ กำหนดวัน เวลา สถานที่ กำหนดความรับผิดชอบของทีมงาน ช่วยกันวิเคราะห์หาคุณกิจ  จากนั้นก็ออกหนังสือเชิญ  พอใกล้วันจัดก็ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่าไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของเจ้าของทุนซะ ทีเดียวในการถอดบทเรียน  จึงต้องปรับกลยุทธ์เพิ่มการถอดบทเรียน PCU ในฝัน ในจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นอีกหัวข้อ
        วันที่ 10 ก.พ.49 กิจกรรมการถอดบทเรียนครั้งแรกของเราก็เริ่มขึ้น  คุณกิจทุกคนที่เชิญไปให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยม  วันนั้นทั้งวันทีมงาน คุณเอื้อ  คุณอำนวย คุณกิจ คุณวิศาสตร์ ต่างก็ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังวันนั้นผ่านไปได้ด้วยดี ( แต่คุณกิจที่ต้องอยู่ทั้ง 2 หัวข้อจะบ่นว่ารู้สึกเหนื่อยมาก ) แต่มันเพิ่งแค่เริ่มต้นเท่านั้นเองสำหรับการถอดบทเรียนหน้าที่ของคุณเอื้อ คุณอำนวย คุณวิศาสตร์ยังมีอีกมากมาย งานนี้ไม่ได้กล่าวถึงคุณลิขิตซึ่งหลังเสร็จภาระกิจการลิขิตแล้วต่างก็แยกย้ายกลับ ไปทำงานประจำของตนเองเนื่องจากอยู่ห่างไกลต่างอำเภอกันจึงรู้สึกเกรงใจ ไม่กล้าเชิญมาพร่ำเพรื่อผู้เขียนเป็นคุณอำนวยในการถอดบทเรียน"บริการปฐมภูมิ ในภาวะอุทกภัย"   ผู้เขียนต้องกลับมาอ่านบันทึกของคุณลิขิต และฟังเสียงจากเรื่องเล่าของคุณกิจแต่ละคนที่อัดไว้อีก 2-3 รอบ ยังไม่พอต้องตามไปดู วิดิโอที่ถ่ายไว้ว่าจะเอาจะตัดจะแทรกอะไรตรงไหน ต้องอาศัยเวลาตอนพักและหลังเลิกงานทำอยู่หลายวันทำสิ่งที่เร่งด่วนที่ต้อง          ใช ้้วันที่ 18 ก.พ. 49 ก่อน  ก็ได้ ชุดการนำเสนอโดยโปรแกรม Power Point   1 ชุดประมาณ  60 แผ่น และ วิดิโอ  1 ม้วน  เพื่อนำเสนอในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง"รวมเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู ้ภาคใต้"

 บ่ายวันที่17ก.พ.49เข้าไปเตรียมสถานที่จัดประชุมประสานงานกับทางโรงแรม ถึงอุปกรณ์ต่างๆที่ทางโรงแรมมีให้  อะไรที่ขาดจะได้เตรียมติดต่อนำมาจากที่อื่น  ทำสคริปให้น้องฝึกเป็นพิธีกร เตรียมรับผู้ที่จะเดินทางมาเย็นนี้

          วันที่ 18 ก.พ.49นับเป็นวันแรกที่มีการพบกันอย่างเป็นทางการได้เห็นหน้าค่าตากันจริงๆของ โครงการเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัดนำร่องกระจายอยู่ตั้งแต่ส่วนบน, ส่วนกลาง และปลายด้ามขวานเนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศของภาคใต้อยู่บนคาบสมุทรที่ แคบยาวลงมาทางใต้ทำให้มีระยะห่างระหว่างจังหวัดค่อนข้างไกลหากเปรียบ เทียบกับภาคอื่นๆของประเทศ จังหวัดบนสุดที่เข้าร่วมคือชุมพร ถัดลงมาคือกระบี่  นครศรีธรรมราช  สงขลา และสุดที่ปัตตานี 5 จังหวัดคิดเป็นอัตราส่วน ประมาณ 1: 3ของทั้งหมด 14 จังหวัดภาคใต้  ทีมงานที่มาร่วมเป็นเครือข่ายกัน มีบางส่วนที่อาจเคยพบเจอกันมาบ้างจากเวทีอื่นๆแต่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนใหม ่ต่อกัน  เมื่อมาเจอกันตามสไตล์คนใต้คือปากไม่หวาน  ยิ้มไม่เก่ง  คนที่ยังไม่คุ้นเคยกันแต่ต้องมาอยู่รวมกันในห้องประชุมขนาดกลางของโรงแรม วีแอล เชิงสะพานลอย (เดิมทีสะพานลอยมีเพียงแห่งเดียวในหาดใหญ่ ชื่อจึงไม่ค่อยจำเป็นชาวหาดใหญ่จะรู้กันเมื่อพูดว่าสะพานลอย) ใจกลางนครหาดใหญ่ ทั้งหมด 39 ท่านเป็นทีมเครือข่ายตัวจริง 25 คน ที่เหลืออีก 14คนเป็นทีมงานจากคลินิคเวชปฏิบัติครอบครัว รพ.หาดใหญ ่ที่มาช่วยจัดเตรียมงานและเข้าร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้

        กลยุทธ์แรกที่นำมาใช้ทำความรู้จักคือตอนลงทะเบียนรับแฟ้มเอกสาร จะให้ป้ายชื่อคนอื่นที่ไม่ไช่เจ้าตัว บางท่านรับไปยังไม่ทันดูก็ผ่านเลยไป บางท่าน รอบคอบช่างสังเกตก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ  ผู้จัดก็ชี้แจงว่าถูกแล้วค่ะตั้งใจแจก อย่างนี้ค่ะ  99 % มีปฏิกิริยา ในใจหลายคนคิดในใจว่าทีมงาน ช่างสะเพร่า แค่จัดป้ายชื่อให้ถูกคนยังทำไม่ได้ช่างไม่ประทับใจตั้งแต่แรกเริ่มย่างก้าวเข้ามา แต่เราไม่ปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้ค้างอยู่นาน เมื่อทุกคนเข้าห้องประชุม           แล้วเริ่มเปิดงาน ก็อุ่นเครื่องโดยให้ทุกคนหาเจ้าของป้ายชื่อตัวจริงที่ได้รับมา ให้เจอบรรยากาศเริ่มคลี่คลายแต่ละคนต้องลุกมาทำความรู้จักค้นหา ทักทาย ซักถามต่างกลุ่ม เริ่มเกิดความคุ้นเคยขึ้นเล็กๆ

                 ต่อจากนั้นก็เปิดประเด็นความเป็นมา ของโครงการพัฒนาแนวคิดการรวมเครือข่ายภาคใต้และแนวทางปฏิบัติโดย นพ.อมร รอดคล้าย ผอ.สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่สงขลา  โดยนิยามเครือข่ายตาม WHO ว่าคือ กลุ่มของบุคคล องค์กรและตัวแทนขององค์กรที่ร่วมกันโดยไม่มีลำดับขั้นของอำนาจบังคับบัญชา  บนพื้นฐานของความสนใจหรือวัตถุประสงค์ร่วมกันมีความคิดริเริ่มพัฒนาอย่าง เป็นระบบภายใต้พันธกิจ และความเชื่อถือต่อกัน     เป้าหมายเพื่อ  สนับสนุนให้เกิดสิ่งแวดล้อมเพื่อการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นใหม่อย่างทั่วถึง  เกิดพลวัตของการบริหารความรู้ในการพัฒาบริการสุขภาพปฐมภูมิ  จากนั้นได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ " บริการสุขภาพปฐมภูมิในภาวะอุทกภัย " โดยคุณสุพร ยุรพันธ์  จาก  PCU รพ.ระโนด       คุณแพรวพรรณ ตันสกุล  PCU รพ.หาดใหญ่  หลังจากฟังเรื่องเล่าจากผู้ปฏิบัติงานหน่วยบริการปฐมภูมิในภาวะอุทกภัยที่ ผ่านมาของจังหวัดสงขลาพอมองเห็นภาพกว้างๆ ก็ต่อด้วยการถอดบทเรียน ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานช่วงนำท่วมใหญ่ จากประสบการณ์ของ หลายๆฝ่ายที่เป็นเครือข่ายช่วยเหลือกันในช่วงนั้น คนที่ลงให้การช่วยเหลือ นอกจากผู้ที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมแล้ว คนที่ตนเองก็ประสบภัยแต่คิดว่า ยังสามารถช่วยเหลือคนที่หนักกว่าได้มีจำนวนมากทีเดียวที่ออกมาร่วมช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ทั้งประชาชน อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่องค์กรต่างๆ สรุปได้เป็นบทเรียน5 หัวข้อ     

1.วิธีการเคลื่อนย้ายสิ่งของให้พ้นน้ำตั้งแต่ของใหญ่ๆอย่างรถยนต์ จนถึงเครื่องนอนหมอนมุ้ง มีเทคนิคที่น่าสนใจนำไปเผยแพร่ เพื่อใช้สำหรับบ้านชั้นเดียวให้ผูกแบบขันชนอตโยงเตียงขึ้นกับคานบ้าน ซึ่งเลื่อนระดับเชือกขึ้นสูงต่ำได้ตามระดับน้ำ
2.
การประยุกต์ใช้เครื่องมือเกษตรในภาวะน้ำท่วมสูงโดยใช้รถแทรคเตอร์ผูกโยงกับกระบะขนาดใหญ่สำหรับใส่วัสดุเกษตร แทนเรือท้องแบน  เป็นพาหะนะทางน้ำช่วยลำเลียงได้เยอะ
3.
การผลิตสูตรยาแก้น้ำกัดเท้าของฝ่ายเภสัชกรรม รพ.หาดใหญ่ขึ้น ใช้เอง เนื่องจากความขาดแคลน
4.
การเตรียมระบบเฝ้าระวังน้ำท่วมของเทศบาลนครหาดใหญ่ 5.เรือและยานพาหะนะที่เหมาะสมกับการช่วยเหลือในสถานการณ์ต่างๆ และการประยุกต์ใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่มีอยู่แล้วมาช่วยในการ ลำเลียงยา  อาหาร  สิ่งของที่จำเป็นเข้าไปถึงตัวผู้ประสบอุทกภัย

จากนั้นได้แบ่งกลุ่มย่อยแต่ละจังหวัดเพื่อหาวิธีการสร้างเครือข่าย การเรียนรู้และพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่ตนเอง โดยอาศัยกระบวนการถอดบทเรียนเป็นเครื่องมืออันหนึ่ง  แต่ละจังหวัดก็ได้ออกมานำเสนอแผนงานของตนเอง

กล่องข้อความ:  กล่องข้อความ:  การสื่อสารกันภายในเครือข่ายและกับเครือข่ายอื่นๆ

     1. จัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคใต้ ณ สหกรณ์บริการสุขภาพหาดใหญ่ จำกัด  มีบทบาทเป็นศูนย์ประสานการเรียนรู้ เป็นที่ปรึกษา  ติดตามส่งเสริม

เชื่อมโยงและพัฒนาเครือข่าย E-mail  [email protected] โทรศัพท์ 0 7424 4994   0 4068  8998

     2. การสื่อสารผ่าน blog และชุมชน blog โดยคุณอำนวย  สุดสวาสดิ์ นวก.สาธารณสุข สสอ.พะโต๊ะ เครือข่ายจังหวัดชุมพร รับเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่

ผ่าน http:// gotoknow.org/km-pcu-chumphon

    3. จัดทำทำเนียบผู้เข้าร่วมโครงการ"รวมเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาคใต้" มอบให้ทุกทีมเพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร

             พญ.สุพัตรา  ศรีวณิชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งให้เกียรติเข้าร่วมตลอดการจัดประชุมครั้งนี้ ได้ชมให้กำลังใจว่า"บรรยากาศภาคใต้คล่องแคล่ว ว่องไว ฉับพลัน" และเตือนพวกเราให้อย่าไปยึดติดกับกระบวนการ  ให้เรียนรู้ความรู้ของพวกเรากันเอง  "KM คือการคิดทบทวนสิ่งที่เราฟังว่าอะไรทำได้  อะไรทำไม่ได้ มันดีอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขของอะไร ความสำเร็จดีๆไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหญ่ๆ หากสามารถทำให้ชาวบ้านเข้าใจ  เพื่อนคุยกันได้สำเร็จ สิ่งที่คุณทำได้ดีได้สำเร็จเกิดจากเงื่อนไขอะไรบ้าง ให้บันทึกไดอารี่ของตนเอง เราต้องรู้หลักการเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยง  เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างกลุ่มใหม่ สามารถใช้กลุ่มที่มีอยู่แล้ว เราต้องรู้จักธรรมชาติชุมชน และเข้าหาชุมชน ประเด็นต่างๆที่มาคุยต้องทบทวนกันมาก่อนหยุดคิด  หยิบประเด็นที่ตัวเองทำมาแลกเปลี่ยน  มันมีเงื่อนไขของความสำเร็จ  สำคัญว่าคนเราเข้าใจตนเองชัดๆหรือเปล่า"

         จากนั้นก็ทำ AAR กันแต่ละทีมก็ช่วยกันสะท้อนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง  จากนั้นก็ปรึกษาหารือนัดแนะกันถึงการจัดการประชุมคราวหน้าเสียงส่วนใหญ่

เสนอว่าอยากไปกระบี่ ก็นัดกันคร่าวๆว่าครั้งที่2จะสัญจรไปเยี่ยมทีมกระบี่ช่วงปลายเมษาต้นพฤษภาสำหรับผู้เขียนหลังจบการ ประชุมวันนั้นได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างมากเลยค่ะแล้วจะเล่าต่อให้ฟัง
    เสร็จจาการประชุมรีบทำงานที่ง่ายที่สุดก่อนคือสรุปใบประเมินผล  พบว่าอยู่ในเกณฑ์ทีน่าพอใจมีข้อเสนอแนะเรื่องเวลาที่สั้นเกินไปและ ข้อเสนอการหมุนเวียนไปจัดที่จังหวัดอื่นๆในเครือข่าย

จากนั้นพักไปทำงานอื่นวันสองวันก็ได้รับการชักชวนให้เข้าไปทำblog southpcu ที่พี่ติ๋มเปิด ก็กลับมาศึกษาอ่านblogของคนอื่นๆอยู่2-3วัน

อ่านพบหลายคนที่เป็นเพื่อนเรียนสมัยป.โท บางท่านเป็นอาจารย์ที่สอนสมัยเป็นนศ.พยาบาล ไม่เคยได้เจอกัน ก็ได้ทราบข่าวคราวความก้าวหน้า

ความสนใจที่เฉพาะทางมากขึ้น พอเริ่มจะเข้าใจก็เข้าไปทำ Link กับของคุณอำนวย สอ.พะโต๊ะที่ทำอยู่เดิม  และเริ่มนำไปเผยแพร่ในที่ประชุม

ทีม PCUในฝันของจังหวัดสงขลาโดยทำเป็นเอกสารแนะนำการเข้าถึงblog และการเข้าเขียนสื่อสารกัน และก็ทำ blog พยาบาลPCU เพิ่มอีก

1 blog และนำไปเผยแพร่ในหน่วยงาน

หมายเลขบันทึก: 41146เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2006 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วันที่ 17-18 ตค. 49 เครือข่ายเรียนรู้pcuภาคใต้จะจัดพบปะกันเพื่อพัฒนาโครงการนวตกรรมบริการสุขภาพปฐมภูมิ  ที่ รพ.หาดใญ่  จ.สงขลา

วันที่ 24 ตค. 49  สวรส.จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้และพัฒนาโครงการครั้งที่1 ที่จ.สงขลา

วันที่ 26 ตค. 49  สวรส.จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้และพัฒนาโครงการครั้งที่2 ที่จ.กระบี่

วันที่ 30 ตค. 49  สวรส.จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้และพัฒนาโครงการครั้งที่3 ที่จ.สุราษฎร์

ใครอยู่ใกล้ที่ไหนหาทางเข้าร่วมนะค่ะ

พี่เป็นคนดึจริงๆ   ผมอยากไปช่วยภาคใต้มาก

แต่คนที่นี่ไห้ไป  เขาไม่อนุมัติให้ไป

ถ้ามีเรื่องรุนแรงมากผมจะไปช่วยพี่นะ..

ระวัฃงตคัวด้วยนะครัยบ

 

เป็นำงใจให้ครับ

ขอบคุณคะสำหรับทุกกำลังใจ  และจะส่งต่อไปให้คนอื่นที่ภาคใต้ให้มากเท่าที่จะทำได้  หน้านี้ทำตั้งแต่ครั้งแรกๆมันผิดแผกแปลกประหลาดอยู่หลายแห่งยังไม่มีปัญญาแก้ให้มันดีสักที  เกรงใจคนอ่านมากเลยคะแต่จนด้วยเกล้ายังแก้ไม่เป็นทำเองยังบอกเขาไม่ถูกเลยว่าจะให้ช่วยแก้ยังไงทำไมมันออกมาแบบนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท