บันทึก..แง่คิดที่ได้จากการสอนเรื่องการจัดการเวบบล็อก


เมื่อได้รับความรู้เรื่องใดมา ให้รับมาเพียงหลักการของสิ่งๆนั้น แล้วนำมาเพาะให้เกิดเป็นความรู้ความจำขึ้น โดยการศึกษาค้นคว้าลองผิดลองถูกกับมัน จนเกิดข้อสรุปออกมาเป็น "เคล็ดวิชา" ในตัวของเรา จากนั้นให้หาโอกาสสอน ถ่ายทอดสู่คนอื่น... เพื่อให้ความรู้นั้นเกิดการแตกยอดของความคิด.. เกิดเป็นความรู้ที่ลึกล้ำและไพศาลออกไป

 

วันนี้มีโอกาสได้เข้าอบรมเกี่ยวกับการใช้เวบ Gotoknow อย่างเป็นทางการ  แม้จะเข้าในฐานะผู้ช่วยวิทยากร แต่ก็ถือว่าเป็นการได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มเติมทีเดียว

ทำให้เราได้ค้นพบว่า..  ถ้าเราจะเรียนรู้อะไรก็ตาม.. หากเรามีโอกาสได้สอนคนอื่นๆในสิ่งๆนั้น  มันจะทำให้เรายิ่งบังเกิดความรู้ที่ชัดขึ้นและลึกขึ้นในใจของเรา

โดยเฉพาะ.. มันจะเป็นโอกาสให้เราได้รู้ ในสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเรา "ไม่รู้" จากสิ่งที่คนอื่นถาม แล้วได้มีโอกาสที่จะค้นหาคำตอบ เพื่อที่จะรู้ในสิ่งนั้น !

 

 หลายวัน (หรือหลายสัปดาห์) มานี้  เข้ามาเป็นสมาชิกของ  Gotoknow แบบครึ่งตัวอยู่ กล่าวคือ ยังผลุบๆโผล่ๆ เหมือนครึ่งสมาชิกครึ่งผู้เยี่ยมชม การเขียนบันทึกก็ยังเขียนแบบสะเปะสะปะ เขียนเพื่อมุ่งศึกษาการใช้งานระบบ ว่าระบบของที่นี่เขาใช้งานอย่างไร มีอะไรบ้าง และคนอื่นเขาเขียนอะไรกันอย่างไร มากกว่าที่จะเขียนเพื่อจัดระบบข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผลจากการลองผิดลองถูกไปเรื่อย จนได้บันทึกมาหลายบันทึก ยิ่งเขียนก็ยิ่งพบเจอเทคนิค การใช้งานต่างๆเพิ่มเติม จนรู้สึกชื่นชมผู้พัฒนาเวบไซต์  Gotoknow  ว่าทำออกมาได้ยอดเยี่ยมน่าใช้งาน มีลูกเล่นต่างๆน่าใช้งานมาก

 หากเปรียบกับนิยายจีนกำลังภายใน ก็ต้องขอใช้คำว่า "เป็นสุดยอดวิชาที่ลึกล้ำพิสดาร..เลื่อมใสๆ" จริงๆ

แต่คนเรา..บางทีความต้องการมันไม่ค่อยมีที่สิ้นสุดเนอะ  มีของดีแล้วก็ยังอดคิดต่อยอดอยากจะมีเพิ่มอีกไม่ได้  คือนึกอยู่ในใจนะ (หวังว่าคงไม่มีใครได้ยิน).. .ถ้ามีระบบส่งข้อความส่วนตัวระหว่างสมาชิกด้วย ก็คงจะยิ่งวิเศษสุดยอดไปเลย  แบบประมาณข้อความลับส่วนตัว ที่ส่งถึงกันโดยที่บุคคลที่สามไม่เห็นข้อความเหล่านั้น เพราะในบางครั้ง.. ก็อยากจะส่งข้อความทักทาย หรือถามคำถามที่ส่วนตัวๆ กับสมาชิกอีกคน  แบบที่ ถ้าหากมีใครฝากข้อความ หรือคำทักทายอะไรไว้ พอล็อคอินเข้าระบบ มันก็จะมีป๊อบอัปดีดขึ้นมาว่า คุณมีข้อความส่วนตัวส่งมาหาเก็บไว้อยู่ใน inbox  กี่ข้อความ จากนั้นเราก็สามารถคลิกเข้าไปอ่าน ว่าใครส่งมาให้ เป็นต้น

(  เอ่อ.. พอก่อนดีกว่า รู้สึกว่าชักอยากได้มากไปแล้ว เดี๋ยวอาจารย์จันทวรรณจะค้อนเอา ^^')

 

 

 มาพูดถึงการอบรมในวันนี้ก่อนดีกว่า  ^______^

หลังจากได้ลองผิดลองถูก หัดอ่าน หัดเขียนบันทึกเพื่อเข้าไปฝึกการใช้งานระบบของเวบ  Gotoknow  ในตอนแรกก็ยังรู้สึกงงๆหลายส่วน  คิดว่าสิ่งที่ทำให้งงที่สุด คงเป็นคำศัพท์ภาษาของเวบ Gotoknow   ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ป้าย คำว่า แพลนเนต  แผงควบคุม ศูนย์รวมข้อมูล ฯลฯ เพราะมันเป็นศัพท์ที่ไม่ค่อยเจอในเวบอื่นๆ เมื่อยังงงกับชื่อ  จึงทำให้หาอะไรไม่ค่อยเจอ  ว่าเมื่อจะทำอะไร จะต้องเข้าไปในเมนูไหน

แต่สุดท้าย.. ความงงก็ได้รับการบรรเทารักษา.. เมื่อเรามีโอกาสได้สอนคนอื่น เกี่ยวกับการใช้บล็อกใน  Gotoknow  เป็นการสอนแบบไม่ได้ตั้งตัวเลย ไม่ได้เตรียมข้อมูล เช่น เมื่อไปช่วยดูเครื่องคอมที่บ้านพักให้พี่ที่วอร์ดคนหนึ่ง เนื่องจากเข้าอินเตอร์เนตไม่ได้ แล้วพี่อีกคน (ก็แฟนของพี่คนนั้น)  ก็ขอให้ช่วยแนะนำการเข้าไปสร้างบันทึก การใส่รูป การตบแต่งบล็อก

ในบางเรื่องที่เขาถาม เขาขอให้ช่วยสอน เราเองก็ยังไม่เคยรู้มาก่อน หรือไม่ก็ยังไม่มีความชำนาญนัก  แต่แล้วคำถามของผู้ขอเรียน เปรียบเหมือนจุดหมาย หรือเป้าหมาย ที่จะกระตุ้นให้เราต้องก้าวไปให้ถึง ต้องค้นหาหนทาง เปิดประตูสู่คำตอบนั้นๆให้ได้ แล้วสิ่งนี้เอง..ที่ทำให้เรา เกิดการค้นพบ  เกิดแสงสว่างขึ้นในใจ  จุดการเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆให้ขึ้นในตัวเรา

เมื่อได้สอนคนที่หนึ่ง..คนที่สอง.. คนที่สาม..  กระบวนการความคิดของเราจะเกิดการพัฒนาขึ้น  ว่าจะสอน จะเปรียบเทียบ จะพูดอย่างไร ให้อีกฝ่ายฟังเข้าใจง่ายขึ้น  เพราะระหว่างเราสอน..กระบวนการคิดของเราจะเกิดการพัฒนา ให้เราเข้าใจได้เข้าใจสิ่งนั้นยิ่งขึ้น  และทำให้ในใจของเรายิ่งบังเกิดภาพของสิ่งๆนั้นชัดขึ้น  เมื่อเราเข้าใจมันชัดขึ้น เราก็จะถ่ายทอดให้คนอื่นได้ง่ายขึ้น

 

 

  อย่างเช่นในวันนี้..หลังจากผ่านการอบรม มีพี่ทำมาเข้าอบรม ถามคำถามหลายคำถามที่เราเคยงงๆมาก่อนช่วงที่เข้าเวบ  Gotoknow  ใหม่ๆ เช่น


- ป้ายคืออะไร ?
- ป้ายเนี่ยมันต่างกับชื่อบล็อกอย่างไร ?
- แพลนเนตคืออะไร ?
- แล้วแพลนเนตมันต่างกับบันทึกตรงไหน ?

เมื่อเราได้รับคำถาม ในสมองเราก็ต้องใช้ความคิดอย่างรวดเร็วว่า เราจะใช้คำพูดอย่างไรที่ง่ายที่สุด ที่ทำให้เขาเข้าใจและเห็นภาพในคำตอบนั้น .. อย่างน้อยๆ  ก็เข้าใจอย่างที่เราเข้าใจ เห็นภาพอย่างที่เรากำลังมีอยู่ในใจ

ในวันนี้เราจึงใช้คำพูดที่เปรียบเทียบแนะนำเขาไปอย่างนี้ (คราวนี้ก็คงได้ทราบกันล่ะนะ ว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องหรือเปล่า).. ถ้าหากว่าตรงไหนผิดพลาด  พี่โอ๋ ขา พี่เม่ย ขา (หากว่าได้เข้ามาอ่านนะ.. หรือท่านอื่นๆก็ได้)  ...

 ได้โปรดช่วยชี้แนะแก้ไขให้ด้วยนะคะ

 

   เราอยากเปรียบบล็อก  เหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง หรือสมุดไดอารี่ หรือสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง

  • การสร้างบล็อก..ก็เหมือนการเขียนหนังสือสักเล่ม  เมื่อจะเขียนหนังสือ เราก็ต้องตั้งชื่อหนังสือเล่มนั้น
  • ช่องรายละเอียดของบล็อก ก็เหมือนคำโปรย ที่อยู่บนปกหนังสือ หรือคำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือสั้นๆที่อยู่บนปกหลัง  เหมือนกับเวลาที่เราเดินเข้าไปในร้านหนังสือ แล้วหยิบหนังสือขึ้นมา เราก็จะอ่านพวกคำโปรยเหล่านั้น เพื่อดูว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นแนวที่เราสนใจอยากอ่านไหม 
  • ส่วนป้ายของบล็อก ก็เหมือน keyword หรือคำดัชนี ที่เราสร้างขึ้น เพื่อที่จะสามารถแบ่งกลุ่ม และค้นเข้ามาหาหนังสือเล่มนี้ของเราได้ 
  •  ให้ผู้เรียนนึกถึงเวลาที่ไปค้นหาหนังสือในห้องสมุด เราก็ต้องรู้จักคำดัชนี ว่าเราจะใช้คำว่าอะไร เพื่อที่จะค้นมาหาหนังสือเล่มที่เราต้องการ
  •  ดังนั้นการสร้างป้าย จึงต้องใช้คำ ที่สามารถชี้นำมายังหนังสือ หรือบล็อกที่เราเขียน  แนะนำว่าควรมีหลายคำ เพื่อที่จะสามารถนำทางมายังบล็อกของเราได้ง่ายและเร็ว
  • ทีนี้เมื่อบล็อกคือหนังสือ..หรือสมุดไดอารี่  เมื่อจะเขียนหนังสือ ข้างในมันก็ต้องมีเนื้อหา  บันทึกที่เราเขียนใส่ในบล็อก  ก็เปรียบเหมือนเนื้อในหนังสือ ที่เราเขียนใส่ไว้เป็นบทๆ แต่ละบทอาจจะเชื่อมติดต่อกันไป หรือจะเป็นเรื่องๆต่างหากจบในบทนั้นก็ได้ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้หนังสือเล่มนั้นโดดเด่น เนื้อหาในหนังสือแต่ละเล่ม จึงควรที่จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน
  • ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราจะเขียนเรื่อง (หรือที่เรียกว่าบันทึก) ที่เป็นเรื่องอื่น ที่โดดแยกออกไป  เราก็อาจจะสร้างบล็อกใหม่ขึ้นอีกบล็อก นั่นก็คือ ซื้อ (สร้าง)  สมุดเพิ่มขึ้นมาอีกเล่ม เพื่อเก็บบันทึก เนื้อหาเรื่องราว ที่มันอยู่ในประเภทเดี่ยวกัน
  • ทีนี้เมื่อเรามีหนังสือเขียนขึ้นมา เราก็อาจจะสร้างตู้หนังสือขึ้น เพื่อที่จะเก็บหนังสือ (บล็อก) ที่เรามีไว้ หรือขณะเดียวกัน ก็ไปเอาหนังสือ (บล็อก) ของเพื่อเก็บหนังสือหรือสมุดบันทึกไว้เป็นหมวดหมู่    แพลนเนต ก็เปรียบเหมือนตู้หนังสือนั่นเอง
  • ถ้าหากเรามีหนังสือหลายประเภท เราอยากจะแบ่งออกเป็นหมวดหมู่อีก เพื่อสะดวกต่อการเก็บ การค้น การเข้าถึง เราก็อาจจะสร้างตู้เก็บหนังสือหลายตู้  เช่นเหมือนในห้องสมุด ที่มีตู้หนังสือวิชาการ ตู้หนังสือนิยาย ตู้หนังสือเด็ก ฯลฯ เราก็อาจจะสร้างแพลนเนตขึ้นหลายแพลนเนต  เพื่อเข้าไปเก็บรวบรวมบล็อกของเรา หรือของคนอื่น เข้ามาไว้ในตู้หนังสือหรือแพลนเนตของเรา

 

แล้วก็เช่นเดียวกัน  ...รายละเอียดของแพลนเนต คือคำอธิบาย หรือคำจำกัดความสั้นๆ ที่เราเขียนแปะไว้ข้างตู้ ว่านั่นคือตู้หนังสือ เก็บหนังสือแนวไหนบ้าง ขณะเดียวกัน เราก็ต้องสร้างป้าย หรือ keyword ของแพลนเนต เพื่อที่จะใช้เป็นคำดัชนี สำหรับใช้ค้นหา หรือชี้ทางนำทางให้คนอื่นเดินมาหามายังตู้หนังสือของเราได้ง่ายขึ้น

 

ทีนี้ไปตรงพวกหัวข้อใช้งานต่างๆบ้าง  การรู้จักว่ามันคืออะไร จะทำให้เรารู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ถ้าอยากจะจัดการอะไรในบันทึก เราต้องคลิกเข้าตรงไหน

ด้านบนสุดหน้าเวบเพจ  (เมื่อเราเข้าสู่ระบบ) เราก็จะเห็นหัวข้อดังนี้คือ...   ประวัติ   ศูนย์รวมข้อมูล   แผงควบคุม   ออกจากระบบ   ค้นหา   หน้าหลัก

  • ประวัติ.. คือหน้าที่เราเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของเจ้าของบล็อก  หากเราล็อกอินและเข้าไปในหัวข้อ ประวัติ ของเรา ก็จะมีลิ้งค์ ที่ให้เราเข้าไปเพิ่มเติม หรือแก้ไขประวัติส่วนตัวของเราที่เป็นเจ้าของบล็อกได้
  •  ศูนย์รวมข้อมูล... เปรียบเหมือนหน้าแรกของเวบไซต์ส่วนตัวของเรา ที่จะรวมรวมบันทึก ตลอดจนทุกสิ่งที่เราโพสต์หรือบันทึกไว้ในเวบของ  Gotoknow   ดังนั้นถ้าหากเราต้องการเข้าถึงหน้าที่แสดงบันทึกที่เราเขียนไว้ ก็ให้คลิกตรงนี้  ขณะเดียวกัน หากเราคลิกเข้าไปในศูนย์รวมรวมข้อมูลของเพื่อนคนอื่น  มันก็จะโชว์หน้าแรกของเวบบล็อกของเพื่อนคนนั้น ที่รวบรวมบล็อกหรือบันทึกที่เขาเขียนเอาไว้   ดังนั้นศูนย์รวรวบรวมข้อมูล ก็คือเมนูหน้าแรกหรือสารบัญเวบ ของเรานั่นเอง
  • แผงควบคุม... สำหรับเราก็คือเมนูที่เราใช้สำหรับเข้าไปจัดการอะไรต่างๆในเวบบล็อกของเรา  ทั้งการเขียนบันทึก  การอัปโหลดไฟล์ (ส่งไฟล์)  ขึ้นเวบของ Gotoknow
  • ไฟล์อัลบั้ม... หรือมุมที่ใช้ในการจัดการรูป หรือไฟล์อื่นๆ ที่เราจะอัปโหลด(ส่ง) ขึ้น server ของ gotoknow
  • นำไฟล์ขึ้น... เมนูนี้ ตอนแรกเราก็งงๆนะ เพราะไม่คุ้นกับคำศัพท์  พอคลิกเข้าไปใช้จึงค่อยถึงบางอ้อ  เพราะว่าปกติเราจะคุ้นกับการทับศัพท์ว่า อับโหลดไฟล์  ( up load) ซึ่งหมายถึง การส่งไฟล์ที่เก็บอยู่ในเครื่องของเรา ขึ้นไปเก็บในอินเตอร์เนต ภายใต้ server ของเวบ Gotoknow

   พอมาถึงศัพท์คำว่า นำไฟล์ขึ้น ทำให้เราแอบแว่บขำขึ้นในใจว่า  แปลกดีนะ   gotoknow ใช้ศัพท์ว่า นำไฟล์ขึ้น แทนคำว่า อัปโหลด  แต่ในหน้าไฟล์อัลบั้ม ข้างๆรูปต่างๆ กลับใช้ศัพท์  ดาวน์โหลด...   ความจริงเพื่อความเสมอภาคทางภาษา น่าจะใช้คำ นำไฟล์ลง  นะคะ (คิกคิก).. )

เขียนมายืดยาว...พอแค่นี้ดีกว่า เดี๋ยวโดนพี่โอ๋ แซวเอาอีกว่า เราเขียนทีไร  ชอบเขียน ย้าว..ยาวทุกที  (แหะๆ)

 

 

 มาถึงท้ายบันทึกที่จะขอสรุปเสียที....

สรุปก็คือ... การเข้ามาเล่น มาร่ำร้อง มาลองใช้ (แล้วกำลังจะใช้จริง) ในเวบ gotoknow ก็ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ เรื่องหลักการที่จะเรียนรู้อะไรต่างๆให้เกิดความเข้าใจนั้น จะมีกระบวนการดังนี้

1. ต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้ถึงหลักการ การใช้สิ่งๆนั้นก่อน  : การศึกษาหลักการ อาจจะได้มาจาก  การเข้าไปดูคนอื่นเขาเขียนเขาทำ  การอ่านหนังสือหรือคู่มือ การให้ผู้รู้ช่วยสอนช่วยแนะนำ  เมื่อจะเรียนจะศึกษา ให้จำมาแค่หลักการการทำ การใช้ มาก็พอ  เพราะเราคงไม่สามารถจำอะไรทั้งหมดได้ แต่เราสามารถที่จะจับเอาแนวทางของมันได้

2. ต้องนำมาศึกษาด้วยตนเอง แล้วลองผิดลองถูกทำเอง ...ถ้าลองแล้วผิด ก็ลองไปเรื่อยๆ จนถูก  หากผิดอยู่เรื่อย ก็แสดงว่าเราจับเอาหลักการมาไม่ถูก ก็ให้ไปถามผู้รู้ใหม่ แล้วมาลองใหม่   สำหรับตัวเรา..ชอบตรงนี้มาก เพราะรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่สนุกและท้าทาย  มันเหมือนเป็นการค้นหาคำตอบปริศนาที่น่าเล่นมากๆ  การทำโดยการลองผิดลองถูก จะทำให้เราค้นพบเคล็ดวิชาของสิ่งๆนั้นด้วยตัวของเราเอง เราจะพบเส้นทางง่ายๆด้วยวิธีของเรา ที่จะทำสิ่งใดก็ตามขึ้นมา

อย่างเช่นเราเขียนเวบไซต์ของเรา ก็มาจากลองผิดลองถูกเหมือนกัน  ถ้าทำไม่เป็นก็ให้ขลุกอยู่กับมัน เจอปัญหา ก็หาทางแก้ปัญหา เพื่อทำให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการ  แล้วเมื่อเราทำสำเร็จ เราจะจำได้นาน.. นานกว่าให้เราอื่นมาชี้แนะขั้นตอนให้เราทำไปตามคนอื่นบอก

3. หาโอกาสที่จะสอนคนอื่นในสิ่งๆนั้น  : การมีความรู้สิ่งใดก็ตาม แล้วเก็บไว้กับตัว เหมือนกับเราเอาเมล็ดพันธุ์พืชมาเก็บไว้  ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ดีแค่ไหน ถ้ายังเก็บไว้เป็นเมล็ด มันก็จะไม่มีการเจริญงอกเงยเป็นต้นขึ้นมาได้  การนำความรู้ที่เรามีไปสอนไปถ่ายทอดคนอื่น  ก็เหมือนเอาเมล็ดพันธุ์นั้นไปปลูก ยิ่งสอนหลายๆครั้ง ก็เหมือนการรดน้ำใส่ปุ๋ย เพราะทุกครั้งที่เราพูดเราสอนเขา ความคิดของเราจะเกิดการแตกยอด  เมล็ดพันธุ์นั้นจะยิ่งเติบโตงอกงามขึ้น

ดังนั้น..เมื่อได้รับความรู้เรื่องใดมา ให้รับมาเพียงหลักการของสิ่งๆนั้น แล้วนำมาเพาะให้เกิดเป็นความรู้ความจำขึ้น โดยการศึกษาค้นคว้าลองผิดลองถูกกับมัน  จนเกิดข้อสรุปออกมาเป็น "เคล็ดวิชา"  ในตัวของเรา  จากนั้นให้หาโอกาสสอน ถ่ายทอดสู่คนอื่น... เพื่อให้ความรู้นั้นเกิดการแตกยอดของความคิด.. เกิดเป็นความรู้ที่ลึกล้ำและไพศาลออกไป

   จากนั้น..อย่าลืมเอามาเก็บบันทึกไว้ เพื่อให้คนอื่นได้อ่าน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันนะคะ

^________________^

 

ขอขอบคุณภาพประกอบอีโมติคอนจากบันทึก  การแสดงอารมณ์ ด้วยการ์ตูน Emoticons  ของ "คนเขียนข่าว"   ค่ะ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 41062เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • เข้ามาให้กำลังใจ
  • มี Animations มาฝากที่คำถามของคุณด้วย
  • ผมไม่มีโอกาสเข้าอบรมครับ
  • แบบเป็นคนที่ด้อยโอกาส
  • แต่ได้อ่านบันทึกนี้ รู้สึกเหมือนนั่งอยู่แถวหน้าในห้องอบรมเลยครับ
  • ข้อความส่วนตัวก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งครับ
  • ขอบพระคุณมากจริงๆ ครับผม

                                   Thank You

  • ด้วยความยินดีครับครับ k-jira
  • ผอ บวร ครับ ผมก็ไม่เคยอบรมครับ
  • ใช้อ่านและถามทุกคนใน gotoknow ครับ 

ใช่เลย เหมือนที่ k-jira พูดไว้ ต้องลองผิดลองถูก เพราะพี่อ่านแล้ว พี่ก็ต้องมาลองทำ ครั้งแรกก็อาจจะทำไม่ได้ ก็ต้องลองใหม่..ลอง..ลองๆ จนในที่สุด  ก็ได้... จากนั้น เราจึงจะเกิดการเรียนรู้ ทำเป็น

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำเอง  หรือ ที่เรียกว่า learning by doing นั่นเอง

ขอบคุณสำหรับ feedback ที่ให้กลับมานะค่ะ จะปรับปรุงพวก wordings ต่างๆ ให้เป็นภาษาไทยมากขึ้นค่ะ  :)

เขียนรวบรวมสิ่งสำคัญๆได้ครบถ้วนดีจังค่ะ แถมสวยงามผ่อนคลายอีกต่างหาก

ถึงจะยาว แต่ก็อ่านได้ไม่อยากหยุด ทำได้ไง...ทำได้ไง....

คุณ k-jira เป็นคนที่ลุ่มลึกและน่าสนใจมากเลยนะคะ ขอชื่นชม (พี่หมายความว่าเป็นคนมีหลายมิติน่ะค่ะ น่าทึ่งมาก) พอรู้จักเป็นส่วนตัวแล้ว ยิ่งทำให้พี่เกิดความรู้สึกว่าเป็นคนน่าศึกษาค่ะ (นานๆจะเจอคนที่ทำให้รู้สึกแบบนี้น่ะค่ะ มันเกิดขึ้นมาเอง)

พี่ k-jira เก่งจังเลย  สมัครเป็นแฟนคลับด้วยคนนะคะ @
                    จาก น้องศิษย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท