บล็อกช่วยทอดสะพานถึงหาดใหญ่


การเพิ่มศักยภาพผู้ป่วยเบาหวาน....ต้องคิดจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น ....ต้องคิดทำให้ทั่วถึงทุกคน

ดิฉันพบว่าการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงในบล็อกแล้วมีคนมาอ่าน ช่วยให้ดิฉันได้รู้จักผู้คนใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน เราเจอกันในบล็อก บล็อกจึงช่วย "ทอดสะพาน" ให้ผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันได้รู้จักกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกิดความรู้สึกดีๆ ต่อกัน

เมื่อดิฉันเล่าเรื่อง Mind-Body Medicine เมื่อบ่ายวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๘ (ลิงค์) และมีไฟล์เรื่องนี้ของคุณหมอวิโรจน์ เจียมจรัสรังษี พร้อมส่งให้ผู้ที่สนใจ เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ ๑๖ กันยายน คุณหมอวีรพัฒน์ เงาธรรมทัศน์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งสนใจเรื่อง MBM เข้าไปเขียนข้อคิดเห็นในบล็อกขอให้ส่งไฟล์ไปให้ แต่ดิฉันไม่ทราบ e-mail address ของคุณหมอ จึงค้นหาในเว็บของโรงพยาบาลหาดใหญ่ พบว่าคุณหมอวีรพัฒน์เป็นแพทย์ทางเวชศาสตร์ครอบครัว ในเว็บไม่มีข้อมูล e-mail address ช่วงบ่ายดิฉันจึงโทรศัพท์ไปถามที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งบอกว่าคุณหมอกำลังติดประชุม แต่เขาสามารถให้ข้อมูลได้เลย ดิฉันรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ท่านนี้มี "จิตบริการ" ที่ดีมาก

ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน ดิฉันและคุณหมอวีรพัฒน์ ติดต่อกันทาง e-mail เริ่มจากเขียนจดหมายสั้นๆ เรื่องไฟล์ MBM ต่อมาเขียนถึงกันยาวขึ้นเรื่องจะจัดตลาดนัดความรู้ครั้งที่ ๒ จนมาถึงเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

เมื่อเช้าดิฉันเปิด e-mail พบจดหมายจากคุณหมอวีรพัฒน์ที่ตอบกลับมาว่าสามารถ download ไฟล์ MBM ที่ดิฉันแยกเป็นไฟล์ย่อยๆ ได้แล้ว และบอกว่ามีแพทย์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าที่ Toronto ประเทศแคนาดา มีสถานพยาบาลใหญ่ ๓ แห่ง ใกล้เคียงกัน ตกลงกันว่าขอให้ ๑ แห่งเป็นศูนย์เรียนรู้ของผู้ป่วยเบาหวานจาก ๓ โรงพยาบาล หมุนเวียนมาเรียนรู้ คุณหมอวีรพัฒน์ยังให้ความคิดเห็นเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน และข้อเสนอแนะสำหรับการจัดตลาดนัดความรู้ครั้งที่ ๒ ของเราด้วย ดิฉันขอคัดลอกข้อความบางส่วนมาลงไว้ เพื่อช่วยกระตุกความคิดของพวกเราค่ะ

"ผมคิดว่าการเพิ่มศักยภาพผู้ป่วยเบาหวานในบ้านเรา......ต้องคิดจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่เป็นไปอย่างเพื่อเป็นรูปแบบตัวอย่างแก่ผู้ป่วยเบาหวานบางคน ต้องคิดทำให้ทั่วถึงทุกคน อย่างน้อยปีละ ๒-๓ รอบต่อคน ผู้นำองค์กรต้องกล้า invest จนท. เพื่อจัดการระบบ lead team ต้องลงทุนมุมเรียนสำหรับสาธารณะใน ร.พ. ต้องให้ priority ...........

ร.พ.ใหญ่ๆ สามารถจัดการศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้ป่วยได้เต็มที่ ๒๕๐ วันทำงาน (อาจได้ถึง ๓๖๕ วันรวมเสาร์อาทิตย์) วันละ ๖-๗ ชม.ทั้งเช้าและบ่าย และต้องคอยบอก จนท.ร.พ.ว่าจัดให้ผู้ป่วยและญาติได้เรียนรู้และรู้เรื่อง ทำได้ ไม่ใช่เน้นการสอนว่าได้สอนอะไร

โจทย์ที่ยากคือคนที่เข้าใจหลัก indirect learning ยังมีน้อย ยังถนัด direct teaching

ในวง ลปรร.ครั้งที่ ๒ (ตลาดนัดความรู้) ผมคิดว่าควรหา best practice ที่ให้ผู้ป่วยเรียนรู้จากกิจกรรมลงมือ มากกว่ากิจกรรมที่ฟัง จนท.สอน อย่างการตัดเล็บ สอนและให้ตัดกันสดๆ จริงๆ สอนการดูแลเท้า ทำความสะอาดเท้า การบริหารเท้า หากคิดถึง MBM ก็ฝึกการบริหารลมหายใจ ลมปราณ อย่างที่เรียก KM เน้นที่การลงมือ ไม่เน้นการฟังโดยไม่ลงมือ"

เป็นอย่างไรบ้างคะ ความคิดความเห็นของคุณหมอวีรพัฒน์ สำหรับดิฉันแล้วต้องบอกว่า "อยากเจอตัวจริงเสียงจริง" จะมีโอกาสบ้างไหมคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 4105เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2005 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เมื่อประมาณ 3 วันก่อนหน้านี้ น้ำพบสกู๊ปข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอเรื่อง โรงเรียนเบาหวาน  (เปิดมาพบพอดี ไม่ได้ดูตั้งแต่ต้น) จึงไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าภาพและอยู่พื้นที่ไหน น่าสนใจเหมือนกันค่ะ
ที่แผงควบคุม > บล็อก > ข้อคิดเห็น อาจารย์สามารถดูอีเมลของผู้แสดงความคิดเห็นในบล็อกของอาจารย์ได้นะคะ (ถ้าเค้าใส่ไว้ให้)
ขอบคุณอาจารย์ ดร.จันทวรรณ ที่บอกให้รู้มากขึ้นค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท