“สุขภาพพอเพียง” เริ่มต้นความสุขบน…ต้นทุนสุขภาพ


ขอเชิญทุกท่านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ระบบสุขภาพที่เหมาะสม สอดคล้องกับคนไทย...

ทราบมั้ยครับว่าคนไทยเรา ๖๑ ล้านคน ใช้เม็ดเงินใช้จ่ายด้านสุขภาพมหาศาลถึงสี่แสนล้านบาท โดยจะทวีเพิ่มมากขึ้นทุกปี

           และชัดเจนว่า หากเราไม่เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องของสุขภาพวิถีปัจจุบัน ไปเป็น “สุขภาพแบบพอเพียง” ก็จะทวีเพิ่มปัญหามากขึ้นเช่นเดียวกัน หลักการนี้เป็นคำตอบของทุกปัญหา การที่รู้จักคิด มีสติ ไม่ทำอะไรที่เกินพอดี จนเกิดเป็นทุกข์ น่าจะเป็นทางเลือกในการจัดการด้านสุขภาพ ตำตอบของทุกปัญหาปัญหา หากนำมาใช้ในด้านสุขภาพ น่าจะเทียบเคียงได้กับ “การส่งเสริมสุขภาพ” (Health Promotion) ป้องกันก่อนป่วย - สร้างสุขภาพก่อนซ่อม

            ผมลองนั่งคิดดูว่า “สุขภาพพอเพียง” น่าจะเป็นไปตามรูปแบบใด

๑. การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง (Self Health care)

กระบวนการพื้นฐานที่คนหนึ่งควรจะมีคือการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เป็นการพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพ เป็นวิธีการที่ง่าย โดยใช้ทุนที่มีอยู่ในแต่ละคน แต่ละชุมชน ก่อนที่จะไปสู่การแพทย์แบบอื่น ซึ่งเราถือว่า เป็นการส่งเสริมสุขภาพ ที่เป็นพื้นฐาน

           ปัจจุบันเราคุ้นเคยกันดีกับ การดูแลตนเองแบบ ๕ อ อันได้แก่

• อาหาร การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ อาหารท้องถิ่นที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร อร่อยและสะอาด อาหารเป็นยา

• ออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้เซลล์ทุกส่วนได้ใช้พลังงานและสังเคราะห์พลังงานหมุนเวียน ร่างกายแข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย

• อากาศ การอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ไร้มลพิษ สร้างพื้นที่สีเขียว ที่เป็นปอดของชุมชน

• อุจจาระ การขับถ่ายกากของเสียที่หมักหมมในร่างกาย ระบบการขับถ่ายที่มีประสิทธิภาพ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการมีสุขภาพดี

• อารมณ์ ปรับอารมณ์โดยการพบปะสังสรรค์ การพูดคุย และกิจกรรมนันทนาการ ตลอดจนการปฏิบัติธรรมะ เพียงเพราะว่าร่างกายกับอารมณ์สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ ดังนั้น หากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ถือว่าสุขภาพดี และหากเจ็บป่วยก็สามารถใช้องค์ความรู้ที่ตนเองมี ชุมชนมีในการบำบัดเยียวยาอาการ ใช้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ชาวบ้านดูแลสุขภาพกันเอง โดยรูปแบบ “อาสาสมัครสาธารณสุข” ก่อนที่จะพึ่งพาระบบการแพทย์ระบบอื่นๆ

๒. การแสวงหาองค์รู้ทางด้านสุขภาพ

            ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า “ความรู้”เป็นพลวัตร หากหยุดที่จะเรียนรู้ ก็จะล้าหลังในทันที การแสวงหาความรู้นำมาใช้พัฒนาด้านสุขภาพ ทั้งตนเอง ครอบครัว ชุมชน องค์ความรู้นำไปสู่การมีสุขภาพดี “แบบรู้เท่าทัน”

๓. การสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ชุมชนปลอดภัย และชุมชนแข็งแรง

           เริ่มจากระดับปัจเจกคือ “คน” แข็งแรง (กาย-ใจ) เป็นกำลังสำคัญเป็นส่วนประกอบของชุมชนแข็งแรง และประเทศไทยแข็งแรงในที่สุด

๔. การสร้างเครือข่ายสุขภาพดี

         เครือข่ายเป็นการรวมตัวของสิ่งดีๆ สิ่งที่ดีๆเมื่อมารวมกันก็จะเกิดพลัง(Synergy) ร่วมกันสร้างเครือข่าย ภาคีทางด้านสุขภาพให้เชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง สร้างสรรค์สังคม ประเทศให้แข็งแรง บนฐาน “สุขภาพพอเพียง”

          แนวคิด สุขภาพพอเพียงจึงเป็นเสมือน กุญแจไขปริศนา เพื่อการนำไปสู่การมีสุขภาพดี ที่ไม่แพง – ทำได้เลย    และเป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับคนไทยเราที่สุด 

          ขอเชิญทุกท่านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ระบบสุขภาพที่เหมาะสม สอดคล้องกับคนไทย...

คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพพอเพียง
หมายเลขบันทึก: 41044เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • ทุกคนต้องใส่ใจสุขภาพ ดูแลตัวเองให้ดีครับ
  • ปิดโรงงานยาสูบ โรงเหล้าคงเป็นเรื่องยากครับ
  • พอเพียง พอดี พองาม ดีที่สุดครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ
ขอบคุณที่นำความรู้ดีๆ มาเผยแพร่ อ่านแล้วมีประโยชน์มากๆ เลยคะ ...เข้าใจว่า "ความพอเพียง" สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ตั้งหลายด้าน และในทุกๆ ด้านหากตัวเราสามารถทำให้ "พอเพียง"ได้ ชีวิตก็คงจะพบกับความสุขที่แท้จริงคะ... ...ขอสนับสนุนแนวคิด "สุขภาพพอเพียง"และจะพยายามดูแลสุขภาพตัวเองให้มากกว่านี้คะ

อาจารย์ ผอ.บวร

เรื่อง ปิดโรงงานยาสูบ และโรงเหล้า แทบเป็นไปไม่ได้ครับ

การรู้เท่าทัน และมีสติ ไม่สุดโต่งด้านในด้านหนึ่ง  ดำรงอยู่กับความพอเพียง และอยู่อย่างมีความสุขครับ

อยากคุยกับอาจารย์ในมิติของ นักการศึกษา มองเรื่องสุขภาพ ว่าจะมองอย่างไร?

ขอบคุณครับผม 

คุณวนิดาครับ

ยินดีครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยน...ผมลองนั่งคิดดู ว่า หากเรามีเศรษฐกิจที่พอเพียง แล้ว "สุขภาพ"ที่เหมาะสมกับคนไทยน่าจะพอเพียงด้วย

เป็นเหมือนทางรอด ทางเลือกเลยนะครับ 

ิสิ่งสำคัญที่สุดและทำได้เลย คือ การดูแลสุขภาพตนเองเพื่อเป็นแรงสำคัญในการ ผลักดันสิ่งที่ดีๆให้กับสังคม ...

  • ข้อมูลดีมากเลยครับ
  • ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญนะครับ
  • การไม่เป็นโรค เป็นลาภอันประเสริฐครับ

คุณจตุพรขยันเขียนบันทึกมากเลยนะครับ แถมเนื้อหาล้วนให้แต่ข้อคิดดีๆ ขอชมจากใจจริง

ขอต่อยอดนิดนึงนะครับ

ที่คุณจตุพรจั่วหัวข้อไว้ 4 แสนล้าน ส่วนหนึ่งเป็นค่ายาไปประมาณ 5 หมื่นล้านบาทครับ

ในมุมมองของผมที่เป็นเภสัชกรนะครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับที่คุณจตุพรว่ามา

ความพอเพียงต้องมีความรู้นำหน้าครับ

เราต้องเรียนรู้ว่าการดำรงชีวิตที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

ทำไมต้องทำเช่นนั้น หากเราเข้าใจของประโยชน์จากการปฎิบัติ/โทษของการไม่ปฎิบัติ แล้วเราจะหมั่นปฎิบัติเองครับ

เช่นเดียวกับยาครับ ขอยกตัวอย่างนิดนึง

หากลูกเป็นหวัด พ่อแม่จะเป็นห่วงมากโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ มักจะพาไปโรงพยาบาลหรือคลีนิคแล้วได้รับยาจำนวนมาก ซึ่งมักจะมียาแก้อักเสบจากการติดเชื้อหรือยาฆ่าเชื้อมาด้วยแทบทุกครั้ง

ก็ขอบอกว่า หากเป็นหวัดธรรมดา เราไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบเลยครับ บางทียาลดไข้ก็ไม่ค่อยจำเป็นด้วยซ้ำถ้าไข้ไม่สูงมาก การปฎิบัติตัวดูแลเด็กสำคัญกว่าครับ ต้องคอยเช็ดตัวเวลาเด็กเหงื่อออกมาก เวลามีน้ำมูกก็สั่งให้เด็กให้หายใจสะดวก เคยมีการทดลองพบว่าวิธีนี้จะทำให้เด็กหายได้เร็วกว่าการกินยาโดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 วัน กับกลุ่มเด็กที่กินยาจะอยู่ที่ 4-7 วัน

 ความจริงนี้บางครั้งทำร้ายบริษัทยาและวงการแพทย์ไม่น้อยเพราะจะขาดรายได้ส่วนนี้ไปมาก

พ่อแม่เด็กต้องเรียนรู้ความรู้เหล่านี้ครับ เพราะเจอพ่อแม่เด็กหลายคนพอไม่ให้ยาแก้อักเสบดังกล่าวจะไม่พอใจหมอและห้องยามาก ต้องไปหาซื้อตามร้านยาหรือคลีนิคเอง จนกว่าจะได้ยามา..... ไม่เฉพาะพ่อแม่เด็กนะครับ ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจว่าการกิน/ได้ยาเยอะๆ ถือว่าโรงพยาบาลนั้นรักษาดี เป็นค่านิยมที่ผมเศร้าใจมาก

เข้าหลักวงจรอุบาทที่คุณหมอประเวศว่าไว้ครับ

โง่--จน--เจ็บ

คนที่เข้าใจเรื่องยาจะรู้ว่า ยาล้วนเป็นสารเคมีอันตราย มักมีอาการข้างเคียง/การแพ้ยา สารตกค้างแผงไว้ หากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรใช้ยา หากจะใช้ต้องมีความรู้ดีในยานั้นๆ ก่อน

เขียนมายาวเลยแต่ขอบอกว่าโดนใจบทความนี้จริงๆ ครับ

คุณจันทร์เมามาย...

ผมฝึกตัวเองให้จับประเด็นและฝึกเขียน โดยใช้ Gotoknow เป็นสนามทดลองของผม ...ประเมินโดยผู้อ่าน ครับ...

ที่ผ่านมาเขียนอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จัดระเบียบความคิดไม่ได้ ...ตอนนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว

อีกอย่างครับ...บริหารสมองน้อยๆ ไม่ให้เป็น อัลไซเมอร์ ก่อนวัยอันควรครับผม!!!

คุณจันทร์เมามาย...มี tacit Knowledge เยอะครับ อีกทั้งลีลาเขียนก็พลิ้วดี...ผมชอบ (ชมกันไปมานะ)

เรื่องการใช้ยา ที่ผมเคยบอกไปกับคุณจันทร์เมามาย ที่เขียนในข้อคิดเห็น ครั้งนี้ ตรงใจผมมากเลยหละครับ 

แบบนี้หละ ความรู้แบบนี้ชาวบ้าน-ผู้บริโภค ควรรู้ ที่เขาทำอย่างนั้น เพราะ เขาไม่รู้ ยามีทั้งประโยชน์และโทษครับ เราจะแก้ไขปรากฏการณ์ที่เขียนไว้(การใช้ยาเกินความจำเป็น) ได้อย่างไร? .....

หากมีเภสัชกรสักคนหนึ่ง ที่อธิบายภาษายาง่ายๆ นำไปใช้ได้(คุณจันทร์เมามายมีคุณสมบัตินี้) จะดีมาก

ทั้งหมด ...เพื่อก้าวไปสู่ "สุขภาพพอเพียงครับ" 

อยากทำงานวิจัยเล็กๆเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพแบบพอเพียง ในพื้นที่ ที่ทำงานอยู่ ไม่ทราบว่าท่านสมาชิกหรือท่านผู้รู้จะมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง โปรดแนะด้วย!
  • ตรงกับ คำกล่าวที่ว่า สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง
  • การออกกำลังจึงเป็นเรื่องสำคัญของทุกๆ วัย ครับ

          เห็นด้วยกับแนวคิดครับ  ผมมีงานเกี่ยวกับหมู่บ้านจัดการสุขภาพ ( ด้วยตนเอง) ก็เลยได้แนวคิดว่าหมู่บ้านที่จะขับเคลื่อนเรื่องจัดการสุขภาพด้วยตนเองต้องเข้าใจแนวคิดสุขภาพพอเพียง  การเปิดเวทีชาวบ้านบ่อยๆ ก็ช่วยทำให้จับแนวคิดของชาวบ้านได้

และช่วยกันหาคนดีๆ  คนต้นแบบมาช่วยกันถ่ายทอดเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการปรับแนวคิดและสามารถปรับพฤติกรรมได้ในที่สุด.

 

                                    ธงชัย      สาระกูล

                                              

 

ผมอ่านบทความ และงานวิจัยมาบ้าง  ส่วนใหญ่จะพูดถึงความเป็นอยู่ หรือระบบสุขภาพแบบพึ่งตนเองในชุมชนที่เกิดขึ้นแล้ว และเข้ากันได้กับหลักสุขภาพ หรือเศรษฐกิจพอเพียง

แต่อยากได้ข้อเสนอว่าเราจะสร้างขึ้นมาได้เองได้ไหม  และทำอย่างไรให้ระบบสุขภาพที่เราสร้างขึ้นมานั้นอยู่ในชุมชนตลอดไป   เช่น ถ้าร.พ.ที่ใหนสักแห่ง อยากนำปรัชญานี้ไปใช้ คุณเห็นว่าควรเริ่มต้นอย่างไร

    เห็นด้วยอย่างมากกับแนวคิดของการมีสุขภาพพอเพียง ซึ่งคำว่าพอเพียงก็คือการเดินทางสายกลางตามหลักคำสอนในศาสนาพุทธนั่นเอง

     การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่คนไทยเราควรหันมาตระหนักให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้คนไทยมีสุขภาพดีห่างไกลโรคที่สามารถป้องกันได้เช่น หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองในการรักษาโรคอีกด้วย

     การสร้างนำซ่อมสุขภาพ ถือว่าเป็นสิ่งดีที่ทุกภาคีน่าจะหันมาสนใจ โดยนำแนววิถีไทย มาปรับประยุกต์ใช้ผสมผสานกับแนวคิดตะวันตกโดยเลือกแนวทางที่เหมาะสมมาใช้

ขอบคุณครับ ทุกท่านที่เข้ามาเสนอความเห็น

อ,หมอ สมบูรณ์ เทียนทอง มข.

อ.ธงชัย สาระกูล สุขภาพภาคประชาชน

คุณสีปาด,คุณ สม .๑๖ ,และคุณอุลตร้าแมน

การศึกษาวิจัยในระบบสุขภาพ มีประเด็นที่น่าสนใจและซับซ้อนอีกมากครับ โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ มนุษยวิทยา สังคมวิทยาการแพทย์ที่กำลังต้องการองค์ความรู้ใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยในด้าน health promotion รวมถึงการรักษา เยียวยา ฟื้นฟู สุขภาพ

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ครับ

เห็นด้วยมากเลยที่เรามาร่วมกันแลกเปลี่ยนสุขภาพที่พอเพียง เริ่มได้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและเป็นภูมิปัญญาไทยที่ดูแลสุขภาพ เช่น ผักพื้นบ้านที่เราคุ้นเคย หากเรามาทำอาหารและให้เห็นคุณค่า ซึ่งขณะนี้คนไทยส่วนหนึ่งกำลังตกอยู่ในกระแสบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นระยะ เช่น มะรุมเป็นต้น จริงแล้วผักพื้นบ้านทุกชนิดให้คุณค่า เพียงแต่เราไม่รู้จักหากช่วยกันยกระดับความรู้เรื่องผักพื้นบ้านอย่างจริงจังช่วยได้มากเลย เคยเก็บข้อมูลเรื่องผักพื้นบ้านที่ลำปางมีจำนวนมากกว่า200 กว่าชนิด และหมู่บ้านที่รู้จักและบริโภคผักพื้นบ้านมีสุขภาพแข็งแรง เห็นได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบหมู่บ้านอื่นที่บริโภคอาหารตามท้องตลาด ....ช่วยรณรงค์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยและความหลากหลายของไทยเราที่อยู่อยู่มากมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท