ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย ... Shopping KM สไตล์ สบาย สบาย (10)


KM ไม่ใช่การจัดการความรู้ธรรมดา มันมีประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ “ศาสตร์” และอีกส่วนหนึ่งเป็น “ศิลป์”

 

ที่สำคัญมากสำหรับการจัดการความรู้ ก็คือ คุณลิขิต หรือคุณบันทึก ... คุณฐิฎา จะเป็นผู้ให้สาระนี้ค่ะ ... คุณฐิฎา ไกรวัฒนพงศ์ เป็นนักวิชาการสาธารณสุข 7 อยู่ที่ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ มาในบทบาทหลักของคุณลิขิตค่ะ

"KM เป็นเรื่องที่เคยได้ยินมาก่อนแล้วนะคะ แต่ว่าตัวเองเหมือนยังเพิ่งเริ่ม เพราะว่าเริ่มเข้ามาทำ และได้มีโอกาสไปเป็น Note taker ก็ถามเขาเหมือนกันว่า แล้วมันมีประโยชน์อะไรล่ะ Note taker ต้องจดอะไร จดยังไง เพราะ

เราก็ไม่รู้ว่า จะจดอะไร จะจดให้มันถูกนั้นต้องจดอย่างไร เขาก็บอกกันว่า “จดให้มันไปเลยน่ะแหล่ะ ฟังอะไรได้ก็จดลงไป ทุกอย่างเท่าที่จดได้เลย”

คุณฐิฎา ไกรวัฒนพงศ์ ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯพอลงไปอยู่ในวง KM ก็พบว่า ตรงนี้เราเคยได้ยินมาว่า KM เป็นกระบวนการจัดการความรู้ ... วันนั้นเราได้ทำ KM ในเรื่องของเทศบาลน่าอยู่ ก็มีเทศบาลมาร่วมจำนวนหนึ่ง และก็รู้ว่า เทศบาลเขาเป็นผู้ใหญ่ ความสนใจจะมีระดับหนึ่ง บางที่ก็จะแบบว่า ไม่อยากฟังแล้ว เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็ง่วง แต่ว่าวันนั้นปรากฏว่า เขาฟังจนลืมกินข้าวเที่ยง เที่ยงกว่าไม่มีบ่นหิวข้าวเลย และตอนบ่ายปกติก็จะมีโดดหายกันไปนะคะ แต่บ่ายนั้นมีคนอยู่พอสมควร และมีการทำกระบวนการ KM ต่อ ... นี่คือเสน่ห์ของ KM ??

ดิฉันก็มาคิด ทำไม KM เป็นแบบนี้ และก็มาคิดได้ว่า อ๋อ มันก็ตรงกับที่เขาบอกนะ ว่า การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เราจะต้องให้การเรียนรู้ในเรื่องที่เขาสนใจ เรื่องที่เกี่ยวกับตัวเขา เรื่องที่เขามีปัญหาและสามารถใช้ได้ ทันทีทันใด นี่ละ คือ จุดประเด็นที่ว่า ทำไมถึงมีเสน่ห์ เพราะมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง และเขาสนใจ

อีกประการหนึ่งมันสอดคล้องกับชีวิต เพราะว่า KM จะพูดถึงเรื่องความสำเร็จ และส่วนใหญ่ที่ฟัง เขาก็จะพูดถึงความสำเร็จทางบวก ซึ่งถ้าดูไปแล้วเราก็ได้ผ่านชีวิต สุข เศร้า เคล้าน้ำตามายังไง แต่สุดท้ายมัน Happy Ending นี่ก็คือ เสน่ห์อีกอย่างของ KM เพราะว่าพอไล่ไปแล้ว ปัญหาสารพัดเลย แต่สุดท้ายแก้ปัญหาได้ มันจึงเป็นเรื่องราวชวนสนใจ และเป็นแบบของคนไทย มันจึงสอดคล้องกับการทำงานของเราในหลายๆ อย่าง

อีกอย่างหนึ่งเขาก็บอกว่า คนแก่ชอบเล่า และกว่าทุกคนจะมาอยู่ตรงนี้ก็นานหลายปี ต่างก็มีประสบการณ์ พอได้นั่งทบทวนความหลังก็มีความสุข เหมือนกับว่า ชีวิตของเรานั้นก็จะมีเรื่องของความสำเร็จ การได้มานั่งเล่าถึงความสำเร็จนั้น ก็จะเกิดความติดใจที่จะได้ถ่ายทอดเรื่องราว ก็เลยอาจสรุปได้ว่า KM ไม่ใช่การจัดการความรู้ธรรมดา มันมีประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ “ศาสตร์” และอีกส่วนหนึ่งเป็น “ศิลป์” ซึ่งถ้าจากที่เรามองว่า “ศาสตร์” คือ เรื่องขององค์ความรู้ “ศิลป์” คือ ทำอย่างไรให้ KM นั้นมีความชวนฟัง ชวนติดตาม และทุกคนที่ได้ฟังมีความสุข ไม่ใช่แบบคนละทิศคนละทาง เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ฟังแล้วคนฟังก็ไม่สุข

ตรงที่มาทำในเรื่องของคุณลิขิต หรือ Note taker ตรงนี้ เมื่อลองอ่านจากโมเดลปลาทู ก็ไม่พบชื่อคุณลิขิต เลยคิดว่า ถ้าคุณลิขิตนั้น จะเป็นคนที่ตัวเล็กที่สุดในงาน KM แต่ทำไมวันนี้เชิญคุณลิขิตมาพูด (พูดแบบแอบดีใจนิดๆ เน๊าะ) ...

การทำงานของคุณลิขิต ก็คือ ทำหน้าที่ในการบันทึก มีคำกล่าวว่า “ความรู้มันลอยไปลอยมา” คุณลิขิตก็มีหน้าที่กรองจากลมปากของ ... จะเป็นคุณกิจจากที่ไหนก็แล้วแต่ จากลมปาก ให้มันเป็นองค์ความรู้ที่จับต้องได้ และมันก็ไม่หลุดหายไปไหน เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วคุณลิขิตจะมีความสำคัญ

และทีนี้ เวลาจะลิขิตนี่ละก็ เวลาเขาต้องการ เขาก็จะบอกว่า คนที่เขียนได้ อ่านออกนี่ละ เป็นคุณลิขิตได้หมดเลย แต่ถ้าเรามองให้ดี คนที่จะแปลงลมเป็นความรู้ได้นั้น ก็ต้องมีหลักการเหมือนกันนะคะ จากประสบการณ์ 2 ครั้ง ที่เป็น Note taker ก็ขอถอดมาเป็นข้อๆ คือ

  1. ข้อแรก อย่างที่น้องโจ้ ศูนย์ฯ 5 บอก “เขาคุยอะไรมา เราก็คุยอะไรไป” มันเป็นยังไง เขาบอกว่า ดูว่า ปัจจัยสำคัญมันคืออะไร หาจุดเป้าหมายที่จะพูดว่า คืออะไร หามีโจทย์ หาวัตถุประสงค์
  2. คือ ความพร้อม เสมือนเครื่องมืออันหนึ่งที่จะแปลงลมเป็นความรู้ เราต้องพร้อมในตัวของเราเอง อันดับแรกคือ สมาธิ ต้องมี ไม่ว่า เขากำลังหัวเราะ หรือคุยกัน หรืออะไรกัน เราต้องมี ต้องฟังคนที่เราต้องการเก็บข้อมูล และมาจด เพราะฉะนั้นเราต้องมีสมาธิ และสติที่จะรับฟัง และมีความจำที่ดี เพราะว่าคนพูดมีลักษณะการพูดที่แตกต่างกัน บางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า เราก็ต้องทำอย่างไรให้สามารถจะแปลงเป็นข้อมูล เป็นตัวอักษรลงไป เราต้องฟังข้อมูล และแปลงข้อมูลให้เร็วที่สุด และก็ต้องอ่านออกด้วยนะคะ
  3. ต้องมีหลักการเรียนรู้ ซึ่งอันนี้สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ท่านบอกว่า เด็กไทยต้องมีหลักการเรียนรู้ 4 อย่าง คือ สุ จิ ปุ ลิ
    ... สุ คือ สุตะ หมายถึงการฟัง ฟังหรือใช้หู ฟังแล้วจับประเด็น และจริงๆ คุณลิขิตไม่สามารถจะแปลงประเด็นของคนอื่นได้ เขาพูดอะไรมา เราต้องเขียนไปตามที่เขาพูด ... เขาพูดว่า เริ่มต้นจากการไปพบผู้นำชุมชน ... เราก็ต้องเขียนตามเขา เราก็ต้องเขียนตามสิ่งที่เป็นจริง ที่ออกจากปากของเขา นี่คือการแปลง
    ... จิ คือ คิด แล้วพอเสร็จก็ค่อยมาคิดวิธีสกัด ก็คือคิดไปว่า อันนี้มันเข้าเรื่องหรือยังน๊า เอ๊ ตอนนี้มันยังแคว้งคว้างอยู่เลยนะ เพราะว่าบางที Fa ก็ไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ ตรงนี้ก็อยากให้มีหลักสูตรการเป็น Fa ที่ดีก็น่าจะดี อันนี้จากประสบการณ์ของตัวเอง ... เพราะว่า พอเวลาเขาพูดเรื่องนี้มา Fa สนใจ แต่เพราะว่าเวลาที่มีจำกัด และข้อมูลที่มีนั้นกระจาย มันยังไม่ลงลึกถึงข้อมูลที่เราต้องการ Fa ก็ต้องหาทางกลั่นกรอง มันก็มีวิธีการตรงนี้การเรียนการสอน คือว่า เราเอาเกณฑ์มาจับ และอาจต้องขออนุญาตเจ้าตัวก่อนว่า เราทำเพื่อการเรียนรู้ ถ้า Fa มั่วไปหน่อย ก็ต้องมีวิธีการสกัดเพราะฉะนั้น Fa ก็ควรมีคุณสมบัติ ไม่ใช่ว่า จู่ๆ จะเอาใครมาเป็น Fa ได้
    ... พอคิดแล้ว ก็ ปุ คือ ถาม ขณะที่เขียนไป ฟังไป ถ้ามีคำถามก็ต้องถาม ถ้ามีข้อสงสัย เช่น ถ้ามีคำย่อ แล้วไม่รู้ ก็ต้องถามว่า คำย่อนี้คืออะไร บางที่ย่อมากไปก็ไม่รู้ บางทีก็อาจต้องมีกติกาก่อนว่า ถ้ามีคำย่อ ขอให้พูดคำเต็มด้วย
    ... ลิขิต คือ การเขียน สิ่งที่เขียนต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เขาถ่ายทอดออกมา อย่างถูกต้อง ชัดเจน รวดเร็ว อ่านได้ง่าย
    นี่ก็คือหลักของการเรียนรู้
  4. คุณฐิดา ไกรวัฒนพงศ์ และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์คือ KM อาจเปรียบได้เสมือนค้อน ทั่ง โกลน ก็มีการบูรณาการที่บอกเล่าภาษาไปในทางเดียวกัน ด้วยตัวนำทางที่เป็นหัวปลาด้วยกัน เพราะฉะนั้น Fa คุณอำนวย คุณกิจ เปรียบเสมือน ค้อน ทั่ง โกลน ก็เหมือนส่งลูกกัน ถ้าหัวคือ ค้อน ตีได้ไม่ดี ตีไปตีมา คือ คุณอำนวย กับคุณกิจ พูดไปพูดมาก็ไม่ได้อะไร คุณลิขิตจดตามยาก คุณลิขิตจดได้น้ำท่วมทุ่ง ไม่ได้อะไรเลย ก็พยายามสะกิดว่า ยังไม่ได้เลย เอาใหม่ๆ นี่เป็นปัญหาที่เราพบ คือ เราเป็นคนสุดท้าย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมีส่วนร่วม เราไม่ได้เป็นคนจดแต่อย่างเดียว เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำนาวาไปสู่จุดหมายปลายทาง ถ้าคุณอำนวย หรือคุณกิจไปหลงทางอยู่
  5. ที่เปรียบว่า KM เป็นงานศิลป์ ซึ่งก็เป็นเสน่ห์ของ KM เพราะว่าการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ไม่เหมือนเด็ก เด็กๆ บอกว่า เรียนตามผู้ปกครอง เรียนตามครูที่สอน แต่ผู้ใหญ่เขามีความเป็นตัวของตัวเอง มีการนำตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ผู้ใหญ่เรียนรู้ได้ดี เราต้องเอาใจผู้ใหญ่ เอาใจทุกอย่าง เอาใจยังไง ก็คือ การให้เกียรติ เคารพ เป็นมิตร อบอุ่น เอื้ออาทร และมีความเสมอภาค ไม่ว่าเราจะเป็นคุณอำนวย หรือคุณลิขิตก็แล้วแต่ พวกเราเป็นนักเรียน หรือครู ในฐานะที่แตกต่างกันไม่ได้ เราทุกคนมีความเสมอภาค คุณลิขิตก็ต้องคำนึงถึง และก็พร้อมที่จะทำให้วงนั้นดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้าสมมติว่า Fa มีอุบัติเหตุที่จะออกไปจากวง ก็จะทำให้วงสะดุด คนที่เป็น Note taker ต้องรับเรื่องนี้ต่อ คนที่กำลังมีอารมณ์ที่จะเรียนรู้ต่อเนื่อง เราก็จะต้องต่อ ในเรื่องความมั่นใจ และความไว้วางใจต่อกัน"

สิ่งนี้คงเป็นประเด็นของคุณลิขิตที่สามารถนำเอาไปใช้ได้ และก็น่าจะเอาไปใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นคุณลิขิต เป็น Fa หรือเป็นคนทำงานนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 41043เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ตลาดนัดนี้มีสินค้าดีๆ มากจริงๆ นะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปันท่านที่ไม่ได้ไปเที่ยวตลาด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท