กิจกรรมโครงการฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุโรงพยาบาลบ้านตาก


คุณลุงสกนธ์ ซึ่งมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ถ้าอยู่บ้านลุงก็จะนั่งๆนอนๆ ไม่พูดไม่จากับใคร แต่พอมาร่วมวงได้คุยกับคนวัยเดียวกัน คุณลุงดูหน้าตาสดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส แทบจะไม่นอนเลย
กิจกรรมโครงการฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุโรงพยาบาลบ้านตาก
วันนี้ 19 กันยายน เป็นวันเริ่มต้นโครงการฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ เราทำเป็นรุ่นแรกโดยใช้เงินบำรุงโรงพยาบาล จากการทำงานในการดูแลพี่น้องประชาชนมา เราพบว่าการดูแลอย่างดีในโรงพยาบาลนั้นสำหรับผู้สูงอายุไม่เพียงพอ การจะออกไปทำHome health care ในจำนวนมากๆเราก็ทำไม่ไหวเพราะงานประจำก็โหลดมากอยู่แล้ว พอดีคุณวราพร คุ้มอรุณรัตนกุล พยาบาลวิชาชีพได้ไปเรียนปริญญาโทสาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ กลับมาทำงานได้เกือบปีแล้ว มีความสนใจที่จะทำเรื่องสุขภาพผู้สูงอายุ ก็ได้นำผู้สูงอายุมาวิเคราะห์ พบว่าในบรรดาผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยนั้นจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆคือผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยแต่สามารถช่วยตัวเองได้อยู่ที่บ้าน ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วนและมีอาการจนต้องนอนโรงพยาบาลและผู้สูงอายุที่มีปัญหาช่วยตัวเองไม่ได้แต่ต้องอยู่ที่บ้าน ทางทีมของคุณวราพรที่ประกอบด้วยวิชาชีพต่างๆก็มาหาวิธีดูแล กลุ่มที่เจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลก็ไม่มีปัญหาอะไรในการจัดการเพราะลูกหลานจะพามานอนโรงพยาบาลและมีญาติดูแลอยู่แล้ว กลุ่มที่ช่วยตัวเองไม่ได้ก็มีญาติดูแลที่บ้านเราก็สามารถออกไปดูแลที่บ้านได้เพื่อแนะนำแก่ญาติและให้ทีมสหสาขาวิชาชีพเข้าไปช่วยดูเป็นระยะซึ่งตอนนี้ทีมHHCเราก็มีหมอรับผิดชอบแบ่งกันเป็นตำบลๆไปเลย แต่มีส่วนที่ช่วยตัวเองได้อยู่บ้านแต่มีโอกาสขาดยาสูงเพราะบางทีพอช่วยตัวเองได้ลูกก็ไม่ค่อยเอาใจใส่มาก บางทีก็ปล่อยกับพี่เลี้ยงหรือบางทีก็อยู่คนเดียว พอลูกหลานไปทำงานก็เหงา กลุ่มนี้แหละที่เราสนใจเพราะถ้าเราเข้าไปดูแลหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้เขาก็จะยิ่งมีปัญหาหรือเป็นภาระต่อคนอื่นๆน้อยลง จึงกลายเป็นที่มาของโครงการนี้ อาจจะคล้ายๆโครงการรับฝากพ่อแม่ช่วงกลางวันก็ได้ เราได้จัดเป็นหลักสูตรการดูแลและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพผู้สูงอายุเป็นรุ่นๆละ 10 วัน ในลักษณะเช้ามาเย็นกลับ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลออกให้หมด มีรถไปรับและไปส่ง เนื่องจากเรามีรถตู้คันเดียวช่วงเริ่มต้นเราจึงจัดแค่รุ่นละ10-12 คน โดยรับกลุ่มที่อยู่ตำบลหมู่บ้านเดียวกัน นัดไปรับไปส่งจุดเดียว วันนี้เป็นวันแรก ช่วงเช้าทีมงานก็จะรับเข้าสู่กระบวนการ มีกิจกรรมกลุ่มปรับพฤติกรรมสุขภาพ กิจกรรมธรรมะ ออกกำลังกายตามวัยและช่วงบ่ายมีช่วงพบแพทย์โดยผมก็จะไปตรวจสุขภาพให้ทุกคน ประเมินสภาวะสุขภาพ ปัจจัยเสี่ยงและความเจ็บป่วยที่ซุกซ่อนอยู่แล้วก็จัดให้มีการตรวจสุขภาพที่จำเป็น โดยทั้ง 10 วันจะมีโปรแกรมให้ ทั้งโปรแกรมส่วนบุคคลตามสภาพความเจ็บป่วยพื้นฐานและตามกลุ่ม แค่วันนี้วันแรกก็ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าร่วมทั้ง 11 ท่าน โดยที่เห็นเด่นชัดว่ามีความสุขอย่างมากคือคุณลุงสกนธ์ ซึ่งมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ถ้าอยู่บ้านลุงก็จะนั่งๆนอนๆ ไม่พูดไม่จากับใคร แต่พอมาร่วมวงได้คุยกับคนวัยเดียวกัน คุณลุงดูหน้าตาสดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส แทบจะไม่นอนเลย บางทีเราอาจลืมไปว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม หากปล่อยให้จับเจ่าอยู่กับบ้านแค่ สองคนตายายหรือแค่คนเดียวก็จะเกิดความเหงา คิดมากและอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ พอพวกเราได้เห็นอย่างนี้ก็ทำให้มีกำลังใจในการจัดทำโครงการนี้มากขึ้น  พอตอนเย็นมีคุณแม่กับลูกสาวพาคุณพ่อมาหาผม เขาเป็นโรคอัมพฤกษ์มานาประมาณ 1 ปี คุณแม่กับคุณลูกไปทำงาน ส่วนคุณพ่อก็อยู่ที่บ้านเฉยๆกับพี่เลี้ยง 1 คน พอทราบโครงการนี้ก็มาขอเข้าร่วมด้วยโดยยินดีจะมารับมาส่งเองพร้อมมีพี่เลี้ยงอยู่ช่วยด้วย 1 คน เพราะต้องการให้คุณพ่อได้ทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องและอยากให้เข้ากลุ่มด้วยเพราะจะได้มีเพื่อนพูดคุยในวัยเดียวกันและไม่เหงา ผมก็ได้ตรวจร่างกายเบื้องต้นและก็ให้เข้าร่วมกิจกรรมได้ และคิดเอาเองว่าน่าจะมีคนสนใจโครงการนี้อีกมากที่จะทะยอยเข้ามาซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าจะหาเงินบริจาคสักก้อนหนึ่งมาจัดทำเป็นหอฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุแยกออกมาต่างหาก ตอนนี้จัดเตรียมโครงการไว้พร้อมแล้ว จะรับได้ประมาณ 30 คน แต่ช่วงนี้ขอทำเป็นโครงการนำร่องไปก่อน โครงการนี้มีคุณวราพร เป็นพยาบาลประจำอยู่คนเดียว ที่เหลือก็มีทีมมาช่วยจากหอผู้ป่วย กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย สุขศึกษา เวชปฏิบัติครอบครัว แพทย์และคนอื่นๆที่มาช่วยทำกลุ่ม นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่โรงพยาบาลบ้านตากเราทำกิจกรรมโดยมีคนน้อยแต่อาศัยความเสียสละของงานอื่นๆมาช่วยกันในทำนองนี้อยู่หลายโครงการ เวลามีคนมาดูงานถึงแปลกใจว่าแค่งานประจำของแต่ละงานก็ไม่ใช่น้อยแต่เรายังช่วยกันแบ่งคนมาช่วยกันได้ เพราะความไม่หวงคนของหัวหน้าและความไม่งอมืองอเท้าของผู้ปฏิบัติที่มาช่วยกันจึงเกิดสิ่งดีๆให้กับคนบ้านตากหลายโครงการด้วยกัน แม้โรงพยาบาลบ้านตากจะได้งบประมาณน้อยและมีหนี้สินอยู่มากก็ตาม ก็ใช้การลงแรงและลงขันทางปัญญางานที่มีมากก็เลยสำเร็จได้
หมายเลขบันทึก: 4104เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2005 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
บล็อกของคุณหมอมีประโยชน์ต่อเครือข่ายจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานด้วย จึงขอเชิญให้คุณหมอสมัครเข้าชุมชนบล็อก Communities of Diabetes Care ด้วยค่ะ เมื่อสมาชิกเข้ามาอ่านบล็อกจะได้เจอของคุณหมอง่ายๆ หน่อย
นายรุ่งศักดิ์ ศิรินิยมชัย

ผมดีใจที่ได้เห็นรุ่นน้องจากคณะพยาบาล เชียงใหม่ได้ใช้ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาลและในชุมชน ผมขอเป็นกำลังใจให้น้องวราพร คุ้มอรุณรัตนกุล ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่น้องได้ผ่านจากการเรียนและจากวิทยานิพนธ์ที่ได้ค้นคว้านำมาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุต่อไปครับและขอให้ได้เป็น APN ในเร็ววันครับ

จากพี่สูงอายุรุ่น 5

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท