วิจัยในชั้นเรียนปฐมวัย


การวิจัยในชั้นเรียนระดับปฐมวัย

                 เนื่องจากการวิจัยในชั้นเรียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ครูใช้กระบวนการวิจัยในการแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน จุดเน้นของการวิจัยในชั้นเรียนจึงอยู่ที่ขั้นตอนการทำวิจัยที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียน ซึ่งได้แก่ การศึกษาถึงปัญหาและจุดที่ต้องการพัฒนา ศึกษาถึงสาเหตุของปัญหา ศึกษานวัตกรรมหรือวิธีการแก้ปัญหา สร้างและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ นำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปใช้แก้ปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียน หรือปัญหาการสอนของครู ประมวลผลการแก้ปัญหา สรุปผลการทดลองและเขียนรายงานเพื่อเผยแพร่

 

การวิจัยในชั้นเรียนกับการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัย

                 เด็กปฐมวัย จัดว่าเป็นระยะที่สำคัญที่สุดของชีวิต เป็นจุดวิกฤตของการเรียนรู้ที่เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นวัยทองแห่งการพัฒนา ทั้งนี้เพราะพัฒนาการทุกๆด้านของมนุษย์ ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์  ด้านสังคม  บุคลิกภาพ โดยเฉพาะด้านสติปัญญาจะสามารถเจริญและหล่อหลอมได้ดีในช่วงนี้ และพัฒนาการใดๆ ในวัยนี้จะเป็นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการในช่วงอื่นๆ ของชีวิตเป็นอย่างมาก  นักจิตวิเคราะห์ได้ย้ำให้เห็นว่า วัยเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ คือ ระยะ 5 ปีแรกของคนเราประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับในตอนต้นๆของชีวิตจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเราจนถึงวาระสุดท้าย           

            การจัดการศึกษาระดับปฐมวัยยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิถีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน สังคม และวัฒนธรรมไทย พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข พัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพและครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชนและสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก  แต่อย่างไรก็ตามในการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย หรือในชั้นเรียนปฐมวัย หรือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยย่อมมีปัญหา อุปสรรคเกิดขึ้นมากมายหลายประการในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ทั้งจากตัวครู จากกระบวนการ และจากตัวเด็กเอง ดังนั้นครูปฐมวัยจึงจำเป็นต้องมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  มีขั้นตอน นั่นก็คือ การใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียนในการแก้ปัญหา เพื่อส่งเสริมพัฒนาการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยให้เด็กได้รับการพัฒนาโดยองค์รวมอย่างเต็มตามศักยภาพและครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา

               

ขั้นตอนกระบวนการทำวิจัยในชั้นเรียน

กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการซึ่งโดยทั่วไปประกอบเป็นวงจรที่มี 4 ขั้นตอน คือ

1.   การวางแผน (Plan)

2.   การลงมือปฏิบัติ (Act)

3.   การสังเกตผลการปฏิบัติ (Observe)

4.   การสรุปและสะท้อนการปฏิบัติการ (Reflect)

 

           กระบวนการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ จะกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อจะนำไปสู่การปรับแผนเข้าสู่วงจรใหม่จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แก้ไขปัญหาได้จริงหรือพัฒนาสภาพการณ์ของสิ่งที่ศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขั้นตอนกระบวนการทำวิจัยในชั้นเรียนระดับปฐมวัย

กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนระดับปฐมวัยซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน คือ

1.  จุดเริ่มต้นของการวิจัย(การเลือกปัญหา)

2.   การวางแผน (Plan)

3.   การลงมือปฏิบัติ (Act)

4.   การสังเกตผลการปฏิบัติ (Observe)

5.   การสรุปและสะท้อนการปฏิบัติการ (Reflect)

6.  เขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน

             กระบวนการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนทุกขั้นตอนนี้ จะกระทำอย่างต่อเนื่อง แต่หากสังเกตผลแล้วผลที่พบไม่สามารถตอบคำถามการวิจัยได้ก็จะนำไปสู่การปรับแผนเข้าสู่วงจรใหม่จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แก้ไขปัญหาได้จริงหรือพัฒนาสภาพการณ์ของสิ่งที่ศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

1.  จุดเริ่มต้นของการวิจัยในชั้นเรียน

              1.1 จุดเริ่มต้นของการวิจัยในชั้นเรียนเริ่มที่การพบปัญหาจากขั้นการตรวจสอบของวงจรการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ ซึ่งครูจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนและปัญหาที่เกิดขึ้นจากขั้นการตรวจสอบนั้น ในกรณีที่ครูมีข้อมูลของผู้เรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ตรวจพบอย่างเพียงพอและมีแนวทางว่าควรทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร  ก็สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการวิจัย  แต่ถ้าหากว่าครูยังมีข้อมูลไม่เพียงพอและยังไม่มีแนวทางที่จะแก้ไขปรับปรุง ก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียนมาช่วย  โดยการค้นหาข้อมูลอันเป็นสาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไข และทำการวิจัยให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนปกติ  โดยครูอาจเริ่มต้นด้วยงานวิจัยขนาดเล็ก หรือวิจัยอย่าง่ายที่มุ่งแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงรายบุคคล  เพื่อให้สามารถควบคุมกระบวนการวิจัยให้อยู่ในวิสัยที่ครูสามารถดำเนินการได้

 

ที่มาของหัวข้อปัญหาในการวิจัย

                การที่จะคิดหัวข้อหรือปัญหาในการวิจัยในชั้นเรียนนั้นมีที่มาได้หลายแห่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมาจากแหล่งต่างๆ ดังนี้

  1. ความสนใจของครู
  2. กระบวนการทำงาน
  3. การอ่านหนังสือ เอกสาร
  4. ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย
  5. การเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ
  6. ปัญหาของผู้อื่น

 

                ปัญหาที่จะนำมาทำการวิจัยในชั้นเรียน  ควรมีความหมายและเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้  อยู่ในวิสัยที่ครูจะเป็นผู้ดำเนินการหาคำตอบได้   สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของครูผู้วิจัย  เช่น  ครูมีความสนใจและความถนัดในการจัดการเรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมติ  เมื่อพบปัญหาเด็กไม่กล้าแสดงออก ไม่มีความมั่นใจในตนเอง ไม่มีจินตนาการ ก็นำกิจกรรมบทบาทสมมติมาใช้เพื่อให้เด็กได้แสดงออกตามความคิดสร้างสรรค์จินตนาการของตนเองอย่างอิสระ  จะทำให้ครูทำวิจัยด้วยความสนุก  เห็นประโยชน์  ความสำคัญ  และเกิดแรงจูงใจที่จะทำให้สำเร็จ    อย่างไรก็ตามถ้าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข  ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ครูไม่ถนัด  ครูก็ต้องศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ หรือพัฒนาเทคนิควิธีการ นวัตกรรมใหม่ๆที่เหมาะสม เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหานั้นให้ได้

 

1.2      วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา   การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาหรือความ

ต้องการพัฒนา เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาในเรื่องที่ได้จัดลำดับความสำคัญไว้ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ครูต้องสำรวจว่า มีอะไรเกิดขึ้น  สิ่งนั้นเป็นปัญหาหรือไม่    และหากสภาพที่เกิดขึ้นแสดงถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขหลายประการ  ครูก็ต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของปัญหาเหล่านั้น  โดยพิจารณาจากความรุนแรงของปัญหา  ว่าปัญหาใดควรได้รับการแก้ไขก่อน 

            ครูสามารถสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาได้หลายลักษณะ  เช่น วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในแง่มุมต่างๆ ตรวจสมุดแบบฝึกหัด สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน ศึกษาข้อมูลจากการประเมินของผู้ที่เกี่ยวข้อง  เป็นต้น  ครูจะพบปัญหา  ข้อสงสัยที่เกิดจากผู้เรียน  ครู  และกระบวนการเรียนการสอน 

            เมื่อเลือกปัญหาได้แล้วต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงเหตุ ปัญหาจึงจะได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงได้ สาเหตุของปัญหาอาจเกิดจากพฤติกรรม การสอน การใช้สื่อหรือการวัดผลของครู ทัศนคติ พื้นฐานภูมิหลัง นิสัยหรือพฤติกรรมของผู้เรียน ระดับความยากหรือปริมาณของเนื้อหาวิชา    หรือบรรยากาศสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ห้องเรียนคับแคบ ร้อน แสงสว่างไม่พอ แหล่งเรียนรู้สำหรับศึกษาค้นคว้าไม่เพียงพอ เป็นต้น

           ในกรณีที่พบว่าสาเหตุของปัญหามีหลายสาเหตุ อาจเลือกสาเหตุที่มีความสำคัญซึ่งเป็นสาเหตุต้นตอของสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งถ้าแก้สาเหตุต้นตอได้  จะทำให้สาเหตุอื่นถูกกำจัดไปด้วย  และนำสาเหตุที่เหลือมาวิจัยต่อได้ตามช่วงเวลาต่าง ๆ   ทำให้เกิดการทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง

 

2.  การวางแผนการวิจัยในชั้นเรียน 

          การวางแผนการวิจัยในชั้นเรียน คือ การกำหนดจุดประสงค์และวิธีดำเนินการ

เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนไว้เป็นการล่วงหน้า ดังนั้นการวางแผนการวิจัยในชั้นเรียนจึงต้องมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ

2.1   การตั้งข้อสงสัยหรือคำถามการวิจัย เมื่อครูได้วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของ

ปัญหาแล้ว เพื่อที่จะชี้ให้รู้ว่าการทำวิจัยครั้งนี้ต้องการรู้อะไร จึงต้องตั้งคำถามการวิจัยหรือการกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย ที่มีความเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับปัญหาหรือความต้องการพัฒนา และแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนา โดยเป็นการกำหนดประเด็นข้อสงสัยที่ต้องการค้นหาคำตอบซึ่งอาจเขียนอยู่ในรูปประโยคของคำถามหรือประโยคธรรมดาที่มีความเฉพาะเจาะจง สามารถวัด สังเกตหรือเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยได้

2.2       ศึกษา หาวิธีการในการแก้ปัญหา    เมื่อครูได้วิเคราะห์ปัญหาและ

สาเหตุของปัญหาแล้ว เพื่อที่จะให้ได้แนวทางในการแก้ปัญหา  ครูต้องกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนา จากสาเหตุของปัญหาหรือความต้องการพัฒนา โดยอาศัยหลักวิชาหรือทฤษฎี และความรู้หรือประสบการณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง   หลักสูตร  ตำรา  คู่มือ  ผลงานวิจัย  เพื่อครูจะได้ทราบว่าปัญหาที่คล้ายกับปัญหาที่ประสบอยู่นั้นมีผู้ใดศึกษาไว้บ้าง    ใช้วิธีใดในการแก้ปัญหา  ผลการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร  จะทำให้ครูเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ชัดเจนขึ้น    ซึ่งอาจจะเป็นกิจกรรม   หรือสื่อช่วยการเรียนรู้  เช่น  กิจกรรมกลุ่มแบบต่าง ๆ   สถานการณ์จำลอง   บทเรียนสำเร็จรูป  เป็นต้น

2.3          การกำหนดรูปแบบการวิจัย เพื่อให้ได้คำตอบของข้อสงสัยหรือคำถาม

การวิจัย โดยที่รูปแบบการวิจัยสามารถดำเนินการได้หลายแบบ ครูผู้วิจัยต้องกำหนดว่าจะใช้รูปแบบการวิจัยแบบใด รูปแบบการวิจัยนี้หมายถึงการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย วิธีการและกิจกรรม รวมทั้งระยะเวลาในการค้นหาคำตอบของคำถามการวิจัยที่ตั้งไว้

2.4          การเตรียมแผนสู่การปฏิบัติ โดยการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมตาม

แนวทางและรูปแบบที่กำหนดไว้ รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ซึ่งอาจกำหนดแนวทางการปฏิบัติโดยอาศัยประเด็นคำถามพื้นฐาน ดังตัวอย่างเช่น

            2.4.1      Why = ทำไมต้องรวบรวมข้อมูล

            2.4.2      What = ต้องการเก็บข้อมูลอะไร

            2.4.3      Where = จะเก็บข้อมูลจากที่ไหน

            2.4.4      When = จะเก็บข้อมูลเมื่อไหร่ นานแค่ไหน

            2.4.5      Who = ใครเป็นคนเก็บข้อมูล

            2.4.6      How = จะรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร เป็นต้น

 

2.5 พัฒนานวัตกรรมหรือวิธีการแก้ปัญหา ครูต้องศึกษาและออกแบบหรือพัฒนา

นวัตกรรม วิธีการ หรือสื่อช่วยการเรียนรู้ที่จะใช้ในการแก้ปัญหา   แล้วดำเนินการหาคุณภาพจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยนำนวัตกรรม วิธีการหรือสื่อต้นแบบที่พัฒนาขึ้นไปให้เพื่อนครู  ศึกษานิเทศก์  หรือนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษา  ตรวจสอบความถูกต้อง  เหมาะสม  และให้ข้อเสนอแนะ  แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข  เตรียมนำไปใช้กับผู้เรียนของตน

 

3.      การลงมือปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน

         การลงมือปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน ขั้นตอนนี้เป็นหัวใจของการทำวิจัยเมื่อได้ทำการวางแผนและเตรียมการปฏิบัติการแก้ปัญหาหรือพัฒนาเรียบร้อยแล้ว ลงมือปฏิบัติโดยในขั้นปฏิบัตินี้อาจมีความยืดหยุ่นได้บ้างซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ที่ครูผู้ วิจัยอาจพิจารณาได้ตามความเหมาะสม ขณะการปฏิบัติการนั้นจะต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์วิจารณ์ประกอบไปด้วย รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมวิจัยหรือใช้ข้อมูลอื่นๆ ประกอบเพื่อปรับปรุงตามความเหมาะสมด้วย  

              การนำนวัตกรรมหรือวิธีการแก้ปัญหาไปใช้กับผู้เรียนของตน  โดยระบุขั้นตอน

การดำเนินการอย่างชัดเจน   แล้วเก็บรวบรวมข้อมูล  เช่น  สังเกตและบันทึกพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้เรียนก่อนใช้  เมื่อใช้เสร็จแล้วสังเกตและบันทึกพฤติกรรมอีกระยะหนึ่ง  เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาความเปลี่ยนแปลงของผลที่เกิดขึ้น  โดยครูผู้วิจัยต้องสร้างเครื่องมือหรือกำหนดวิธีการที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล  รวมทั้งแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล

4.      การสังเกตผลการปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน

            การสังเกตผลเป็นการรวบรวมข้อมูลการวิจัยและนำผลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อตอบ

คำถามการวิจัยที่ตั้งไว้ การปฏิบัติต้องทำดำเนินการอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งการบันทึกผลการสังเกตทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่คาดหวังหรือไม่คาดหวัง โดยสิ่งที่ควรสังเกตได้แก่ กระบวนการของการปฏิบัติ ผลของการปฏิบัติ และสภาพการณ์แวดล้อมและข้อจำกัดของการปฏิบัติ โดยมีเทคนิคเบื้องต้น การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยอาจอาศัยเทคนิคที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งมีหลายชนิดและแต่ละชนิดมีกระบวนการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันและมีความเหมาะสมกับข้อมูลแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน สิ่งที่ควรคำนึงคือคุณภาพของข้อมูลได้มาด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลที่เก็บมาได้

             4.1  เทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยในชั้นเรียนหรือใช้ประกอบการสังเกตผลการปฏิบัติ เช่น

  • การจดบันทึกสะสม (Anecdotal records)
  • การใช้บันทึกภาคสนาม (Field note)
  • การบันทึก/บรรยายถึงพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม (Ecological

behavioral)

  • การวิเคราะห์เอกสาร (Document analysis)
  • การบันทึกอนุทินหรือจดหมายเหตุรายวัน (Diaries)
  • การบันทึกลงกระดาษแข็งเป็นรายเรื่อง (Item Sampling cards)
  •  การใช้ข้อมูลจากแฟ้มรายการ (Portfolio)
  •  การใช้แบบสอบถาม (Questionnaires)
  •  การสัมภาษณ์ (Interview)
  • การใช้สังคมมิติ (Sociometric methods)
  •  การใช้แบบตรวจสอบปฏิสัมพันธ์ และแบบสำรวจรายการ (Interaction

schedules and checklists)

  • การใช้เครื่องบันทึกเสียง (Tape recording)
  • การใช้วิดีทัศน์ (Video-recording)
  •  การใช้แบบทดสอบ (test)

         4.2 การวิเคราะห์ผลการวิจัย   ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยแบ่งเป็น 2  ประเภท ได้แก่ ข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ

                 4.2.1     ข้อมูลเชิงปริมาณ  คือ ข้อมูลที่สามารถใช้ตัวเลขแทนค่าได้ การวิเคราะห์ข้อมูลประเภทนี้ต้องมีการใช้วิธีการทางสถิติในการคิดคำนวณ เช่น ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการนำเสนออาจนำเสนอแบบตาราง กราฟ หรือแผนภูมิ

                 4.2.2   ข้อมูลเชิงคุณภาพ    คือ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาปรากฏการณ์จากสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริงในทุกมิติโดยไม่คำนึงถึงตัวเลข ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมไม่อาจจัดอยู่ในรูปปริมาณ เช่น ความรู้สึกนึกคิด ประวัติชีวิต ค่านิยม และประสบการณ์ หรือปัญหาในการดำเนินชีวิตบางประการ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพมี 2 วิธี ดังนี้

(1)  ตรวจพิจารณาข้อมูลที่เก็บมาได้ทั้งหมด แล้วกำหนดประเด็นสำคัญหรือคำสำคัญที่พบจากข้อมูล จากนั้นนำมาจำแนกข้อมูลตามประเด็นสำคัญหรือคำสำคัญ ขั้นต่อไปค้นหารูปแบบความสัมพันธ์ของประเด็นเหล่านั้นแล้วจึงนำมาวิเคราะห์ข้อมูล

(2)  กำหนดประเด็นสำคัญหรือคำสำคัญก่อนแล้วจึงตรวจพิจารณาข้อมูลที่

เก็บมาได้ทั้งหมด จากนั้นนำมาจำแนกข้อมูลตามประเด็นสำคัญหรือคำสำคัญ ขั้นต่อไปค้นหารูปแบบความสัมพันธ์ของประเด็นเหล่านั้นแล้วจึงนำมาวิเคราะห์ข้อมูล

5.     การสรุปและสะท้อนผลการปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน

เป็นการแปลผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้และสะท้อนผลของการวิเคราะห์ข้อมูลหรือผลการปฏิบัติการวิจัย โดยครูผู้วิจัยควรนำผลที่ได้จากการสังเกตมาตรวจสอบในแง่มุมต่างๆ โดยการอภิปรายเพื่อตอบคำถามการวิจัยว่าปัญหาที่ต้องการแก้ไขนั้น แก้ได้หรือไม่เพียงใด หรือนวัตกรรมเทคนิควิธีการที่นำมาใช้ได้ผลเป็นเช่นใดบ้าง  ควรปรับปรุงพัฒนา สามารถเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขและวางแผนในการปฏิบัติการต่อไปอย่างไร โดยอาจใช้เทคนิคเบื้องต้น คือ

              6.1          การแปลความหมายของผลการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ทราบว่าคำตอบของคำถามวิจัยคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เป็นต้น

              6.2          การสะท้อนผลกลับ เป็นส่วนสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียนซึ่งจะทำให้ครู ผู้วิจัยได้สารสนเทศที่ช่วยในการตัดสินใจปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติต่อไป

6. เขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน

การนำเสนอรายงานผลการวิจัย เป็นการแสดงให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบรายละเอียดของการวิจัย หลังจากได้ดำเนินการมาทุกขั้นตอนแล้ว ซึ่งรูปแบบการนำเสนอรายงานผลการวิจัยในชั้นเรียนสามารถจัดทำได้ 2 แบบ คือ

1.    รูปแบบการเขียนรายงานผลการวิจัยแบบไม่เป็นทางการ สำหรับ

โครงสร้างจะเหมือนรายงานการวิจัยเชิงวิชาการแต่มักนำเสนออย่างสั้นๆ เช่น วิจัยหน้าเดียว

2.รูปแบบการเขียนรายงานการวิจัยเชิงวิชาการหรือแบบเป็นทางการ

         ส่วนใหญ่จะมีการนำเสนอในรูปแบบการวิจัยทั่วไปที่มีองค์ประกอบหรือหัวข้อที่เป็นลำดับแบบแผนและรูปเล่มที่สมบูรณ์

 

โครงร่างการวิจัยในชั้นเรียนระดับปฐมวัย

           เมื่อครูเข้าใจขั้นตอนกระบวนการในการทำวิจัยในชั้นเรียนแล้วก็ต้องมาเขียนโครงร่างการวิจัยเพื่อเป็นการวางแผนหรือสร้างกรอบแนวคิดว่าจะทำอะไรทำไมต้องรวบรวมข้อมูลเพื่ออะไร ต้องการเก็บข้อมูลอะไร   จะเก็บข้อมูลจากที่ไหนจากใคร  จะเก็บข้อมูลเมื่อไหร่ นานแค่ไหน  ใครเป็นคนเก็บข้อมูล   จะรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร เป็นต้น

 

หัวข้อและโครงร่างการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนไม่เป็นทางการ(อย่างง่าย)

 1.         ชื่อเรื่องการวิจัย  การตั้งชื่อเรื่อง  อาจเขียนในรูปประโยคหรือข้อความสั้นๆ  เฉพาะเจาะจง  และเร้าความสนใจควรประกอบด้วย

                1.1      ตัวแปร คือ  สิ่งที่ต้องการศึกษา  

                1.2      ประชากร คือกลุ่มเป้าหมายของการวิจัย

                1.3      วิธีศึกษา  คือ  ประเภทของการวิจัย  ได้แก่  การวิจัยเชิงสำรวจ  การวิจัยหาความสัมพันธ์  การวิจัยเปรียบเทียบ  การวิจัยทดลอง  ประดิษฐ์    และพัฒนานวัตกรรม

2.  ชื่อผู้วิจัย  ระบุชื่อ-นามสกุลผู้วิจัย

3. ความเป็นมาของปัญหา (การสะท้อนความคิดก่อนปฏิบัติการ)

                เป็นการมองปัญหาสู่วัตถุประสงค์  เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของความคิดจากปัญหาการวิจัย  จนถึงความสำคัญของปัญหา  แบ่งเป็น 5 ระดับ

                      1.  อธิบายสภาพปัจจุบันกว้างๆ นำเข้าสู่ปัญหาการวิจัย

                      2.  อธิบายสภาพปัจจุบันของสถานศึกษา หรือชั้นเรียน

                                                -  บอกเหตุผล  หลักฐานประกอบ

                      3.  ที่มาของปัญหาการวิจัย

                                  -       บอกผลวิจัยที่ผ่านมา/นโยบาย

                      4.   ปัญหาการวิจัย

                                     -       บอกปัญหาที่แท้จริงที่ต้องการทำวิจัย

                     5.   ความสำคัญของปัญหา

                                        - ระบุความสำคัญ/จำเป็นและผลจะเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาควรกระชับ  เป็นเหตุผล  นำสู่จุดประสงค์การวิจัย  ควรใช้ข้อมูล/วิจัย  อ้างอิง

 

4. วัตถุประสงค์ของการวิจัย   เป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าเราต้องการจะทำวิจัยเพื่อตอบคำถามใด เพื่อแก้ปัญหาอะไร ของใคร ที่ไหน กี่คน วัตถุประสงค์การวิจัยจะต้องสอดรับกับปัญหาการวิจัยและหัวเรื่อง 

5.  การวางแผนเพื่อปฏิบัติการ ( Planning)  ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการเตรียมการวางแผนการปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหา โดยดำเนินการดังนี้

               5.1 หาเทคนิควิธีการและนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการจัดการเรียนการสอน

               5.2      กำหนดวิธีการปฏิบัติ ในประเด็นดังนี้

                            -   จะแก้ปัญหาอะไร กับใคร

                            -   จะแก้ไขเมื่อใด ระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ปัญหา

                            -   จะใช้เครื่องมืออะไรในการเก็บรวบรวมข้อมูล

                            -    จะใช้วิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร                         

 6. การปฏิบัติการ (Action) 

         การลงมือปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน ขั้นตอนนี้เป็นหัวใจของการทำวิจัยเมื่อได้ทำการวางแผนและเตรียมการปฏิบัติการแก้ปัญหาหรือพัฒนาเรียบร้อยแล้ว ครูต้องลงมือปฏิบัติการรวบรวมข้อมูลการวิจัยโดยใช้เทคนิควิธีการต่างๆ วิธีการเก็บข้อมูลที่สำคัญที่สุดคือ การสังเกต  และเก็บข้อมูลในสภาพการจัดการเรียนการสอนปกติ ในขั้นปฏิบัตินี้อาจมีความยืดหยุ่นได้บ้างซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ที่ครูผู้ วิจัยอาจพิจารณาได้ตามความเหมาะสม ขณะการปฏิบัติการนั้นจะต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์วิจารณ์ประกอบไปด้วย รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมวิจัยหรือใช้ข้อมูลอื่นๆ ประกอบเพื่อปรับปรุงตามความเหมาะสมด้วย  

 7.  การสังเกตผลการปฏิบัติการ (Observation)  เป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล หรือผลที่ได้จาการปฏิบัติการวิจัย  ซึ่งอาจเสนอในรูปตาราง  ตารางประกอบความเรียงหรือนำเสนอในรูปของความเรียง

8.  สรุปและสะท้อนผลการวิจัย (Reflection) เมื่อครูทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในขั้นตอนที่ 7เรียบร้อยแล้ว จะต้องทำการสรุปพิจารณาองค์ความรู้ที่ค้นพบ เพื่อเป็นการประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือผลการวิจัยที่ได้จากการปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 6 โดยการวิเคราะห์ วิจารณ์ เพื่อสะท้อนไปสู่การปรับปรุงใหม่ หรือการทำซ้ำเพื่อยืนยันผลการวิจัน

 

หัวข้อและโครงร่างการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนเชิงวิชาการ(แบบเป็นทางการ)

หัวข้อและโครงร่างการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนเชิงวิชาการ(แบบเป็นทางการ)

ควรประกอบไปด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้

1.  หัวข้อการวิจัย

2.  ชื่อ-สกุล ผู้วิจัย                                                              

3.  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

4.  วัตถุประสงค์ของการศึกษา

5.  ขอบเขตของการศึกษา  ประกอบด้วย

                  -ขอบเขตด้านประชากร

                  -ขอบเขตด้านเนื้อหา

6.  นิยามศัพท์เฉพาะ

7.  ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษา

8.  เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

9.  วิธีดำเนินการศึกษา ควรระบุหัวข้อต่อไปนี้

  1. ประชากร
  2. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา
  3. วิธีการสร้างเครื่องมือ
  4. การเก็บรวบรวมข้อมูล
  5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้

10.  ระยะเวลาในการดำเนินการศึกษา

11.  สถานที่ที่ใช้ในการดำเนินการและรวบรวมข้อมูล

12.  บรรณานุกรมชั่วคราว

 

หมายเลขบันทึก: 410332เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นขั้นตอนการวิจัยที่ดี แต่อยากได้ตัวอย่างการวิจัยที่เต็มรูปแบบค่ะ

อยากได้วิจัยชั้นเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กปฐมวัยในเรื่องการแกล้งเพื่อนมากเลยต่ะเป็นงานวิจัยหน้าเดียว

ขอบคุณมากๆ สำหรับข้อมูลการเขียนวิจัย/เสาวนีย์ จ.ตราดค่ะ

ดีมากๆเลยค่ะ อยากได้ตัวอย่างงานวิจัยสำหรับเด็กปฐมวัย ๔-๕ จะเป็นการรบกวนหรือเปล่าคะ

อยากได้ตัวอย่างงวิจัยที่สมบูรณ์มากคะ

อยากได้ตัวอย่างงานวิจัยที่เห็นได้ชัด

วัชราภรณ์รดา วีรวัฒน์บารมี

ดีค่ะอยากได้งานวิจัยเกี่ยวกับการปรับตัวของเด็ก


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท