สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๒.๑


“….ฉันหวังว่าการรักษาตัวของฉันจะได้ผลดีขึ้นเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ยังไม่แน่ใจว่าควรจะเรียนต่อไปหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี ฉันรู้สึกว่า ถ้าฉันจะทำเกี่ยวข้องกับโรงเรียนแพทย์อีกต่อไปแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะเรียนให้จบหลักสูตรแพทย์ในระหว่างสองปีที่อยู่ในกรุงสยาม ฉันรู้สึกตัวว่าฉันยังเป็นรองอยู่มาก”
ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย (ตอน ๒.๑)

 [อ่านพระราชประวัติ ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๑.๑, ตอนที่ ๑.๒, ตอนที่ ๑.๓, ตอนที่ ๑.๔, ตอนที่ ๑.๕, ตอนที่ ๑.๖, ตอนที่ ๒]

                ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงเข้าช่วยเหลือจัดระเบียบวิธีอำนวยการโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเสียใหม่ เสด็จในกรมพระยาชัยนาทฯ ได้ทรงเข้าช่วยเหลือด้วย ที่ประชุมตกลงกันว่าให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย อาจารย์หัวหน้าแผนกวิชา และเจ้าหน้าที่แผนกพยาบาลเป็นกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้ได้กราบทูลเชิญพระองค์เป็นนายก มีการประชุมเดือนละ ๒ ครั้ง มีหน้าที่วางนโยบายและมีกรรมการบริหารอีกชุดหนึ่ง ประกอบด้วยสมเด็จพระบรมราชชนก คณบดี และหัวหน้าแผนกวิชา เพื่อดำเนินการตามที่กรรมการชุดที่หนึ่งได้ตกลงแนะนำไว้ งานขั้นแรกที่สำคัญคือ การแต่งตั้งให้หม่อมเจ้าหญิงจันทรนิภา เทวกุล เป็นอาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนผดุงครรภ์และพยาบาล โดยทรงเป็นผู้ขอร้องให้หม่อมเจ้าหญิงองค์นี้เข้าช่วยเหลือโรงเรียนเป็นการแสดงถึงพระวิจารณญาณอันสุขุมเหมาะสมกับเหตุการณ์ ได้ทรงเลือกสรรผู้ที่เหมาะสมกับหน้าที่ ด้วยมีพระประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะให้มีการสอนกิจกรรมและสอนการกินอยู่ทั่วๆ ไป ที่ถูกวิธีให้แก่พยาบาลนั้น คุณค่ามากเท่าเทียมหรือมากกว่า การสอนตามหลักสูตรเสียอีก วิชาพยาบาลเริ่มก้าวหน้าขึ้น

              คณะกรรมการดังกล่าวมีอายุเพียง ๒ ปี ตามข้อตกลงเดิม โดยถือว่าเป็นระยะทดลองแต่เมื่อตั้งต้นปฏิบัติตามระเบียบดำเนินการใหม่นี้ได้ประมาณ ๓ เดือน ก็เสด็จยุโรป     แต่คณะกรรมการดำเนินต่อไปจนครบ ๒ ปี ตามกำหนดจึงยุบเลิก แต่มีกรรมการคณะแพทยศาสตร์และกรรมการโรงพยาบาลศิริราชขึ้นมาแทน

                   ในระหว่างที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ครั้งนั้น นอกจากพระราชภารกิจเกี่ยวกับโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลซึ่งหนักยิ่งแล้ว ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างอื่นๆ อีกหลายอย่างในทางสาธารณสุข เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ทรงอบรมสาธารณสุขมณฑล แก่ผู้เข้ามาประชุมในกรุงเทพฯ    ทรงบรรยายเรื่อง “ธาตุปัจจัยในการสาธารณสุข” ทรงสอนวิธีปฏิบัติงานสาธารณสุข (Practical Sanitation) ให้แก่แพทย์ที่มาอบรม และทรงพาแพทย์เหล่านั้นไปดูงานสุขาภิบาล ทรงปรารภถึงตึกแถวถนนเจริญกรุง ที่สร้างเหลื่อมล้ำกันออกมา      นอกจากนั้นทรงพาไปดูตลาดและส้วมตามวัดต่างๆ เช่น วัดดวงแขและวัดบรมนิวาส ซึ่งเมื่อได้พบส้วมที่ผิดสุขลักษณะและทางวัดไม่มีเงินจะสร้าง  ก็จะทรงเรี่ยไรจากผู้ที่เข้ารับการอบรมคนละเล็กละน้อย ส่วนใหญ่ที่ขาดก็จะทรงพระราชทานจนครบ การเสด็จไปตามตลาด บ้านเรือนราษฎร บางครั้งก็มีชาวบ้านสาดน้ำมาเกือบต้องพระองค์ ก็ไม่ทรงถือสาอะไร ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางสาธารณสุขแก่ผู้เข้ารับการอบรม

            ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อบรรดาแพทย์ที่มาประชุมครั้งนั้นมาก ทั้งหมดจึงพร้อมใจกันจัดของที่ระลึกถวาย ได้มีลายพระราชหัตถ์ตอบรับมายังเสด็จในกรมพระยาชัยนาทฯ แสดงให้เห็นว่าทรงเห็นความสำคัญของการสาธารณสุขอย่างยิ่ง

"….หม่อมฉันรู้สึกอยู่เสมอว่าการสาธารณสุขนั้น เป็นของสำคัญยิ่ง เป็นเครื่องบำรุงกำลังของชาติไทย และเป็นสาธารณประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสอันใดที่หม่อมฉันพอที่จะช่วยออกกำลังกาย ปัญญาหรือทรัพย์อันเป็นผลที่จะทะนุบำรุงให้การนั้นเจริญขึ้นแล้ว หม่อมฉันยินดีปฏิบัติได้เสมอ       อนึ่ง หม่อมฉันรู้สึกว่ากิจการที่หม่อมฉันได้ทำมานั้นเป็นการเล็กน้อยเท่านั้น”

                  ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ คณะเพรสไบทีเรียนมิชชัน   ได้กราบทูลเชิญเสด็จเปิดโรงพยาบาลแมคคอร์มิคที่เชียงใหม่   ทรงลำบากพระทัยในการที่จะเสด็จ ด้วยทรงพระราชดำริว่า  การเสด็จไปอย่างเป็นทางการเป็นการสิ้นเปลืองมาก จะเสด็จอย่างไม่เป็นทางการก็เกรงประชาชนจะเสียใจ ในที่สุดทรงตัดสินพระทัยเสด็จอย่างเป็นทางการ  เพื่อถนอมน้ำใจที่ราชการและประชาชนทรงปรารถนาอยากจะให้มีแพทย์ที่สำเร็จจากคณะแพทยศาสตร์ ๒ นาย ไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเปิดใหม่นี้ โดยจะทรงอุดหนุน แต่พระราชประสงค์นี้ก็มิได้สำเร็จดังพระราชประสงค์    อย่างไรก็ดีทรงช่วยให้โรงพยาบาลมีแพทย์อเมริกัน ประจำอยู่ชั่วคราวครั้งละ ๓ ปี  การเสด็จครั้งนี้ได้ทรงเปิดสถานีอนามัยกาชาดที่เชียงใหม่ด้วย

                 การพิจารณาปรับปรุงการสอนพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช   ได้เริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๘   โดยจะจ้างนางพยาบาลต่างประเทศมาช่วยดำเนินการสอนและปรับปรุง มีผู้ค้านว่าไม่สมควรที่จะปรับปรุงเพราะผลที่ได้อาจจะไม่คุ้ม อ้างว่าพยาบาลที่สำเร็จแล้วแต่งงานไปเสียโดยมาก มีผู้ที่จะดำเนินอาชีพน้อยมาก แต่ทรงคาดการณ์ไกล  ทรงยืนยันที่จะให้มีการปรับปรุง โดยทรงอธิบายว่าวิชาพยาบาลต่อไปภายหน้า การได้รับการฝึกฝนอบรมตามหน่วยพยาบาลก็จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองในฐานะแม่บ้าน    ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปรับปรุงนี้ก็คือเรื่องสถานที่และเงินจะจ้างพยาบาลชาวต่างประเทศ     ทรงแก้ปัญหาโดยซื้อโรงเรียนวังหลังจากคณะเพรสไบทีเรียนมิชชัน ในราคา ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วโปรดให้โรงพยาบาลเช่าในอัตราปีละ ๒ บาท     การที่ทรงให้เช่าเป็นพิธียังไม่ให้สิทธิ์ขาดแก่โรงพยาบาลก็เพราะทรงมีเหตุผลว่า ถ้ายกให้เป็นสมบัติเสียแต่แรกแล้ว ทรงเกรงว่าเหตุการณ์จะไม่เป็นไปตามพระราชดำริ โรงพยาบาลอาจนำสถานที่ไปใช้ในการอื่นๆ   ซึ่งขัดกับพระราชประสงค์    นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซม และปลูกบ้านใหม่สำหรับอาจารย์ผู้ปกครอง  กับทรงรับรองจะพระราชทานเงินสำหรับแก้ไขซ่อมแซมอีกปีละ ๖,๒๐๐ บาท   สถานที่นี้ทรงพระราชทานแก่พยาบาลจึงจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้      ทรงเห็นว่าทุกคนเหน็ดเหนื่อยตรากตรำต่องาน จึงมีพระราชประสงค์จะให้ได้อยู่ที่ที่มีอากาศดี เช่น ที่ริมแม่น้ำ ส่วนเรื่องเงินเดือนพยาบาลต่างประเทศ ๒ คน ก็ทรงรับจะพระราชทานให้

                การที่ทรงตรากตรำทำงานอย่างหนัก ทั้งเรื่องการก่อสร้างตึก การจัดการโรงเรียน โรงพยาบาล และการเกี่ยวกับหลักการของมหาวิทยาลัย ทำให้พระอนามัยทรุดโทรม แม้ก่อนหน้าที่จะเสด็จนิวัติพระนครคราวนี้ ก็มีนายแพทย์ยุโรปผู้หนึ่งกราบทูลว่า จะทรงมีพระชนม์ต่อไปได้อีกเพียง ๒ ปีเท่านั้น ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘   ทรงรู้สึกพระองค์เองว่าจะต้องทรงรับการรักษา จึงทรงโปรดให้นายแพทย์ผู้หนึ่งตรวจพระอาการ ได้รับคำกราบทูลแนะนำว่าให้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ยุโรปหรืออเมริกาซึ่งมีอากาศดีก่วา และเหมาะกับพระอาการกว่า

               จากเหตุดังกล่าวแล้ว ยังมีสิ่งอื่นที่เร่งเร้ากระตุ้นให้เสด็จต่างประเทศเพื่อทรงศึกษาวิชาแพทย์ให้สำเร็จ ดร.เอลลิส กล่าวไว้ในบทความที่เขียนเกี่ยวกับสมเด็จพระบรมราชชนกว่า ในการประชุมวางแผนผังโรงเรียนแพทย์ครั้งหลัง มีแพทย์ผู้หนึ่งกล่าวขึ้นในทำนองที่ว่า ไม่ควรฟังพระราชดำริของพระองค์มากนัก เพราะมิได้ทรงเป็นแพทย์ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วทรงทราบเรื่องนั้นดีกว่าผู้อื่น  มิได้ทรงกริ้ว   แต่ก็ทรงถือคำพูดของนายแพทย์ผู้นั้นเป็นเสมือนหนึ่งว่าได้สั่งเร่งเร้าให้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเรียนแพทย์ให้จงได้   และมีเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งในการประชุมเรื่องการรับผิดชอบคนไข้ผู้หนึ่ง ซึ่งคลอดบุตรแล้วตายด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ   ได้มีการโต้เถียงกันว่าคนไข้ควรอยู่ในความรับผิดชอบของแผนกใด   มีแพทย์ผู้หนึ่งพูดขึ้นว่า ผู้ที่เป็นแพทย์เท่านั้นจึงจะเห็นใจเขา คำพูดนี้ทำให้ทรงปรารภว่า ถ้าไม่มีความรู้ทางการแพทย์ก็ไม่สามารถโต้เถียงอะไรในปัญหาได้

“….ฉันหวังว่าการรักษาตัวของฉันจะได้ผลดีขึ้นเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ยังไม่แน่ใจว่าควรจะเรียนต่อไปหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี ฉันรู้สึกว่า ถ้าฉันจะทำเกี่ยวข้องกับโรงเรียนแพทย์อีกต่อไปแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะเรียนให้จบหลักสูตรแพทย์ในระหว่างสองปีที่อยู่ในกรุงสยาม ฉันรู้สึกตัวว่าฉันยังเป็นรองอยู่มาก”

               นอกจากนี้ยังมีพระราชประสงค์จะเสด็จเยี่ยมนักเรียนทุนส่วนพระองค์ในยุโรป

                สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จยุโรป พร้อมกับสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘  ครั้งนี้   ได้ทรงให้เจ้าหน้าที่ในแผนกฟิสิกส์คนหนึ่งตามเสด็จด้วย เพื่อไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยทุนส่วนพระองค์      ในระหว่างที่เสด็จยุโรปนี้ทรงถือโอกาสเสด็จเยี่ยมนักเรียนทุนส่วนพระองค์ตามทางที่เสด็จผ่านด้วย ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานโอวาทแก่นักเรียนไทยเสมอว่า ให้ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญ

                    วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘  สมเด็จพระบรมราชชนนี ประสูติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ที่เมืองไฮเดลเบอร์ก  ประเทศเยอรมนี

                  ระหว่างที่ประทับอยู่ในเยอรมนี ทรงให้แพทย์ตรวจพระอาการ ซึ่งแพทย์ผู้นั้นได้ลงความเห็นว่าอาการแห่งพระวักกะนั้นเนื่องมาจากพระกำลังและวิถีประสาทอ่อน มิใช่อาการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของพระวักกะแต่อย่างใด

“……โดยทั่วๆ ไป การทำนายโรคของดอกเตอร์…เป็นที่พอใจ เขาแนะให้ฉันรู้ว่า กำลังอ่อนของฉันนั้นอาจไม่เปลี่ยนแปลงไปได้ แต่ฉันควรจะทำการโดยทางใดทางหนึ่ง ให้ดีให้เหมาะแก่ความเป็นอยู่ ไม่ให้ออกกำลังกายหรือความคิดมากเกินไป เมื่อฉันถามความเห็นเขาว่า ฉันสามารถจะเรียนวิชาแพทย์อีก ๒ ปี ให้สำเร็จได้หรือไม่ เขาตอบว่า ได้….” (พระราชหัตถเลขาถึง ดร. เอลลิส ขณะทรงประทับอยู่เยอรมนี)

                 วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งหนึ่งโดยลำพังพระองค์    เนื่องในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชายาพระราชโอรส และพระราชธิดา ประทับที่โลซาน สวิตเซอร์แลนด์      การเสด็จมาคราวนี้ แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ก็มีพระราชดำริจะจัดซื้อที่ดินติดต่อทางด้านเหนือของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อจะได้ปลูกที่อยู่สำหรับนักเรียนแพทย์ และให้กระทรวงธรรมการเช่าโดยทรงคิดค่าเช่าพอเป็นพิธีเช่นเดียวกับหอพักนักเรียนพยาบาล โดยจะให้กว้างขวางพอที่จะสร้างเป็นสนามกีฬาของนักเรียนได้ด้วย    แต่การก็มิได้เป็นดังพระราชประสงค์    เจ้าของที่ดินบริเวณนั้นไม่ยินยอมขายและแลกเปลี่ยน โครงการนี้จึงระงับไป

                 นอกจากนั้น ได้ทรงติดต่อจนได้ตึกอัษฎางค์ สำหรับคนไข้แผนกอายุรศาสตร์ เงินค่าก่อสร้างตึกนี้ทรงทูลขอจากสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา แต่กรมหลวงนครราชสีมาสิ้นพระชนม์เสียก่อน    จึงกราบบังคมทูลเรื่องนี้แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงรับพระมรดก ก็ทรงได้รับพระราชทานค่าก่อสร้าง

                    ระหว่างนี้ นักเรียนทุนส่วนพระองค์สองคนแรกสำเร็จการศึกษากลับมา ไม่รู้ว่าจะเข้าทำงานที่ใด เพราะทั้งโรงพยาบาลศิริราช และกระทรวงสาธารณสุขต่างก็ต้องการคน ในที่สุดก็ทรงแสดงตนเป็นนักประชาธิปไตย โดยทรงโปรดฯ ให้ตัดสินใจเอง

พระวักกะ หมายถึง ม้าม

* ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

………….โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ………..

หมายเลขบันทึก: 40980เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท