ผู้ป่วยใส่ท่อเจาะคอ ดีใจ อาบน้ำได้เหมือนเดิม


การอาบน้ำในผู้ป่วยที่ใส่ท่อเจาะคอ

จากที่ดิฉันได้ทำงานซึ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ใส่ท่อเจาะคอโดยตรงมา 15 ปี ส่วนใหญ่พยาบาลเรามักจะแนะนำผู้ป่วยและญาติให้ดูแลท่อเจาะคอ โดยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่อเจาะคอเพราะกลัวผู้ป่วยมีปัญหาสำลักได้ จากคำแนะนำดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ป่วยอาบน้ำแยกส่วน คือ สระผมโดยวิธีก้มศีรษะหรือให้ผู้อื่นสระให้ จากนั้นจะอาบน้ำโดยรดน้ำใต้ท่อเจาะคอลงมาอีก 1 ส่วน ซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยใส่ท่อเจาะคอต้องอาบน้ำเช่นนั้น

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ผู้ปวยวัยรุ่น ซึ่งเป็นผู้ป่วยเก่าของเรามารักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กๆ เดินหัวเปียกออกมาห้องน้ำ จึงได้ซักถามถึงการอาบน้ำ จึงทราบว่าพระเอกของเรามีปัญหาเรื่องการอาบน้ำ ในช่วง 1- 2 เดือนแรก หลังใส่ท่อเจาะคอเท่านั้น หลังจากนั้นจะอาบน้ำได้เหมือนก่อนใส่ท่อเจาะคอทุกอย่าง จึงได้ถามเทคนิคการอาบน้ำจากหนุ่มน้อยเพื่อนำไปแนะนำผู้อื่นต่อไป

ในช่วงนั้นเรามีผู้ป่วยเก่ากลับมานอนรักษาหลายราย ทีมงานของเราได้เข้าไปพูดคุยถึงวิธีการอาบน้ำ พบว่า 95%ยังอาบน้ำแยกส่วน (ศีรษะและลำตัว) พวกเราจึงได้ประเมินผู้ป่วยที่แผลเจาะคอไม่มีปัญหา แลได้เชิญชวนให้ผู้ป่วยอาบน้ำรดตั้งแต่ศีรษะ โดยมีพวกเราไปยืนคอยให้กำลังใจผู้ป่วยถึงหน้าห้องน้ำ และสุดท้าย ผู้ป่วยทำได้สำเร็จและรู้สึกดีใจที่สามารถอาบน้ำได้เหมือนเดิม

คำสำคัญ (Tags): #ผู้ป่วยเจาะคอ
หมายเลขบันทึก: 40961เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
ขอบคุณค่ะพี่อ้อย เกษไม่เคยแนะนำให้ผู้ป่วยที่มี Jackson tube อาบนำเลยค่ะ ถ้าเกษแนะนำแล้วคนไข้ของเกษไม่แน่ใจถึงเทคนิค ขอโอกาสถามมาใหม่นะคะ ดีจังเลยต่อไปนี้คนไข้ของเราจะได้อาบนำแล้ว แต่คงใช้ฝักบัวไม่ได้หรือได้แต่ต้องก้มหน้ารึปล่าวคะ

เรื่องนี้เยี่ยมยอดเลยนะคะ พี่อ้อยอ้วน (ตั้งชื่อรวมกัน เราเลยต้องเรียกรวมกันไปด้วยเลย) เป็นประโยชน์อย่างมากเลยนะคะ เป็นเรื่องที่ใครไม่ตกอยู่ในสภาพนี้จะไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน ถ้าเราช่วยกันเผยแพร่เรื่องเล็กๆน้อยๆที่ช่วยให้คนไข้มีการดำเนินชีวิตที่มีความสุขขึ้น คนอื่นก็ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือเอาไปใช้ได้ 

เอาอีกนะคะ เล่ามาเรื่อยๆ มีแฟนตามอ่านแน่นอนค่ะ  

  • ดีใจจังเลยที่ชวนอ้อยมาอบรม การเขียนบล็อก ตามคำแนะนำของพี่ต๋อม เพราะพี่ต๋อมบอกว่าอ้อยมีอะไรดีๆอยู่ในตัวเยอะ
  •  แค่บันทึกแรกทำให้พี่มีความรู้เพิ่มขึ้นในการดูแลผู้ป่วยเจาะคอ จากทีมงาน ENT
  • เห็นถึงภาพการดูแลที่เข้าถึงวิถีชีวิตของผู้ป่วย  พี่ขอนำไปยกตัวอย่างในการเขียน self assessment ในส่วนของ discharge planning ของฝ่ายบริการพยาบาลนะคะ

 

ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มนะคะ เราน่าจะถ่ายวิดีโอให้เห็นภาพผู้ป่วยที่มี Jackson tube กำลังอาบน้ำ เพื่อให้ผู้ป่วยใหม่ได้เห็น จะได้เกิดความมั่นใจในระดับหนึ่งแทนการเล่าอย่างเดียว  และถ้าเป็นไปได้ เราควรมีการเตรียมตัวให้ผู้ป่วยที่มี Jackson tube อาบน้ำเป็นตั้งแต่อยู่โรงพยาบาล และพยาบาลได้ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยทำได้ จึงค่อยจำหน่าย

ก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่ รพ.มอ. ใน  OPD  ORTHO  แต่ลาออกมาแล้ว  ทุกครั้งที่ได้ข่าวของ รพ.มอ.   ประสบความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ   รู้สึกภาคภูมิใจจังเลย  ถึงแม้จะเป็นแค่อดีตคนทำงานที่นั่น  รู้สึกได้ว่า มอ.  พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ   ดีใจทุกครั้งที่ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมพี่ ๆ ที่นั่น

อยากขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเจาะคอค่ะ...

มีญาติป่วยสมองตายประมาณ 40% มีลิ่มเลือดไปอุดตันที่สมอง ตอนนี้อยู่ ICU ใส่ท่อช่วยหายใจมาแล้ว 4 วัน หมอคิดว่าคนไข้น่าจะใส่ท่อช่วยหายใจเกิน 2 อาทิตย์ จึงให้ญาติตัดสินใจว่าจะเจาะคอหรือไม่

- อยากทราบว่าเจาะคอน่ากลัวหรือไม่

- จริงๆแล้วเหลืออีก 10 วันถึงจะครบ 2 อาทิตย์ ค่อยไปคิดเรื่องเจาะคอตอนนั้นดีมั๊ยคะ

ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

มีญาติป่วยสมองตายประมาณ 100% เพราะมีลิ่มเลือดไปอุดตันที่สมอง ตอนนี้อยู่ CCU ใส่ท่อช่วยหายใจมาแล้ว 5 วัน หมอวินิจฉัยและประเมินว่าคนไข้น่าจะมีชีวิตอยู่นานกว่า 2-3 อาทิตย์ และการใส่ท่อช่วยหายใจจะใส่ได้ไม่เกิน 2-3 อาทิตย์ จำเป็นต้องจะต้องเจาะคอ

- อยากทราบว่าเจาะคอน่ากลัวหรือไม่ เหมือนคุณnaritha promyen ครับ

ขอบคุณครับ

ตอบ คห. 6+7

คิดว่าความจำเป็นที่จะต้องเจาะคอ คุณหมอน่าจะอธิบายแล้ว แต่เราเป็นญาติก็อดที่จะวิตกกังวลไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วการเจาะคอไม่น่ากลัวค่ะ ใช้เวลาเจาะคอไม่นาน หากประเมินจากผู้ป่วยที่รู้สึกตัวดี ผู้ป่วยจะรู้สึกสุขสบายกว่าใส่ท่อช่วยหายใจค่ะ หรือหากดูจากสีหน้าผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวคิดว่า การใส่ท่อเจาะคอดูจะสบายกว่าใส่ท่อช่วยหายใจเช่นกันค่ะ ส่วนการดูแลแผล และการดูแลท่อเจาะคอให้โล่ง พยาบาลจะจัดการให้ค่ะ ไม่ต้องกังวลนะค่ะ ไม่น่ากลัวค่ะ

ขอให้มีการตัดสินใจที่ดี และถูกต้องค่ะ พี่คอยให้กำลังใจค่ะ

สวัสดีค่ะ

น้องสาวเป็นโรคทางสมอง ตอนนี้กลับมาฟื้นฟูที่บ้าน โดยยังต้องเจาะคออยู่และใส่สายให้อาหาร ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แต่รู้สึกตัวดี พูดได้บ้าง แต่จะไม่ค่อยไอ

- อยากทราบเรื่องเสมหะค่ะ เนื่องจากได้รับคำแนะนำว่าให้ลดการดูด และให้ผู้ป่วยพยายามไอออกเอง บางครั้งเราเป็นผู้ดูแลเห็นว่ามีเสมหะอยู่บ้างสังเกตุจากเสียงพูด ก็ไม่แน่ใจว่าต้องดูดออกให้โล่งไปเลยมั๊ย

- ไม่ทราบว่าพิจารณาอย่างไรว่าจะได้ปิดคอ และเจาะนานๆ จะมีผลกระทบอะไรค่ะ

การที่จะให้ผู้ป่วยไอออกได้ดี เสมหะจะต้องเหลว ไม่เหนียวใช่ไหมค่ะ เหมือนเราขณะเป็นหวัด จะขับเสมหะได้ ต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้น เมื่อไอจะขับเสมหะออกมาได้สะดวก เช่นกันเราจะให้น้องสาวขับเสมหะออกมาได้เอง น้องสาวจะต้องมีแรงที่จะไอ ขับเสมหะออกมาได้ เสมหะต้องไม่เหนียวค่ะ เมื่อไอขับเสมหะได้ เราก็เช็ดด้านนอก และจะมีเศษเสมหะติดค้างตามท่อด้านใน ซึ่งเราต้องถอดท่อชั้นในล้างทำความสะอาดแต่ละวัน ถี่เพียงใด ก็ต้องดูตามความจำเป็นค่ะ ซึ่งถ้าน้องสาวขับเสมหะได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยดูดค่ะ( ที่น้องสาวไม่ค่อยไอ อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องเสมหะก็ได้ค่ะ เพียงถอดท่อล้างทำความสะอาดไม่ให้เสมหะเกาะติดมาก ก็น่าจะเพียงพอค่ะ)

การจะถอดท่อเจาะคอเพื่อปิดคอ แพทย์จะต้องตรวจดูว่าหากถอดท่อเจาะคอจะมีปัญหาอีกหรือไม่ค่ะ ให้สอบถามข้อมูลจากแพทย์ได้ค่ะ แต่หากใส่ท่อไว้นานก็ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ นอกจากใหม่ๆความไม่คล่องตัวของผู้ดูแล ต่อไปก็จะดีขึ้นค่ะ

ผู้ป่วยสูงอายุมีปัญหาต่อเนื่องจากสโตร์คทำให้กลืนลำบากและสำลักจนเข้าโรงพยาบาลบ่อยท้ายสุดหมอให้เจาะคอ ตอนนี้เวลาดูดเสมหะเหนียวมากควรทำอย่างไรดี อายุ 85ปี นอนติดเตียง

การที่ต้องเจาะคอ เข้าใจว่าเกิดปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร ไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยได้ใส่สายยางให้อาหารเหลวหรือไม่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอาหารได้อย่างเพียงพอ หากใส่สายยางให้อาหาร อย่าลืมขณะใส่อาหารต้องให้ผู้ป่วยนอนศีรษะสูงอย่างน้อย 45 องศา มิฉะนั้นอาหารจะไหลย้อนกลับเข้าหลอดลม และเกิดการสำลักได้อีก

การที่มีเสมหะเหนียวในผู้สูงอายุ และนอนติดเตียง หากสามารถดื่มน้ำหรือใส่น้ำได้เพิ่มขึ้นก็จะเป็นการช่วยให้เสมหะได้เหลวขึ้น หรือจะใช้ยาละลายเสมหะช่วย(ต้องปรึกษาแพทย์ค่ะ)หรือจะใช้น้ำเกลือหยดลงไปในท่อเจาะคอเพื่อช่วยให้เสมหะนุ่มขึ้น ลองปรึกษากับพยาบาลที่ดูแลรักษานะคะ

น้องชายเกิดอุบัติเหตุถูกรถชนสมองช้ำจากการถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

มีปัญหาเสมหะมีมากและเหนียวคุณหมอจะเจาะคอ แต่ครอบครัวกังวลเกี่ยวกับการเจาะคอ

จะให้คำแนะนำเพื่อความเข้าใจอย่างไรดีค่ะ

อยากสอบถามเรื่อง น้ำกลั่นที่ต้องเติมตอนให้ออกซิเจน(เครื่องผลิตออกซิเจน)

คุณพ่ออายุ 89 ตอนนี้เจาะคอแล้วนำมาดูแลที่บ้าน และอัตราการให้ออกซิเจนประมาณ 8 ลิตร/นาที ทีนี้น้ำกลั่นที่ต้องคอยเติมนี้ เป็นไปได้หรือไม่หากใช้น้ำต้มสุกทดแทนน้ำกลั่น (ที่คอยเติมในกระบอกสำหรับเครื่องผลิตออกซิเจน)

ขอบคุณพี่พยาบาลมากๆนะคาฟ สำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์แบบนี้

มีเรื่องราวดีๆมาแ่บ่งปันกันนะคะ ขอบคุณค่ะ

คณแมกเจาะคอคะ อยากทราบวาจะปดรไดเมอไรคะ ตอนนหายใจเองได มคเหนอยอยบาง เสมหะกนอยลงแลวคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท