บุคลิกภาพครูปฐมวัย


ครูปฐมวัยต้องยิ้มแย้ม แจ่มใส ใจเมตตา พาสนุก

บุคลิกภาพ คุณลักษณะอันพึงประสงค์และบทบาทหน้าที่ครูปฐมวัย

                                                                                                

      ครูคือ...ผู้นำทางชีวิต                       ครูคือ...ผู้ยกดวงจิตให้สูงค่า 

      ครูคือ...ผู้ให้วิชา                             ครูคือ...ผู้นำพาศิษย์ก้าวไกล

 

                วัยเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับในตอนต้นๆของชีวิตจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเราจนถึงวาระสุดท้าย  ดังนั้น วัยปฐมวัยจึงจัดว่าเป็นระยะที่สำคัญที่สุดของชีวิต ที่เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว  และพัฒนาการใดๆ ในวัยนี้จะเป็นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการในช่วงอื่นๆ ของชีวิตเป็นอย่างมาก  พฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดู หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ในระยะปฐมวัยนั้นจะมีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กในอนาคต  สอดคล้องกับ Hurlock (อ้างใน เยาวพา เดชะคุปต์, 2542, หน้า13) ได้กล่าวว่า วัยเด็กนับว่าเป็นวัยแห่งวิกฤตการณ์ในการพัฒนาบุคลิกภาพ เป็นระยะสร้างพื้นฐานของจิตใจในวัยผู้ใหญ่ต่อไป  บุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่แม้จะมีความแตกต่างไปจากวัยเด็กมากเท่าใดก็ตาม แต่จะเป็นความแตกต่างที่ถือกำเนิดในวัยเด็ก

       จากที่กล่าวมาครูปฐมวัย หรือผู้ดูแลเด็ก นับว่ามีส่วนสำคัญมากที่จะปลูกฝัง หล่อหลอมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แก่เด็ก เพราะครูปฐมวัย หรือผู้ดูแลเด็ก ครูเป็นครูคนแรกที่เด็กได้พบเมื่อครั้งแรกของการมาโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กรองจากพ่อแม่ บุคลิกภาพ พฤติกรรม การปฏิบัติต่างๆของครูจะเป็นต้นแบบการเรียนรู้ที่ดีของเด็ก  ถ้าครูมีพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพอย่างไร เด็กก็จะซึมซับยึดแบบฉบับพฤติกรรมเหล่านั้น ไปปฏิบัติหรือหล่อหลอมเป็นบุคลิกภาพของเด็กในที่สุด

      ดังนั้นสรุปได้ว่า บุคลิกภาพครูปฐมวัย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็กปฐมวัย เพราะบุคลิกภาพที่ดีหรือคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของครู เป็นจะการสร้างพื้นฐานทางบุคลิกภาพและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กในช่วงอื่นๆ ของชีวิตต่อไป

 

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของครูผู้ดูแลเด็ก

         บุคลิกภาพที่ดีหรือคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของครูผู้ดูแลเด็ก มีผู้ที่กล่าวถึงไว้อย่างหลากหลาย ในที่นี้จะยกมาเพียงสองแนวทาง คือ ครูดีตามแนวทางพุทธศาสนา และครูดีตามจรรยาบรรณวิชาชีพครู พ.ศ.2539 ของคุรุสภา

1.  ลักษณะของครูดีตามคำสอนในพุทธศาสนา
             
หลักคำสอนหรือหลักธรรมในพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับความเป็นครู ประกอบด้วย

หลักธรรม 7 ประการ คือ
1. ปิโย คือ น่ารัก  การทำตัวเป็นที่รักต่อศิษย์   การที่ครูปฐมวัยจะเป็นที่รักแก่ศิษย์ได้

ก็ควรตั้งตนอยู่ในพรหมวิหาร 4 คือ 
           1.1 มีใจเมตตา ปรารถนาดีต่อศิษย์ หาทางให้ศิษย์เป็นสุขและเจริญก้าวหน้าทั้ง

ทางด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต คอยระวังมิให้ศิษย์ตกอยู่ในความประมาท 
           1.2 มีความกรุณา สงสาร เอ็นดูศิษย์  ช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ ความไม่รู้ 
           1.3 มีมุทิตา คือ ชื่นชมยินดี เมื่อศิษย์ทำดีดี และยกย่องเชิดชูให้ปรากฏเป็นการ

ให้กำลังใจและช่วยให้เด็กเกิดความภูมิใจในตนเอง 
           1.4 มีอุเบกขา คือ วางตัวเป็นกลาง จิตใจที่ตั้งอยู่ในความยุติธรรม ไม่ลำเอียง

ไม่มีอคติ ต่อเด็ก
2. ครุ หมายถึง การเป็นบุคคลที่มีความหนักแน่นมั่นคง ทั้งในด้านของจิตใจที่หนักแน่นมั่นคงที่จะดำรงตนอยู่ใน ความดีไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา และความหนักแน่นในด้านของความรอบรู้ธรรม ที่จะช่วยให้ครู มีคุณสมบัติ ดังกล่าว คือ พละ 5 ประการ ได้แก่ 
          2.1 ศรัทธาพละ คือ มีความเชื่อในทางที่ชอบ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว 
          2.2 วิริยะพละ คือ ความเพียรในทางที่ชอบ คือ เพียรเลิกละความชั่ว เพียรระวังความชั่วไม่ให้เกิดในสันดาน 
          2.3 สติพละ หมายถึง ความระลึกได้ มีความรู้สึกตัวในการกระทำ การพูด การคิดให้รอบคอบ 
          2.4 สมาธิพละ หมายถึง ความมีใจจดจ่อแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่เป็นบุญกุศล พลังสมาธินี้จะเป็นกำลังต่อต้าน ความฟุ้งซ่านมิให้เกิดขึ้นในใจ 
          2.5 ปัญญาพละ หมายถึง ความรอบรู้ คือรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำอะไรควรเว้น   อะไรเป็นประโยชน์ และอะไรไร้ประโยชน์
3. ภาวนิโย การเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความประพฤติดีงามควรแก่การเคารพ
4. วัตตา คือ เป็นผู้มีมานะในการตักเตือนสั่งสอน เพื่อให้ศิษย์มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนดี คือใช้ความรู้ ความสามารถไปในทางสุจริต เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและผู้อื่นได้ ลักษณะการสอนในแง่ของพุทธศาสนามี 5 ประการ คือ 
          4.1 สันทัสสนา คือ ชี้ให้ชัดสอนให้เข้าใจชัดเจน เห็นจริงอย่างที่ต้องการ ซึ่งจะต้องดำเนินไปตามลำดับขั้นดังนี้ คือ สอนจากสิ่งที่รู้แล้ว ไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้ สอนจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งยากสอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม 
          4.2 สมาทปนา ชวนให้ปฏิบัติ  มีการกระตุ้นเร่งเร้า เพื่อให้เกิดความกระตือรืนร้นที่จะประพฤติปฏิบัติตามที่ครูสอน 
          4.3 สมุตเตชนา สร้างกำลังใจ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าคิด กล้าพูด  กล้าทำ

          4.4 สัมปหังสนา สร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้เรียน คือมีเทคนิคในการสอนที่

จะทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจ
5. วจนักขโม เป็นผู้มีความอดทนต่อถ้อยคำโดยมีเจตนาดีเป็นที่ตั้งการอดทนต่อกริยา วาจาอันก้าวร้าวรุนแรงของ ผู้อื่นได้นั้น เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง
6. คัมภีรัญจ กถัง กัตตา สามารถขยายข้อความที่ยากให้ง่ายแก่การเข้าใจได้ การตีความในวิชาการนั้นๆ ให้ละเอียดลึกซึ้งง่ายแก่การเข้าใจ เพราะวิชาการต่างๆ ที่ครูนำมาสอนนั้นล้วนเป็นเรื่องที่ผู้เรียนไม่เคยเรียนมาก่อน ครูจะต้องมีวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องยากๆ ได้โดยง่าย

7. โนจัฏฐาเน นิโยชเย คือ การรู้จักและแนะนำศิษย์ไปในทางถูกที่ควร หมายถึง ไม่นำศิษย์ไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือชักชวนไปสู่อบายมุข ต่างๆ วิธีการแนะนำศิษย์ไปใน ทาง ที่ถูกที่ควรนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ 
            7.1 คิดหาวิธี ใช้วิธีขู่กำหราบ เป็นวิธีเตือนให้ศิษย์รู้สึกตัวและ ละความชั่ว กล่าวคือ เมื่อเห็นศิษย์ ประพฤติ ไปใน ทางที่ไม่ถูกไม่ควร 
            7.2 นัคคหวิธี ใช้วิธียกย่องชมเชย เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดนิสัยที่ดีและป้องกันไม่ให้เกิดนิสัยที่ไม่ดี เมื่อใด ที่เห็นศิษย์ทำความดีครูจะต้องยกย่องชมเชย 
            7.3 ทิฎฐานคติวิธี ใช้วิธีกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ครูต้องการให้ศิษย์ประพฤติปฏิบัติอย่างไร ครูก็ต้องปฏิบัติตน เช่นนั้นให้ศิษย์ได้เห็นเป็นตัวอย่าง

2. จรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539

จรรยาบรรณครู พ.ศ.2539 เป็นระเบียบที่คุรุสภาได้กำหนดขึ้นเพื่อ หลักปฏิบัติ แนว

ปฏิบัติให้แก่ผู้ที่ประกอบวิชาชีพครู  ดังต่อไปนี้

1. ครูต้องรักและเมตตาศิษย์โดยเอาใจใส่ช่วยเหลือหรือส่งเสริมให้กำลังใจใน

การศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า

2. ครูต้องอบรมสั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่

ศิษย์อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

3.  ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และใจ

4. ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์

 และสังคมของศิษย์

5. ครูต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่

ตามปกติ และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ

6. ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

7. ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครูและเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู

8. ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์

9. ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นผู้นำการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย

           จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งครูดีตามหลักพุทธศาสนาและจรรยาบรรณวิชาชีพครูนั้น สามารถสรุปคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของครูปฐมวัยหรือผู้ดูแลเด็ก ได้ดังต่อไปนี้

 

1. ครูต้องมีจิตวิญญาณ อุดมการณ์การเป็นครูที่ดี กล่าวคือ การจะเป็นครู ผู้ดูแลเด็กที่ดีนั้น อันดับแรกครูหรือผู้ดูแลเด็กต้องมีใจรัก ศรัทธาในวิชาชีพของตน
2.ครูต้องมีความรู้ดี ครูปฐมวัย หรือผู้ดูแลเด็กต้องมีความรู้ดีในทางการศึกษาปฐมวัยทั้งด้านการสอน และหน้าที่งานครู  ความรู้ด้านการสอน เช่น จิตวิทยาพัฒนาการ การวางแผนการสอน จัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย การผลิตสื่อของเล่น  และการสังเกตและประเมินพัฒนาการเด็ก ส่วนความรู้ด้านหน้าที่งานครู เช่น การจัดตกแต่งห้องเรียนสภาพแวดล้อมต่างๆ การจัดทำแผนการสอน การทำเอกสารธุรการชั้นเรียน ทักษะการทำงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน เพราะการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยจะต้องใช้ความรู้เฉพาะทางสาขาวิชาปฐมวัย ดังนั้นถ้าครูหมั่นศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองอยู่เสมอให้มีความรู้ความเข้าใจดีในสาขาวิชาชีพครูปฐมวัย ก็จะประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน

3. ครูต้องมีเจตคติที่ดี กล่าวคือ ครู ผู้ดูแลเด็กต้องมีเจตคติที่ดีต่อตัวนักเรียน และผู้ปกครอง  ชุมชน ครูผู้ดูแลเด็กต้องเป็นผู้พยายามเข้าใจถึงธรรมชาติ ความต้องการและความสามารถของนักเรียน ที่แตกต่างกัน  ยอมรับฟังความคิดเห็น ความต้องการของผู้ปกครอง ชุมชน
4. ครูต้องมีความสามารถในการการสอนดี กล่าวคือ ครูที่ดีจะต้องสามารถสอนทั้งด้านวิชาความรู้ และคุณธรรมจริยธรรม ครูจะต้องเข้าใจธรรมชาติและความสนใจ ความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กปฐมวัย  และมีความสามารถหาเทคนิค วิธีการ ปรับประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี และวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  โดยสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและความสนใจ ความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก ภายใต้สิ่งแวดล้อม บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่  
5. ครูต้องมีบุคลิกภาพดี ครูผู้ดูแลเด็กควรที่มีบุคลิกภาพดี ในด้านต่อไปนี้

            5.1 การแต่งกาย ครูผู้ดูแลเด็กต้องแต่งกายให้สะอาด สุภาพเรียบร้อย สวยงาม และเหมาะสมกับการเป็นครู

            5.2 กิริยาท่าทาง ครูผู้ดูแลเด็กต้องมีกิริยาท่าทางที่สง่าผ่าเผย สุภาพเรียบร้อย มีมรรยาทเหมาะสมตามกาลเทศะ

            5.3 การพูดจา ครูผู้ดูแลเด็กต้องเป็นคนที่พูดจาสุภาพอ่อนหวาน ชัดเจน ใช้ภาษาถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ

           5.4 อารมณ์ ครูผู้ดูแลเด็กต้องมีสุขภาพทางจิตทางอารมณ์ที่ดี งานครูเป็นงานที่ต้องอดทน หากสุขภาพทางจิตของครูไม่ดีย่อม จะเกิดอารมณ์โกรธซึ่งจะเป็นผลร้ายทางด้านจิตใจต่อตนเองและศิษย์ของตัวเองด้วย ครูจึงจำเป็นต้องมีสุขภาพทางจิตที่ดีควบคุมอารมณ์ของตนเองได้อย่างดี ร่าเริงแจ่มใสเสมอ มีความอดกลั้น ไม่เป็นคนโกรธง่ายลุแก่อำนาจโทสะและใจเย็น

6. ครูต้องมีความประพฤติดี ครูผู้ดูแลเด็กต้องมีความประพฤติที่ดี ทั้งในด้านการดำเนินชีวิต และการทำงาน กล่าวคือ ครูจะต้องเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายประหยัด ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา ส่วนในด้านการทำงานครูผู้ดูแลเด็กจะต้องเป็นคนที่มีระเบียบวินัย ประพฤติปฏิบัติดีให้เป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก และปฏิบัติตามระเบียบวินัยขององค์กรให้ครบถ้วน
7. ครูต้องมีความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพอันดี กับนักเรียน กับคณะครูด้วยกัน กับผู้ปกครอง และกับสังคมภายนอก  หน้าที่ของครูไม่ใช่เพียงแต่สอนเท่านั้นยังจะต้อง รู้จัก สร้างความสัมพันธ์ฉันครูกับศิษย์กับนักเรียน กล่าวคือ นักเรียนให้ความเคารพนับถือด้วยความจริงใจไม่ใช่เพราะเกรงกลัวอำนาจอันไม่เป็นธรรมของครู นอกจากนี้การทำงานย่อมเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่ายเพื่อนร่วมงาน  ผู้ปกครองและบุคคลภายนอก ฉะนั้นครูผู้ดูแลเด็กจะต้อง มีทักษะ ความสามารถในการประสานให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการพัฒนาเด็กตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง  แต่ด้วยจุดหมายเดียวกัน พัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
8. ครูต้องมีสุขภาพทางกายดี งานครูเป็นงานที่เหนื่อยยาก นอกจากจะต้องสอนในชั้นเรียนแล้ว ยังต้องเตรียมการสอน ตรวจงาน ควบคุมความประพฤตินักเรียนได้คำแนะนำปรึกษา สิ่งเหล่านี้ต้องการสุขภาพทางกายที่แข็งแรง จึงจะ สามารถดำเนินงานไปได้โดยเรียบร้อย
               

บทบาทหน้าที่ของครูปฐมวัย /ผู้ดูแลเด็ก

                ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กทุกฝ่ายต่างมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะครูผู้ดูแลเด็กซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็กรองจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดังนั้น ครูผู้ดูแลเด็กจึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็ก

 

บทบาทครูปฐมวัย /ผู้ดูแลเด็ก

                บทบาท คือ การกระทำ หรือพฤติกรรมการแสดงออกของคนตามสิทธิและหน้าที่ ภายใต้สถานการณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง

                ครูเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเด็ก ดังนั้น ครูจึงควรมีบทบาท ดังต่อไปนี้

                เบญจา  แสงมะลิ (อ้างใน เยี่ยมลักษณ์  อุดาการณ์, 2542) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูผู้ดูแลเด็กไว้ว่าครูจะต้องมีบทบาทเป็น 9 นัก คือ

1. นักรัก ครูผู้ดูแลเด็กจะต้องเป็นคนที่รักเด็กและทำตัวให้เด็กรัก

2. นักเล่น ครูผู้ดูแลเด็กจะต้องเป็นคนที่สามารถเล่นกับเด็กได้ 

3. นักร้อง ครูผู้ดูแลเด็กจะต้องเป็นคนที่สามารถร้องเพลงเด็กได้ และสามารถเลือก

เพลงที่เหมาะสมกับเด็ก

4.  นักรำ ครูผู้ดูแลเด็กต้องมีความสามารถในการเคลื่อนไหวและการทำท่าทาง

ประกอบจังหวะต่างๆ

5. นักเล่า ครูผู้ดูแลเด็กต้องเป็นนักเล่านิทาน หรือเรื่องราวต่างๆ

6. นักคิด ครูผู้ดูแลเด็กต้องเป็นคนที่คิดเก่ง ในเรื่องของการคิดกิจกรรม  คิดประดิษฐ์

สื่อของเล่น คิดหาทางส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาการเด็ก เป็นต้น

7. นักทำ ครูที่ดีต้องเป็นผู้ที่ขยันในการทำงาน ทำสื่ออุปกรณ์ต่างๆ

8. นักฝัน เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ช่างเพ้อฝันจินตนาการ ดังนั้นครูจะต้องเป็นคนที่ช่าง

ฝันจินตนาการร่วมกับเด็กด้วย

9. นักแต่ง ครูปฐมวัยจะต้องเป็นผู้ที่สามารถแต่งนิทาน เรื่องราวต่างๆที่เหมาะสมกับ

เด็ก ตกแต่งห้องเรียนสถานที่ แต่งเพลง และการรู้จักแต่งตัว

 

เยี่ยมลักษณ์  อุดาการณ์ (2542) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูปฐมวัย ไว้ ดังนี้

  1. บทบาทในการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก
  2. บทบาทในการเสริมสร้างบุคลิกภาพและการการสร้างสรรค์ให้กับเด็ก
  3. บทบาทในการส่งเสริมโภชนาการของเด็ก และการส่งเสริมนิสัยส่วนตัวและ

สังคมให้แก่เด็กได้อย่างเหมาะสม

4. บทบาทในการส่งเสริมพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อเล็ก รวมทั้งการปรับตัวให้อยู่ใน

สังคมได้

5. บทบาทในการส่งเสริมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและการทรงตัวให้เหมาะสม

 เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การวิ่ง

6. บทบาทในการส่งเสริมความเข้าใจทางภาษา อาจจะจัดกิจกรรมให้เด็กได้

แสดงออกโดยอาจจะให้เด็กเล่าเรื่องตนเอง

7. บทบาทในการติดต่อหรือปฏิสัมพันธ์กังพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก

 

นอกจากนี้ ลัดดา นีละมณี (อ้างใน เยาวพา  เดชะคุปต์, 2542) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูปฐมวัยที่ควรพิจารณา มีดังนี้

  1. การปฏิบัติตนของครูปฐมวัยต่อเด็ก
  2. รู้ความต้องการของเด็ก
  3. ให้ความอบอุ่นแก่เด็ก
  4. การจัดกิจกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็ก
  5. การประเมินความพร้อมในการเรียนรู้

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถสรุปบทบาทของครูผู้ดูแลเด็ก ได้ดังนี้

  1. ครูมีบทบาทในการจัดการเรียนการสอน

                        วางแผนการสอน

                        เตรียมสื่อ อุปกรณ์

                        จัดกิจกรรมการเรียนการสอน

                        กระตุ้นความสนใจ ให้กำลังใจแก่เด็กในการเรียนรู้

                        สังเกตและประเมินพัฒนาการ การเรียนรู้ของเด็ก

2. ครูมีบทบาทในการอบรมเลี้ยงดู

                        เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก

                        ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม

                        เสริมสร้างบุคลิกภาพให้กับเด็ก

                        ดูแลสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยด้านต่างๆ

                        ส่งเสริมด้านโภชนาการ

3. ครูมีบทบาทในการติดต่อ ปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ผู้ปกครอง

                        ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างเหมาะสม

                        เยี่ยมเยียนบ้านเด็กเป็นครั้งคราว

                        ให้ความช่วยเหลือ คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาเด็ก

                        ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และเยี่ยมชั้นเรียน

                        รายงานผลพัฒนาการเด็กให้ผู้ปกครองทราบ

 

หน้าที่ครูปฐมวัย/ผู้ดูแลเด็ก

                หน้าที่   คือ  เป็นสิ่งที่กำหนดว่าควรกระทำหรือต้องกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ 

                ครูมีหน้าที่ในการรับผิดชอบดูแลเด็กตั้งแต่เด็กเริ่มเข้ามาในสถานศึกษา งานในหน้าที่ครูผู้ดูแลเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องใส่ใจ  ครูผู้ดูแลเด็กที่ดีจึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

                สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2548) ได้กล่าวถึงหน้าที่ของผู้ดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไว้ ดังนี้

  1. ปฏิบัติหน้าที่ตามกิจวัตรของเด็ก ผู้เลี้ยงดูเด็กจะต้องทำหน้าที่ดูแลเด็กและปฏิบัติตามกิจวัตรประจำวันของเด็ก เพื่อให้เด็กมีความเจริญเติบโต มีพัฒนาการทุกด้านตามวัย
  2. ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในลักษณะบูรณาการ  ผู้ดูแลเด็กมีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เด็กได้พัฒนาด้านจิตใจ อารมณ์ สังคมและจริยธรรมไปพร้อมกันส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาอย่างเต็มที่
  3. สังเกต เฝ้าระวัง และบันทึกความเจริญเติบโต พฤติกรรมพัฒนาการด้านต่างๆของเด็ก
  4. จัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ เหมาะสมกับการพัฒนาเด็กทุกด้าน
  5. ประสานสัมพันธ์ระหว่างเด็ก กับพ่อแม่ สมาชิกในครอบครัว และชุมชน
  6. รู้จักพัฒนาตนเองในทางวิชาการและอาชีพ

 

ในทำนองเดียวกับ เยาวพา  เดชะคุปต์ (2542) ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ครูสอนระดับปฐมวัย ดังนี้

  1. บทบาทหน้าที่ทางวิชาการ

                        มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวและแผนการจัดประสบการณ์ชั้นเด็กเล็ก

                        มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน

                        มีความรู้ความเข้าในเกี่ยวกับการวัดและการประเมินผล

                        มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำและดัดแปลงสื่อที่ใช้ในการสอน

                        มีการเตรียมตัวและการพัฒนาตนเองของครู

                        สอนและพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมทั้ง 4 ด้าน

2. บทบาทหน้าที่ทางธุรการ

                        จัดบริการให้คำแนะนำหรือชี้แจงแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการจัดการศึกษาชั้นเด็กเล็ก

                        จัดทำประวัตินักเรียน

                        จัดทำบัญชีเรียกชื่อนักเรียน

                        จัดทำสมุดประจำชั้นเรียน(ป.02 เด็กเล็ก)

                        จัดทำสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน(ป.01 เด็กเล็ก)

                        จัดทำตารางกิจกรรมประจำวัน

                        จัดทำใบตรวจสุขภาพ

                        จัดทำสมุดหมายเหตุประจำชั้น

                        จัดทำบัญชีวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนครุภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนชั้นเด็กเล็ก

                        จัดบริเวณที่เล่นของเด็กเล็กให้อยู่ในสภาพสะอาด เรียบร้อย และปลอดภัย

                        จัดทำเรื่องอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

3. บทบาทหน้าที่ในการจัดชั้นเรียน

4. บทบาทหน้าที่กับผู้ปกครอง ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสรุปหน้าที่ของครูผู้ดูแลเด็กได้ ดังต่อไปนี้

  1. หน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนและอบรมเลี้ยงดูเด็ก

          1.1      เขียนแผนการจัดกิจกรรม

          1.2      จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และทำสื่อประกอบการจัดกิจกรรม

          1.3      จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กได้พัฒนาครบทุกด้าน

          1.4      สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในกิจกรรมการเรียนรู้

          1.5      ดูแลสุขอนามัย ความปลอดภัยของเด็ก

2.หน้าที่ในการวัดและประเมินพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก

        2.1       สังเกตพฤติกรรม พัฒนาการเด็ก

        2.2       บันทึกพัฒนาการเด็ก

        2.3       จัดทำแบบประเมินพัฒนาการเด็ก

        2.4       วัดและประเมินพัฒนาการเด็ก

3. หน้าที่จัดทำงานธุรการชั้นเรียน

        3.1      จัดทำเอกสารให้คำแนะนำหรือชี้แจงแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือเกี่ยวกับเด็ก

       3.2      จัดทำข้อมูลประวัติเด็ก

       3.3      จัดทำบัญชีเรียกชื่อ

       3.4      จัดทำสมุดบันทึกพัฒนาการ

       3.5      จัดทำสมุดรายงานประจำตัวเด็ก

       3.6      จัดทำตารางกิจกรรมประจำวัน

       3.7      จัดทำบันทึกการตรวจสุขภาพ

       3.8      จัดทำบันทึกการดื่มนม

       3.9      จัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน

       3.10           จัดทำบัญชีวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนครุภัณฑ์ต่างๆ

4.หน้าที่ในการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก

         4.1      จัดตกแต่งห้องเรียนให้สวยงาม  สะอาดปลอดภัย เป็นระเบียบเรียบร้อยเอื้อต่อ

การเรียนรู้ของเด็ก

        4.2      จัดตกแต่งสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียนให้สวยงาม ร่มรื่น สะอาด

เรียบร้อย เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก

5. หน้าที่กับผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

         5.1      ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ปกครองในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก

         5.2      ติดต่อประสานงานกับผู้ปกครอง ชุมชนและหน่วยงานอื่นในการจัดการเรียนรู้แก่เด็ก

6.  หน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

7.   หน้าที่ต่อตนเอง  ครูต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ และพัฒนาตนเองในด้านต่างๆอยู่เสมอ เช่น ความรู้ด้านวิชาการ พัฒนาปรับปรุงบุคลิกภาพของตนเอง เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

เยาวพา  เดชะคุปต์. (2542). การศึกษาปฐมวัย.  กรุงเทพฯ : เอพี กราฟฟิคส์ ดีไซน์.

เยี่ยมลักษณ์  อุดาการ. (2542). การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย.

         โปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา    กระทรวงศึกษาธิการ. (2548).

          มาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี. กรุงเทพฯ:

          บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.

 

 

หมายเลขบันทึก: 409570เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2010 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ครอบคลุมดีครับ เพียงแต่ระบบบ้านเรายังสนใจเด็กปฐมวัยน้อย ทำให้ได้ครูที่จบและสันทัดด้านนี้ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เข้าดูแลเด็กๆ เหล่านี้มากพอ

ปนางฐิติยา จองหมุ่ง

ขอบคุณเทิดศักดิ์้ที่ให้ความรู้ที่สามารถนำเอาไปใช้ในการสอนบุคลิกภาพปฐมวัยๆที่วชช.หน่วยจัดอำเภอปาย

พี่ดอย

ขอขอบคุณที่ให้ข้อมูลและความรู้ และจะนำไปปรับใช้กับ ครูผดด. เน้น ย้ำในหน้าที่ และการเป็นครูปฐมวัยที่ดีของเด็กบ้านนอกต่อไป จะพยายามท่ามกลางการเมือง คลั่งๆๆ

ครู คือ ผู้สร้างโลก ด้วยการสร้างศิษย์...

เป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านครับ

ขอบคุณครับ

ปฐมวัยงานมากลำบากหน่อยถ้าอดทนความฝันก็ไม่ไกล

ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ สามารถนำมาใช้กับงานที่ตัวเองทำอยู่ตอนนี้

ขอบคุณคะ ขออนุญาตแบ่งปันน่ะคะ ^^

จาก คุณแม่และน้องเกรซ

ครูหนุ่มหน้ามนต์คนบ้านไกล

ขอบคุณคุณครูที่ให้ข้อมูล

ิืทมมมมมม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท