การประชุมโซนใต้ประจำเดือนกรกฎาคม (4)


มาอ่านกันต่อดีค่ะว่าการสนทนาในช่วงนี้เป็นอย่างไร 

            คุณสุวัฒนา  กล่าวต่อไปว่า  เคยมาที่กลุ่มแม่พริกแล้ว  ตอนนั้นสถานที่ยังไม่ได้เทปูนเลย  เป็นดิน  มีกระดานเขียนบอกจำนวนสมาชิก  จำได้ว่ามีประมาณ 176 คน  มาในวันนี้กลุ่มเจริญเติบโตขึ้นมาก  การทำงานกับชุมชนนั้น  โดยส่วนตัวจะบอกเสมอว่าในฐานะที่เป็นหน่วยงานราชการ  จะไม่มาบอกว่าชุมชนจะต้องทำอย่างนี้  จะต้องทำอย่างนั้น  แต่จะบอกเสมอว่าชุมชนจะทำอย่างไรก็ได้  ตามฉันทามติของชุมชนเอง  เพราะฉะนั้น  เวลาเราจัดตั้งกองมทุน/กลุ่มขึ้นมา  มันจะต้องเกิดขึ้นมาจากความคิดของคนในชุมชนเอง  ไม่ต้องไปเอาความคิดของคนอื่นมาทำ  สิ่งที่เราทำต้องวางอยู่บนพื้นฐานที่ว่ามันเหมาะกับเรา  ไม่จำเป็นที่ต้องเหมือนกัน  ต้องมีอิสระในการทำ  เราจะทำอย่างไรก็ได้  ตราบเท่าที่พี่น้องในชุมชนของเราเห็นพ้องต้องกัน  การทำงานของชุมชนเป็นที่น่าชื่นชม  เพราะ  เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  เกิดขึ้นจากความต้องการของคนในชุมชน  ไม่มีใครมาบังคับ  เพราะฉะนั้น  เมื่อเราทำๆไปแล้ว  หากมันเกิดผลไม่ดีก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้  ไม่มีใครสามารถมาห้ามเราได้  เพราะ  สิ่งที่เราทำเกิดจากฉันทามติของคนในชุมชน  ไม่มีกฎหมายบอกว่าเมื่อเปลี่ยนวิธีใหม่แล้วผิดกฎหมาย  มันสามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานะของเราเอง  นี่เป็นคำตอบว่าสิ่งที่ทางโซนใต้คิดผิดหรือถูก

            อ.ธวัช  เล่าเพิ่มเติมว่า  สูตรการแบ่งเงินในการจัดสรรสวัสดิการแบบเดิม  คือ  40% จากเงินที่เก็บวันละหนึ่งบาทในแต่ละเดือนนั้นไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการ   ยิ่งถ้ามีสมาชิกเสียชีวิตมากๆยิ่งไม่พอ  ดังนั้น  ทางกลุ่มจึงจำเป็นต้องนำเงินในส่วนของกองทุนธุรกิจชุมชน 30%  มาช่วยในเรื่องนี้  ถ้าไม่พอก็ต้องนำเงินในส่วนอื่นเข้ามาช่วย  เช่น  เงินในกองทุนสวัสดิการคนทำงาน  เป็นต้น  แต่ตั้งแต่แยกตัวออกมาบริหารจัดการกันเอง  สถานการณ์ต่างๆก็เริ่มดีขึ้น   ผมคิดว่าเราอยู่ได้  ถ้าเรามีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ  ไม่ใช่ว่าต้องทำตามสูตรทุกอย่าง  ตอนนี้เงินในกองทุนธุรกิจชุมชนก็ยังมีอยู่  เพราะ  ยังไม่ได้นำไปลงทุน  แต่มีอยู่ไม่ครบ  เนื่องจาก  เอาเงินส่วนหนึ่งไปให้กองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิตยืมจ่ายเป็นค่าสวัสดิการ  แต่ถ้าเดือนไหนที่กองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิตมีเงินเหลือ  เราก็จะเอามาคืนกองทุนธุรกิจชุมชน      

            คุณสุวัฒนา  บอกว่า  ข้อสำคัญ  คือ  พี่น้องในชุมชนรับทราบเรื่องนี้ไหม  ความคิดนี้เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนไหม  มีการสื่อสารไปให้พี่น้องในชุมชนได้ทราบหรือไม่  เพี่อที่จะได้ไม่เกิดความผิดพ้องหมองใจกัน  ขอยกตัวอย่างสักหนึ่งตัวอย่าง  เห็นพี่น้องเก็บเงินออมทรัพย์  ตัวเองก็เอาไปเขียนเป็นบทความ  เขียนเป็นรายงานบอกผู้บังคับบัญชา  ปรากฎว่าผู้บังคับบัญชาบอกว่า  เห็นเขียนอะไรออกมามากมาย  บอกให้คนโน้นทำ  คนนี้ทำ  ตัวเองได้ทำแล้วหรือยัง  เมื่อถูกถามอย่างนี้  ตัวเองก็เลยเขียนลงใน Intranet ว่า  ขณะนี้มีผู้ก่อการดีเกิดขึ้น  ได้มีโอกาสไปเห็นชาวบ้านทำแล้วมันดี  ชาวบ้านเก็บเงินแค่วันละ 1 บาท  ก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำบ้าง   ดังนั้น  จะขอใช้หลักของพ่อชบ  คือ  ออมเพื่อให้  วิธีการ  คือ  จะออมเงินวันละ 1 บาท  ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็เก็บเงินออมเท่ากัน  คือ  วันละ 1 บาท  เราจะไม่เก็บเกินไปกว่านี้  ทุกคนจะมีความเท่าเทียมกัน  ส่วนเงินหนึ่งบาทนั้นก็ไม่เป็นการเพิ่มภาระใคร  ไม่ต้องออกไปหารายได้พิเศษเพิ่มเติม  เพียงแต่ลดรายจ่ายของตนเอง  เช่น  โทรศัพท์ให้น้อยลง  สูบบุหรี่ให้น้อยลง  เป็นต้น  เราบอกชัดเจนว่าต้องไม่เบียดเบียนกันและอย่าหวังว่าจะได้ประโยชน์จากเงินในส่วนนี้  เพราะ  เงินนี้เก็บเพื่อเอาไว้ช่วยเหลือกันเมื่อยามเดือดร้อน  เดี๋ยวคงต้องมาตั้งกฎเกณฑ์กันว่าจะใช้อย่างไร  ดังนั้น  ในวันที่ 25 กรกฎาคม  2549  เวลา 14.00น.  ขอให้ผู้ที่สนใจมาร่วมประชุมกันเพื่อ1.ตกลงกันว่าจะทำหรือไม่ทำ2.ถ้าจะทำจะทำอย่างไร3.จะมีกฎเกณฑ์อย่างไร ถ้าวันที่ 25 นี้มาคุยกันแล้วตกลงกันได้ว่าจะทำ  ในวันที่ 26 ต้องมาคุยกันในเรื่องของกฎเกณฑ์  ส่วนวันที่ 27 ก็จะเริ่มเก็บเงินออม  แล้วคงจะประกาศต่อสาธารณชนว่า สศค. ได้ทำแล้ว  โดยเอาความเป็น "สัจจะ" ของพ่อชบมา  เอาความยืดหยุ่นของโซนใต้มาใช้  แล้วค่อยมาปรับอีกครั้งหนึ่งให้เป็นแบบ สศค. เอง

            คุณภีม  ขอร่วมวงแลกเปลี่ยนโดยกล่าวว่า  ตัวเองสนใจในเรื่องการบริหารจัดการ  โดยเฉพาะในส่วนของการแบ่งตัวเงิน ซึ่งสูตรการแบ่งเงินที่คิดออกมาได้เป็นผลมาจากการเอาสูตรของเครือข่ายฯและสูตรของสงขลามาคุยกัน  มาวิเคราะห์กัน  แล้วนำมาปรับให้เป็นของโซนใต้  แสดงว่าเงินในส่วนของการจ่ายสวัสดิการเกิด  เจ็บ  ตาย  ซึ่งคิดเป็น 50%  หากมีความถูกต้องแสดงว่าเงินในส่วนนี้จะต้องจ่ายให้พอกับสวัสดิการที่เกิดขึ้น  ไม่ควรที่จะต้องไปนำเงินในส่วนอื่นเข้ามาช่วยจ่าย  คำถามก็คือ  เราเคยคิดคำนวณไหมว่าสูตรนี้จะใช้ได้ต้องมีสมาชิกอย่างน้อยเท่าไหร่?  อย่างที่สงขลา  เขาบอกชัดเจนว่าสูตรของเราต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 50 คน  ถ้ามีสมาชิก 50 คน  สามารถตั้งได้เลย  รับรองว่ากองทุนไม่ล้ม 

คุณยุพิน  บอกว่า  ความจริงเราตั้งเป้าอย่างพ่อชบก็ได้  แต่เราต้องกันเอาไว้ก่อน  คือ  ตั้งเป้าสูงเอาไว้ก่อน ต้องมีสมาชิก 100 คนขึ้นไป  เพราะ  เราต้องเก็บเงินออมไว้ก่อน 6 เดือน  จึงจะนำเงินนั้นมาจัดสวัสดิการ  การเก็บเงินออมสำรองไว้ก่อน 6 เดือน  ทำให้กองทุถนของเราโตขึ้น  แต่พอถึงเวลาที่เราต้องจัดสวัสดิการ  บางเดือนอาจไม่มีสมาชิกมาขอรับสวัสดิการก็ได้  กองทุนเราก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ  การที่เราต้องตั้งสูงไว้ก่อน  เพราะ  เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร 

คุณภีม  หมายความว่า  เงินในส่วนของ 50% ซึ่งนำมาใช้จัดสวัสดิการของแต่ละกลุ่มที่แยกออกมาจัดการตัวเองนั้น  ต้องอาศัยข้อมูลที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปว่าจะเกิดการใช้เงินอย่างไรบ้าง  แสดงว่าอย่างนี้เราก็ไม่สามารถพยากรณ์ได้

คุณยุพิน  บอกว่า  ตอนนี้ได้กำชับให้ทุกกลุ่มที่อยู่ในโซนใต้รวบรวมข้อมูลของตนเองให้เป็นปัจจุบันที่สุด  นี่คือหลักสำคัญ  นอกจากแต่ละกลุ่มจะรวบควมข้อมูลของตนเองแล้ว  ต่อไปเราจะทำข้อฒุลในภาพใหญ่  ซึ่งก็คือ  โซนใต้หรือกลุ่มที่ร่วมอุดมการณ์กับเรา  เราจะได้รู้ว่าภาพรวมเป็นอย่างไร  ทุกวันอาทิตย์ที่4 ของเดือน  เราจะมีการประชุมกัน  ทุกกลุ่มต้องนำข้อมูลของกลุ่มตัวเองมาแสดง  ตอนนี้เราทำแบบเก็บข้อมูลในระดับกลุ่มออกมาแล้ว  ทุกกลุ่มจะต้องกรอกข้อมูลลงไปให้เรียบร้อยและเป็นปัจจุบัน  เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมารวมกัน  นี่แหละที่จะทำให้เราทราบว่าแต่ละกลุ่มมีสถานะเป็นอย่างไร  กลุ่มไหนมีปัญหา  เราจะได้มาช่วยเหลือกัน  อนึ่ง  นอกจากนำข้อมูลมาส่งแล้ว  ยังต้องนำเงินในส่วนของกองทุนกลางและกองทุนบุญมาส่งด้วย  การที่เรามีข้อมูลจะเป็นประโยชน์อย่างมาก  เพราะ  จะทำให้เราทราบว่าเราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร  มีเงินจัดสวัสดิการพอหรือไม่  หากมีเงินเป็นจำนวนมาก  เราก็อาจเพิ่มสวัสดิการต่างๆเข้าไปก็ได้  ข้อมูลจะทำให้เราทราบว่าชาวบ้านอยู่ดีกินดีไหม  เราจะช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไร  เราจะทำอย่างไรให้บัญญัติ 8 ประการเป็นจริง  เราจะร่วมมือกับ อปท. อย่างไร  เราไม่ได้มองแค่เรื่องสวัสดิการอย่างเดียว  แต่เรามองในเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวบ้านด้วย 

อ.ธวัช  กล่าวเสริมว่า  ต่อไปเราคงลงรายละเอียดในเรื่องข้อมูลให้มากขึ้น  เช่น  ในเรื่องการตาย  ตอนนี้เราทราบว่ามีสมาชิกเสียชีวิตกี่คน  ต่อไปเราต้องทำฐานข้อมูลเพิ่มเติมว่าชาวบ้านเสียชีวิตด้วยโรคอะไรมาก  หรือ  ชาวบ้านที่ไปนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล  เขาเป็นโรคอะไรกันมาก

คุณภีม  แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า  ถ้าอย่างนั้นเราอาจใช้เครื่องมือในส่วนของการตรวจสุขภาพสมาชิก  มีการติดต่อเชื่อมประสานกับ           โรงพยาบาลว่าวันนี้เป็นวันออม  มีสมาชิกมาออมเป็นจำนวนมาก  น่าจะจัดให้มีการตรวจสุขภาพ  ถ้าเป็นอย่างนี้คิดว่าโรงพยาบาสลน่าจะเข้ามาร่วมมือด้วย

คุณยุพิน  กล่าวเสริมว่า  ในเรื่องนี้ทางกลุ่มบ้านดอนไชยก็คิดอยู่เหมือนกัน  ตอนนี้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล (บางคน) ว่าขอให้มาเป็นแนวร่วมกัน  ในวันออมขอให้ลงมาหน่อย  มาให้ความรู้ชาวบ้านหน่อยว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร

 

คุณสุวัฒนา  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  ในเรื่องนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เขาก็มีโครงการที่จะทำหน่วยส่งเสริมสุขภาพในชุมชน  ที่จะสบทบให้หัวละ 37 บาท/คน/ปี  ช่วงแรกจะทำประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ  ซึ่งจะมีการตรวจสุขภาพประจำปี  ประจำเดือน

คุณภีม  อธิบายเพิ่มเติมว่า  ในส่วนที่ตนเองเสนอความคิดเห็นนั้นเน้นไปที่การพึ่งตนเอง  ไม่ต้องเอาเงินมาเสริม  โดยสร้างความร่วมมือกับภาคีโรงพยาบาล  เพราะ  เป็นความรับผิดชอบของเขาที่จะต้องดูแลอยู่แล้ว  หากประชาชนสุขภาพดี  ไม่มีโรคภัย  โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเขาก็จะมีค่าใช้จ่ายน้อย  เหมือนกับว่าต่างคนต่างได้ประโยชน์

ขอจบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะคะ  เดี๋ยวทานข้าวเสร็จ (ถ้ามีเวลา) จะกลับมาเล่าให้ฟังต่อค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 40919เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท