พลังการปฏิสัมพันธ์เชิงปฏิรูปและความเป็นปฏิบัติการสังคมภายในกระบวนการวิจัยแบบ PAR


การทำงานเป็นกลุ่มและการระดมพลังการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกันในวิถีประชาคม รวมทั้งในวิถีการทำงานเป็นเครือข่ายที่มีส่วนร่วมปฏิบัติการสิ่งต่างๆร่วมกันบนฐานความเป็นปัจเจกที่เป็นอิสรภาพต่อกัน เหล่านี้ เป็นคุณลักษณะของความเป็นชุมชนในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในการทำงานวิจัยปฏิบัติการสังคมดังเช่นการวิจัยแบบ PAR รวมทั้งการทำงานในแนวปฏิรูปทั้งในองค์กรสมัยใหม่และในชุมชน จะมุ่งสริมด้วยวิธีทำงานบนพื้นฐานที่แตกต่างกัน ๓ ลักษณะของการออกแบบกระบวนการวิจัย ประกอบด้วย

 ()  วิธีแรก สำหรับการทำงานกับกลุ่มประชาสังคมที่มีอยู่แล้ว เป็นวิธีซึ่งมุ่งดำเนินการค้นพบและเสริมสร้างศักยภาพการจัดการตนเองให้มีความเข้มแข็งยั่งยืนมากยิ่งๆขึ้น จนสามารถเป็นองค์กรและสถาบันภาคประชาสังคมเพิ่มขึ้นมาเป็นองค์กรใหม่ๆสำหรับดำเนินกิจการเพื่อสาธารณะอีกองค์กรหนึ่ง เป็นการออกแบบกระบวนการวิจัยแบบ PAR ให้เข้าไปเสริมความเข้มแข็งและความสามารถในการบิรหารจัดการตนเองขององค์กรประชาสังคมที่ดีอยู่แล้ว ให้มีความเข้มแข็งยั่งยืนและยกระดับความมีบทบาทต่อการจัดการภาคสาธารณะในด้านเป็นความสนใจได้มากยิ่งๆขึ้น

 ()  วิธีที่สอง   สำหรับการทำงานแนวประชาคมที่ยกระดับการจัดการตนเองของกลุ่มประชาชนให้มุ่งทำงานด้วยกลุ่มการบริหารจัดการความมีส่วนร่วมของตนเองในวิถีประชาคม โดยวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า ด้วยการออกแบบและปฏิบัติการสังคมบนกระบวนการวิจัยที่ดีนั้น เราจะสามารถทำให้ทุกคนเกิดประสบการณ์ทางสังคมและเรียนรู้เพื่อก่อเกิดความเป็นพลเมือง รวมทั้งได้เรียนรู้วัฒนธรรมการรวมกลุ่มกันในวิถีประชาคมเพื่อสร้างสุขภาวะของส่วนรวมร่วมกันในเงื่อนไขใหม่ๆได้ ซึ่งในแนวทางดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้กระบวนการวิจัยทุกมิติมีความเป็นกระบวนการเรียนรู้ สร้างความเป็นพลเมืองและส่งเสริมพลังการจัดการตนเอง ตลอดจนสร้างประสบการณ์ตรงต่อสังคม ในการกำหนดตนเองและจัดความสัมพันธ์ตนเองกับองค์กรและความเป็นส่วนรวมในโครงสร้างปฏิสัมพันธ์แนวราบ (Horizontal Interaction) ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดจากแรงกระทบของวิกฤติที่รุนแรงอย่างเดียว หรือไม่ต้องรอให้ดำเนินไปตามเคลื่อนพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ของสังคมอย่างช้าๆหลายร้อยปี

 ()  วิธีที่สาม   เป็นวิธีผสมผสานสำหรับการทำงานในเงื่อนไขที่เครือข่ายการมีส่วนร่วม หรือประเด็นความเป็นส่วนรวมมีกลุ่มผู้เกี่ยวข้องหลากหลาย มีทั้งกลุ่มประชาคม และกลุ่มการรวมตัวกันบนเงื่อนไขที่หลากหลาย ซึ่งบางส่วนอาจจะเป็นกลุ่มคนที่มีความเป็นกลุ่มก้อนแบบแนวดิ่ง กลุ่มเครือญาติ กลุ่มคนในองค์กรสมัยใหม่ซึ่งจัดความสัมพันธ์กันบนโครงสร้างหน้าที่และโครงสร้างการผลิตงานบริการ กลุ่มการบังคับบัญชาและควบคุมด้วยโครงสร้างเชิงอำนาจแบบเป็นทางการ รวมทั้งกลุ่มคนส่วนใหญ่ซึ่งในบางสถานการณ์อาจจะมีความเป็นผู้คอยตั้งรับ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง หรือเป็น Passive Particpant มากกว่าที่จะเป็น Active Particpant ดังนั้น การทำงานวิจัยแบบ PAR ภายใต้เงื่อนไขนี้ ก็จะต้องออกแบบให้ยืดหยุ่นต่อความหลากหลายซับซ้อน เพื่อส่งเสริมการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มที่มีความเป็นชุมชนและกลุ่มประชาคม

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีกระบวนการเฉพาะสำหรับยกระดับการเรียนรู้และเสริมสร้างการบริหารจัดการตนเองของกลุ่มชาวบ้านทั่วไป ให้มีความสามารถรวมกลุ่มและดำเนินการสิ่งต่างๆของตนเองจนทัดเทียมที่จะเป็นเครือข่ายและทำงานเชื่อมโยงกันเองในประเด็นความเป็นส่วนรวมที่สามารถดำเนินการได้อย่างซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งในเงื่อนไขหลังนี้ วิธีการหนึ่งที่เหมาะสมก็คือ การถอดบทเรียนและเสริมศักยภาพให้กับกลุ่มประชาคมในการสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับกลุ่มการรวมตัวอื่นๆ หรืออาจทำในรูปแบบการพัฒนาความเป็นองค์กรเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในแนวทางใหม่ๆให้กับชาวบ้าน เช่น เครือข่ายโรงเรียน อสม. ของงานสุขภาพชุมชนและงานสธารณสุขมูลฐาน [๑]  เครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ในโครงการพระราชดำริเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายการเรียนรู้โรงเรียนชาวนา เหล่านี้เป็นต้น

วิธีดังกล่าวนี้ กระบวนการวิจัยแบบ PAR ก็จะมีวิธีเข้าสู่ภาคปฏิบัติการกับชุมชนในกลุ่มที่หลากหลายด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน  ด้านหนึ่งก็ถอดบทเรียนและเสริมศักยภาพให้กลุ่มประชาคมที่เข้มแข็งอยู่แล้วให้สามารถสะท้อนบทเรียนสู่แผนปฏิบัติการเชิงเครือข่ายขยายผล ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ถอดบทเรียนเพื่อริเริ่มให้กลุ่มที่เพิ่งสามารถเชื่อมโยงกันได้ ได้ปฏิบัติการและเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การจัดการความจำเป็นของตนเองและเชื่อมโยงเครือข่ายกันเองต่อไปได้

ด้วยกระบวนการสร้างเสริมพลังการมีส่วนร่วมอันหลากหลายของทุกภาคส่วนผ่านการขับเคลื่อนกลุ่มประชาคมด้วยการดำเนินการวิจัยแบบ PAR ๓ ลักษณะดังที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่ากระบวนการทำงานที่เปิดเวทีต่างๆออกเพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการและบริหารจัดการความเป็นส่วนรวมด้วยกันภายใต้สถานการณ์จำเพาะในเงื่อนไขของการดำเนินการวิจัยแบบ PAR นั้น จะมีความเป็นการปฏิบัติการสังคมอยู่ในตนเองและมีนัยยะต่อการก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อันนำไปสู่การปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างภายในสังคม และในระดับปัจเจกก็ก่อให้เกิดการมีประสบการณ์ทางสังคม ซึ่งมีพลังการหล่อหลอมที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านตนเองในระดับทรรศนะพื้นฐานได้

  ความเป็นพลเมืองและความเป็นชุมชนที่อ่อนแอ 

การที่วิธีดำเนินการวิจัยแบบ PAR จะมีบทบาทสำคัญต่อการทำให้กลุ่มนักวิชาการที่มุ่งทำงานเชื่อมโยงกับสังคม และวิธีการทางความรู้เพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยวิถีทางการใช้ปัญญาและมุ่งพึ่งตนเองของประชาชน มีความหมายและมีความสำคัญต่อการเป็นกระบวนการเรียนรู้ทั้งเพื่อการได้แก้ปัญหาและเป็นการสร้างทุนมนุษย์ เพิ่มพูนทุนทางสังคม และเสริมความเข้มแข็งของชุมชนด้วยนั้น ก็เนื่องจากโดยทั่วไปในสังคมต่างๆนั้น ผู้คนมักถูกระบบต่างๆทำให้คุ้นเคยต่อการเป็นผู้ตั้งรับและรอคอยการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมทั้งคุ้นเคยกับการเป็นผู้บริโภคและบรรลุจุดหมายส่วนตนในขอบเขตที่คับแคบ ชุมชนและสังคมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะดังกล่าวนี้  ก็จะมีข้อจำกัดในการสนองตอบต่อสถานการณ์ที่จำเป็นภายใต้แรงกดดันอันซับซ้อนใหม่ๆที่เกิดขึ้นมากยิ่งๆขึ้น ทั้งจากสถานการณ์ของท้องถิ่นและความเป็นโลกาภิวัตน์ของสังคมโลก ไม่สามารถจัดการให้เกิดสุขภาวะและแก้ปัญหาเพื่อบรรลุสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสมกับเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆ ไม่สามารถเผชิญปัญหาและสนองตอบความจำเป็นที่กระทบต่อความเป็นส่วนรวมต่างๆด้วยตนเอง เหล่านี้เป็นต้น

ลักษณะดังกล่าวนี้นับว่าเป็นความอ่อนแอของภาคพลเมืองและชุมชน ซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาการวิจัยเพื่อสร้างความเป็นจริงใหม่ๆทางสังคมอันนำมาสู่วิธีคิดและการออกแบบการวิจัยแบบ PAR รวมไปจนถึงการวิจัยและปฏิบัติการทางสังคม (Social Research and Social Action)ในแนวทางอื่นๆ [๒] ทั้งในระดับจุลภาคซึ่งมุ่งเน้นระดับปฏิบัติการของชุมชนลงไปจนถึงปัจเจก และระดับมหภาคซึ่งมุ่งสู่การเคลื่อนไหวสร้างพลังความเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงระบบและโครงสร้างเพื่อสุขภาวะสังคมและคุณภาพแห่งชีวิตทางด้านต่างๆทั้งในบริบทของท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์

  ความเป็นกลุ่มประชาคมและความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง 

ดังนั้น การที่จะร่วมกันระดมพลังการแก้ปัญหาที่จำเป็นอันหลากหลายซับซ้อนที่เกิดมากยิ่งๆขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นอันหลากหลายของปัจเจกและชุมชนด้วยตนเองได้นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องรวมกลุ่มและทำงานสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมในแนวทางใหม่ๆ ซึ่งการก่อเกิดวิธีทำงานแนวประชาคมและองค์กรจัดการการรวมตัวกันอย่างเป็นระบบด้วยโครงสร้างอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านการวิจัยปฏิบัติการสังคมแบบ PAR [๓] จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สนองตอบต่อความจำเป็นของสังคมในภาพการณ์ดังกล่าวนี้  อีกทั้งจะเป็นวิถีวิชาการอีกแนวหนึ่งที่ก่อให้เกิดการระดมสรรพกำลังทางวิชาการและเชื่อมโยงกลุ่มคนทำงานความรู้หลากหลายสาขา ให้เป็นเครือข่ายส่งเสริมพลังการเรียนรู้และเปลี่ยนผ่านตนเองของชุมชนในระดับต่างๆ ได้อย่างสอดคล้องกับความจำเป็นต่างๆมากยิ่งๆขึ้น

  ความเป็นปฏิบัติการสังคมอยู่ในกระบวนการวิจัยแบบ PAR 

  • จัดวางตนเองและสานระบบโครงสร้างชนิดใหม่ให้เกิดขึ้น : การปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแนวราบ ผ่านวัฒนธรรมการระดมแรงกายใจเพื่อปฏิบัติกิจกรรมสร้างสุขภาวะและความเป็นส่วนรวมด้วยกันของชุมชน ทำให้โครงสร้างแบบแนวดิ่งและโครงสร้างเชิงอำนาจอย่างเป็นทางการ ตลอดจนโครงสร้างที่ลดความสำนึกต่อความเป็นผู้นำตนเองของปัจเจก ตลอดจนเงื่อนไขแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของปัจเจกและกลุ่มประชาชน คลายตัวลง ในขณะที่ภาวะผู้นำแบบเป็นกลุ่มก้อนและพลังความสร้างสรรค์หลากหลายของปัจเจก ก็จะมีความเข้มแข็งและเกิดความตื่นตัวหลากหลายมากยิ่งๆขึ้น
  • เพิ่มโอกาสการสื่อสารแบบสองทางและโครงสร้างการสื่อสารเรียนรู้ตนเองขึ้นจากชุมชน : วิธีทำงานและปฏิบัติการสังคมผ่านการวิจัยแบบ PAR ในแนวทางดังกล่าวนี้ จะก่อเกิดการสื่อสารแบบสองทาง รวมทั้งสร้างความไหลเวียนของข่าวสารและความรู้ความเข้าใจผ่านการปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่มก้อนและในชุมชนที่มีความเชื่อมโยงการทำงานส่วนรวมด้วยกัน ทำให้ชุมชนและกลุ่มการรวมตัวของประชาชนภายในสภาวการณ์ต่างๆของสังคม มีพลังเข้มแข็งในการจัดการตนเองได้ดีขึ้น สร้างความสมดุลให้เกิดมากขึ้นแก่โครงสร้างสังคมแบบมวลชน สังคมวัฒนธรรมแบบมหาชน ตลอดจนกระแสสังคมแบบโลกาภิวัตน์
  • แก้ปัญหาและสนองตอบต่อความจำเป็นหลากหลายของปัจเจกและชุมชน : โดยวิธีการทำงานและโดยระเบียบวิธีดังที่เห็นในกระบวนการวิจัยแบบ PAR นั้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการวิจัยจะมีธรรมชาติของการผุดประเด็นปัญหาการวิจัยและออกแบบการทำงานต่างๆ ที่กลมกลืนและสนองตอบต่อเงื่อนไขจำเพาะของชุมชน ซึ่งต่างจากกระแสสังคมส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงเพิ่มพูนความหลากหลายขึ้นในการจัดการตนเองของชุมชนและสังคม รวมทั้งสะท้อนการนำการเปลี่ยนแปลงขึ้นจากฐานรากของสังคม ผสมผสานกับพลังการนำการเปลี่ยนแปลงตนเองในแนวดิ่งของสังคม ให้มีความสดุลและส่งเสริมเกื้อหนุนกันได้อย่างสร้างสรรค์มากยิ่ๆขึ้น

กระบวนการที่เกิดขึ้นในมิติต่างของการวิจัยแบบ PAR ดังกล่าวนี้ จะมีความเป็นกระบวนการทางสังคมซึ่งให้ประสบการณ์เรียนรู้ทางสังคมในอันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังที่พึงประสงค์ของปัจเจกและชุมชนซึ่งเป็นวิถีเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูป  มีนัยยะลึกซึ้งลงไปได้จนถึงพื้นฐานของระบบวิธีคิดต่อสิ่งต่างๆ กระทบไปถึงวิถีทรรศนะ และโครงสร้างเชิงระบบการจัดการความเป็นส่วนรวมของตนเอง ทำให้ชุมชนและสังคมมีแนวทางเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองไปด้วยความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติพอเพียงแก่การกำกับตนเอง ต่างจากการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความรุนแรง และต่างจากการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการพังทลายสิ้นเชิงจากภาวะวิกฤติต่างๆ

กล่าวได้ว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่งานทางวิชาการและวิธีปฏิบัติการต่อความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติของสังคม จะสามารถชี้นำพลังปัจเจกและชุมชนให้สร้างและสะสมคุณลักษณะทางสังคมอย่างใหม่ซึ่งจำเป็นและจะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งๆขึ้นในอนาคตเหล่านี้ ให้เกิดขึ้นผ่านการวิจัยแบบ PAR ซึ่งจะมีความเป็นปฏิบัติการทางสังคมบูรณาการอยู่ภายในมิติต่างๆอยู่ในตนเองดังที่กล่าวมานี้ด้วย.

............................................................................................................................................................................

เชิงอรรถและรายละเอียดเพิ่มเติม :

[๑] อ่านรายละเอียดและศึกษาเพิ่มเติม การพัฒนาหลักสูตรและวิธีเป็นครูโรงเรียน อสม. : ๑.ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียน อสม. โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน ชุมชนพลเมืองและสุนทรียภาพชีวิต

[๒] ในการวิจัยแบบ PAR จะมี CER เป็น ๓ มิติสำคัญบูรณาการอยู่ด้วยกันในทุกกิจกรรม ประกอบด้วย

  • Community Orientation and Community-Based Development Integration : การระบุปัญหาที่มุ่งความเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาร่วมกันของชุมชนและสังคม  
  • Education and Learning Process Integration : การพัฒนากระบวนการทางการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้เพื่อมุ่งระดมพลังแก้ปัญหาจากภายในชุมชน  
  • Research Integration :  การวิจัย สร้างความรู้ และสร้างทฤษฎีพื้นฐานจากการปฏิบัติ

[๓] การเคลื่อนไหวและปฏิบัติการสังคมมีหลายแนวคิดและหลายวิธีการ เช่นเดียวกับการวิจัยปฏิบัติการทางสังคม ก็มีแนวดำเนินการหลายแบบโดยการวิจัยในแนวทางอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมหรือการวิจัยแบบ PAR ก็ได้  เช่น

  • การวิจัยแล้วเคลื่อนไหวสังคมทางสื่อ : การวิจัยและนำไปสู่การจัดประชุมพบปะสื่อมวลชน Meet the Press เพื่อขอความร่วมมือสื่อมวลชนเคลื่อนไหวข่าวสารและสร้างกระแสสังคม ซึ่งก็จะเน้นการเล่นประเด็นร้อน ประเด็นที่ทำเป็นข่าวง่าย ประเด็นที่เหมาะแก่การจูงใจและโฆษณา 
  • วิจัยเพื่อเคลื่อนไหวผู้นำ : การวิจัยแล้วจัดประชุมระดับนโยบายและองค์รเกี่ยวข้องในภาครัฐ
  • วิจัยสร้างนโยบายและระบบกำกับสังคม : การวิจัยเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การออกกฏหมายและวางนโยบายทางสังคม
  • การพัฒนาวิธีนำเสนอผลการวิจัย เช่น ทำภาพยนต์ หรือจัดเวทีนำเสนอระดับโลกดังเช่นอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม
  • การพัฒนาผลการวิจัยเพื่อนำไปสู่กลุ่มผู้นำอย่างพอเพียงต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือกลุ่ม Critical Mass เช่น การสร้างกลุ่มผู้นำด้านการวิจัย การสร้างกลุ่มข้าราชการแนวปฏิรูป การสร้างกลุ่มผู้นำทางการศึกษาและกลุ่มนักพัฒนาสาขาต่างๆ เป็นต้น

จะเห็นว่า การวิจัยแบบ PAR ก็เป็นเพียงวิธีการทางวิชาการอย่างหนึ่งสำหรับปฏิบัติการทางความรู้และปฏิบัติการสังคม ซึ่งก็จะต้องมีหลักคิดและเห็นแนวทางที่แตกต่างหลากหลายของการวิจัยปฏิบัติการสังคมแบบต่างๆอย่างพอเพียงไปด้วย.

หมายเลขบันทึก: 408735เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2010 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะ มาทักทาย และ เรียน PAR ครับท่าน

  • ขอคารวะครับท่านอาจารย์ JJ ครับ
  • แบ่งปันกับหมู่คนทำงานแนวนี้ไปด้วย แล้วก็บันทึกเก็บๆไว้ก่อนไปด้วยอย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะครับอาจารย์
  • ขอบพระคุณที่อาจารย์มาเยือนนะครับ เมื่อวานก่อนเพิ่งแกะเสื้อยืดขอบคุณจากสำนักพัฒนาคุณภาพของพี่ ผอ.นภามาศ กับท่านศาสตราจารย์ประสิทธิ์ รองอธิการ ที่ท่านทำแสดงความขอบคุณกับกลุ่มคนอาสาไปร่วมเป็นทีมเยี่ยมสำรวจขับเคลื่อนระบบพัฒนาคุณภาพของมหิดล เลยเพิ่งได้เห็นการปักตัวหนังสือ MUQD บนเสื้อด้วยลวดลายสีสันแบบ สกา เร๊กเก้ หรือร็อคโคโคเลย ทำเอาอดยิ้มไม่ได้ ว่าจะโทรไปขอคารวะความจ๊าบอยู่เนี่ยครับ พอเห็นอาจารย์แล้วก็นึกถึงอีกเพราะประทับใจที่อาจารย์พาพวกเราไปไหว้พระธาตุนาดูน
  • ขอบพระคุณครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท