การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ


การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ

          การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ  หมายถึง  ข้อมูลที่แทนคุณลักษณะต่าง ๆ ของตัวแปรที่สามารถจำแนกนับตามกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งได้เป็นจำนวนตัวเลขและมีความหมายข้อมูลที่เป็นตัวเลขเหล่านี้ได้มาจากการวัด  ซึ่งข้อมูลการวัดนี้จะมีระดับการวัดแตกต่างกันออกไป 4 ระดับ  ซึ่งระดับการวัดที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการเลือกใช้วิธีการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันออกไปด้วย  ระดับการวัดข้อมูลดังกล่าว  ประกอบด้วย

  1. มาตรานามบัญญัติ   ตัวเลขในระดับการวัดนี้เป็นตัวเลขที่ได้รับการสมมุติขึ้นใช้แทนคุณลักษณะใด ๆ เพื่อจำแนกให้เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งนั้น ๆ   เช่น ตัวเลขที่เป็นเบอร์ของนักฟุตบอล  เบอร์สาวงาม  เป็นต้น  ตัวเลขประเภทนี้จึงไม่สามารถนำมาบวกกันได้
  2. มาตราเรียงลำดับ  เป็นตัวเลขที่ใช้แทนลำดับที่ของสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่จัดเรียงไว้ตามกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่ง  ดังนั้น  ลำดับที่ที่แตกต่างกันจึงบอกหรือจำแนกสิ่งที่แตกต่างกันด้วย  เช่น  นักกีฬาที่วิ่งได้ที่ 1 2 และ 3 เป็นต้น
  3. มาตราช่วงหรืออันตรภาคชั้น  ตัวเลขในระดับนี้จะเริ่มต้นการวัดด้วยศูนย์สมมติ ซึ่งมิได้หมายถึงศูนย์จริงหากแต่สมมติให้มีค่าเป็นศูนย์ เช่น  อุณหภูมิ  คะแนนที่ได้จากการสอบ  เป็นต้น
  4. มาตราอัตราส่วน  ตัวเลขในระดับการวัดนี้จะเริ่มต้นจากศูนย์แท้เสมอ  และมีคุณสมบัติบอกระยะห่างระหว่างตัวเลขเป็นช่วงได้เท่า ๆ กัน  สามารถนำมา บวก ลบ คุณ หารได้ทั้งสิ้น  เช่น  จำนวนเงิน  จำนวนนักเรียน  เป็นต้น

 

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ

           ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ  ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ  ตามลำดับ  ได้แก่

ขั้นตอนที่  1  การตรวจสอบข้อมูล

ขั้นตอนที่  2  การทำดัชนีข้อมูล

ขั้นตอนที่  3  การทำข้อสรุปชั่วคราวและการกำจัดข้อมูล

ขั้นตอนที่  4  การสร้างบทสรุปและพิสูจน์บทสรุป

             ซึ่งหลังจากที่ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว  สิ่งที่จะต้องดำเนินการ  คือ  การตรวจสอบข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล  ซึ่งสามารถทำไปพร้อมกับการเก็บรวบรวมข้อมูลได้   การตรวจสอบข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพที่นิยมใช้กัน เรียกว่า การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (triangulation) ได้แก่  การตรวจสอบสามเส้าด้านข้อมูล โดยพิจารณาจาก  แหล่งเวลา  แหล่งสถานที่และแหล่งบุคคลที่แตกต่างกัน    ถ้าข้อมูลต่างเวลากันจะเหมือนกันหรือไม่   ถ้าข้อมูลต่างสถานที่จะเหมือนกันหรือไม่  และถ้าบุคคลผู้ให้ข้อมูลเปลี่ยนไปข้อมูลจะเหมือนเดิมหรือไม่   การตรวจสอบสามเส้าด้านผู้วิจัย โดยเปลี่ยนตัวผู้สังเกต  และการตรวจสอบสามเส้าด้านวิธีรวบรวมข้อมูล  โดยใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ กันเพื่อรวบรวมข้อมูลเรื่องเดียวกัน การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยนี้มักไม่ใช้สถิติแต่นิยมใช้แนวคิดทฤษฎีเป็นกรอบในการวิเคราะห์โดยวิธีการหลักที่ใช้มี  2  วิธี  คือ  วิธีแรกเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย ซึ่งได้จากการสังเกตและการสัมภาษณ์ที่ได้จดบันทึกไว้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือปรากฏการณ์ที่มองเห็น   วิธีที่สอง  เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ซึ่งได้จากการศึกษาเอกสาร ในการวิเคราะห์เอกสารผู้วิจัยต้องคำนึงถึงบริบท หรือสภาพแวดล้อมของข้อมูลเอกสารที่นำมาวิเคราะห์ประกอบด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 408178เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท