ชีวิตที่พอเพียง : 73. ลาออก


        การลาออกจากตำแหน่งต่างๆ เป็นเรื่องง่ายสำหรับผม     เพราะผมอยู่ในตำแหน่งเพราะอยากทำงาน     อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม     เมื่อทำไม่ได้ก็ลาออกดีกว่า     เพราะผมมี "เสียงเรียกจากพงไพร" ให้กลับสู่วงวิชาการ วงวิจัย อยู่ตลอดเวลา

        ปี ๒๕๒๑ ต้นปี ผมเป็นรองอธิการบดี (หมายความว่าเป็นรองฯ คนที่ ๑  รองจากอธิการบดี)     ช่วงนั้นมรสุมก่อสร้างเยอะ    ผมบอกตัวเองว่าแร้งลง     และถ้ายังดำรงตำแหน่งอยู่ก็ไปขวางทางผลประโยชน์เขาเกินไป     เราก็เป็นเด็กกะเปี๊ยก พวกพ้องก็ไม่มี     ลาออกดีกว่า    ว่าแล้วผมก็เรียนท่านอธิการบดี (ผศ. ดร. ผาสุข กุลละวณิชย์) เป็นระยะๆ ว่าผมอยากกลับไปทำงานวิชาการ     แล้วลาออกในเดือนพฤษภาคม

        ปี ๒๕๒๔ เดือนพฤศจิกายน ผมเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ด้วยอายุ ๓๙     ไฟแรงและคิดอะไรๆ ไว้มาก     ต้องการวางรากฐานการบริหารงานให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพแบบสุดสุด     เสนอระบบหลายๆ อย่างต่อมหาวิทยาลัยซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้คงได้รับอนุมัติทั้งหมด     แต่ตอนนั้น มอ. ยังอยู่ในฐานคิดว่า ทุกคณะต้องอยู่ใต้กฎระเบียบเดียวกัน     ดังนั้นผมในฐานะคณบดีคณะแพทย์ ทะลึ่งเสนอกฎกติกาที่ใช้เพื่อสร้างสรรค์คณะแพทย์คณะเดียว ถือเป็นคนเห็นแก่ตัว

       เราทุ่มเทเรียนรู้และคิดระบบต่างๆ ขึ้นมา แต่ไปติดที่อธิการบดี ซึ่งในขณะนั้นคือ รศ. นพ. ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์     เนื่องจากท่านเห็นว่าถ้าเอาเข้าที่ประชุมคณบดี คณะอื่นๆ ก็จะคัดค้าน เพราะไม่เหมือนที่เขาปฏิบัติกัน     ผมให้เหตุผลว่าก็ในเมื่อคณะแพทย์มีงานที่ไม่เหมือนคณะอื่นๆ คือโรงพยาบาล  แล้วจะให้ใช้ระเบียบเหมือนคณะอื่นๆ และหวังความเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร     ในสมัยนั้นน่าเห็นใจอธิการบดีมาก    แต่ช่วงนั้นผมอายุน้อย มีนิสัยมุทะลุไม่ประนีประนอม     จึงปรารภว่าจะลาออก    เพราะอยู่ไปก็ทำงานไม่ได้ดี     ผมกลับไปทำงานวิชาการมีความสุขมากกว่า    

       น่าสงสารท่านโอสถ โกศิน นายกสภาฯ     ท่านลงทุนมาหาผมถึงบ้านพัก    และพื้นถนนหน้าบ้านผมมีน้ำและโคลนท่านลื่นจนเกือบล้ม     ผมรู้สึกผิดมากที่ทำให้ผู้ใหญ่เดือดร้อน ต้องมาขอร้องว่าขณะนั้นงานของคณะกำลังเดินดีอย่างน่าพอใจ    จึงขออย่าลาออกเลย    แล้วท่านก็คืนใบลาออกให้ผม ผมก็รับไว้            

       เหตุการณ์ไม่ดีขึ้น    ผมรู้สึกว่าที่ประชุมคณบดีไม่สร้างสรรค์     มีแต่วาระงานประจำ และการเล่นการเมืองรักษาผลประโยชน์     และคอยจ้องดูว่าคณะไหน วิทยาเขตไหนจะได้-เสียประโยชน์     ผมใช้วิธีดูแฟ้มประชุม    ถ้าไม่มีวาระสร้างสรรค์ผมก็ขาดประชุม หรือส่งรองฯ ไปแทน     นานๆ เข้าท่านอธิการบดีก็มาบอกผมในฐานะลูกศิษย์ ว่า "หมอมาประชุมคณบดีบ้างซี"     ผมตอบท่านว่า "ผมมีงานเชิงสร้างสรรค์ของคณะฯ มาก    ถ้ามีวาระในที่ประชุมคณบดีเชิงสร้างสรรค์ผมก็จะเข้า    แต่นี่มีแต่เรื่องไม่มีสาระ  ผมจึงไม่ได้เข้า"     ท่านอธิการบดีก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร     เพราะว่าคนเห็นกันทั่วไปว่าผมกำลังขมักเขม้นสร้างระบบให้แก่คณะแพทยศาสตร์

        ที่เล่ามานี้ก็เพื่อสารภาพบาป    ว่าทั้งหมดนั้นผมเป็นผู้ผิด     คือไม่ประนีประนอมเพียงพอ    เป็นคนไม่มีมารยาท    และไม่ใช้วิธีการแบบไทยๆ ในการแก้ปัญหา    คือมีการ lobby ก่อนในระดับต่างๆ     ตอนนี้เวลาผมเห็นคนหนุ่มเลือดร้อนผมจึงเข้าใจเขา   

        เหตุการณ์ไม่ดีขึ้น ผมจึงลาออกหลังจากทำหน้าที่ได้ ๒ ปี     สิ่งที่ผมภูมิใจคือ ผมพร้อมจะลาออกได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องกังวลใจว่าจะโดนตลบหลัง     เพราะว่าผมไม่มีอะไรให้คนมาจับผิด

       ตอนมาอยู่ สกว. ผมก็ทำท่าจะลาออกครั้งหนึ่ง    ภรรยาเตือนว่าระวังคนจะเห็นว่าเราเป็นคนไม่อดทน     พอเจออุปสรรคหน่อยก็ลาออก     ประกอบกับ อาจารย์ ดร. กำจัด มงคลกุล เตือนว่าถ้าผมลาออกก็เข้าทางเขา     อดทนไปหน่อยเดี๋ยวก็จะมีทางออก     ซึ่งก็ได้เทวดาช่วยไว้จริงๆ 

วิจารณ์ พานิช
๗ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 40729เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2006 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ติดตามอ่านของอาจารย์อยู่ครับ ได้ข้อคิดเยอะครับ

อ่านแล้วก็ให้นึกถึงความเลือดร้อน และไม่มีมารยาทของตัวเองแต่หนหลังเหมือนกันค่ะ 

  • ทำไม่ได้ก็ลาออก (ออกจากราชการ..ซะเลย)
  • ไม่อดทนต่อเรื่องทุจริต
  • เบื่อเรื่องซ้ำซาก วนไปวนมา ไม่สร้างสรรค์

ในวัยหนุ่มผมก็มีไม่น้อย แต่ที่น่าจะหนักกว่า คือ "ปากเสีย" ถ้าจริงและตรง ก็ไม่รีรอที่จะสงวนความคิดเห็น ที่ผ่านมาได้คงจะเป็นเพราะยังมองโลกในแง่บวกมากกว่า จึงไม่เคยหมดความหวัง...ครับ

ผมก็ลาออกจากลูกจ้างประจำแล้ว สบายใจหายปวดหัวเรื่องน่าเบื่อ  แล้วก็ตั้งหน้าทำในสิ่งที่เราชอบ อยู่อย่างพอเพียง ทุกๆย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับโลกใบนี้

กำลังจะปลดเกษียณตนเองเหมือนกันค่ะ  คิดว่าทำงานครบยี่สิบห้าปี ก่อน เพราะแม้จะไม่ได้เป็นคนที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นคนที่ทุ่มเทกับงาน และไม่เคยเอาเปรียบในหน้าที่การงาน ออกมาคิดว่าจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และปฏิบัติธรรมให้ดีกว่าเดิม เหลืออีกสี่ปีกว่าๆ เอง  ช่วงชีวิตที่เหลือน่าจะอยู่อย่างสงบ พอเพียง ทำตนให้มีประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นได้บ้าง ก่อนที่กำลังวังชาจะลดน้อย  ก่อนที่ภาวะต่างๆ บนโลกจะไม่เอื้ออำนวยมากยิ่งขึ้น 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท