การประชุมโซนใต้ประจำเดือนกรกฎาคม (1)


“กองทุนบุญ” ตั้งขึ้นมาเพื่อเอานำเงินในส่วนนี้ไปทำบุญ ช่วยเหลือผู้ยากไร้
ผู้วิจัยหายหน้าหายตาจาก Gotoknow ไป 2 วัน เพราะ มีงานในพื้นที่ต่างๆ (อย่างที่เล่าให้ฟังไปแล้ว) มาในวันนี้พอจะมีเวลาว่างบ้าง จึงจะขอทำตามสัญญา คือ นำเรื่องราวที่ได้จากการเข้าร่วม กิจกรรมทั้ง 2 วันมาเล่าให้ฟังค่ะ เริ่มจากตามรางในวันเสาร์ก่อนนะคะ ในวันเสาร์เป็นการประชุมของกลุ่มโซนใต้ คุณสุวัฒนา คุณภีม และผู้วิจัย ไปถึงกลุ่มในตอนเกือบบ่ายโมงแล้วค่ะ หลังจากทักทาย นั่งพักรับประทานอาหารกลางวันแล้ว เราจึงเริ่มรายการในช่วงบ่าย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ อ.ธวัช ในฐานะเจ้าภาพ ได้เริ่มต้นเปิดเวทีโดยกล่าวว่า การประชุมขององค์กรออมทรัพย์ ชุมชนในโซนใต้ (อำเภอเถิน และ อำเภอแม่พริก) จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนในวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน ในเดือนกรกฎาคม 2549 นี้เป็นการประชุมประจำเดือนเป็นครั้งที่ 2 โดยองค์กรออมทรัพย์ชุมชนตำบลแม่พริกเป็นเจ้าภาพ การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษ เพราะ มีบุคคลภายนอก 3 ท่าน คือ 1.คุณสุวัฒนา ศรีภิรมย์ 2.คุณภีม ภคเมธาวี 3.อ.วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ ให้เกียรติมาร่วมงาน โดยปกติคณะกรรมการของโซนเราไม่ค่อยได้มีโอกาสพบกันมากนัก เพิ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังประมาณ 2 เดือนมานี้เอง เรามีปัญหาหลายประการที่จะต้องนำเอามาปรึกษาหารือกัน โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการ เดือนที่แล้วเราได้มีนำเอาเรื่องการจัดสวัสดิการให้สมาชิกในเรื่องการตายมาคุยกัน แต่ยังไม่มีการลงมติว่าเราจะใช้ระเบียบ กฎเกณฑ์ใด มาในเดือนนี้เรานำเรื่องนี้มาปรึกษาหารือกันต่อในเรื่องนี้ โดยได้นำเอาข้อมูลของกลุ่มสงขลา ซึ่งสมาชิกของเราได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมเมื่อเดือนที่แล้วมาประกอบด้วย ในที่สุดก็สรุปออกมาได้ว่าเราจะจัดสวัสดิการในเรื่องการตายอย่างไร ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงเมื่อเช้านี้ในการพูดคุยกัน ซึ่งระเบียบในส่วนนี้คงจะมีการนำมาใช้ในกลุ่มในช่วงเวลาต่อๆไป วันนี้มีคณะกรรมการของกลุ่มต่างๆในโซนใต้มาประชุมกันประมาณ 20 กว่าท่าน แต่เผอิญในช่วงบ่ายมีบางท่านที่ติดธุระ จึงเดินทางกลับไปก่อน ดังนั้น ในช่วงนี้จึงขอให้คณะกรรมการแต่ละท่านแนะนำตัวเองเพื่อให้ท่านอาจารย์ทั้ง 3 ได้ทราบว่าเป็นใคร 1.คุณธวัช ธนวิจิตรานันท์ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริก 2.คุณบัณฑิต สวรรค์บรรพต รองประธานฝ่ายบัญชีและการเงิน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริก 3.คุณสันติ อินจับ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์กองทุน สวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริก 4.คุณ…… …….. ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลพระบาทวังตวง 5.คุณลำดวน บุญมาวงศ์ คณะกรรมการฝ่ายคอมพิวเตอร์กองทุน สวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริก 6.คุณอุรุยา ใจกาวิล เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริก 7.คุณนวภัทร์ ปัญญาเทพ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านเหล่า 8.คุณพัชรา หมื่นพิพัฒน์ประชา คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน บ้านเหล่า 9.คุณสมหมาย ชัยการ คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านเหล่า 10.คุณยุพิน เถาเปี้ยปลูก เลขานุการการกองทุนสวัสดิการชุมชน บ้านดอนไชย 11.คุณเตือนใจ ประพันธ์กุล คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลแม่วะ 12.คุณกัลยาณี สิทธิกลม คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน บ้านเหล่า 13.คุณศิริรัตน์ อินว่าน คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน บ้านดอนไชย 14.คุณสุวิมล ตาแล คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน บ้านดอนไชย 15.คุณฐิติพร สุภากุล เหรัญญิกกองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชย 16.คุณภีม ภคเมธาวี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 17.คุณสุวัฒนา ศรีภิรมย์ กระทรวงการคลัง 18.คุณวิไลลักษณ์ อยู่สำราญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง 19.คุณทนงฤทธิ์ เรืองรัตน์ พัฒนาชุมชนอำเภอแม่พริก 20.คุณกู้กิจ นันติชัย ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชย 21.คุณกฤษณะ บุตรโส คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลแม่วะ หลังจากแนะนำตัวแล้ว เป็นการเปิดเวทีพูดคุย โดยเริ่มต้นจากคณะกรรมการกลุ่มพูดคุยเรื่องสถานะในแง่มุมต่างๆของกลุ่ม ซึ่งในประเด็นนี้คุณสุวัฒนาได้บอกว่าอยากทราบเกี่ยวกับโครงสร้างของกองทุนในส่วนของกลุ่มต่างๆแล้วร้อยเรียงขึ้นมาเป็นภาพใหญ่ คุณกู้กิจ นันติชัย ในฐานะประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชย ได้เริ่มต้นเป็นผู้เล่าเรื่องก่อน กล่าวคือ กองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชยก่อตั้งขึ้นมาได้เป็นผลมาจากการได้รับความรู้จากเครือข่ายฯจังหวัด เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2545 โดยมีสมาชิกเริ่มแรก 265 คน ก็ทำมาเรื่อยๆ เรามองภาพจากปี 2548 ย้อนลงไป เราเห็นว่าเมื่อนำ “แผนที่ภาคสวรรค์” มาดำเนินการ โดยสรุปแล้วเป็นการรวบอำนาจอยู่ที่จุดๆเดียว ปกติชื่อกองทุน คือ “กองทุนสวัสดิการชุมชน” ดังนั้น จึงต้องดำเนินการโดยชุมชน ต้องให้ชุมชนดำเนินงาน เงินต้องอยู่ใกล้ชุมชน ทีนี้จังหวัด (เครือข่ายฯ) ไม่ได้ดำเนินการอย่างนั้น เงินส่วนใหญ่ไปอยู่ที่จังหวัด อยู่ในตึก อยู่ในห้องแอร์ มีคนดูแล เวลากลุ่มต่างๆมีปัญหาก็ต้องส่งเรื่องเข้าไป กว่าจะได้รับการช่วยเหลือมาก็ช้า ซึ่ง (ผม) เห็นว่าไม่ถูกต้อง เสนอความคิดอะไรเข้าไปก็ไม่รับ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีการประชุมเครือข่ายฯสัญจรที่นี่ (กลุ่มแม่พริก) ผมเป็นคนนำเสนอว่าถ้าเป็นอย่างนี้เรารับไม่ได้ เราจะทำในแนวใหม่ว่า เงินของชุมชนจะต้องอยู่ใกล้ชุมชน ต้องทำโดย ชุมชน ทีนี้เราก็เลยฉีกตัวออกมาทำ ตอนนี้ดอนไชยมีสมาชิก 2,463 คน ไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบแผนที่ภาคสวรรค์ การที่เราฉีกตัวออกมาไม่ได้หมายความว่าเราหยุดทำ เราไม่หยุด เราจะทำต่อไป ผมได้ถามคณะกรรมการกลุ่มว่าเมื่อมีปัญหาอย่างนี้เราจะหยุดทำไหม ปรากฎว่าคระกรรมการบอกว่าไม่หยุด เราจะต้องทำต่อไป ในโปรแกรมของเรา เราจะเอากองทุนบ้านดอนไชยเป็นเซ็นเตอร์ แล้วโยง 8 ตำบลของอำเภอเถินเข้ามาที่เซ็นเตอร์ หมายความว่า ถ้าตำบลไหนจะตั้งกลุ่ม เราจะเข้าไปช่วย ถ้าเขาแข็งแรง อยู่ได้ด้วยตนเอง เราก็จะให้เขาออกไปบริหารจัดการตัวเอง นี่คือ ประเด็นแรกของเรา คือ เงินของชุมชนต้องอยู่ที่ชุมชน จากนั้น คุณยุพิน เถาเปี้ยปลูก ซี่งเป็นเลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชย ได้อธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารจัดการ (เงิน) แบบเก่า (เครือข่ายฯ) กับ แบบใหม่ (โซนใต้) ให้ที่ประชุมฟัง มีรายละเอียดโดยสรุป คือ แบบเก่า 1.ค่าธรรมเนียมแรกเข้า เก็บจากสมาชิกใหม่คนละ 50 บาท มีชื่อว่ากองทุนทดแทน (เก็บไว้ที่กลุ่ม) นำเงินในส่วนนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าตอบแทนคนทำงาน 2.สวัสดิการคนทำงาน เก็บจากสมาชิกคนละ 50 บาท/ปี (ปัจจุบันแบ่งเก็บเป็นเดือน เดือนละ 5 บาท รวมเป็น 60 บาท/ปี) มีชื่อว่า กองทุนสวัสดิการคนทำงาน (เก็บไว้ที่กลุ่ม 10 บาท/คน/ปี ส่งไปที่เครือข่ายฯ 40 บาท/คน/ปี) เงินในส่วนนี้คณะกรรมการแต่ละกลุ่มจะต้องนำไปลงทุนเพื่อให้ก่อดอกออกผล 3.เงินออมประจำเดือน เก็บจากสมาชิกวันละ 1 บาท มีชื่อว่า กองทุนสวัสดิการชุมชน ในแต่ละเดือนเงินจำนวนนี้จะถูกแบ่งออกมาเป็นส่วนต่างๆอีก คือ 3.1เงิน 40% เรียกว่า กองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิต นำมาจัดสวัสดิการ เกิด เจ็บ ตาย โดยในส่วนของการตายนั้น แต่ละกลุ่มจะต้องนำเงินในส่วนนี้จ่ายเป็น “ค่าเฉลี่ยศพ” ส่งไปที่เครือข่ายฯ ซึ่งที่ผ่านมาเงินในส่วนนี้ไม่พอจ่ายสวัสดิการ เพราะ มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะค่าเฉลี่ยศพ และเงินที่ต้องส่งไปที่กองทุนร่วมเมื่อเป็นสมาชิกครบ 180 วัน จึงจะเห็นได้ว่า เงินในกองทุนนี้ไม่ได้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการจัดสวัสดิการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำมาใช้จ่ายในส่วนอื่นๆด้วย ดังนั้น เมื่อเงินไม่พอกลุ่มจึงต้องไปเอาเงินในส่วนของกองทุนธุรกิจชุมชนมาใช้ หรือต้องทำเรื่องส่งไปที่เครือข่ายฯเพื่อยืมเงินในกองทุนกลางออกมา ซึ่งมีความล่าช้าและยุ่งยาก รวมทั้งดูเหมือนว่าเราต้องไปยืมเงินตัวเอง ซึ่งมันไม่น่าจะใช่สิ่งที่ถูกต้อง 3.2 เงิน 5% เรียกว่า กองทุนชราภาพ ส่งไปที่เครือข่ายฯ เพื่อเก็บเอาไว้จ่ายสวัสดิการชราภาพ 3.3 เงิน 5% เรียกว่า กองทุนเพื่อการศึกษา ส่งไปที่เครือข่ายฯ 3.4 เงิน 30% เรียกว่า กองทุนธุรกิจชุมชน เก็บไว้ที่กลุ่ม กลุ่มจะต้องนำไปลงทุนเพื่อก่อดอกออกผล 3.5 เงิน 20% เรียกว่า กองทุนกลาง ส่งไปที่เครือข่ายฯ เพื่อใช้เป็นกองทุนสำรองเมื่อเวลาที่กลุ่มใดมีเงินในส่วนของกองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิตไม่พอที่จะจ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิกก้สามารถมายืมเงินในกองทุนนี้ออกไปได้ อนึ่ง ในส่วนของกองทุนกลาง 20% นี้ เมื่อส่งไปที่เครือข่ายฯยังนำเงินจำนวนนี้มาคิดเป็น 100% แล้วแบ่งเป็นกองทุนย่อยอีก 4 กองทุน คือ 3.5.1 เงิน 30% เรียกว่า กองทุนธุรกิจชุมชน 3.5.2 เงิน 30% เรียกว่า กองทุนสำรอง 3.5.3 เงิน 30% เรียกว่า กองทุนหมุนเวียน 3.5.4 เงิน 10% เรียกว่า กองทุนค้ำประกันความเสี่ยง จะเห็นได้ว่า โครงสร้างการบริหารจัดการของเครือข่ายฯค่อนข้างจะซับซ้อน ยุ่งยาก ซึ่งจะมีอุปสรรคอย่างมากถ้าจะมีชาวบ้านคนอื่นๆมาสานต่อ ชาวบ้านรับไม่ได้ มันปวดหัว แบบใหม่ 1.ค่าธรรมเนียมแรกเข้า เก็บจากสมาชิกใหม่คนละ 50 บาท มีชื่อว่ากองทุนทดแทน (เก็บไว้ที่กลุ่ม) นำเงินในส่วนนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าตอบแทนคนทำงาน 2.สวัสดิการคนทำงาน เก็บจากสมาชิกคนละ 50 บาท/ปี (เก็บไว้ที่กลุ่มทั้งหมด) มีชื่อว่า กองทุนสวัสดิการคนทำงาน เงินในส่วนนี้คณะกรรมการแต่ละกลุ่มจะต้องนำไปลงทุนเพื่อให้ก่อดอกออกผล 3.เงินออมประจำเดือน เก็บจากสมาชิกวันละ 1 บาท มีชื่อว่า กองทุนสวัสดิการชุมชน ในแต่ละเดือนเงินจำนวนนี้จะถูกแบ่งออกมาเป็นส่วนต่างๆอีก คือ 3.1 เงิน 50% เรียกว่า กองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิต นำมาจัดสวัสดิการ เกิด เจ็บ ตาย (เก็บไว้ที่กลุ่ม) 3.2 เงิน 5% เรียกว่า กองทุนชราภาพ เพื่อเก็บเอาไว้จ่ายสวัสดิการชราภาพ (เก็บไว้ที่กลุ่ม) ตอนนี้อยากทำกองทุนนี้ร่วมกับ อปท. 3.3 เงิน 5% เรียกว่า กองทุนเพื่อการศึกษา นำไปให้สมาชิกที่อยู่ในวัยเรียนได้กู้ยืม คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาทต่อปี ต้องส่งคืนทุกเดือน (เก็บไว้ที่กลุ่ม) โดยระดับประถมศึกษาให้กู้คนละไม่เกิน 2,000 บาท/ปี ส่วนมัธยมศึกษาให้กู้คนละไม่เกิน 3,000 บาท/ปี 3.4 เงิน 30% เรียกว่า กองทุนธุรกิจชุมชน กลุ่มจะต้องนำไปลงทุนเพื่อก่อดอกออกผล (เก็บไว้ที่กลุ่ม) 3.5 เงิน 10% เรียกว่า กองทุนกลาง เพื่อใช้เป็นกองทุนสำรองเมื่อเวลาที่กลุ่มใดมีเงินในส่วนของกองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิตไม่พอที่จะจ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิกก็สามารถมายืมเงินในกองทุนนี้ออกไปได้ มีเงินคืนเมื่อไหร่ก็เอามาคืน ไม่คิดว่าเป็นเงินกู้ เงินในส่วนนี้กลุ่มทางโซนใต้ต้องส่งมาไว้ที่กองกลาง โดยมีคณะกรรมการแต่ละกลุ่มมาร่วมดูแล อนึ่ง ในปัจจุบันมีกองทุนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กองทุน คือ “กองทุนบุญ” คิดเป็น 1% ของเงินออมทั้งหมด ตั้งขึ้นมาเพื่อเอานำเงินในส่วนนี้ไปทำบุญ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ จะตัดออกมาจากเงินในกองทุนไหนก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละกลุ่ม จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการแบบเก่า พวกเราจึงได้คิดวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่ขึ้นมา แล้วลองทำดูว่าจะดีกว่าเดิมไหม ซึ่งตั้งแต่ทำมาเป็นเวลา 7 เดือนมาแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร คุณกู้กิจ กล่าเพิ่มเติมว่า แผนที่ภาคสวรรค์ที่ทางเครือข่ายฯไปเสนอให้ภายนอกรับทราบ เป็นภาพที่สวยงาม แต่เมื่อทำจริงๆแล้วจะเห็นว่ามันทำไม่ได้ มีปัญหาต่างๆตามมามากมาย กลุ่มทางโซนใต้ก็ขยายสมาชิกไปเรื่อยๆ ปัญหาก็เกิดมากขึ้น ความจริงแล้วเมื่อเกิดปัญหา เครือข่ายฯต้องปรับ ไม่ใช่ดันทุรังทำไปเรื่อยๆ พี่ใหญ่ (กลุ่มดอนไชย) ซึ่งมีสมาชิกมากที่สุดและเป็นกลุ่มแรกในโซนใต้ที่ตั้ง “กองทุนสวัสดิการชุมชน” ขึ้นมา ได้เล่าจบไปแล้ว ต่อไปจะเป็นการเล่าของกลุ่มใดต้องติดตามในวันต่อไปค่ะ
หมายเลขบันทึก: 40689เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท