ชีวิตอินเทอร์น:มหกรรมความรู้ปฏิบัติ


หัวใจความรู้ในแบบของ KM

" มหกรรม KM ราชการไทย ก้าวไกลสู่ LO " ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ศกนี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ไม่เพียงแต่เป็นการมาพบกันของคนในภาคราชการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลปรร.ระหว่างหน่วยงานเท่านั้น  คนในสคส.เองก็มีงานนี้เป็นแบบฝึกของความรู้ปฏิบัติของทุกหน้างานที่แต่ละคนรับผิดชอบอยู่เช่นกัน ดิฉันรับหน้าที่เป็นคุณลิขิต ประจำห้อง B - ห้องกระบวนการเรียนรู้  ที่มีอ้อเป็นพิธีกรประจำห้อง และมีจ๋าเป็นผู้ประสานงาน  ก่อนที่จะถึงวันงานดิฉันป่วยเป็นไข้หวัดจนต้องหยุดงานไป ๑ วัน  จ๋าเองก็เริ่มป่วย จนอ้อเริ่มหวั่นๆว่าห้อง B จะเป็นอย่างไร แต่เมื่อถึงวันจริงทุกอย่างเป็นไปด้วยดี วิทยากรจากหน่วยงานที่เชิญท่านมาในฐานะ Best  Practice ได้มาเล่าเรื่องเล่าเร้าพลังที่เกิดขึ้นที่กรมชลประทาน  กรมอนามัย และสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานอย่างลื่นไหล จนคุณลิขิตประจำห้องบันทึกแทบไม่ทัน พิธีกรแทบไม่ต้องถามนำ เพราะทุกท่านเป็นมืออาชีพจริงๆ  ประสบการณ์จากคุณกิจที่อยู่กันต่างบริบทยิ่งทำให้ได้เห็นกลยุทธ์ ตลอดจนถึงวิธีการทำคลังความรู้ที่หลากหลาย ทั้งแบบที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเลยแม้แต่น้อย การได้มานั่งเป็นคุณลิขิตอยู่ในห้องนี้ทำให้ดิฉันได้รับประโยชน์จากการเข้าฟังอย่างเต็มที่ เพราะมีตัวอย่างของกระบวนการที่หลากหลายให้เลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับธรรมชาติของบุคลากร และหน้างานของโรงเรียนที่มีีลักษณะเฉพาะที่ค่อนข้างแตกต่าง ทำให้ไม่สามารถจัดการกับความรู้ที่เกิดขึ้นในหน้างานที่มีอยู่อย่างหลากหลายด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้หลายวิธีประกอบกัน  ซึ่งตัวอย่างที่ได้ยินได้ฟังมานี้ก็ล้วนแล้วแต่น่าทดลองนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับงานในแต่ละส่วนอยู่ไม่น้อย

 

 สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน คือหน่วยงานที่มาเปิดเวที และเปิดความคิดของดิฉันว่าการจัดการความรู้ในองค์กร ควรต้องมีฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลเข้ามาเอี่ยวอยู่ด้วย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีเรื่องของการบริหารจัดการคน และความรู้ที่มีอยู่ในคน คงหนีไม่พ้นที่ฝ่ายบุคคลต้องเข้ามามีส่วนรู้เห็น แต่การจัดการที่เกิดขึ้นในบริบทของการจัดการความรู้นี้จะต้องเกิดขึ้นจากการลปรร. และการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ที่เป็นเจ้าของความรู้นั้นด้วย  ยกตัวอย่างเช่น บรรยากาศที่เกิดขึ้นในช่วง กิจกรรม KM สัมพันธ์ ที่จัดให้มีขึ้นทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ ๒ และ ๔ ของเดือน ในลักษณะของการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการตามหัวเรื่องที่มีผู้สนใจเสนอเข้ามา เช่น การหาวิทยากรที่เป็นบุคคลในหน่วยงานที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานให้บรรลุผลตามตัวชี้วัด  มาเล่าให้ฟังถึงเคล็ดลับความสำเร็จ ปัจจัยที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ ฯลฯ เพื่อให้ผู้ที่มาเข้าฟังได้ลปรร. ในบรรยากาศสบายๆ และไม่เป็นทางการ  มีการนำปัญหาในงานมาช่วยกันหาวิธีแก้ไข มาแบ่งปันประสบการณ์กันอย่างไม่หวงวิชา ภายใต้คาถา "ไม่เป็นไร ทุกอย่างแก้ไขได้ใน KM สัมพันธ์" ที่ช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้ และคนที่มีปัญหากับงานก็ได้วิธีการกลับไป ขุมความรู้มากมายก็ได้รับการบันทึกไว้ ตรงไหนที่ยังไม่สะท้อนถึงวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนก็มีคุณอำนวยเข้ามาช่วยซักถาม หรือคุณกิจคนอื่นๆจะถามเพิ่มเติมก็ได้ ทุกคนจึงเกิดสุขจากการได้มาพบกัน ได้แบ่งปันเรื่องที่ตนรู้สู่ผู้อื่น ได้รู้ในเรื่องที่อยากรู้  เกิดการเรียนรู้กันทั้งหมู่คณะ


 สป.แรงงาน ใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือหลักตัวหนึ่งในการทำ KM  ร่วมกับการใช้มัลติมีเดีย เช่น การบันทึกความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ในเรื่องต่างๆจากบุคลากรที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว เป็นต้นว่าความรู้เพื่อปฎิบัติงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ทางยุทธศาสตร์  ความรู้ด้านพัฒนาสมรรถนะศักยภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเป็นความรู้ตาม matrix ที่กำหนดไว้ เทคนิคหนึ่งที่ทางคณะทำงานใช้ดึงดูดความสนใจของของผู้คนคือการนำเอาตัวการ์ตูนมาเป็นสื่อกระตุ้น ดังนั้นจึงมีการใช้การ์ตูนรูปนกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของทีมงานในการนำเสนอความรู้เรื่อง KM ไปด้วยในตัว จนเป็นที่คุ้นตากันทั่วไป 

 

 กรมอนามัย เริ่มต้นทำ KM ด้วยการปิดตำรา และลงมือทำแบบ learning by confusing หลังจากที่ได้ไปเห็นตัวอย่างการจัดตลาดนัดความรู้ที่โรงพยาบาลบ้านตาก ก็รู้แล้วว่างานจัดการความรู้นี้ทำคนเดียวไม่ได้ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานจากองค์ประกอบของความสามารถที่หลากหลาย จากนั้นก็ส่งชุดความรู้ในรูปของหนังสือ และ CD ให้หน่วยงานต่างๆไปศึกษา เพื่อหาสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ความสำเร็จในหน่วยงานของตนมาลปรร.กัน เมื่อถึงวันที่นัดหมาย เมื่อทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันจากการลงมือปฏิบัติแล้ว ทางกลุ่มงาน KM ก็ได้มอบโจทย์ให้แต่ละกรมกลับไปปรับแผนให้เป็น KM  และกลับมาพบกันอีกครั้งในอีก ๑ เดือนข้างหน้า  การทำ KM ได้ดำเนินต่อมาจนถึงขั้นที่ว่าทุกกรมรู้ว่าขณะนี้ตนอยู่ในจุดใด และต้องการก้าวหน้าไปที่ไหน ด้วยเป้าหมายที่กำหนดเองขึ้นโดยใช้ตารางแห่งอิสรภาพ และแผนภูมิแม่น้ำ เป็นเครื่องมือ  ต่อมาเมื่อเปิดรับสมัครหน่วยงานต้นแบบที่จะทำ KM  โดยมีกลุ่มงานกลาง (KM team) เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงดูแลใกล้ชิดเพื่อเรียนรู้เรื่อง KM ไปพร้อมกันก็มีหน่วยงานที่สมัครเข้ามาถึง ๗ หน่วยงานด้วยกัน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งเอาไว้เพียง ๒ หน่วยงานไปมาก และกลุ่มก็กระจายกันไปในทุกส่วนงาน ทั้งที่เป็นกองคลัง  กองแผนงาน  กองวิชาการ  และศูนย์อนามัยที่ทำงานกับชุมชน ครบทุกลักษณะงาน


 แฟ้มภูมิปัญญา เป็นแฟ้มบันทึกการสกัดความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นของผู้บันทึกที่เป็นสมาชิกของกองแผนงาน ทั้ง ๓๐ คน  ทั้งในส่วนที่เป็นบันทึกผลความรู้ และข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากหัวหน้ากล่มงาน/หัวหน้าฝ่าย และเพื่อนร่วมงาน  เริ่มจากการที่หัวหน้ากองเขียนบันทึกทุกวันก่อน เมื่อมีคนอ่าน มีคนเขียน ก็เกิดบรรยากาศของการลปรร.ภายในกอง 
      ในเว็บไซต์ของกรมเองก็เปิดพื้นที่ให้มี K- Center ที่เป็นที่รวบรวม ประมวลความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความรู้ของกรมทั้ง ๒๖ หน่วยงาน และเพื่อส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์การลปรร.ของคนในกรมอนามัย
ต่อมาได้เปิดพื้นที่ของลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรมอนามัยขึ้น โดยการเข้าไปใช้พื้นที่ของ Gotoknow ข้อมูลที่อยู่ในนั้นก็เป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปเข้าร่วมลปรร.ในที่ต่างๆ ทั้งในส่วนความรู้ที่ได้รับ และการนำไปขยายผลต่อ  การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานต้นแบบ บันทึกหลังการลปรร. และอื่นๆ  แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณการเรียนรู้ที่ไหลเวียนอยู่ทั่วกรมอนามัย

 

 กรมชลประทาน เป็นกรมใหญ่ที่มี ๓๔ สำนักกอง ๗๖ สายงาน มีอายุยาวนานถึง ๑๐๔ ปี  เริ่มจากการเชิญผู้แทนมาอบรมความรู้เรื่อง KM แห่งละ ๒ คน วิธีการดำเนินงานของแต่ละสำนักก็แตกต่างกันไป  ด้วยความที่กรมนี้เป็นกรมใหญ่ มีองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานที่สั่งสมมายาวนาน ทางกรมจึงเริ่มต้นจากการรวบรวมองค์ความรู้ก่อนเป็นอันดับแรก เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า กรมชลประทานต้องการความรู้อะไร ตัวบุคลากรต้องการความรู้อะไร แต่ละฝ่ายก็ไปจัดทำข้อมูลมา จากนั้นได้มอบหมายให้ฝ่ายสารสนเทศจัดทำฐานข้อมูลที่จะสามารถรวบรวมแสดงผลทางอินทราเน็ตได้ ข้อมูลมากมายมหาศาลเหล่านี้รวมอยู่ใน K-file


 K- file เป็นโปรแกรมที่ทางกรมชลประทานสร้างขึ้นมาเองเพื่อเก็บข้อมูลความรู้ตามบัญชีบ่งชี้ความรู้ที่กำหนดขึ้น  ระบุให้ทราบว่าข้อมูลนี้อยู่ที่ใคร  เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องนั้นๆในระดับใดใน ๔ ระดับ ได้แก่ รู้ / รู้แล้วใช้งานได้ / รู้แล้วถ่ายทอดได้ / ให้คำแนะนำได้อย่างชัดเจน  ซึ่งข้อมูลในแผนที่ความรู้นี้เป็นข้อมูลที่เกิดจากการประเมินตนเอง ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลคือผู้ที่กรอกข้อมูลเอง และมีการกลั่นกรองความถูกต้องอีกครั้งโดยหน่วยงานต้นสังกัด การค้นหาข้อมูลทำได้ทั้งจากการการหาชื่อความรู้  จากหมวดความรู้  จากคำสำคัญ  จากการสืบค้นความรู้รายบุคคล นอกจากนี้ยังมีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ในแต่ละด้านแสดงไว้ที่เว็บบอร์ด ให้ผู้ที่สนใจสอบถาม ขอคำแนะนำ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความรู้กันได้
 Learning corner เป็นมุมเรียนรู้ที่ประจำอยู่ที่แต่ละสำนักกอง เพื่อเก็บรวบรวมเอกสารที่เป็น explicit knowledge ของหน่วยงานนั้นๆเอาไว้ให้ผู้สนใจเข้าไปค้นหา ซึ่งจะมีรูปแบบของมุมค้นคว้าที่แตกต่างกันไป

 

 การลปรร.ของกลุ่มผู้ปฏิบัติในครั้งนี้ แสดงให้เห็นหัวใจความรู้ในแบบของ KM ว่าอยู่ที่ความรู้ปฏิบัติ  หน้าที่ของคุณลิขิตคือการบันทึกเรื่องเล่าและดึงเอาขุมความรู้ที่ซ่อนอยู่ในการปฏิบัตินั้นออกมา จากนั้นก็สกัดเป็นแก่นความรู้ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางต่างๆได้อีกมากมาย  งานของคุณลิขิตจึงเป็นงานเล็กๆที่ต้องอาศัยความประณีตในการดึงความรู้ปฏิบัติจากผู้เล่า คือคุณกิจออกมาอย่างไม่ตกหล่น สำหรับเป็นฐานให้ทุกคนนำไปใช้ต่อ ซึ่งในตอนช่วงท้ายของการสัมมนา อาจารย์ประพนธ์ได้กล่าวถึงพร้อมทั้งยกตัวอย่างให้เห็นว่าในความรู้ฝังลึกที่ได้มาจากเรื่องเล่า เป็นส่วนที่มีทั้ง fact และ feeling ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจในงาน และความคิดความเชื่อในการทำงานของเขา การมองเรื่องเล่าเร้าพลังอย่างลึกซึ้งจึงช่วยให้เราได้รับคำแนะนำที่มีคุณค่า ที่สามารถเข้าไปสั่นไหวหัวใจของผู้ฟัง หรือผู้อ่านให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการกระทำขึ้นได้ จึงนับได้ว่าเรื่องเล่าเร้าพลังเป็นกระบวนการที่ทรงพลังอย่างยิ่ง และดิฉันก็ได้รู้ว่าการรักษาอรรถรสของเรื่องเล่าเอาไว้อย่างครบถ้วนก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่งเช่นกัน

 

 ในช่วงกล่าวปิดงานอาจารย์วิจารณ์ได้กล่าวว่าการจัดการความรู้ เน้นความรู้เล็กๆ  เป็นความรู้ปฏิบัติที่อยู่ในความสำเร็จของหน้างานเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใหญ่ขององค์กร  การจัดการความรู้ต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์  เอาความสำเร็จที่หัวหน้าต้องการมาลปรร.กัน ด้วยเรื่องเล่าเร้าพลัง และฟังกันด้วย deep listening รับฟังกันด้วยความชื่นชม  สร้างบรรยากาศของการยกย่องให้คนที่เล่าพูดได้ลึกขึ้น ด้วยการฟังจากใจถึงใจ กระตุ้นออกมาให้ได้ขุมความรู้... ในเรื่องเล่ามีความรู้ complex knowledge ออกมาเป็นร้อยเป็นพัน เป็นความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ต้องปรับให้เข้ากับกาลเทศะ มนุษย์ทุกคนบ้ายอ ถ้าเล่าแล้วเพื่อนชื่นชม เราจะไม่อยากเล่าได้อย่างไร... การจัดการความรู้เป็นการเอาความสำเร็จมาเคลื่อนต่อ อย่าเริ่มจากการเอาปัญหามาแก้ การเรียนรู้ที่จะจัดการความรู้จึงต้องเริ่มต้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างคน (เพราะกจค.)ไม่ใช่ระนาบที่ผิวเผินเชิงวัตถุตื้นๆ  แต่ลึกที่สุดลงถึงจิตวิญญาณ คิดแบบไม่คิด ผ่อนคลาย สบาย เป็นอิสระ  เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างความเป็นมนุษย์ต่อความเป็นมนุษย์ที่มีสัมพันธ์ต่อกันที่ดี


 
 
 
  
 
 
 

หมายเลขบันทึก: 40660เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับอาจารย์วิมลศรี  .....

การปฏิสัมพันธ์เพื่อบ่งชี้ถึง " คลังแห่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ขอให้ " พลัง " นี้เคลื่อนที่ไปสู่สถาบันการศึกษาให้เร็ว ๆ นะครับ

งานนี้ครูใฟม่ทำหน้าที่คุณลิขิตอย่างครบถ้วน ไม่หลุดรอดแม้แค่ประเด็นเดียว เพราะผมเข้าห้อง B Process ตลอด เสียดายที่เวลาจำกัด ผู้ฟังจึงไม่ได้ถามให้จุใจพบกันอีก 1-2 ธ.ค.

  • เห็นภาพชัดเจนครับ
  • เยี่ยมมากครับ
  • ขอบพระคุณครับ

                                      

                              

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท