องค์กรยุค Postmodern <2>


ทุกครั้งที่การประชุมสนุกเป็นเพราะอะไร

     

              ก่อนจะต่อเรื่ององค์กรยุคPostmodern  อยากเขียนเรื่องการประชุมที่สคส.ก่อน  ในชีวิตการทำงานเราส่วนใหญ่ต้อง "ประชุม" กันอยู่เป็นประจำ  บางประชุมก็สนุกบ้างก็น่าเบื่อ  เคยตั้งข้อสังเกตกับตัวเองทุกครั้งที่สนุกว่ามันเป็นเพราะอะไร  ก็มักจะได้คำตอบว่า  เราจะสนุกทุกครั้งเมื่อได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากการประชุมนั้น  อะไรก็ได้ ทั้งเรื่องงาน เรื่องคน  เรื่องโลก เรื่องชีวิตจิตใจ  บางครั้งแค่ได้เห็นว่าเพื่อนร่วมงานแสดงศักยภาพ แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายก็เป็นสุขแล้ว

               วงประชุมweekly ทุกวันพุธช่วงเช้าถึงเที่ยงที่สคส.มีอยู่ประมาณ 10 กว่าคน พูดคุยกันทุกเรื่อง งานทุกงานจะถูกนำมาเล่าสู่กันฟัง  (ไม่ใช่มารายงาน) การได้นั่งฟังเรื่องของคนอื่นทำให้เราได้เรียนรู้หลายเรื่อง  ทั้งได้ฟังเรื่องราวที่หลากหลาย   และได้เห็นวิธีคิดวิธีทำงาน  วิธีสร้างสรรค์และแก้ปัญหาที่แตกต่างจากตัวเอง  แถมได้มีโอกาสร่วมเสนอความเห็นของเราต่อเรื่องนั้นๆ ด้วย

                คิดว่าการที่วงประชุมจะมีชีวิตชีวาและสนุกได้  ทุกคนต้องมั่นใจเต็มร้อยว่า  พูดอะไรก็ได้(ที่สร้างสรรค์)  ไม่มีผิดถูก  และวงประชุมพร้อมเปิดใจฟังกันและกัน  ตรงนี้แหละที่มันยากเพราะเป็นกระบวนการจากใจถึงใจ  ถ้าไม่ไว้ใจกันซะแล้ว  ก็จะมักจะไปตกหลุม "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" อย่างผิดๆ

                ผู้ดำเนินการประชุมที่สคส. คือ อ.วิจารณ์ ท่านมีเทคนิคที่น่าสนใจหลายอย่าง  ว่าเป็นข้อๆได้ดังนี้

                ๑ เทคนิค "ดำเนิน"การประชุมไม่ใช่ "นำ"การประชุม  มันต่างกันตรงที่ "ความรู้สึก" เราไม่รู้สึกว่ามีทิศทางข้อสรุปที่ถูกตั้งไว้แล้ว  แต่เรื่องราวจะสรุปจากวงอย่างแท้จริง

                ๒ ความคิดเห็นที่หลากหลายได้รับการสานต่อ   ความคิดไม่ด้วน  ไม่หยุดอยู่กับที่    มีหนทางที่จะคิดต่อทำต่อไปได้อีก 

                ๓ มักมีประเด็นที่ทุกคนในที่ประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นของตัวเอง  ประเด็นที่ว่านี้ไม่มีลักษณะน่าหวาดกลัว  เพราะไม่ต้องใช้ภูมิความรู้อะไร  เป็นเรื่องความคิดเห็นจริงๆ

                ๔ มีการจับถูกจับดีแล้วตีความเข้ากับปริบทของงานอยู่ตลอด

                ๕ มักตั้งคำถามที่จุดประกายความคิดเพิ่มชีวิตชีวาให้กับวง

                ๖ ไม่มี "อาการ" หรือ "ท่าที" ที่ทำให้ใจคอเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

                ๗ กระตุ้นบรรยากาศเท่าเทียมและส่งเสริมให้ทุกคนได้มีโอกาสพูด  

                ๘ มักแสดงความเห็นประกอบเรื่องเล่าทำให้เข้าใจเรื่องราวความคิดได้ดีและได้ลึกขึ้น

                 เทคนิคเหล่านี้เคยอ่านเคยเห็นในหนังสือมาบ้าง  แต่ไม่สู้มาเห็นมานั่งอยู่ในวงด้วยจริงๆ   ทบทวนไปมาดูแล้วหลายข้อก็คือ  ลักษณะขององค์กรPostmodern ที่อ่านและตีความนั่นเอง 

                    

               

       

                 

หมายเลขบันทึก: 40658เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท