เตรียมจัดตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จังหวัดปัตตานี


ใช้ Gap analysis ในการดูแลผู้ป่วย

ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ กรกฏาคม ๒๕๔๙ นี้ ดิฉันและทีมงานเครือข่ายจะเดินทางลงใต้ไปจัดตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ของจังหวัดปัตตานี ณ ห้องประชุม โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท จังหวัดสงขลา ทีมงานจะเดินทางไปตั้งแต่บ่ายวันที่ ๒๖ กรกฎาคม เพื่อจะได้ประเมินความพร้อมและเตรียมการสิ่งต่างๆ ล่วงหน้า งานนี้คุณธวัช หมัดเต๊ะ จาก สคส.ที่จะไปกับเราด้วย เกิดป่วยกะทันหัน เข้าใจว่าเกิด spontaneous pneumothorax จึงขอเว้นวรรคงานนี้ไปก่อน

ดิฉันขอนำเรื่องเล่าที่ทีมดูแลเบาหวานของจังหวัดปัตตานี มาลงให้ทราบกันก่อนล่วงหน้า

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน รพ.กะพ้อ

การดำเนินงานในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานอย่างจริงจัง   เริ่มจากการที่เราได้สังเกตเห็นว่าผู้ป่วยที่มาที่ห้องฉุกเฉิน และเสียชีวิต ส่วนหนึ่งมี underlying DM และทั้งหมดมีประวัติขาดยามานาน และในผู้ป่วย  diabetic foot ที่ต้อง amputate หรือต้อง debridement และอยู่รักษาที่โรงพยาบาลนานส่วนใหญ่มีประวัติขาดยา หรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงได้มาคุยกันในทีม PCT (Patient Care Team ) ซึ่งตั้งขึ้นมาเนื่องจากทางโรงพยาบาลกำลังพัฒนาโรงพยาบาลตามมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) ทางทีมได้มองถึงการดูแลผู้ป่วยให้เป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่ ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษาและระบบการติดตาม ก็ได้ข้อสรุปว่าจะใช้ Gap analysis ในการดูแลผู้ป่วย และการใช้กลไกการประชุมทีม PCT ที่เป็นสหวิชาชีพ มาช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ เป็นระยะๆ ตลอดจนหาวิธีแก้ไขร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญและที่สำคัญมากก็คือ ความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ

ระหว่างดำเนินงาน มีปัญหาต่างๆที่เป็นปัญหาเดิมๆก็คือ ผู้ป่วยมักจะขาดยา ไม่มาตามนัด ขาดความรู้ ไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลตนเอง เป็นปัญหาเดิมๆ ที่เรารู้มานาน และรู้ว่าเป็นปัญหาที่แก้ยาก และผมก็มองว่าเป็นปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคน เพราะคนเราแต่ละคนย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกัน ทางทีมงานได้มองปัญหาเชิงระบบ พยายามเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การจัดการเชิงระบบ (Systems approach)

จากการทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลมีมาตรฐานมากขึ้น เช่น ข้อมูลภาวะแทรกซ้อนของโรค ในผู้ป่วยโรคเบาหวานในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลทั้งหมด 33 ราย  พบภาวะ Renal insufficiency 5 ราย,Hypertriglyceridemia  6 ราย ,Hyperlipidemia 2  ราย ,IHD  1  ราย , Cataract 3 ราย และDiabetic Retinopathy 1 ราย  ทำให้ทีมดูแลผู้ป่วยนอกสามารถวางแผนการดูแลรักษา เช่น การให้สุขศึกษาเรื่องโภชนาการ  และแพทย์สามารถรักษาภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้ทันท่วงที  โดยเฉพาะภาวะ Diabetic Retinopathy  ซึ่งเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเอง  ทำให้ทีมยิ่งตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำ  GAP  ANALYSIS ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานมากขึ้น จึงขยายผลไปถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานนอกเขตโรงพยาบาล 

สำหรับปัญหาผู้ป่วยไม่มาตามนัดได้พยายามหาสาเหตุและหาวิธีแก้ เช่นนำระบบ Mapping มาใช้ติดตามและนัดผู้ป่วยเป็น Zoning หรือกรณีลืมวันนัดและทำบัตรนัดหาย  เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ป่วยไม่สามารถมาตามนัด ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว  โดยนำสติ๊กเกอร์วันนัด  นำมาติดที่ซองยาของผู้ป่วย  เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นวันนัดได้ชัดเจนทุกครั้งที่รับประทานยา  ทำให้ผู้ป่วยไม่ลืมวันนัดแพทย์

จากข้างต้นความสำคัญในปัจจัยต่างๆ ล้วนส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งสิ้น ปัญหาต่างๆ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ การแก้ปัญหาก็ขึ้นกับบริบทของโรงพยาบาลนั้นๆ

ผู้เล่าเรื่อง : นพ.เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการ รพ.กะพ้อ

หมายเลขบันทึก: 40634เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท