ชีวิตที่พอเพียง : 72. ปลดชนวนระเบิด ๙ ลูก


        พอคนรู้ว่าผมจะมาเป็นคณบดี     ก็ชักชวนกันมาหา      มาบอกว่ามีปัญหาอะไรบ้าง     ส่วนใหญ่เป็นข่าวเล่าลือเรื่องการซื้อครุภัณฑ์ที่มีความไม่ชอบมาพากล และเรื่องความขัดแย้งระหว่างคน     มีคนหลายกลุ่มมาบอกว่ามี "ระเบิด" (หมายถึงปัญหา) ๙ ลูกรอให้ผมถอดชนวน    

         ก่อนที่ผมจะได้รับแต่งตั้ง มีคนบางคนหาทางขัดขวางสุดฤทธิ์      มีคนมาบอกว่าปัญหาจะอยู่ที่ท่านผู้นี้ เพราะมีชนักติดหลังเรื่องการซื้อครุภัณฑ์ ที่คนเข้าใจว่าท่านผู้นั้นได้รับผลประโยชน์     พอรู้แน่ว่าผมได้รับแต่งตั้ง มีคนมาบอกว่าท่านผู้นี้กังวลใจมาก     เพราะเขารู้ว่าผมเป็นคนเอาจริง และไม่กลัวใคร  

        ผมมาคิดดูว่างานสร้างระบบ ๕ - ๖ ระบบใหญ่ๆ  โดยเฉพาะระบบสร้างคนและสร้างทีมงาน จะต้องการเวลาและความทุ่มเทสูงมาก     หากจะไปรบกับท่านผู้นี้ก็จะเสียเวลา เสียแรงที่จะทุ่มเททำงานเชิงบวก     ผมจึงไปหาท่านผู้นั้นและบอกท่านผู้นั้นว่า     ผมมาทำความตกลงแบบลูกผู้ชาย     ข้อที่ผมเสนอคือผมจะไม่รื้อเรื่องเก่า     แต่ต่อจากนี้ไปท่านผู้นั้นจะต้องทำตามระบบที่ผมจะกำหนดขึ้น     เพื่อให้การทำงานมีระบบ และตรวจสอบได้     ก่อนหน้านั้นท่านผู้นั้นคงจะกังวลใจไม่น้อยจริงๆ     เมื่อได้ฟังผมพูดเช่นนั้นก็ยิ้มออก และยกมือไหว้ขอบคุณ      ผมหมดปัญหาจากมุมนี้ในทันที    

        ผมไม่เล่าเพิ่มเพราะไม่อยากให้คนรู้ว่าท่านผู้นี้คือใคร      ผมไม่นิยมพูดด้านไม่ดีของคนอื่น     ที่เล่าเหตุการณ์นี้เพื่อจะบอกว่า     เวลาที่หน่วยงานระส่ำระสาย ผู้คนมักจะเล่าลือเรื่องปัญหามากและรุนแรงเกินจริง    รวมทั้งจะชวนกันมองโลกหรือสถานการณ์ในแง่ร้ายเกินจริง     เราต้องตั้งสติมั่นและหาทางแก้ไขในเชิงบวกให้มากที่สุด

       ในความเป็นจริง   ไม่มีปัญหาที่ใหญ่และมีลักษณะทำลายขนาดที่เป็นลูกระเบิด    ค่อยๆ ทำความเข้าใจ โดยใช้ความซื่อสัตย์ ยุติธรรม ปรึกษาหารือ  ตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน     ก็แก้ปัญหาได้    สรุปว่าผมไม่พบระเบิด ๙ ลูกนั้น    พบแต่โอกาสทำงานสร้างสรรค์

        ที่จริงปัญหาคือโอกาส     ผมยึดถือแนวคิดนี้ตามที่ได้รับการสั่งสอนจาก ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้วซึ่งตอนนั้นเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์      ปัญหาที่คนเล่าลือช่วยให้ผมเปลี่ยนแปลงระบบ     และจัดระบบให้รัดกุมขึ้นได้โดยได้รับความร่วมมือสูง     ผมภูมิใจที่ได้จัดระบบ การเงิน  ระบบพัสดุ  และระบบพัฒนาบุคลากร ให้มีความคล่องตัว รัดกุม  และเปิดโอกาสให้สมาชิกขององค์กรได้เรียนรู้และสร้างสรรค์เพื่อองค์กรและเพื่อตนเอง    ระบบที่รัดกุมนี้ทำให้เราจับทุจริตได้และขจัดคนโกงได้ในเวลาต่อมา

วิจารณ์ พานิช
๗ กค. ๔๙       

หมายเลขบันทึก: 40618เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
นับถือผู้กล้าค่ะ ได้ตัวอย่างดีๆ มาไว้ใช้อีก เพราะตัวเองต้องแก้ไขความขี้ขลาดค่ะ

ข้อเขียนของท่านช่วงที่เล่าสมัยทำงานเป็นคณบดีนั้น สร้างพลังใจแก่ตัวดิฉันมากเลยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

 

 

ปัญหาคือ โอกาสก้อจริงนะคะ แต่ในสังคมพวกมากลากไป คนแก้ไขปัญหามักถูกรุมกระทืบมากกว่า หากพรรษาไม่แก่กล้าพอ

ปัญหาคือ โอกาสก้อจริงนะคะ แต่ในสังคมพวกมากลากไป คนแก้ไขปัญหามักถูกรุมกระทืบมากกว่า หากพรรษาไม่แก่กล้าพอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท