Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

การประกันคุณภาพการศึกษากับความวุ่นวายของบ้านเมือง


การประกันคุณภาพการศึกษากับความวุ่นวายของบ้านเมือง
การประกันคุณภาพการศึกษากับความวุ่นวายของบ้านเมือง (ต่อ)                                                                                                                        พิชัย  สุขวุ่น   ในคราวที่แล้วได้ชี้ให้เห็นว่าความวุ่นวายของบ้านเมืองเกิดจากการแย่งชิงอะไรบางอย่าง  จนเกิดการขัดแย้งทางการเมือง  และการเมืองก็ส่งผลต่อความสงบในมิติอื่นๆด้วย  ความขัดแย้งของสังคมจึงเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของระบบประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งระบบการศึกษาควรประกันได้ว่า  การจัดการศึกษาจะไม่เติมเชื้อแห่งการแย่งชิงและความขัดแย้งอย่างไม่สิ้นสุด  เพื่อพิจารณาเกณฑ์ในการชี้วัด  การรับรองมาตรฐานแล้ว  ยังไม่เห็นคำตอบว่าการศึกษา   จะลดการแย่งชิงและความขัดแย้งทางสังคมได้   ดังนั้นจึงมุ่งความสงสัยไปที่วิธีคิดของผู้ควบคุมมาตรฐานของการศึกษา  ควรพัฒนาเกณฑ์ให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาได้จริง  ไม่ใช่เป็นแต่เพียงธรรมเนียมปฏิบัติ  นอกจากนั้นได้เสนอความเห็นเบื้องต้นไปว่า การประกันคุณภาพการศึกษาต้องประกันได้ว่า  จัดการศึกษาแล้วทำให้เกิดความรู้แจ้ง ( รู้สิ่งสากลที่ไม่เปลี่ยนแปลง ) ไม่ว่าจะเรียนผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์   สังคม  สิ่งแวดล้อม  หรือศาสนา  ปรัชญา   ก็มีสิทธิเข้าถึงความรู้แจ้งได้  สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่ายังไม่มีความรู้ถึงที่สุด  ก็คือการแย่งชิงสิ่งบางอย่างจนปรากฏเป็นความขัดแย้ง ปะทะกันทุกมิติ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่ายังไม่รู้แจ้ง และเสนอต่อไปว่าต้องประกันให้ได้ว่า  เรากำลังให้การศึกษาชนิดรู้แจ้งกันจริงๆ  มิใช่รู้แต่เพียงจะเอาตัวรอดฝ่ายเดียว  โดยมีการสอนทั้งทฤษฏีและปฏิบัติ  และสามารถตรวจสอบผลของการปฏิบัติได้   ประเด็นสุดท้ายที่เสนอคือ  ผลของการประกันคุณภาพการศึกษาต้องสามารถป้องกันความแย่งชิงสิ่งบางอย่าง  และแก้ไขความขัดแย้งได้ตั้งแต่ระดับตัวเอง  ชุมชน และสังคม การกระทำเช่นนี้ถึงจะประกันคุณภาพของการศึกษาได้จนถึงที่สุด เพราะจะช่วยประกันคุณภาพชีวิตได้ด้วย  และประกันว่ามนุษย์จะไม่เอาเปรียบสิ่งอื่น   ทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเป็นการประกันคุณภาพที่ครอบคลุมทุกมิติ   ไม่ใช่ประกันแต่คุณภาพการศึกษาเท่านั้น ปัจจุบันเราอาจประกันแค่ขั้นพื้นฐาน คือ มีครูเพียงพอหรือไม่  มีอาคารเพียงพอหรือไม่  มีงานวิจัยได้ตีพิมพ์ระดับนานาชาติหรือไม่ แต่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตได้  องค์ความรู้ที่ค้นพบใหม่ล่าสุด     อาจเป็นภัยต่อสังคมอย่างถึงที่สุดก็เป็นได้  ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่มีความรู้ชนิดที่รู้แล้ว  ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นๆ ความรู้ที่เราเห็นว่าไม่อันตราย   เพราะเราเคยชินกับสิ่งนี้  พอใจในสิ่งนี้แล้ว  เราก็วนกลับมาแก้ปัญหาจากสิ่งที่เราสร้างขึ้น  เหมือนสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบึงจึงไม่เข้าใจว่าทะเลนั้นมีสภาพเช่นไร ในครั้งนี้  จะเสนอหลักในการประกันคุณภาพการศึกษาอีก 3  ประเด็นคือ 1) ลดความไม่รู้ และเพิ่มความรู้ที่เรียกว่ารู้จริง 2) แสดงให้เห็นว่าการสร้างหลักประกันคุณภาพคือการลดส่วนเกิน แล้วจะพบหลักประกันซึ่งเป็นกฎอยู่เดิม และ 3) กระบวนการประชาสัมพันธ์ต่อสังคมไม่ควรอ้างอิงระบบตลาด (ทุนนิยม) 1. ลดความไม่รู้และเพิ่มความรู้การเพิ่มความรู้แจ้ง  และลดความไม่รู้ การทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะมีผลพอกัน คือทำให้รู้จริงมากขึ้นซึ่งจะสอดคล้องกับข้อที่สอง  ที่จะแสดงให้เห็นว่าความรู้แจ้งมีอยู่แต่เดิมแล้ว  ในภาวะที่การศึกษาถูกพัฒนามากว่า 200 ปี นับตั้งแต่การศึกษาแยกออกจากคำสอนทางศาสนา  มหาวิทยาลัยดังๆของโลกก็ล้วนแยกออกจากศาสนจักรทั้งสิ้น   แม้แต่ทางตะวันออกก็เช่นเดียวกัน  ปัญหาของการศึกษาก็เริ่มก่อปัญหาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาและผลของการจัดการศึกษา ก็เป็นปัญหาสำหรับการพัฒนาตลอดมา   ในระยะหลังการศึกษากับทุนนิยมผนวกกันเหนียวแน่น การศึกษาจึงตกเป็นเครื่องมือของการทำกำไรชนิดหนึ่งของนายทุนไปอย่างสมบูรณ์ ส่วนลักษณะเฉพาะของทุนนิยมมันจะร้ายกาจเพียงใดไม่ต้องกล่าวถึงในที่นี้ แต่ถ้าเรามองความร้ายกาจเป็นโอกาสที่ได้ทบทวนผลเสียเหล่านั้น  ก็เกิดโอกาสในการกลับความคิดได้เช่นเดียวกัน เมื่อการศึกษาก้าวพ้นจากศาสนจักร ก็ได้เพิ่มพูนความไม่รู้เพิ่มขึ้น   ความไม่รู้นั้นปรากฏในรูปของการเอาเปรียบสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งระบบประกันคุณภาพในปัจจุบันก้าวไปไม่ถึงปัญหาของการศึกษา    ความรู้จึงมีสภาพเป็นกงจักรหาใช่ดอกบัวไม่  เพราะมันได้หล่อหลอมให้สังคม เราเป็นสังคมแห่งการแย่งชิง เอาเปรียบได้แม้กระทั้งตัวเอง (โดยไม่รู้ตัว)  สิ่งที่ระบบประกันคุณภาพการศึกษาต้องทำคือ  ลดการเพิ่มพูนของความรู้ชนิดนี้  และสิ่งต้องเพิ่มคือ       เพิ่มความรู้ด้านจริยธรรม   แล้วค่อยยกระดับไปสู่การเข้าใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต จริยธรรมทำให้ลดความเห็นแก่ตัวลงไปได้ ปัจจุบันเราใช้การเพิ่มกฏหมายหลาย ๆ ฉบับ เพื่อรักษากฏกติกาทางจริยธรรมเอาไว้ แต่การใช้กฏหมายมีข้อยุ่งยาก หลายประการ การออกกฏหมายมีทั้งแง่ดีและแง่ร้ายๆ ปะปนกันไป ดังนั้นหากมีกฎหมายเป็นจำนวนมาก   แสดงให้เห็นว่าจริยธรรมได้ลดลง จริยธรรมจึงเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตหากขาดจริยธรรมแล้ว ชีวิตส่วนตัวก็เอาไม่รอด การสร้างจริยธรรมนั้นประหยัดกว่า การสร้างระบบป้องกัน และควรสร้างหลักประกันโดยทำให้การจัดการศึกษาหลุดจากระบบทุนนิยม และเพิ่มจริยธรรมในทุกมิติของการจัดการศึกษา ด้วยลักษณะเช่นนี้จึงพอจะมองเห็นหนทางของการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้2. การลดส่วนเกินแล้วจะพบหลักประกันที่มีอยู่แต่เดิม                การเสนอแนวทางในข้อแรกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ส่วนข้อที่สอง เสนอว่า การประกันคุณภาพการศึกษานั้นมีอยู่แล้ว พร้อมกับการเรียนรู้ของมนุษย์ การเรียนรู้นี้ไม่ได้หมายถึงในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่ หมายถึง สิ่งมีชีวิตทุกสิ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเกิดการเรียนรู้ทั้งสิ้น เพิ่งมาตอนหลังที่เราเข้าใจเอาเองว่าความรู้ ต้องอยู่ในสถานศึกษา สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว และเอาชีวิตรอดเพราะธรรมชาติ หรือ สิ่งรอบตัวนั้นสอนให้ ใครมีความรู้เกินคนอื่น ๆ หน่อย   ก็โดยการรวบรวมจากธรรมชาตินั่นเอง  นักวิทยาศาสตร์ หรือ ศาสดา ก็เกิดขึ้นด้วยกระบวนการเช่นนี้ สิ่งที่เรียกว่า สิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติได้แสดงหลักประกันไว้แต่เดิมแล้ว ก็คือกฎของธรรมชาติ  ซึ่งเป็นหลักประกันว่าเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้   นักวิทยาศาสตร์นั้นอาศัยกฎนี้ในการประดิษฐ์วัตถุเพื่อความอยากรู้และประโยชน์ใช้สอย แต่ก็ไปไม่ไกล   เพราะวิทยาศาสตร์บางส่วนกลับมาแว้งกัดเจ้าของผู้คิดค้น      เลยต้องรื้นฟื้นจรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์อย่างเร่งด่วน นี่ก็เรียกว่าความรู้แบบไม่รู้อีกชนิดหนึ่ง ส่วนกฎของธรรมชาติที่เรียกว่า ความรู้สึก การรับรู้ หรือ สภาพจิต สิ่งนี้จะเป็นหลักประกันคุณภาพการศึกษาอย่างมั่นคงที่สุด เพราะสภาพจิตจะเป็นเครื่องมือในการบังคับการกระทำทั้งปวง และ สภาพจิตเดิมแท้ ที่จะไม่ถูกสร้างสรรค์ด้วยความต้องการแบบต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่สุด และ เป็นสภาพเดิมแท้  ก่อนที่มนุษย์จะมีจินตนาการ              การประกันหรือควบคุมสภาพจิตได้  คือหัวใจทั้งหมดของการประกันคุณภาพการศึกษา อย่างน้อยก็ประกันได้ว่าจะไม่มีความคิดที่จะเอาเปรียบหรือแย่งชิง     ด้วยอำนาจของความไม่รู้ ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าระบบการศึกษา  มีระบบป้องกันความไม่รู้ คือสภาพเดิม ที่ไม่มีความรู้สึกจะเอาเปรียบใคร  มนุษย์เพิ่งจะมีความรู้สึกที่จะต้องการสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาตอนหลัง เดิมทีทุกคนเป็นมีภูมิคุ้มกันอยู่เป็นพื้นฐาน การลดความต้องการที่เกิดขึ้นภายหลัง ก็หมายถึงลดสิ่งที่ทับถมอยู่ในระบบ                การประกันคุณภาพการศึกษา   หากกระทำเช่นเดียวกับการเพิ่มกฎหมายให้มากขึ้น เพื่อให้ สังคม  มีระเบียบวินัย เราก็จะเพิ่มมาตรฐานและตัวชี้วัดกันอย่างไม่จบสิ้น   หากคราวนี้มีมหาวิทยาลัยผ่านเกณฑ์เป็นจำนวนมากแต่สังคมและความขัดแย้งยังเพิ่มขึ้น คนยังมีความทุกข์เพิ่มขึ้น เราก็เพิ่มเกณฑ์ให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับกฎหมาย สุดท้ายก็ถึงทางตันไม่รู้จะเพิ่มให้สูงขนาดไหน นั่นแสดงว่าความรู้แบบไม่รู้แจ้งมันแก้ไขตัวมันเองไม่ได้ ความมืดนั้นใช้แก้ไขความมืดไม่ได้ผล   ถ้าหากจะสร้างเกณฑ์ก็ควรเป็นไปเพื่อลดสิ่งที่ทับถมอยู่ เพื่อเข้าใจสภาพเดิม มิใช่เพิ่มจนรุงรัง                ฉะนั้น ลองกลับด้านบ้าง แทนที่จะเน้นที่เครื่องมือระวังป้องกัน กลับมาเน้นที่ต้นตอของปัญหา คือความรู้สึกในตัวมนุษย์  สถาบันการศึกษาจึงต้องสอนความเป็นมนุษย์  ประกันความเป็นมนุษย์และรื้นถอน ความไม่รู้ที่ทับถมอยู่เป็นเวลานาน (ทุนนิยม) และให้เชื่อมั่นว่าใช้ความไม่รู้   แก้ไขความไม่รู้ไม่ได้ หลักประกันคุณภาพการศึกษา คือ การรู้ความจริงว่า   เพียงแต่หยุดความต้องการที่ไม่จำเป็น หยุดความเห็นแก่ตัว โดยเห็นว่าสิ่งนี้เป็นภัยร้าย ต่อตัวเองและสังคม เพียงเท่านั้น หลักประกันคุณภาพการศึกษาก็จะเกิดขึ้นเอง และ ธรรมชาติได้สร้างหลักประกันไว้เรียบร้อยแล้ว มนุษย์ที่ไม่รู้แจ้งนั่นเอง   ที่ทำให้ระบบมันยุ่งยากไปหมด และกำลังสร้างระบบใหม่ทับถมลงไปอีกชิ้นหนึ่ง  จนมองไม่เห็นสภาพเดิมของการศึกษา  สภาพเดิมในที่นี้  คือ ความรู้ที่ยังไม่จินตนาการว่าจะเอาชนะธรรมชาติ  ความรู้ชนิดที่ต้องอาศัยการลดความต้องการเสียก่อน  ถึงจะเข้าถึงได้                3. กระบวนการประชาสัมพันธ์ที่อ้างอิงอยู่กับระบบตลาด                เหตุผลนี้แสดงวิธีคิดของผู้สร้างมาตรฐานอย่างชัดเจน โดยแสดงขั้นสุดท้ายของระบบการรับรองมาตรฐานโดยการประกาศให้สาธารณชนทราบว่า   มหาวิทยาลัยใดบ้างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผู้ดำเนินการหวังว่าจะเป็นมาตรการชั้นดีที่ทำให้มหาวิทยาลัย ทั้งหลายต้องกระตือรือร้น เพราะกลัวจะเสียลูกค้า นั่นแสดงให้เห็นว่า การศึกษากลายเป็นทุนนิยมอย่างชัดเจน แสดงว่าการจัดการศึกษาต้องเอาใจตลาด  มากกว่าการยืนยันความรู้ที่เป็นสากล   หารู้ไม่ว่าระบบตลาดมีนักลงทุนจำพวกหนึ่งคอยกำหนดทิศทางการตลาด   ให้เคลื่อนไหวตามที่เขาต้องการ อาจจะอ้างองค์การการค้าโลกก็ได้   การกำหนดนโยบายของการศึกษาก็เคลื่อนไหวตามระบบตลาดเช่นเดียวกัน  ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ทำให้เราเข้าใจว่าความรู้มีอยู่แต่ในระบบตลาดจน    เราไม่สามารถยืนยันความรู้ ชนิดจริงแท้ได้ แค่การเคลื่อนไหว   ความไม่แน่นอน    ก็แสดงอยู่ชัดแจ้งแล้วว่ามันมิใช่ความจริง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา   ขึ้นอยู่กับการผสมผสานของปัจจัยต่าง ๆ และความจริงก็อยู่เหนือการเปลี่ยนแปลงนั้น นี่แสดงว่าระบบตลาดมีอิทธิพลต่อการศึกษาชนิดที่ อยู่เหนือความถูกต้อง   หากเป็นเช่นนี้    เราก็ต้องปรับระบบการศึกษาให้ตรงกับระบบตลาดอย่างไม่สิ้นสุด   แทนที่จะแสดงความจริงเหนือระบบที่ไม่แน่นอนนี้
หมายเลขบันทึก: 40599เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท